พท.นำทีม 53 พรรคการเมืองประชุมเดินหน้าเลือกตั้ง ดันออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน พร้อมจี้ กกต.เชิญรัฐบาล พรรคการเมือง หารือแนวทางการดำเนินการเร่งวันหย่อนบัตร ต้นเดือนหน้า ขู่หากยึกยักเจอดี ยันไม่เอานายกฯ คนกลาง
ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน จ.นครปฐม เมื่อเวลา 12.15 น.วันนี้ (28 มี.ค.) นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย แถลงหลังการประชุมร่วมกับ 53 พรรคการเมือง ในหัวข้อ “เดินหน้าประชาธิปไตย ร่วมใจ...หาทางออกการเลือกตั้ง” ว่า ที่ประชุมทั้ง 53 พรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันว่าทุกพรรคการเมืองอยากให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะทำเอกสารข้อเสนอแนะที่ทุกพรรคการเมืองจะลงนามร่วมกันเสนอไปยัง กกต. รวมไปถึงองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นว่าควรให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่โดยเร่งด่วน และควรออกพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤฎีกาเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วันนับตั้งแต่วันที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการหารือร่วมกับรัฐบาลว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นมาใหม่
สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร และพรรคการเมือง ที่สูญเสียไปในการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 นั้นจะต้องมีการหารืออีกครั้งว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบและต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมถึงในส่วนของกรณีการแสดงค่าใช้จ่ายต่อ กกต.ด้วยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งโมฆะแล้วยังจำเป็นต้องแสดงอีกหรือไม่อย่างไร สำหรับกรณีการดำเนินคดีกับผู้ขัดขวางการเลือกตั้งนั้น กกต.ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เป็นรูปธรรม รวมไปถึงการพิจารณาแก้ไขและป้องกันปัญหาการขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งหาก กกต.ยังหาทางแก้ไขหรือป้องกันปัญหาไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาอีกในอนาคต
นายโภคินกล่าวอีกว่า ยังมีประเด็นคำถามสำคัญอีกว่า ในฐานะที่รัฐบาลมีอำนาจจำกัดตามรัฐธรรมนูญภายหลังประกาศยุบสภา อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งใหม่ จึงถือว่าขณะนี้ยังไม่อยู่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ นอกจากนี้การประกาศผลการเลือกตั้งนั้น กกต.ต้องมีแนวทางในการดำเนินการให้ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าทั้งพรรคการเมือง ประชาชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ดังนั้น อยากให้ กกต.กำหมดวันประชุมร่วมกันระหว่าง กกต. รัฐบาล และผู้แทนพรรคการเมือง ซึ่งหากเร็วที่สุดคือในช่วงต้นเดือน เม.ย.ได้ก็จะเป็นการดี
“สิ่งที่เราทำในวันนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกัน เราจึงต้องถามไปยัง กกต. เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างนั้นถูกต้อง เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งมีปัญหาหรือเป็นโมฆะอีกครั้ง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมวันนี้ได้เชิญพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคการเมืองที่ไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ด้วยหรือไม่ นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ในฐานะผู้ประสานงาน เปิดเผยว่า มีการประสานงานเชิญผู้แทนทุกพรรคการเมืองที่จดทะเบียนกับ กกต. ทั้งที่ลงและไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 โดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยนั้น ตนได้ลงนามและเดินทางไปยื่นหนังสือด้วยตนเองเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาถึงที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ โฆษกพรรคเป็นผู้มารับหนังสือ โดยระบุว่าจะเสนอไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ประสบอุบัติเหตุเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ ทราบภายหลังว่านายอภิสิทธิ์ได้มอบหมายให้รองหัวหน้าพรรคเป็นผู้แทนมา แต่วันนี้กลับไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม
ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมการประชุมวันนี้ เป็นสัญญาณว่าหากจัดการเลือกตั้งใหม่จะเกิดปัญหาขึ้นมาอีกหรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า เราตอบเรื่องนี้แทนไม่ได้ แต่เราก็พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้เดินหน้าระบอบประชาธิปไตยต่อไปได้ ยินยันว่าสิ่งที่เราคิดร่วมกันในวันนี้ก็เพื่อช่วยแนะนำไปยัง กกต.ที่จะทำตามหน้าที่ และขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยในส่วนของข้อเสนอแนะป้องกันการขัดขวางการเลือกตั้งนั้น หากมีการหารือกับ กกต.ก็จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าเราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคการเมืองยังเชื่อมั่นการทำหน้าที่ของ กตต.อยู่หรือไม่ นายโภคินกล่าวเพียงว่า “อย่างไรก็คงต้องยอมรับ”
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองมาหารือร่วมกันวันนื้เพื่อหาข้อสรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และนำส่งไปยัง กกต.เพื่อให้ชี้แจงให้ชัดเจนถึงปมข้อสงสัยการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า มีข้อผิดพลาดอย่างไรบ้าง รวมถึงแนวทางปฏิบัติต่อไป มิเช่นนั้นหากมีการจัดเลือกตั้งอีกก็จะมีปัญหาตามมาอีก และทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ กกต.ควรเร่งนัดหาข้อสรุปกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หาก กกต.ไม่จัดการหารือก็ต้องตอบสังคม และรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น
“พวกเรายืนยันว่าการเลือกตั้งต้องเดินหน้าต่อไป ถ้า กกต.บอกว่าไม่พร้อม หรือขอเวลาระยะหนึ่ง ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาอีกว่า พวกเราจะดำเนินการอย่างไรกับ กกต. เพราะวันนี้เราคิดแค่มิติที่ว่าจะต้องมีการเลือกตั้ง ดังนั้นไม่มีความคิดเรื่องนายกฯ สำรอง หรือนายกฯ คนกลาง เพราะแบบนั้นเป็นกระบวนการคิดของพวกที่ไม่นิยมการเลือกตั้ง”