xs
xsm
sm
md
lg

เด็กหายจนตาย! ซ้ำซาก ไร้คนรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เด็กหาย" ปัญหานี้นับวันมีข่าวให้เห็นถี่ขึ้น ล่าสุดน้องเพลง วัย 11 ขวบ หายตัวจากบ้านอย่างไร้ร่องรอยจนมาพบอีกทีก็กลายเป็นศพไปเสียแล้ว นับเป็นอุทาหรณ์ซ้ำซากกระแทกกลางหัวใจคนเป็นพ่อแม่ที่ยังไม่มีหน่วยงานรัฐส่วนไหนมีประสิทธิภาพพอที่จะรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้เลย เตือนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้เท่าทัน เพราะสมัยนี้มีการล่อลวงที่แยบยลขึ้น ทั้งดำเนินการด้วยตัวเอง หรือส่ง "นางโจร" เข้ามาช่วงชิงเด็ก หากไม่ทันได้ระวัง แค่วินาทีเดียวอาจคลาดคุณกับลูกไปเลยก็ได้

ภัยเด็กหาย ถึงเวลาที่ต้องกลัว

ไม่กลัวไม่ได้แล้ว เพราะมีให้เห็นถี่ขึ้น กรณีข่าวเด็กหาย หรือถูกลักพาตัว ส่วนใหญ่ถูกพบเป็นขอทานตามท้องถนน หรือถูกใช้เป็นแรงงานในอุตสาหกรรม ซ้ำร้ายบางรายหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แต่ที่หนักไปกว่านั้นเมื่อถูกพบว่าเป็นศพ สร้างความเศร้าสลดแก่ครอบครัวของเด็กเป็นอย่างมาก

ย้อนดูข้อมูลตัวเลขจากมูลนิธิกระจกเงา แถลงสถิติคนหายตั้งแต่ปี 2547-2555 พบว่า มีคนหายทั้งสิ้น 2,543 คน ซึ่งมีเด็กหายจำนวนมาก โดยเด็กที่มีโอกาสถูกลักพาตัว ส่วนใหญ่มักอยู่ในกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่วัยทารก-11ขวบ เฉลี่ยสูงสุดวัย 4 ปี บางคนตามกลับคืนบ้านได้ ในขณะที่บางรายหายตัวปริศนา

สำหรับพื้นที่เสี่ยงในการถูกลักพาตัวนั้น ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ระบุไว้ในรายงาน "ถอดบทเรียนกรณีลักพาตัวเด็กในประเทศไทย" ว่า การก่อเหตุลักพาตัวเด็ก มักเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ซ้ำร้ายยังอาจเป็นบริเวณที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักนิ่งนอนใจ เพราะคิดว่าเป็นสถานที่คุ้นชินและปลอดภัยสำหรับบุตรหลาน โดยพื้นที่เสี่ยงที่ผู้กระทำความผิดมักก่อเหตุลักพาตัวเด็กได้แก่ บ้าน ทั้งบริเวณหน้าบ้าน และภายในบ้านของเด็กเอง, วัด โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานวัด ตามมาด้วย โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า และบริเวณใกล้ที่ทำงานของผู้ปกครองเด็ก

ส่วนเด็กที่มีความเสี่ยงถูกลักพาตัวสูง ในรายงานระบุว่า เด็กหญิงและเด็กชายมีโอกาสเสี่ยงพอๆ กัน แต่เด็กที่ถูกลักพาตัวมักเป็นเด็กที่มีบุคลิกหน้าตาดี เชื่อคนง่าย ส่วนใหญ่เด็กไม่มีทักษะในการป้องกันตัวเอง หรือการขอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก เด็กที่ถูกลักพาตัวมักไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ก่อเหตุมักข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายเด็ก หรือหากเด็กหลบหนีไปได้จะตามไปทำร้ายครอบครัวเด็กที่บ้าน

ทีนี้ลองมาดูวิธีการลักพาตัวเด็กกันบ้าง มีข้อมูลที่น่าสนใจระบุต่อไปว่า การลักพาตัวเด็กที่ผ่านมา ไม่มีการใช้กำลังประทุษร้าย ไม่มีการฉุดกระชาก ไม่มีการมัดมือมัดเท้า ไม่มีการปิดตาปิดปาก เหมือนที่ทางการมักให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนบ่อยๆ เพราะข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ก่อเหตุมักใช้วิธีการที่แนบเนียนกว่านั้น

