หญิงไทยยุคใหม่รับได้หากถูกผู้ชายกระทำความรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของโลก อึ้ง! 13.5% ถูกข่มขืนก็ยังรับได้ “จะเด็จ” เผยสาเหตุเพราะผู้หญิงเลือกอดทน เพราะอาย กลัวถูกทำร้ายซ้ำ ทนเพื่อลูก และไม่รู้ช่องทางช่วยเหลือจากภาครัฐ ยกเคส “เอ็กซ์-หมอนิ่ม” ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความรุนแรงเป็นไม่ถูกต้อง
วันนี้ (14 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ลานวิคตอรีพอยต์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวระหว่างการเสวนา “ถอดรหัสชีวิต เมื่อผู้หญิงลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองและผู้อื่นจากความรุนแรง” ว่า จากสถิติองค์กรสหประชาชาติปี 2555 พบว่า หญิงไทยยอมรับการถูกทำร้ายมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อีกทั้งผู้ถูกกระทำจำนวนไม่น้อยเมื่อโดนทำร้ายจะไม่กล้าร้องเรียนหรือแจ้งตำรวจเพื่อเอาผิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อความรุนแรง สอดคล้องกับผลสำรวจ “ความคิดเห็นเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ปี 2556” จากกลุ่มผู้หญิง จำนวน 1,194 ราย อายุ 20-60 ปี พบว่า เมื่อถามถึงพฤติกรรมความรุนแรงแบบไหนที่คิดว่าผู้หญิงสามารถยอมรับได้ กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 48 ระบุว่าการเงียบไม่พูดไม่จา ร้อยละ 45.5 การหึงหวง ห้ามไม่ไห้ออกไปไหน ร้อยละ 25 การใช้คำพูดตะคอก ส่อเสียด ด่าทอ ร้อยละ 23.4 ไม่รับผิดชอบครับครัว ร้อยละ 19.9 ทำลายข้าวของ ร้อยละ 13.5 การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และร้อยละ 8 คือ ทุบตีทำร้ายรางกาย ขู่ฆ่า ประจาน ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 61.9 ระบุว่าการหยอกล้อ แซว ร้อยละ 35.8 การใช้สายตาแทะโลม ร้อยละ 27.6 จ้องมองเรือนร่าง และร้อยละ 10.8 จับเนื้อต้องตัวหรือแต๊ะอั๋ง
นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หึงหวง นอกใจ การแสดงอำนาจ การเล่นการพนัน และการใช้สารเสพติด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้หญิงส่วนมากเลือกที่จะอดทน หากมีความรุนแรงและพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับตัวเอง เนื่องจากว่าอาย ยอมทนเพื่อลูก กลัวถูกทำร้ายซ้ำ ไม่รู้ช่องทางการให้ความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ และไม่รู้เรื่องของกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้หญิงได้ ดังนั้น ปัญหาความรุนแรงจะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ คือ ให้คำปรึกษากับผู้ที่กระทำความรุนแรงแบบต่อเนื่อง ทำให้ผู้กระทำความรุนแรงคลี่คลายความรู้สึกคับแค้นใจต่อภรรยา รวมถึงจะต้องมีการให้คำปรึกษาต่อผู้ที่กระทำด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูด้านสภาพจิตใจสามารถแยกแยะปัญหา มีทางเลือกในหารแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น
“กระบวนการเหล่านี้รัฐต้องสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการพัฒนากลไกช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ถูกกระทำไม่ให้ถูกกระทำซ้ำ ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาความสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะต้องมีการทำงานแบบเร่งด่วน สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารช่องทางการช่วยเหลือให้มากขึ้น เพราะหากสังคมปล่อยให้ผู้หญิงถูกทำร้ายและอยู่ในวัฒนธรรมของความอาย ความกลัว หรือสังคมนิ่งเฉย จะยิ่งส่งผลให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นผู้หญิงจะต้องไม่อาย กล้าลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองในการแก้ปัญหาความรุนแรง” นายจะเด็จ กล่าว
