xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ปัดคลิปนักรบฟาตอนีของจริง แจง 5 ข้อบีอาร์เอ็นส่ง สมช.พิจารณาต่อแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทัพแถลงไฟใต้ สดุดีวีรกรรมทหารพลีชีพอีก 4 นาย ปัดเจ้าหน้าที่ข่มขู่สื่อและนักสิทธิฯ ลั่นเดินหน้าจ้อบีอาร์เอ็น เผยยังไม่แจ้งเปลี่ยนตัวโจกเจรจา ฝากไปดูกลุ่มไหนป่วน แต่ชี้ภายในกลุ่มยังขาดเอกภาพ อ้าง ศอ.บต.ส่งคนคุยพูโลแยกกันทำงาน ด้านโฆษก กอ.รมน.ปัดคลิปนักรบฟาตอนีของจริง แหล่งข่าวเผยส่งแนวทางตอบ 5 ข้อพวกก่อการให้ “ภราดร” พิจารณาแล้ว ไม่ให้มาเลย์ยุ่ง ต้องคุมป่วนได้ก่อนถึงเชื่อเป็นตัวแทนชาวเมืองจริง

วันนี้ (4 ต.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าประชาสัมพันธ์ส่วนประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.ต.สุรชาติกล่าวว่า สถานการณ์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้จุดระเบิดใต้พื้นถนนทำให้ทหารที่ออกไปลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครูเสียชีวิต 4 นาย ขอสดุดีวีรกรรมความกล้าหาญ พร้อมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของทหารที่เสียชีวิต ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่เสียขวัญกำลังใจ ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลประชาชนด้วยความเสียสละและทุ่มเท

“ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เจ้าหน้าที่ข่มขู่ คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อทางเลือก รวมถึงนักสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานยึดถือกรอบกฎหมาย โดยดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ พร้อมคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สำหรับการพูดคุยสันติภาพนั้นยังคงต้องดำเนินการต่อไป คาดว่าในสัปดาห์ที่ 3 จะเกิดความชัดเจนในการกำหนดวันพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น”

ด้าน พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มบีอาร์เอ็นจะปรับทีมพูดคุยจากนายฮัสซัน ตอยิบ เป็นนายอาแว ยาบะ ว่ายังไม่มีการแจ้งมาอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการรับทราบ ขณะนี้ยังถือว่านายฮัสซันเป็นแกนนำพูดคุยอยู่ จนกว่าจะมีการแจ้งมาอย่างเป็นทางการโดยผ่านผู้อำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม ในส่วนรายละเอียด 5 ข้อของบีอาร์เอ็นนั้น ทางรัฐบาลไทยรับมาพิจารณาแล้ว ซึ่งขั้นตอนอยู่ในระหว่างศึกษา โดยนักวิชาการ นักกฎหมายเพื่อวิเคราะห์เอกสารทั้ง 38 หน้า คาดว่าในเร็ววันนี้ทาง ศปก.กปต.จะมีการประชุม 4 หน่วยงาน เพื่อให้ได้ข้อยุติ และนำเนื้อหาเหล่านี้ไปพูดคุยต่อไป

“ทางไทยยืนยันจะเสนอให้ยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ เพราะมีกลุ่มที่เห็นต่างอยู่ประมาณ 10 กว่ากลุ่ม จึงฝากบีอาร์เอ็นให้ไปช่วยดูว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่นิยมความรุนแรง ซึ่งเขาจะต้องไปหามาให้ได้ โดยจะนำคำตอบมาพูดคุยกันในการพบกันครั้งต่อไป ส่วนที่มองว่าภายในกลุ่มบีอาร์เอ็น มีความขัดแย้งกันเองนั้น เป็นเรื่องที่บีอาร์เอ็นต้องไปดำเนินการ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่เขาจะควบคุมกลุ่มในพื้นที่ได้ เพราะเขาขาดเอกภาพ ส่วนการปรับทีมพูดคุยของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น ไม่ได้มองว่าเขาจะยกระดับมาเป็นเจรจา และคิดว่าไม่ใช่การลดระดับเพื่อล้มโต๊ะการพูดคุยสันติภาพ แต่มองว่าเป็นเรื่องภายใน และเป็นเรื่องความถูกใจของส่วนไหนมากกว่าเพราะการดำเนินการที่ผ่านมามีการทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ของทุกกลุ่ม ในส่วนของไทยเองก็มีการปรับเช่นกันในเรื่องของการส่งคนเข้าพูดคุย” พ.อ.จรูญ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ ศอ.บต.ส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยกับแกนนำของกลุ่มพูโลที่สวีเดน เพราะมองว่าการคุยกับบีอาร์เอ็นไม่สามารถทำให้ยุติความรุนแรงได้ พ.อ.จรูญกล่าวว่า เป็นการแยกกันปฏิบัติงานตามนโยบายข้อที่ 8 คือ การสร้างสภาวะแวดล้อมในแต่ละส่วนงานเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย เกื้อกูลกัน แม้ว่าหนึ่งในข้อเสนอของบีอาร์เอ็นต้องการให้ไทยพูดคุยกับเขาเพียงฝ่ายเดียว แต่เราไม่ได้ทำตาม เพราะถือว่าเป็นเรื่องของเรา

