xs
xsm
sm
md
lg

เผยคดีข่มขืนเด็กหลายคดีไม่ใช่ปัญหาสุขภาพจิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” ระบุการข่มขืนเด็กหลายคดีไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต วอน ปชช.เป็นหูเป็นตา พบเบาะแสเด็กเดินกับคนแปลกหน้ามีพิรุธ หรือเห็นนั่งขอทาน ขายพวงมาลัย ควรแจ้งหน่วยงานรัฐช่วยตรวจสอบ ด้าน นักวิชาการ ชี้ค่านิยมสังคมไทยยอมรับข้ออ้างว่าเมาเพราะเป็นคำอ้างที่ง่าย เผยข้อมูลสำรวจสะท้อนผู่ก่อนส่วนใหญ่ดื่มเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับเมา ระบุเหล้าเพิ่มโอกาสทั้งการก่อเหตุและตกเป็นเหยื่อ
ภาพ news.mthai.com
วันนี้ (18 ธ.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีคดีข่มขืนเด็ก ว่า เรื่องนี้ต้องเริ่มปลูกฝังสิ่งดีๆ ตั้งแต่เด็ก เพราะบางคนอาจมีปัญหาตรงนี้ แต่กรณีคดีข่มขืนหลายคดีอาจไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต แต่หากเกี่ยวสิ่งสำคัญต้องนำมาบำบัดก่อนและค่อยดำเนินคดีลงโทษ ซึ่งมีขั้นตอนอยู่ อย่างไรก็ตาม อยากฝากประชาชนให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากเห็นเด็กเล็กๆ ถูกจูงมือ หรือมีสิ่งผิดปกติ มีพิรุธ แม้แต่เด็กเล็กๆ นั่งขอทานก็ควรแจ้งหน่วยงานรัฐให้ไปดำเนินการดูแล คนเหล่านี้ไม่ควรมาขายพวงมาลัย อย่างน้อยก็ต้องให้รัฐไปตรวจว่าไม่ได้ถูกหลอกลวงมาหรือถูกลักพามา อย่าได้มองว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง และขอฝากตำรวจให้มาดูตรงนี้ร่วมกับประชาชน เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคงไม่ได้ อย่างกรณีการเจรจาข้อตกลงคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า หรือทริปส์พลัส สหรัฐอเมริกายังขอข้อมูลมาว่าไทยดูแลแรงงานเด็กหรือไม่ด้วย แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกให้ความสำคัญ

ขณะที่ นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) กล่าวว่า กรณีที่ผู้ต้องหาคดีฆ่าข่มขืนเด็กและเยาวชนที่สารภาพว่าก่อเหตุเพราะมึนเมานั้นเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าการดื่มเหล้าส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้ดื่มและสังคมวงกว้าง หลักฐานทางวิชาการแสดงให้เห็นว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลต่อการก่อความรุนแรงทางเพศ ในลักษณะของการเพิ่มโอกาสทั้งการก่อเหตุและการตกเป็นเหยื่อ โดยมีผลผ่านหลายกลไกด้วยกัน ทั้งการลดความสามารถในการควบคุมตนเอง ผลต่ออารมณ์ทางเพศ การเพิ่มโอกาสในการก่อเหตุจากแรงยั่วยุและสนับสนุนของเพื่อนร่วมวง และที่สำคัญคือการมีความคิดจะก่อเหตุมาก่อนโดยใช้สุราเป็นข้ออ้าง หรือเพื่อย้อมใจให้กล้าลงมือ จากข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าผู้ก่อเหตุเยาวชนในฐานความผิดทางเพศเกือบครึ่งลงมือกระทำภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ โอกาสจะเพิ่มขึ้นชัดเจนหากเหยื่อของความรุนแรงทางเพศเองก็ดื่มด้วย จากการควบคุมตนเองการยับยั้งชั่งใจ และความสามารถในการแก้ปัญหาที่ลดลง โดยข้อมูลการสำรวจในปี 2550 พบว่าเด็กวัยเรียนของไทยที่ดื่มสุรามีความน่าจะเป็นที่จะมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3.8 เท่า และตกเป็นเหยื่อถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ดื่มสุรา

นพ.ทักษพล กล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยของศูนย์วิจัยปัญหาสุรายังแสดงให้เห็นว่าในหลายกรณีเพื่อนที่ร่วมวงดื่มด้วยได้กลายเป็นผู้ร่วมก่อเหตุการรุมโทรม และเหยื่อผู้หญิงจำนวนมากก็เป็นผู้ร่วมวงเหล้าหรือพบเจอขณะดื่มเหล้าด้วย โดยผู้ก่อเหตุชายส่วนหนึ่งตีความว่าผู้หญิงที่ร่วมดื่มด้วยมีแนวโน้มจะให้ความยินยอม ทั้งนี้ มักมีความเข้าใจผิดว่าการก่อเหตุมักต้องดื่มอย่างหนักจนมึนเมา แต่ข้อมูลการสำรวจพบว่าปริมาณการดื่มเฉลี่ยของผู้ก่อเหตุเยาวชนนั้นไม่ได้สูงมากนัก โดยเสนอแนะให้มีการเพิ่มความเข้มข้นและการเคร่งครัดในการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดการควบคุมการดื่มอย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการลดโอกาสการก่อเหตุ และควรมีการปรับทัศนคติค่านิยมในสังคมที่มีแนวโน้มจะยอมรับการอ้างการกระทำผิดว่าเป็นจากพฤติกรรมการดื่มและการเมา เช่นความเชื่อที่บอกว่า อย่าถือคนบ้าอย่าว่าคนเมา ซึ่งเป็นเสมือนการให้ท้ายพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มิเช่นนั้นสังคมไทยก็จะมีเหยื่อในลักษณะนี้อีกต่อไปไม่รู้จบ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น