สลดใจ เศร้าใจ สะเทือนใจ ฯลฯ... จากกรณี “น้องการ์ตูน” ถูกล่วงละเมิดและทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต แต่ก่อนที่ภาวะหวาดระแวงภัยลักพาตัวจะค่อยๆ จางหายไปจากกระแส นี่อาจเป็นโอกาสดีโอกาสเดียวที่ทุกครอบครัวจะหันมาเรียกร้องให้ภาครัฐหันมาใส่ใจปัญหา “คนหาย” กันอย่างจริงจัง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย้ำรอยช้ำซ้ำความเจ็บปวดอีกในอนาคต!
ถ้าเพียงแต่มีหน่วยงานเฉพาะค้นหาน้อง...
“รวมระยะเวลาในการหายตัวไปของ น้องการ์ตูน ภายหลังจากที่แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผ่านกระบวนการติดตามจากศูนย์ข้อมูลคนหายมูลนิธิกระจกเงา และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมแล้วใช้เวลากว่า 1 อาทิตย์ และกว่าจะพบน้องการ์ตูนก็กลายเป็นศพไปแล้ว...
หากไล่เรียงเหตุการณ์การหายตัวไปของน้องการ์ตูน เราจะเห็นถึงกระบวนการในการติดตามของเจ้าหน้าที่ที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำอย่างเต็มที่ แต่ก็พบเห็นปัญหาอุปสรรคใหญ่ คือหน่วยงานที่ติดตามเด็กหายกลับเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง มูลนิธิกระจกเงา ที่เป็นหลักในการประสานกับทุกฝ่ายให้ช่วยเหลือในการติดตามคดีนี้ ซึ่งในแง่ขององค์กรพัฒนาเอกชนอาจจะมีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งเรื่องกำลังคน และเรื่องอำนาจที่จะขอพยานหลักฐานจากภาครัฐ จึงทำให้หลักฐานสำคัญที่ระบุถึงการหายตัวไปของน้องการ์ตูน ตกมาถึงมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่าช้า
พวกเรารู้สึกสะเทือนใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น และคิดว่าทุกคนที่มีลูกหลานก็คงจะรู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นเราขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเรื่องนี้ จัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายของภาครัฐขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดสรรงบประมาณ จัดหาเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในการติดตามคนหายโดยเริ่มติดตามจากกรณีเด็กหายเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเรามีศูนย์ติดตามคนหายของภาครัฐขึ้นมา กระบวนการในการติดตามเด็กหายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเป็นการลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับทั้งตัวเด็กและครอบครัว
ที่ผ่านมาเราเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจัดตั้งศูนย์ติดตามรถหาย โดยมีการเปิดสายด่วน การแชร์ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย พร้อมกันนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ประจำที่คอยติดตามรถหาย ดังนั้น คงไม่เป็นการยากเกินไปที่จะสร้างศูนย์ติดตามคนหายขึ้นมาอย่างจริงจังเสียที”
นี่คือแคมเปญรณรงค์ “ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายของภาครัฐ” (คลิกเพื่อไปยังหน้าเว็บ) ในเว็บไซต์ Change.org ที่ เพทาย กันนิยม ประชาชนคนหนึ่งตั้งขึ้นจากความรู้สึกเจ็บปวด ไม่ต่างจากอีกหลายๆ คนในสังคม และมองเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานภาครัฐต้องหันมารื้อระบบการทำงานในเรื่องนี้กันเสียใหม่ และนี่คือตัวอย่างเสียงบางส่วนของประชาชนที่ฝากเอาไว้หลังลงชื่อรณรงค์บนโลกออนไลน์
“การที่บุคคลอันเป็นที่รักได้สูญหายไปมันเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งต่อญาติพี่น้องหรือคนรู้จักยิ่งได้รับรู้ว่า ถูกข่มขืนหรือถูกฆาตกรรม ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างมากค่ะ ควรจะมีศูนย์ติดตามคนหายที่จริงจัง และมีกฎหมายรุนแรงต่อพวกลักพาตัวข่มขืนกระทำชำเรา หากเราไม่เด็ดขาด เรื่องพรรค์นี้ก็จะเกิดขึ้นอีกค่ะ” เมธิณี เยาวสังข์
“ตัวอย่าง ความเสียหาย ความสลดเกิดขึ้นมาแล้วจากกรณีน้องการ์ตูนซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในคดีที่ปิดลงได้ ยังมีอีกมากที่ไม่รู้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่ จะรอให้มีข่าวอีกครั้งถึงเริ่มลงมืออย่างจริงจังก็สายไปแล้ว แม้แต่ตอนนี้ก็สายแล้ว ควรจะเร่งรีบดำเนินการโดยด่วน” ณัฐพล พรมภักดี
“ประเทศเรามีศูนย์รับเรื่องรถหายแล้ว แต่ประเทศเรายังขาดศูนย์รับเรื่องคนหายครับ "คนสำคัญกว่ารถ" ครับผม” Peelapol Songthong
“ช่วยกันจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายร่วมกันค่ะ” เทียมใจ ทองเมือง
“ถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยควรใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง” Adisorn Kerdmongkol
รถหายบอกได้ เด็กหายงุนงง!?!
