xs
xsm
sm
md
lg

เลิกใช้ความรุนแรง เพิ่มสัมพันธภาพดีในครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมสุขภาพจิตแนะสังคมช่วยสอดส่องความรุนแรง จี้ครอบครัวเพิ่มสัมพันธภาพที่ดี งดใช้ความรุนแรง ก่อนเด็กซึมซับไปกระทำต่อ ชี้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2554 พบว่า มีจำนวนถึง 22,565 รายที่มาเข้ารับบริการ เฉลี่ยวันละ 62 ราย หรือทุกชั่วโมงจะมีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรง 3 ราย โดยเด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด รองลงมา คือ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ ถูกกระทำมากที่สุดจากแฟน เพื่อน และคนในครอบครัว สาเหตุมาจากสภาพแวดล้อม เช่น สื่อลามก ความใกล้ชิด การดื่มสุรา ใช้สารเสพติด และสัมพันธภาพในครอบครัว ขณะที่สตรีถูกกระทำความรุนแรงด้านร่างกายมากที่สุด รองลงมา คือ ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศและจิตใจ โดยถูกสามี แฟน และคนในครอบครัวกระทำมากที่สุด สาเหตุมาจากสัมพันธภาพในครอบครัว อาทิ การนอกใจ ทะเลาะ และหึงหวง

“ผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงมีทั้งทางกายและใจ ยิ่งถูกกระทำความรุนแรงมากก็จะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งในผู้หญิงบาดแผลภายในจิตใจไม่อาจลบเลือนไปได้ง่ายๆ ส่งผลต่ออารมณ์ บุคลิกภาพและการดำเนินชีวิต บางคนมีอาการเครียด ท้อแท้เรื้อรัง สูญเสียความมั่นใจในตนเอง กลัวสังคมไม่ยอมรับ อับอาย ซึมเศร้า หรือบางรายมีอาการทางจิต หวาดกลัว หวาดผวา แม้เหตุการณ์สิ้นสุดมาเป็นเวลานานแล้ว เป็นต้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า ส่วนเด็กที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ก็จะเกิดผลกระทบทางจิตใจไม่ต่างกับเด็กที่ถูกทารุณกรรมทางร่างกายและทางเพศโดยตรง โดยในเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะยอมรับความรุนแรงมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ ขณะที่เด็กผู้ชายมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงต่อภรรยา เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวของตัวเอง เนื่องจากเด็กที่ถูกทุบตี ทำร้าย หรือได้เห็นความรุนแรงเสมอๆ จะฝังใจเรื่องความรุนแรง และจะเข้าใจผิดว่า ปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง รวมทั้งการอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กก็จะซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำรุนแรงต่อครอบครัวของตนเอง

นพ.เจษฎา กล่าวด้วยว่า เห็นได้ว่าความรุนแรงเกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว การป้องกันหรือลดความรุนแรงต้องเริ่มจากการมีพื้นฐานที่ดีของครอบครัว โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้น มีการสื่อสารทางบวก ยอมรับบทบาทของกันและกัน เคารพและให้เกียรติ ให้ความรัก เอาใจใส่ ไม่นอกใจ ควบคุมอารมณ์ ให้อภัยซึ่งกันและกัน หันหน้าหารือกันเพื่อแลกเปลี่ยนและหาข้อยุติของปัญหา รวมทั้งอบรมเลี้ยงดูและปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยม ทั้งลูกผู้หญิงและลูกผู้ชายให้มีความเสมอภาค สอนให้รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ใช้อำนาจ ไม่เอาเปรียบ สอนทักษะระงับความโกรธ หรือเมื่อจะลงโทษลูกควรเลือกใช้วิธีอื่นแทนการเฆี่ยนตี เช่น ให้ทำงานบ้านชดเชย และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลาน ส่วนในระดับสังคม ควรยอมรับความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไม่ยอมรับการแก้ปัญหาด้วยการทำร้ายอีกฝ่าย และหากพบความรุนแรงเกิดขึ้น ต้องไม่เพิกเฉย รีบให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ เช่น โทรศัพท์แจ้งตำรวจ ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา รวมทั้งช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น