ด้าน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปกลุ่มชายแต่งกลายคล้ายทหารพรานพร้อมอาวุธครบมืออ้างเป็นนักรบฟาตอนีว่า เป็นการกล่าวอ้าง ไม่ใช่เรื่องจริง ซึ่งต้องรอการพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้คิดว่าเป็นเพียงการนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถ

แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.เปิดเผยว่า ทาง กอ.รมน.ได้ทำเอกสารส่งไปทาง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.จำนวน 2 แผ่น เพื่อเป็นแนวทางให้ พล.ท.ภราดรตอบข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น เพราะหากเขายังไม่ได้คำตอบทั้ง 5 ข้อ การพูดคุยจะไม่เกิดขึ้น และคาดว่าทางบีอาร์เอ็นจะรับคำตอบอันนี้ได้ โดยเอกสารแผ่นแรกมีข้อสรุปว่า ทางการไทยรับข้อพิจารณาของบีอาร์เอ็น ส่วนของแผ่นที่ 2 เป็นการอธิบายแต่ละข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น โดยข้อที่ 1 ระบุว่าจะให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางในการพูดคุย ทาง กอ.รมน.เสนอไปว่ารัฐบาลไทยยืนยันมาตลอดว่าเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่ต้องการให้ต่างประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยว ส่วนข้อที่ 2 ที่ขอให้เรายอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นตัวแทนของชาวปัตตานีในการพูดคุยครั้งนี้ ทาง กอ.รมน.เสนอไปว่าทางบีอาร์เอ็นต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมได้ทุกกลุ่ม รวมทั้งสอบถามประชาชนในพื้นที่ให้ยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นตัวแทนของเขาหรือไม่

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ส่วนข้อที่ 3 ที่ให้โอไอซีเข้ามาเป็นพยานในการพูดคุยนั้น มีคำตอบเหมือนข้อที่ 1 ส่วนข้อที่ 4 แบ่งการเขตปกครอง และการยอมรับในอัตลักษณ์นั้น ทาง กอ.รมน.เสนอไปว่า ประเทศไทยไม่ได้ปิดกั้นการแสดงออกเรื่องอัตลักษณ์ คนในพื้นที่นับถือศาสนาอะไรก็ได้ ส่วนการแบ่งเขตการปกครอง บีอาร์เอ็นนำแค่ประวัติศาสตร์ท่อนหนึ่งมากล่าวอ้าง ไม่มีการพูดถึงประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ ส่วนข้อที่ 5 การปล่อยตัวนักโทษนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของไทย หากเรื่องถึงศาลแล้วไม่สามารถไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้ แต่หากอยู่ในขั้นตอนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะอยู่ข่ายที่จะพิจารณาได้ เอกสารที่ กอ.รมน.ส่งให้ เลขาธิการ สมช.เป็นเพียงการนำเสนอแนวทางเพื่อนำไปตอบกับบีอาร์เอ็นเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะไปบังคับว่า ต้องดำเนินการตามเอกสารนี้ แต่ กอ.รมน.ศึกษาแล้วเห็นว่า คำตอบเช่นนี้น่าจะส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย โดยไม่ทำให้เราเสี่ยงที่จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และคำตอบไม่ได้ปฏิเสธในลักษณะของการหักด้ามพร้าด้วยเข่า ขึ้นอยู่กับว่าทางเลขาฯ สมช.จะพิจารณาอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น