xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะคิดได้! โมร็อกโกยกเลิกกฎหมายอนุญาต “โจรข่มขืน” แต่งงานกับเหยื่อเพื่อ “ล้างผิด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวหลังการตายของ น.ส. อามีนา ฟิลาลี ซึ่งถูกกฎหมายโมร็อกโกบังคับให้ต้องแต่งงานกับชายที่ข่มขืนเธอ
เอเอฟพี - โมร็อกโกยกเลิกกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ก่อคดีข่มขืนเยาวชนสามารถแต่งงานกับเหยื่อเพื่อล้างผิดได้ เมื่อวานนี้ (22) หลังกฎหมายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนกดดันให้รัฐบาลออกกฎหมายปกป้องผู้หญิงจากการตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

แหล่งข่าวในรัฐสภาโมร็อกโก ระบุว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตราที่ 475 ซึ่งถูกเสนอโดยรัฐบาลสายอิสลามิสต์เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์

กฎหมายมาตรานี้เคยตกเป็นข่าวพาดหัวทั่วโลกในเดือนมีนาคม ปี 2012 เมื่อ น.ส.อามีนา ฟิลาลี วัย 16 ปี ตัดสินใจฆ่าตัวตาย หลังถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่ข่มขืนเธอ

นักสิทธิมนุษยชนต่างแสดงความชื่นชมการแก้กฎหมายครั้งนี้ แต่ก็ย้ำว่าความพยายามส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ, ออกกฎหมายห้ามสมรสกับเด็ก และปกป้องสตรีชาวโมร็อกโกไม่ให้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ยังคงต้องดำเนินต่อไป

อาวาซ (Avaaz) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นหนังสือที่ผ่านการเข้าชื่อจากประชาชนกว่า 1,000,000 คนต่อรัฐสภาโมร็อกโก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีเพศตามที่ได้ให้สัญญาไว้

ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) มีถ้อยแถลงวานนี้(22)ว่า การแก้ไขกฎหมายอาญามาตราที่ 475 ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่ “ล่าช้ามานาน” พร้อมขอให้รัฐบาลโมร็อกโกวางแผนยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของผู้หญิงและเด็ก

“อามีนา ฟิลาลี ฆ่าตัวตายมาแล้วเกือบ 2 ปี รัฐบาลจึงเพิ่งมาอุดช่องโหว่ที่อนุญาตให้โจรข่มขืนลอยนวลได้... ถึงเวลาแล้วที่โมร็อกโกจะต้องมีกฎหมายปกป้องผู้ตกเป็นเหยื่อทางเพศ” ฮัสซิบา ฮัจญ์ ซาห์ราวี รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคขององค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ

ความรุนแรงต่อผู้หญิงเกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติในโมร็อกโก เช่นเดียวกับในชาติอาหรับหลายประเทศ แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2011 ซึ่งรับรองความเท่าเทียมทางเพศแล้วก็ตาม

ผลวิจัยอย่างเป็นทางการซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนที่แล้วระบุว่า หญิงชาวโมร็อกโกเกือบร้อยละ 9 เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศอย่างน้อย 1 ครั้ง

กว่าร้อยละ 50 ของการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเกิดขึ้นระหว่างชีวิตสมรส ในขณะที่การข่มขืนภรรยาตนเองไม่ถือเป็นอาชญากรรม

รัฐบาลสายอิสลามิสต์ของโมร็อกโกเสนอให้ตั้งระวางโทษจำคุกสูงสุด 25 ปีต่อผู้ที่ทำความรุนแรงต่อสตรี ทว่ายังอยู่ในขั้นตอนของการร่างกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น