นายจะเด็จ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีข่าวดัง นายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม หรือ เอ็กซ์ ที่ถูกลอบยิงจนเสียชีวิตนั้น ก็มีที่มาจากสาเหตุความรุนแรงเช่นกัน ซึ่งจากข่าวจะพบว่าเกิดจากกรณีที่ เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ทำร้ายร่างกาย พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม ผู้เป็นภรรยา แม้การใช้ความรุนแรงโต้ตอบกลับไปในครั้งนี้จะไม่ได้มาจากการกระทำของหมอนิ่ม แต่มาจากนางสุรางค์ ดวงจินดา มารดาของหมอนิ่ม ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะความรุนแรงจะแก้ปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรงไม่ได้ ทางออกที่ดีคือผู้ถูกกระทำความรุนแรงและผู้ใช้ความรุนแรงต้องได้รับคำปรึกษาและบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการคลี่คลายปัญหาไปในทางที่ดีจะเหมาะสมกว่า
น.ส.แพรวา (นามสมมติ) ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากอดีตสามี กล่าวว่า เมื่อครั้งแต่งงานกันใหม่ๆ สามีคอยดูแลเอาใจใส่อย่างดี พอมีลูกพฤติกรรมเริ่มเปลี่ยนไป ไม่รับผิดชอบครอบครัว ดื่มเหล้า ภาระทั้งหมดตกอยู่ที่ตน ต้องออกไปทำงานนอกบ้านจนเป็นสาเหตุให้สามีกล่าวหาว่ามีชู้ ด่าว่า และทำร้ายอย่างรุนแรง เมื่อทนไม่ไหวจึงขอเลิกและแยกทาง ส่วนลูกตนเป็นคนส่งเสียเลี้ยงดูแต่ให้อยู่กับญาติสามี จนกระทั่งช่วงปีใหม่สามีหลอกว่าลูกต้องการพบ ได้มีการพูดคุยง้อขอคืนดี และขอมีเพศสัมพันธ์ แต่ตนปฏิเสธจึงเกิดปากเสียง สามีทำร้ายโดยใช้ค้อนตีที่ศีรษะและลำตัว ตีจนนิ้วมือเกือบขาด เมื่อล้มลงใช้เตารีดที่กำลังร้อนนาบที่ใบหน้า และนำสายเตารีดมัดปาก ด้วยความเจ็บปวดทรมานจึงนิ่งเงียบ จนคิดว่าเสียชีวิตและเขาหลบหนีไป จากนั้นตนพยายามพยุงตัวเองไปแจ้งความและถูกส่งไปยังโรงพยาบาล
“สิ่งที่เขาทำกับเรามันโหดร้ายเกินกว่าจะบรรยาย เหมือนเราไม่ใช่คน แม้จะร้องขอชีวิตแต่เขาก็ทำร้ายอย่างรุนแรง จนร่างกาย ใบหน้า หัว และแขน มีเลือดท่วมตัว ถึงตอนนี้เหตุการณ์ครั้งนั้นยังคอยหลอกหลอน และติดตาอยู่ตลอดเวลา ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว ส่วนเรื่องคดีความเขาถูกคุมขังที่ สน.มีนบุรี และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากศาล” น.ส.แพรวา กล่าว
น.ส.แพรวา กล่าวอีกว่า ขอให้ผู้หญิงกล้าและเอาชนะใจตัวเองให้ได้ พยายามสู้กับหัวใจ ปกป้องศักดิ์ศรีตัวเอง ให้นึกว่าสิ่งเลวร้ายเหล่านี้มันปั่นทอนจิตใจทั้งตัวเราและคนรอบข้าง โดยเฉพาะพ่อแม่เมื่อเห็นลูกเจ็บปวด พ่อแม่เจ็บกว่าเป็นร้อยเท่า ซึ่งชีวิตช่วงนั้นยอมรับว่าตนตัดสินใจพลาดที่แต่งงานโดยไม่ศึกษานิสัยใจคอฝ่ายชายให้มากกว่านี้ ส่วนชีวิตตอนนี้ดีขึ้นเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ได้กำลังใจจากครอบครัว คนรอบข้างหรือเพื่อนที่ทำงานเข้าใจและไม่ซ้ำเติม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง 2556 ตอน ลุกขึ้นปกป้องตัวเอง ร่วมก้าวข้ามความรุนแรง ได้มีการป้ายตาสีแดงโดยใช้ลิปสติก เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายแค่ไหน และต่อไปนี้ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งที่ถูกกระทำ พร้อมแจกสติกเกอร์รณรงค์บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