กรณีที่เป็นเด็กทารกหรือเด็กเล็ก มิจฉาชีพมักทำทีตีสนิทกับครอบครัว มีการขออุ้มเด็ก หรือแม้กระทั่งปลอมตัวเข้ามาสมัครเป็นพี่เลี้ยงเด็ก หรือกรณีล่าสุดที่จังหวัดขอนแก่น ที่ผู้กระทำผิดปลอมตัวเป็นญาติของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อให้ทุกคนตายใจ จากนั้นจะอุ้มเด็กออกไปเสมือนหนึ่งว่าเป็นแม่หรือเป็นญาติของเด็ก โดยไม่มีใครสงสัย

ส่วนกรณีเด็กโตนั้น มักถูกล่อหลอกด้วยสิ่งจูงใจ 4 อย่าง ได้แก่ 1. เงิน 2. ขนม 3. ของเล่น 4. เกม โดยผู้กระทำผิดมักจะนำสิ่งล่อใจมาชักชวนเด็กในการให้เดินออกจากบริเวณที่เด็กอยู่ เพื่อตามผู้กระทำความผิดออกไป เช่น หลอกล่อว่ามีของเล่นอยู่ที่บ้านผู้กระทำผิด ถ้าเด็กอยากได้ให้ตามไปเอา เด็กมักหลงเชื่อเพราะอยากได้ของเล่น จากนั้นจะยอมเดินตามผู้กระทำความผิดไป โดยเสมือนหนึ่งญาติที่รู้จักกัน เพราะไม่มีการใช้กำลังบังคับ จึงทำให้บุคคลอื่น ไม่สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ

อุทาหรณ์ ส่ง "นางโจร" มาฉกเด็ก

"ตอนที่สามีให้นมลูก ลูกก็นอนอยู่บนตัก พอทานเสร็จเขาก็พลิกตัวลงมาแล้วผู้หญิงคนนั้นก็เดินมาอุ้มไปเลย" คำบอกเล่าของ คุณบี-เนตรนภา ศิริภรรค์ ที่เกือบสูญเสีย "น้องดิน" ลูกชายคนเดียววัย 1 ขวบกว่าไปกับแก๊งมิจฉาชีพที่อัปเกรดวิธีการให้แยบยลขึ้นด้วยการส่ง "นางโจร" เข้ามาดำเนินการ

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดใจเมื่อครั้งที่เธอให้สัมภาษณ์ผ่าน ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดยทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ขออนุญาตหยิบยกมานำเสนอต่อเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจอีกครั้ง สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้น เธอเล่าว่า ก่อนเกิดเหตุ มีผู้หญิงคนหนึ่ง มายืนมองลูกของเธออยู่สักพักหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ประกอบกับน้องดินเป็นเด็กเข้ากับคนง่าย ใครเห็นก็ชอบมาเล่นด้วย จึงไม่ทันได้ระวังในจุดนี้ไป

"ตอนที่เขาเข้ามาอุ้มไป เป็นช่วงที่สามีกำลังเก็บขวดนมพอดี ซึ่งทันทีที่เห็น สามีก็รีบวิ่งตามไปพร้อมตะโกนว่า คุณเอาลูกผมไปไหน ขณะที่ผู้หญิงคนนั้นก็วิ่งหนีเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ไปทันกันบริเวณร้านนวดในตลาด และเกิดการฉุดกระชากตัวเด็กจนน้องดินร้องไห้

คุณพ่อก็ไปแย่งตัวลูกกลับมา แล้วผู้หญิงคนนั้นมากระชากกลับ แล้วเขาก็ตะโกนว่า ผู้ชายคนนี้มาแย่งลูกเขาไป ตอนนั้นคนไม่ค่อยกล้าเข้ามายุ่งเพราะคิดว่าเป็นเรื่องสามีภรรยา ตอนที่บีไปถึง มีคนมุงไม่ต่ำกว่า 10 คน แล้วก็มีคนมาช่วยอุ้มลูกเอาไว้ เพราะพอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เขาก็ไม่แน่ใจว่าเป็นลูกใคร ก็เลยอุ้มแยกออกไปให้

ตอนนั้นตำรวจก็มาแล้ว พอบีเห็นลูกก็รีบไปอุ้มลูกกลับมา คนแถวนั้นยังบอกเลยว่า นี่สิถึงจะเป็นแม่แท้ๆ เพราะก่อนหน้าที่มีการแย่งลูกกัน เขากระชากลูกเราแรงมากจนลูกร้องไห้ คนที่เห็นเหตุการณ์ยังบอกเลยว่า ถ้าแม่แท้ๆ ไม่กระชากแรงแบบนี้หรอก" คุณบีเล่า

