xs
xsm
sm
md
lg

การลุกฮือของคนจนทั่วโลกในทศวรรษหน้า / กอแก้ว วงศ์พันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
รายงานของธนาคารโลกเมื่อปี 2555 ระบุว่า มีคนจนที่มีรายได้ไม่เกิน 60 บาท จำนวนมากถึง 2,500 ล้านคน ในขณะที่มีคนรวยที่สุดมีจำนวนเพียง 70 ล้านคน ในจำนวนประชากรโลกทั้งหมดประมาณ 7,000 ล้านคน เรียกว่าคนรวยมีเพียงแค่ 1% ของประชากรโลกทั้งหมด หากเปรียบเทียบกันแล้ว รายได้ของคนรวยที่สุดเท่ากับรายได้ของคนจนรวมกันถึง 3,500 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นคนจน 50% ของโลกเลยทีเดียว นับเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เริ่มวิกฤตอย่างหนัก เนื่องจากความร่ำรวยเหล่านั้นนำมาซึ่งปัญหาของกลุ่มคนจน เช่น เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความร่ำรวยของคนบางกลุ่ม โดยปล่อยให้คนจนต้องประสบปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพเนื่องจากผลกระทบจากการพัฒนา ปัญหาความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย หากไม่มีตระหนักในสิทธิของกลุ่มคนธรรมดาเหล่านี้ โลกอาจเผชิญกับการลุกฮือของคนจนทั่วโลกในอนาคต

คนจน คนชายขอบ คนด้อยโอกาสทั่วโลก เป็นกลุ่มคนธรรมดาซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่มักถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกละเมิดทั้งทางโครงสร้างสังคม และทางปัจเจก โดยเฉพาะการละเมิดโดยภาครัฐที่มีนโยบายเบียดเบียน และละเมิดสิทธิพวกเขา ถูกเอารัดเอาเปรียบในนามโนบายการพัฒนาของภาครัฐ โดยปราศจากการคำนึงถึงสิทธิการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนจนในการกำหนดนโยบายเหล่านั้น

 
ในประเทศไทยมีหลากหลายกรณีที่คนจน และคนด้อยโอกาส ถูกทำให้เป็นชายขอบจากภาครัฐ โดยนโยบายการพัฒนาที่เบียดเบียนคนธรรมดามาเนิ่นนานแล้ว พวกเขาถูกไล่รื้อ ถูกขับออกจากพื้นที่ เพื่อหลีกให้การพัฒนา หลีกทางให้เขื่อนขนาดใหญ่ หลีกทางให้นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้คนไม่กี่กลุ่มร่ำรวย เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา และพม่า ก็เริ่มถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในนามการพัฒนาของประเทศเช่นกัน ไม่นับคนจนทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้ โดยการกระทำมีความซับซ้อนมากขึ้น

เนื่องจากสถานการณ์ของคนจน คนด้อยโอกาส คนชายขอบในนามคนธรรมดาถูกคุกคามอย่างซับซ้อนมากขึ้น ไม่มีแนวโน้มลดลง องค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เช่น Amnesty International Thailand มูลนิธิชุมชนไท สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา มูลนิธิชุมชนไท เครือข่ายชุมชนศรัทธา โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ สงขลา จึงได้ร่วมกันจัดงานชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 4 และสัปดาห์สิทธิมนุษยชนครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิดเรื่อง เอารั(ด)ฐเอาเปรียบ : การพัฒนากับปัญหาสิทธิมนุษยชน “คนธรรมดา สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่” ขึ้น ระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2556 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ สงขลา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ภายในงานได้นำเสนอปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยมีผู้ถูกละเมิดสิทธิด้านต่างๆ เป็นผู้นำเสนอปัญหาของตนเอง เช่น ปัญหาผลกระทบของแหล่งผลิตอาหารภาคใต้จากแผนพัฒนาภาคใต้ ปัญหาการไล่รื้อที่อยู่ของคนจนเมืองในประเทศกัมพูชา ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ศรีลังกา

ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อาจารย์ประจำภาคสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา ในฐานะผู้ประสาน กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงโลกต้องมาจากมือคนธรรมดาสามัญ และที่ผ่านมา คนธรรมดาสามัญสามารถเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีตลอดมา จึงได้มีการจัดเวทีเพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหา และต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน และเกิดความร่วมมือในการทำงานในลักษณะเครือข่ายการแก้ไขปัญหา ทั้งระดับประเทศ และระดับนานาชาติขึ้น หากภาครัฐ หรือคนที่มีอำนาจปล่อยปละละเลยปัญหา กีดกันไม่ให้คนธรรมดาเหล่านี้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคต และกำหนดการพัฒนาประเทศ เชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะนำมาสู่วิกฤตความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น และด้านหนึ่งจะนำไปสู่การตื่นตัวตื่นรู้ของคนจน คนชายขอบทั่วโลกอย่างขนานใหญ่ และตนเชื่อว่า “ในทศวรรษหน้าจะเป็นทศวรรษการลุกฮือของคนจนทั่วโลกอย่างแน่นอน”

