xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จี้ “ปวีณา” แก้ปัญหาความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จี้ “ปวีณา” ลุยแก้ปัญหาความรุนแรง เนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง แนะจับมือเอ็นจีโอ เครือข่ายภาคประชาชนร่วมแก้ไขอย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมพัฒนากลไกลบำบัดฟื้นฟู เร่งประชาสัมพันธ์ OSCC รณรงค์ผู้หญิงออกมาปกป้องสิทธิ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (21 พ.ย.) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยเครือข่ายสตรี กว่า 50 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเรียกร้องให้ช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยนายจะเด็จ กล่าวว่า เนื่องด้วยวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนงานป้องกัน แก้ไข รณรงค์ และช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลงพื้นที่สำรวจยังพบข้อมูลน่าห่วง คือ ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะอดทน หากมีความรุนแรง และพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับตัวเอง เนื่องจากว่าอาย ยอมทนเพื่อลูก กลัวถูกทำร้ายซ้ำ ไม่รู้ช่องทางการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ และไม่รู้เรื่องของกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้หญิงได้

นายจะเด็จ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ พม.เป็นองค์กรภาครัฐที่ดูแลแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว โดยตรง มูลนิธิฯและเครือข่ายสตรี 8 จังหวัด ขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาเพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้ 1.เร่งประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) และกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ให้ต่อเนื่อง 2.เร่งรณรงค์ให้ผู้หญิงได้ออกมาใช้สิทธิของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ เพื่อนำมาสู่การได้รับความคุ้มครองและการป้องกันปัญหาจากความรุนแรง 3.พัฒนากลไกในการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำต่อผู้หญิง 4.สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายชุมชน ได้ดำเนินงานในการบำบัดฟื้นฟูและคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้การดำเนินงานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหามีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น


พม.มีอำนาจในการกำกับดูแล ควรปรับกระบวนการและส่งเสริมกลไกลให้ภาคส่วนต่างๆ บูรณาการร่วมกัน เพราะปัญหาเหล่านี้กระทรวงจะทำเพียงลำพังไม่ได้ เนื่องจากแนวโน้มความรุนแรงมีเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากผู้มาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิฯ และปรากฏข่าวทางสื่อต่างๆ รวมถึงข้อมูลของ OSCC ส่วนใหญ่เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาทิ สามีนอกใจ ถูกทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงยังมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด เป็นต้น ทั้งนี้ บางรายประสบปัญหามากกว่าหนึ่งเรื่อง ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วรัฐจะสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนที่มีความสามารถดำเนินการด้านการยุติปัญหา ได้เข้ามาช่วยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากการทำงานของรัฐยังมีข้อจำกัด และสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น รัฐควรสนับสนุนให้หน่วยงานภาคเอกชนและชุมชนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่ทุกอย่างวิ่งรวมศูนย์มาที่จุดเดียวในการแก้ไขปัญหา” นายจะเด็จ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น