สุดท้าย นางโจรรายนั้นก็จนมุม ถูกพาตัวส่งโรงพัก เพราะมีพลเมืองดีช่วยยืนยัน แต่เหตุการณ์สะเทือนใจในวันนั้น ทำเอาคนเป็นแม่อย่างเธอนอนไม่หลับ น้ำตาไหลตลอดเวลา พร้อมๆ กับความคิดที่ว่า ถ้าเขาขโมยลูกไปได้ ถ้าสามีไปไม่ทัน จะทำอย่างไร ถือเป็นบทเรียนราคาแพงกับตัวเธอ และสังคมว่า หากเผลอแค่วินาทีเดียว อาจคลาดคุณกับลูกได้

เด็กๆ ถูกลักพาตัวไปอยู่ไหน

เจาะลึกลงไปถึงข้อมูลที่ทุกคนอยากรู้เกี่ยวกับเส้นทางการลักพาตัวเด็ก จากข้อมูลของเด็กหลายรายที่มูลนิธิกระจกเงาตามคืนกลับมาได้ ส่วนใหญ่ถูกลักพาตัวไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ โดยผู้กระทำความผิดมักเป็นผู้ชายอาจมีอาการผิดปกติทางจิต หรือต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก ตามมาด้วย การพาเด็กไปแสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการนำเด็กนั่งขอทาน ขายดอกไม้ หรือขายสินค้าตามตลาดนัด ส่วนอีกกรณีก็คือ การนำตัวไปเพื่อเลี้ยงเป็นลูกของตัวเอง เนื่องจากมีความรัก ผูกพัน หรือถูกชะตากับเด็ก

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการคาดการณ์กันด้วยว่า อาจจะมีการนำเด็กไปขายให้กับชาวมาเลเชีย เชื้อสายจีนที่อยากมีบุตร เนื่องจากมีขบวนการซื้อขายเด็กทารกอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยจริง แต่การสืบสวนข้อเท็จจริงยังไม่สามารถแสวงหาคำตอบที่ชัดแจ้งจนถึงปลายทางได้

คล้ายๆ กันกับข้อมูลจาก สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ที่เคยออกมาเตือนพ่อแม่ ผู้ปกครองว่า คนใกล้ตัวเด็ก เป็นภัยร้ายที่ใครก็คาดไม่ถึง โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจ บางคนไม่สามารถมีลูกได้ ประการที่สอง พวกที่ต้องการใช้เด็กต่อรองกับผู้ปกครอง บางรายถึงขั้นลักพาเด็กไปฆาตกรรมเลยก็มี ประการที่สาม พวกที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก อาจจะนำเด็กไปขายต่อ หรือใช้เด็กให้เด็กช่วยทำงานหรือไปกระทำเรื่องผิด หรือกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อเด็กอย่างต่อเนื่องยาวนาน

อย่างไรก็ดี ทิศทางของระบบดูแลปัญหาเด็กหายอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ดูเหมือนตอนนี้จะยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐส่วนไหนมีประสิทธิภาพพอที่จะรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้เลย แม้ว่า เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายพร้อมเครือข่ายภาคประชาชนได้ส่งข้อเรียกร้องถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้จัดตั้ง "ศูนย์ติดตามคนหายภาครัฐ" อย่างเป็นรูปธรรมแต่ก็ยังไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้นมาเลย

โปรดอ่าน ก่อนลูกถูกลักพาตัว

ย้ำกันอีกครั้ง หลังจากที่ย้ำกันมาตลอดเกี่ยวกับการดูแลลูกหลานให้ห่างไกลจากมิจฉาชีพ นี่คือ 4 คาถากันลูกหาย และ 4 คาถาตามลูกคืน คำแนะนำดีๆ ทิ้งท้ายจาก สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่เคยเขียนให้ความรู้เอาไว้ในคอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรักบนเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ โดยทีมข่าวขออนุญาตหยิบยกมานำเสนอต่อ