ขณะเดียวกัน วัฒนา นาคประดิษฐ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดจากการขาดการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของคนจน คนธรรมดา ตนเชื่อว่า พลังคนเล็กคนน้อยมีจริง ดูจากกรณีประท้วงวอลล์สตรีท ตลาดหุ้นใหญ่ของโลกเมื่อเร็วๆ นี้ พลังเล็กมันทำให้คนหันมาคิดว่าทุนนิยมมีปัญหา มันทำอะไรกับสังคมให้บิดเบี้ยวบ้าง หรือกรณีละตินอเมริกา คนเล็กคนน้อยในประเทศเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ระบบการกดขี่ของอเมริกานั้นได้นำมาซึ่งการเร่งเร้าให้ชาวนา และขบวนการประชาชน ออกมาต่อสู้ทุนนิยมขนาดใหญ่ ทุนนิยมเป็นตัวบีบให้คนออกมาต่อสู้

วัฒนา กล่าวต่อไปอีกว่า ตนทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่อาสาสมัครเพื่อสังคมมาประมาณ 30 ปี พบว่า คนรุ่นใหม่มีความกล้าคิดกล้าทำอย่างมาก แต่ขาดการวิเคราะห์ปัญหาอย่างเชื่อมโยง ความกระตือรือร้นในการเข้าไปสัมพันธ์กับสังคมมีน้อยลง แต่ก็ไม่ได้นิ่งสนิทเสียทีเดียว หากพวกเขาได้รับการกระตุ้นถูกดึงศักยภาพออกมาอย่างถูกวิธี และหากพวกเขาเข้าไปสัมผัสกับปัญหาที่ตรงกับจริตของพวกเขาจริงๆ พวกเขาจะเปลี่ยนเป็นคนทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจังเลยทีเดียว

ครั้งหนึ่งตนเคยทำงานกับเด็กมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่ง เหมือนเป็นเด็กไม่สนใจปัญหาสังคม ใช้ของแบรนด์เนม เมื่อเขาออกพื้นที่อาสา และไปพบคนไทยคนหนึ่งแต่ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เขาสะเทือนใจ และนำไปสู่การช่วยเหลือคนคนนั้นจนได้บัตรประชาชนไทย สุดท้ายการช่วยเหลือคนคนหนึ่งเขากลายเป็นคนที่เชี่ยวชาญชำนาญในเรื่องคนไร้สัญชาติ ไร้สถานะ ตนคิดว่าสังคมไทยไม่ได้สิ้นหวังกับคนรุ่นใหม่ หรือเยาวชน เพียงแต่ส่งเสริมพวกเขาให้ถูกทาง กลุ่มเยาวชนจะเป็นกลุ่มคนธรรมดาที่มีพลังยิ่งใหญ่ของสังคม

ด้าน ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการ Amnesty International ประเทศไทย มองว่า นักศึกษามีโอกาสกว่าคนอื่นๆ ต้องการให้นักศึกษาเข้าใจสิทธิมนุษยชนชัดเจนมากขึ้น เอมเนสตี้ ต้องการสร้างสิทธิมนุษยชนให้เป็นวัฒนธรรมของสังคมให้ได้ สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของการเข้าใจสิทธิของตนเอง และเรียกร้องแต่สิทธิตนเองเท่านั้น ตนจึงได้มีการร่วมมือกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาทักษิณ ทำโปรแกรมในการสอน การอบรมแก่นักศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน เป็นโปรแกรมระยะยาว อยากให้นักศึกษาเข้าใจ และก้าวออกไปช่วยเหลือคนที่ถูกจำกัดสิทธิในสังคมมากขึ้น

ปริญญา กล่าวถึงการทำงานของเอมเนสตี้ ว่า เป็นตัวเชื่อมประสานตั้งแต่ระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติเพื่อรณรงค์ และเป็นกระบอกเสียงให้คนที่ถูกละเมิดให้เป็นที่รับรู้แก่สังคมวงกว้าง เพื่อให้สังคมเป็นแรงกดดันภาครัฐในการแก้ไขปัญหาให้กับคนที่ถูกละเมิด มีกรณีในภูมิภาคอาเซียนที่เราช่วยรณรงค์ เช่น กลุ่มคนจนเมืองในประเทศกัมพูชา ได้นำพวกเขาออกมาพูดถึงความเดือดร้อน และการถูกละเมิดสิทธินอกประเทศว่า พวกเขาถูกทำร้าย ถูกไล่รื้ออย่างไม่เป็นธรรมอย่างไร เมื่อสังคมโลกรับทราบ จะช่วยชะลอเหตุการณ์เลวร้าย และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ปัญหาของคนจนไม่ใช่ปัญหาระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับภูมิภาค และปัญหาระดับโลก นับวันคนจนทวีจำนวนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ตัวเลขทางเศรษฐกิจกลับสูงขึ้น แต่ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มจำนวนน้อยของโลก เป็นดัชนีวัดความวิกฤตความขัดแย้งในอนาคต หากไม่มีการทบทวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของโลก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น