รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยมูลนิธิ “ธอมสัน รอยเตอร์ส” พบข้อมูลว่า ความไร้เสถียรภาพตลอดจนความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมานานกว่า 3 ปี ได้สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อสถานะของสตรี โดยระบุ แดนไอยคุปต์ กลายเป็นประเทศที่มีภาวะแวดล้อมในการดำเนินชีวิต “เลวร้ายย่ำแย่ที่สุด” สำหรับผู้หญิง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในโลกอาหรับ
ผลสำรวจซึ่งรวบรวมข้อมูลจาก 22 ประเทศในโลกอาหรับระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการลุกฮือของประชาชนในอียิปต์เพื่อขับไล่รัฐบาลของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคในปี 2011 เรื่อยมาจนถึงวิกฤตทางการเมืองกรณีที่กองทัพอียิปต์โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของโมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้นำสายอิสลามิสต์เมื่อช่วงกลางปีนี้ สถานะของสตรีในอียิปต์กำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวง
เห็นได้จากจำนวนของผู้หญิงในอียิปต์ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับการที่ผู้หญิงอียิปต์ถูกลิดรอนสิทธิทางสังคมหลายประการ จากการออกกฏหมายในยุคที่รัฐบาลอิสลามิสต์ของมอร์ซีครองอำนาจ ส่งผลให้อียิปต์รั้งอันดับที่ 22 หรืออันดับสุดท้าย ในฐานะดินแดนที่มีภาวะแวดล้อมในการใช้ชีวิตของผู้หญิงที่เลวร้ายที่สุดในโลกอาหรับ โดยอียิปต์มีคะแนนเฉลี่ยที่คิดคำนวณจากปัจจัยเชิงลบต่อผู้หญิงสูงถึง 74.895 คะแนน ตามด้วยอิรัก (73.070 คะแนน), ซาอุดีอาระเบีย (72.680 คะแนน), ซีเรีย (72.390 คะแนน), เยเมน (71.862 คะแนน), ซูดาน ( 71.686คะแนน) และเลบานอน (66.931 คะแนน) ตามลำดับ
ในทางกลับกัน ผลสำรวจกลับพบว่า ประเทศมุสลิมที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะนอกชายฝั่งทวีปแอฟริกาอย่าง “คอโมโรส” กลับกลายเป็นดินแดนในโลกอาหรับที่สตรีมีสิทธิเสรีภาพมากที่สุดและถูกกดขี่คุกคามน้อยที่สุด เห็นได้จากการเป็นดินแดนที่มีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศต่ำที่สุดในโลกอาหรับ และยังมีสัดส่วนของผู้หญิงที่เข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีสูงที่สุดถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้คอโมโรสครองแชมป์โดยมีคะแนนเฉลี่ย ที่คิดคำนวณจากปัจจัยเชิงลบต่อผู้หญิงต่ำที่สุดเพียง 51.375 คะแนน ตามมาด้วยโอมาน (58.081 คะแนน), คูเวต (58.119 คะแนน),จอร์แดน (58.218 คะแนน), กาตาร์ (58.372 คะแนน), ตูนิเซีย (58.545 คะแนน) และแอลจีเรีย (59.130 คะแนน) ตามลำดับ
ด้านนูรา ฟลิงค์มัน แห่งองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี “HarassMap” ในกรุงไคโรเผยว่า ผู้หญิงในอียิปต์กำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามใหญ่หลวงจากการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและอคติทางเพศ ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงในอียิปต์เวลานี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความไม่ปลอดภัย อีกทั้งยังถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองและทางสังคมอย่างเลวร้าย แม้รัฐบาลของพวกอิสลามิสต์จะถูกโค่นอำนาจไปแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลใหม่ที่มีทหารหนุนหลังก็มิได้ดำเนินมาตรการใดๆ เพื่อช่วยปกป้องสตรีจากภัยคุกคามต่างๆ
ขณะที่ซาห์รา รัดวาน แห่งกลุ่มเคลื่อนไหว “Global Fund for Women” ของสหรัฐฯประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเผยว่า หลังจากอียิปต์เผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง สถานะของผู้หญิงก็ถูกย่ำยีอย่างเลวร้าย โดยพบข้อมูลว่า หลายหมู่บ้านทั่วอียิปต์ ไม่เว้นแม้แต่เขตชานกรุงไคโรมีขบวนการค้าสตรีอย่างโจ่งแจ้ง อีกทั้ง สถิติการที่ผู้หญิงถูกบังคับให้แต่งงานก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน