กรุงเทพฯ ถือเป็นมหานครที่ได้ชื่อว่ามีสภาพการจราจรที่เลวร้ายแห่งหนึ่งของโลก จนเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมาเว็บไซค์ BBC จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสภาพการจราจรที่ติดขัดที่สุดในโลก หลายคนมองว่าเป็นผลมาจากนโยบายรถคันแรกที่เพิ่มจำนวนรถบนถนนให้เพิ่มอย่างมหาศาล ส่งผลให้ในกรุงเทพฯมีรถมากถึง 5 ล้านคัน ขณะที่พื้นที่ของถนนสามารถรองรับรถยนต์ได้เพียง 2 ล้านคันเท่านั้น ล่าสุด พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจรได้มีการเริ่มใช้นโยบาย “5 จริง” คือ ยกจริง ล็อกจริง จับจริง ขังจริง สุภาพจริง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ทว่า หลังจากบังคับใช้วันแรกก็ยังคงมีคำถามสำคัญที่ต้องตอบ 5 จริงจะเป็นทำได้จริงหรือไม่?
โดยล่าสุดนั้น มีการรายงานจากไทยรัฐออนไลน์แล้วว่า หลังจากเริ่มนโยบายวันแรก กรุงเทพฯ ยังคงมีหนาแน่นในหลายพื้นที่อยู่ อย่างไรก็ตามในระยะยาวอาจยังมีคำตอบที่เป็นบทพิสูจน์ความสามารถของตำรวจจราจรไทยอยู่
ผศ.ดร. ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ ในฐานะที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับระบบการจราจรไทยมาเผยว่า ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา กรมตำรวจนครบาลก็เคยมีนโยบายบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในชื่อ มาตรการปรับ - ยกรถในการดูแลของ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รับผิดชอบงานด้านจราจรในช่วงนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรอยู่ จากมาตรการดังกล่าววันแรกมีการยกรถไปถึง 19 คัน แจกใบสั่งถึง 97 ใบด้วยกัน
“ในช่วงปีที่ผ่านมาตำรวจจราจรก็มีความมีพยายามที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง โดยมีจุดหมายที่การแก้ไขปัญหารถติดเพราะรู้ว่า ผู้ใช้รถใช้ถนนนั้นกังวลถึงปัญหานี้มากที่สุด หากสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ก็จะชนะใจคนกรุงเทพฯได้”
โดยนโยบายดังนั้นมีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาจราจรอุบัติเหตุ และปัญหามอเตอร์ไซค์รับจ้างเรียกค่าโดยสารแพงเกินจริง เธอมองว่า สาเหตุของรถติดส่วนหนึ่งมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และการขับขี่ที่เป็นปัญหาของผู้ขับรถบริหารสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถตู้ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จนถึงคนขับแท็กซี่ที่อาจจะมีการขับขี่รถยนต์ที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย จนทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นรู้สึกเอือมระอาในพฤติกรรม
“นโยบาย 5 จริงครั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าถ้าบังคับใช้จริงก็น่าจะก่อให้เกิดผลที่ดีขึ้นได้” เธอเอ่ยก่อนให้รายละเอียดว่า “ส่วนหนึ่งของนโยบายจะมีการแก้ไขปัญหาการจราจรในระดับโครงสร้าง ตัวอย่างเช่น การแก้พฤติกรรมการขับขี่ของรถโดยสารสาธารณะนั้น หากมีการทำผิดก็ต้องลงโทษถึงผู้ประกอบการด้วย”
ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งหนึ่งที่สังคมอาจมองข้ามและเป็นปัญหาใหญ่ของการจราจร เธอเผยว่า แท้จริงแล้วคือปัญหาอุบัติเหตุที่สูง ทั้งการสูญเสียที่ตามมามากมายจนติดอันดับโลก กรุงเทพฯที่เป็นศูนย์กลางนั้นส่งผลถึงการบริหารงานจราจรทั่วประเทศ โดยข้อมูลตรงนี้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรก็ทราบดี แต่เลือกที่จะแก้ไขปัญหารถติดก่อน เพราะผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญกว่า
“จริงๆ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดแท้จริงแล้วคือปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนน ส่วนกลางอย่างตำรวจนครบาลที่ดูแลการจราจรในกรุงเทพฯ มีเทคโนโลยีดีที่สุด มีศักยภาพมากที่สุด การทำให้เป็นตัวอย่างแก่ทั้งประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ”
คำถามหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมักถูกถามอยู่เสมอก็คือ การใช้อำนาจในทางที่ผิด หากมีนโยบายดังกล่าวหลายคนจึงตั้งแง่ว่า เจ้าหน้าที่อาจใช้โอกาสนี้ในการกอบโกยเอาสินบนจากผู้ที่ฝ่าฝืนกฎ
“ถ้ามีคำว่าสุภาพจริงอยู่ด้วย ตำรวจไม่น่าจะกระทำการแบบนั้น” เธอเอ่ยตอบ ก่อนให้รายละเอียดว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมในส่วนของการสร้างสุภาพบุรุษจราจร “พวกเขาถูกอบรมให้มีวิธีในการเข้าหาประชาชนอย่างไรให้สุภาพที่สุด ต้องปฏิบัติอย่างไรกับผู้กระทำผิด และทำอย่างไรให้ผู้ขับขี่ไม่เข้าใจไปว่าพวกเขาทำเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินบน”
อย่างไรก็ตาม เธอยังคงเห็นว่า นโยบาย “5 จริง” นี้ยังต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ หากมีการ “ยกจริง ล็อกจริง จับจริง ขังจริง สุภาพจริง” แต่เพียงเปลือกนอกให้ดูเป็นข่าวโดยขาดการแก้ปัญหาที่ฝังรากอยู่ก็อาจไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้จริง
“มันเหมือนการจับยาเสพติด ถ้าจับแต่ปลาซิวปลาสร้อย จับแต่รายเล็กก็เหมือนรังแกชาวบ้าน กับปัญหาจราจรก็เหมือนกัน ถ้าจะจับ จะลงโทษก็ต้องลงโทษที่ผู้อยู่เบื้องหลังด้วยอย่างคนขับรถเมล์ หากมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ดีก็ต้องเข้าไปตรวจสอบถึงผู้ประกอบการ”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!