4 คาถากันลูกหาย

- ไม่ปล่อยลูกให้อยู่ตามลำพัง หรือคลาดสายตาเด็ดขาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าจำเป็นต้องไปในที่ชุมชนให้จูงมือลูกไว้ไม่ให้หลุดจากกัน เพราะกรณีเด็กหายมักเกิดจากพ่อแม่ไม่จูง โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ขวบ และอย่าคิดว่าแค่แป๊บเดียว เพราะส่วนใหญ่ที่เด็กหลงก็เพราะคำว่าแป๊บเดียวของพ่อแม่

- สอนให้ลูกรู้จักสิ่งสำคัญประจำตัวให้ได้ เช่น ชื่อจริงตัวเอง ชื่อพ่อแม่ อายุ เบอร์โทรศัพท์ บ้านเลขที่ รวมไปถึงการสอนวิธีโทรศัพท์ให้ติดต่อพ่อแม่ หรือญาติโดยให้ลูกจำเบอร์ที่บ้าน และเบอร์มือถือพ่อแม่ให้ได้ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจจะเขียนชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์พ่อแม่ติดตัวเด็กไว้

- ต้องทำความเข้าใจกับลูกในสถานการณ์ปกติด้วยว่า ถ้ามีการพลัดหลง หรือหลงทางอย่าเคลื่อนที่ไปที่ไหน เพราะพ่อแม่จะต้องหาทางตามหาลูกให้ได้ ซึ่งจะกลับไปหาในสถานที่เดิมๆ ที่เพิ่งจากมา รวมไปถึงฝึกให้ลูกรู้จักการขอความช่วยเหลือ เช่น ถามพนักงานประชาสัมพันธ์ ฉะนั้นเวลาเดินทางไปที่ไหน พยายามชี้ให้ลูกเห็นถึงสัญลักษณ์ที่สำคัญ หรือพูดคุยกันล่วงหน้าให้เป็นเรื่องปกติว่า ถ้าเกิดลูกพลัดหลงควรจะไปที่ไหน แล้วจูงลูกไปดู หรือให้ไปแจ้งตำรวจ ให้ดูว่าเครื่องแบบตำรวจเป็นแบบไหน

- สอนลูกไม่ให้รับของจากคนแปลกหน้าเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ขนม เกม เงิน ซึ่งคนร้ายมักใช้หลอกเด็กแล้วได้ผล ถ้าอยากได้ ลูกต้องมาขออนุญาตพ่อแม่ก่อนทุกครั้ง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ลูกปลอดภัยจากการถูกลักพาตัวได้ รวมถึงต้องไม่ออกไปไหนกับคนแปลกหน้าเด็ดขาด ต้องบอกให้ลูกขออนุญาตพ่อแม่ทุกครั้งเท่านั้น

4 คาถาตามลูกคืน

- ถ้าเด็กพลัดหลง หรือหาย พ่อแม่ต้องตั้งสติให้เร็วที่สุด แล้วรีบติดตามกลับมาให้เร็วที่สุด ยิ่งตรวจสอบได้เร็ว ยิ่งมีโอกาสได้เด็กคืนเร็ว หรือช่วยเด็กได้ทัน สิ่งแรกต้องรีบตรวจสอบให้เกิดความกระจ่างว่าเด็กหายตัวไปจริงหรือไม่ จากนั้นต้องไปติดตามข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้พบเด็กเป็นคนสุดท้าย และพยายามรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับจุดที่พบเด็กครั้งสุดท้าย

จากนั้นก็เริ่มกลับไปตามหาที่จุดเดิมที่เพิ่งจากมา แล้วรีบไปแจ้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้ประกาศตามหา ขณะเดียวกัน ก็ต้องกระจายกันหา สิ่งสำคัญต้องทำด้วยความรวดเร็ว ข้อสำคัญคือ ควรจำเสื้อผ้าที่ลูกสวมใส่ รวมทั้งลักษณะเฉพาะของเด็ก ไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตา แต่อาจจะมีจุดบางจุด เช่น สวมแว่นตา สวมรองเท้าแบบไหน ทรงผมเป็นอย่างไร ถ้ามีภาพถ่ายด้วยจะดีมาก

- รีบแจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานในสถานที่นั้นๆ และใช้วิธีกระจายกันค้นหาเด็ก พร้อมทั้งให้ รปภ.ช่วยด้วยอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ของสถานที่นั้นๆ ช่วยประกาศเด็กหายในทุกพื้นที่ที่สามารถประสานการช่วยเหลือได้ หรือรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันทีที่ค่อนข้างแน่ใจว่าลูกหายแน่แล้ว เพราะเร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น

