xs
xsm
sm
md
lg

ซาอุฯ เริ่มใช้กฎหมายใหม่-ชุมนุมต้านรัฐบาลถือเป็น “ก่อการร้าย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย (แฟ้มภาพ) ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวานนี้(2)
เอพี - นักสิทธิมนุษยชนต่างแสดงความเป็นห่วง หลังซาอุดีอาระเบีย เริ่มบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเปิดทางให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุม และดำเนินคดีต่อบุคคลที่เรียกร้องการปฏิรูป, เปิดโปงพฤติกรรมคอร์รัปชัน หรือเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในทุกรูปแบบ

กฎหมายใหม่ซึ่งมีผลบังคับอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (2) ระบุชัดเจนว่า การกระทำใดๆ ก็ตามที่ “บ่อนทำลาย” รัฐ หรือสังคม รวมไปถึงการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนรัฐบาล จะถูกดำเนินคดีฐานก่อการร้าย นอกจากนี้ ยังให้อำนาจต่อสำนักงานความมั่นคงในการตรวจค้นบ้านเรือน และสอดแนมการใช้โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

นักสิทธิมนุษยชนต่างชี้ถึงความไม่ชอบมาพากลของกฎหมายฉบับนี้ และมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือปกป้องฐานอำนาจของราชวงศ์อัล-สะอูด ท่ามกลางเสียงเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ในซาอุดีอาระเบีย นับแต่ตั้งเกิดกระแสปฏิวัติอาหรับสปริงขึ้น เมื่อปี 2011 ซึ่งส่งผลให้อดีตผู้นำที่ครองอำนาจมานานนับสิบๆ ปีในหลายประเทศถูกโค่น

อับดุลอาซิซ อัล-ชุบัยลี นักเคลื่อนไหวชาวซาอุฯ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็น “หายนะ” ขณะที่ อดัม คูเกิล นักวิจัยจากองค์กร ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ก็เตือนว่า “กฎหมายใหม่นี้มีความเป็นเผด็จการทั้งในตัวอักษร และแนวคิด และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า รัฐบาลซาอุฯ อาจใช้มันเป็นเครื่องมือปิดกั้นการชุมนุมประท้วงโดยสันติของประชาชน”

คณะรัฐมนตรีซาอุฯ โหวตรับรองกฎหมายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ ทรงลงพระปรมาภิไธย ทว่า เนื้อหาของกฎหมายทั้งฉบับเพิ่งจะถูกเผยแพร่ผ่านจดหมายข่าว อุม อัล-กุรา ของรัฐบาลซาอุฯ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (31)

อับเดลอาซิซ โคจา รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและข้อมูล ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างการป้องกันอาชญากรรม และการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามมุมมองของกฎหมายอิสลาม

กฎหมายฉบับนี้ให้คำจำกัดความการก่อการร้ายไว้ว่า เป็นการก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบที่ “บั่นทอนความมั่นคงของสังคม ความมั่นคงของรัฐ หรือทำลายความเป็นเอกภาพของประเทศ” นอกจากนี้ ยังถือว่าการขัดขวางระบบบริหารบ้านเมือง หรือ “ดูหมิ่นชื่อเสียงและสถานะของประเทศ” ก็เป็นการก่อการร้าย

นักเคลื่อนไหวชี้ว่า หากเป็นเช่นนี้การเปิดโปงพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เท่ากับละเมิดกฎหมาย และแม้แต่สตรีชาวซาอุฯ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามผู้หญิงขับรถก็อาจถูกไต่ส่วนในฐานะผู้ก่อการร้ายด้วย

กฎหมายนี้ยังให้อำนาจแก่รัฐมนตรีมหาดไทย ในการยกเลิกบทลงโทษ หรือถอนข้อกล่าวหาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยที่ผู้พิพากษาในศาลไม่มีอำนาจคัดค้าน

อีกประเด็นที่น่ากังวลที่สุดก็คือ มาตราที่ระบุว่า ตำรวจสามารถตรวจค้นบ้านเรือ นและสำนักงานที่ต้องสงสัยว่าทำกิจกรรมต่อต้านรัฐ โดยไม่ต้องมีหมายศาล หรือแม้แต่คำสั่งของผู้บังคับบัญชา และยังสามารถสั่งห้ามผู้ต้องสงสัยติดต่อบุคคลอื่นได้นานถึง 90 วัน และไม่ต้องมีทนายอยู่เป็นพยานระหว่างการสอบสวนเบื้องต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น