รอง หน.ประชาธิปัตย์ นัดประชุมสมาชิกพรรคโซนใต้เสาร์-อาทิตย์นี้ หวังสะท้อนปัญหาชาวบ้าน แฉ จนท.รัฐใช้รุนแรงวิธีพิเศษสู้โจรใต้ ชี้ข้อเสนอบีอาร์เอ็นแค่ต่อรอง ยันเจรจาต้องหยุดยิงก่อน เชื่อมาเลย์เสนอพ่วงสะเดาส่อใช้เป็นรัฐกันชนเทางเศรษฐกิจ แนะ “ประชา” เป็นสำนักงาน รมต.ที่ยะลา จี้ลงพื้นที่บ่อย
วันนี้ (27 ก.ย.) ที่ จ.สงขลา เมื่อเวลา 14.30 น. นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลงานภาคใต้ แถลงว่า ในวันที่ 28-29 ก.ย.นี้ พรรคประชาธิปัตย์จะมีการประชุมสมาชิกพรรคภาคใต้ทั้ง 51 สาขา เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และความเข้าใจในบทบาทการทำหน้าที่ของสาขาพรรค โดยจะมีการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อสะท้อนปัญหาประชาชนหลายๆ ด้าน ทั้งราคายางพารา, ราคาปาล์มตกต่ำ และอุปสรรคในการเลี้ยงกุ้ง ที่ยอดการส่งออกขณะนี้ลดลงจากเดิมจากที่เคยส่งออกถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันนี้เหลือเพียง 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น รวมถึงปัญหาโครงการรับจำนำข้าว และปัญหาของแพง
“ที่สำคัญปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ ปี 47-54 เป็นช่วงที่เหตุการณ์ในพื้นที่มีความรุนแรงมาก อย่างวันนี้ 27 ก.ย.ก็มีการปะทะกัน อ.ยี่งอ จ.ยะลา มีเหตุปะทะจนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 4 นาย ดังนั้นขอฝากไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรมว.กลาโหมว่า ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ โดย 17 กระทรวง 66 หน่วยงานต้องมีเอกภาพ ใช้การเมืองนำการทหาร แต่ขณะนี้กลับยังพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐยังใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการพิเศษ ทำให้มีการโต้ตอบเป็นระยะ ซึ่งคนในพื้นที่สามารถรู้สึกได้” นายถาวรกล่าว
นายถาวรกล่าวว่า ส่วนนโยบายการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นนั้น ตนคิดว่าข้อเสนอทั้ง 5 ข้อเป็นเงื่อนไขการต่อรองมากกว่าเจรจาสันติภาพ ซึ่งจากที่ตนไปดูงานที่สาธารณรัฐไอร์แลนด์เหนือ และเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ พบว่าการเจรจาสันติภาพจะต้องมียุติความรุนแรงโดยการหยุดยิงก่อน แต่การพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นกลับมีการเสนอข้อเรียกร้องก่อนที่จะมีการเจรจาหยุดยิงเกิดขึ้น ทำให้เกิดความสงสัยว่าการเจรจาสันติภาพครั้งนี้โดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลาง และมาเลเซียเสนอให้มีการผนวก อ.สะเดา จ.สงขลา ร่วมเข้าไปในข้อตกลงด้วยนั้นเป็นการสอดคล้องกับความต้องการของบีอาร์เอ็น เพื่อจะให้เป็นเขตการปกครองพิเศษในพื้นที่ 4 จังหวัด 5 อำเภอ ซึ่ง อ.สะเดาเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญทำรายได้ปีละกว่าแสนล้านบาท
นอกจากนี้ ทางตอนเหนือของมาเลย์กำลังมีพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรม ซึ่งหากให้บริเวณดังกล่าวเป็นเขตปกครองพิเศษก็จะทำให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นรัฐกันชนที่มีความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนทางด้านตะวันตกของมาเลย์เป็นอาเจะห์ ทางด้านตะวันออกเป็นมินดาเนา ส่วนทางใต้มาเลเซียนั้นไม่สนใจเพราะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตนกลัวว่าไทยจะสูญเสียเขตแดนในระหว่างที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศ เพราะมีการเจรจาลับระหว่างกัน แต่ตนยังดีใจที่ กองทัพบกยืนยันว่าไม่เอาด้วยกับเขตปกครองพิเศษ สภาด้านปรึกษาการบริหาร และการพัฒนา ไปแจ้งกับกลุ่มที่เจรจาว่าไม่เอาด้วย ตนจึงอยากฝากไป พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลปัญหาชายแดนใต้ว่า 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีการประชุมกรรมการบริหารการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่มีนายกฯ เป็นประธานแต่ไม่เข้าร่วม ก็ให้ พล.ต.อ.ประชาดำเนินการเรียก 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน ศอ.บต.มาขับเคลื่อนเพื่อกวดขันให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการ เพราะหากไม่บูรณาการหรือลงมาปฏิบัติการประชุม คณะกรรมการชุดนี้ไม่เกิด ไม่มีใครเอาแส้ไปลงกับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและอธิบดี 66 กรม รวมถึงกับข้าราชการในพื้นที่ เมื่อประชาชนเกิดปัญหาก็ไม่รู้จะพูดกับใคร เพราะรัฐมนตรีไม่ลงพื้นที่ อ้างว่าไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยาก ถือเป็นการรับความจริงของคณะกรรมการที่รับความจริงไม่ใช่ รับความจริงมาจากการรายงาน
“ผมขอแนะนำให้ พล.ต.อ.ประชาไปเปิดสำนักงานรัฐมนตรีส่วนหน้าที่ จ.ยะลา เหมือนที่ผมได้เคยทำไว้ เพื่อให้ความอบอุ่นและความมั่นใจต่อข้าราชการที่ปฏิบัติงาน และสามารถรู้ได้ว่าข้าราชการคนใดทำงานหรือไม่ เพื่อให้บำเหน็จความดีความชอบได้ถูกต้อง และจะต้องมีการประชุมทุกเดือน โดย พล.ต.อ.ประชาต้องลงพื้นที่อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยผมจะให้ความร่วมมือ เพราะถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต้องทำร่วมกัน และพร้อมจะพบกับ พล.ต.อ.ประชา เพื่อร่วมแก้ปัญหา เหมือนที่ผมเคยพบแบบลับๆ กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และให้เชิญคนที่เคยปฏิบัติงานในภาคใต้ที่รู้เหตุการณ์ในภาคใต้เป็นอย่างดีและเคยสัมผัสการทำงานมาก่อน ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ให้มาเป็นที่ปรึกษา อย่าเอาคนจากพื้นที่อื่นที่ไม่ใส่ใจภาคใต้เข้ามาทำงานเอาหน้า เชื่อว่าปัญหาภาคใต้จะแก้ไขและยุติได้” นายถาวรกล่าว