- สามารถหาตัวช่วยในโลกสังคมออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต ฟอร์เวิร์ดเมล์ เฟซบุ๊ก เว็บบอร์ดที่มีคนเข้ามากๆ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางของการติดต่อขอความช่วยเหลือ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ภาพ รูปร่างหน้าตา สถานที่ วันเวลาที่เด็กหายตัวไป พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อให้ครบถ้วน เมื่อมีคนหมู่มากในสังคมเห็น ก็จะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้ด้วย และเชื่อไหมคะว่าในสังคมออนไลน์สามารถนำไปสู่การตามเด็กคืนมาได้แล้วด้วย

- เป็นไปได้รีบแจ้งสื่อมวลชนให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะสถานีวิทยุจะมีส่วนช่วยเหลือได้มาก โดยเฉพาะคลื่นใหญ่ที่มีคนฟังจำนวนมาก เช่น ส.ว.พ. (91 MHz), คลื่นร่วมด้วยช่วยกัน 96 MHz, จ.ส.ร้อย (100 MHz) ที่ผ่านมาสามารถตามคนหายผ่านทางสถานีวิทยุเหล่านี้ได้ไม่น้อย หรือพยายามใช้สื่อทุกรูปแบบ ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ฯลฯ

หากมีภาพเด็กแล้ว ต้องเผยแพร่โดยเร็วที่สุด หรืออาจขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเฉพาะซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นต้น เพื่อทั้งคนในสังคมจะได้ช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา และอาจทำให้คนร้ายเห็น จะได้ช่วยกดดันให้คนร้ายหลบหนีลำบาก จนต้องนำเด็กมาคืน

ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานรัฐ จะต้องลุกขึ้นมาจริงจังกับเรื่องนี้สักที โดยเฉพาะการตั้งศูนย์ติดตามคนหายแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อวิเคราะห์และติดตามสืบค้นเด็กหาย-คนหายอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเร็วเท่าไร เด็กจะยิ่งปลอดภัยมากเท่านั้น แต่เรื่องนี้ดูเหมือนไม่มีเสียงตอบรับอะไรกลับมา ถูกเสนอไปกี่รอบก็ไม่มีท่าทีว่าจะมีอะไรกระเตื้องขึ้นเลย

นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่จะมองข้ามกันได้อีกแล้ว เพราะนับวันยิ่งร้าย และแรงขึ้นเรื่อยๆ ทางที่ดี อย่ารอความหวังจากใคร ระวังกันเองเป็นดีที่สุด โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ถ้าไม่อยากให้ "ลูก" ตกเป็นเหยื่อแก๊งขโมยเด็กก็ไม่ควรปล่อยเด็กให้คลาดสายตา เพราะแค่วินาทีเดียวก็อาจคลาดคุณกับลูกได้ และต้องไม่ลืมหรือละเลยที่จะเติมเต็ม "องค์ความรู้" ให้แก่ลูกไว้ใช้ในการเอาตัวรอดจากมิจฉาชีพด้วย

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต้องรอ "เด็กหาย" อีกกี่ราย? จึงจะตั้ง "ศูนย์ติดตามคนหายแห่งชาติ"

สะเทือนใจ คดีน้องการ์ตูน สังคมวอนทบทวน เพิ่มโทษผู้กระทำผิดในข้อหากระทำชำเรา

ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!








4 คาถากันลูกหาย 4 คาถาตามลูกคืน/ คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
4 คาถากันลูกหาย 4 คาถาตามลูกคืน/ คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
ปัจจุบันเรื่องเด็กหายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากในบ้านเรา ตัวเลขจากมูลนิธิกระจกเงา แถลงสถิติคนหายตั้งแต่ปี 2547-2555 พบว่ามีคนหายทั้งสิ้น 2,543 คน ซึ่งมีเด็กหายจำนวนมาก เรียกว่ามีจำนวนเด็กหาย เด็กพลัดหลง เด็กมีโอกาสถูกลักพาตัว ส่วนใหญ่มักอยู่ในกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่วัยทารก - 11 ปี เฉลี่ยสูงสุดวัย 4 ปี สถานที่ที่เด็กมีโอกาสหาย หรือพลัดหลงบ่อยคือ สถานที่ที่แออัดหรือมีผู้คนหนาแน่น ได้แก่ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด คอนเสิร์ต โรงหนัง โรงละคร สวนสนุก หรือสถานที่จัดแสดงงานทั้งหลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น