เมื่อพูดถึงปัญหา “เด็กหาย-คนหาย” ชื่อของ “มูลนิธิกระจกเงา” จะเป็นรายแรกที่ปรากฏขึ้นมาให้นึกถึง เพราะเป็นหน่วยงานที่ช่วยรับเรื่องร้องเรียน ประสานงาน ติดตามค้นหาผู้สูญหายมาเกือบตลอด 10 ปี ทั้งๆ ที่หน้าที่นี้ควรเป็นของหน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดการ แต่ไม่ว่าทางมูลนิธิจะเสนอข้อเรียกร้องให้จัดตั้ง “ศูนย์ติดตามคนหายอย่างเป็นทางการ” ไปสักกี่รอบ ก็ไม่มีท่าทีว่าจะมีอะไรกระเตื้องขึ้น เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้มาโดยตลอดจึงได้แต่ปลงตก
“จริงๆ แล้ว ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เคยปิดตัวไปแล้วนะครับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะขาดทุน เหลือเจ้าหน้าที่ที่สามารถจ้างได้แค่คนเดียวก็คือผม ก็เลยส่งมอบภารกิจนี้ให้ตำรวจและหน่วยงานของรัฐ ตอนนั้นไปคุยกับท่านรอง ผบ.ตร. และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้ช่วยรับภารกิจในการรับแจ้งเรื่องคนหายต่อจากเรา
ซึ่งเราส่งฐานข้อมูลทั้งหมด และประกาศให้คนโทร.ไปแจ้งที่ ศูนย์ประชาบดี 1300 แทน แต่ทางศูนย์บอกให้คนที่โทร.มาไปแจ้งความ เขาก็ไปแจ้ง สุดท้ายก็ต้องโทร.มาหาเราให้ช่วยสืบ เพราะไม่มีใครลงพื้นที่ช่วยตามหา เราก็เลยปิดตัวไม่ได้ครับ โชคดีที่มีทุนบางส่วนจากภาคเอกชนเข้ามา เลยทำให้ยังพออยู่ได้ ทุกวันนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ดูแลแค่ 2 คน ช่วยกันทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่รับโทรศัพท์ รายงานข้อมูล ลงพื้นที่ช่วยตามหา อย่างล่าสุดก็มีกรณีน้องการ์ตูน, น้องแม็กซ์ แล้วก็ น้องหญิง
ต้องบอกว่าระบบตอนนี้มีปัญหามากครับ รัฐควรจะมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยตรง เพราะดูศักยภาพแล้ว โรงพักแต่ละท้องที่รับคดีหลายเรื่องมากๆ ทั้งคดีรถชน จี้-ชิง-ปล้น-ฆ่าคนตาย ทะเลาะวิวาท เด็กนักเรียนตีกัน ฯลฯ เยอะแยะไปหมดเลย เรื่องเด็กหายเลยกลายเป็นคดีท้ายสุดเลยเวลาเขาให้ความสำคัญ เพราะถ้ารถชนก็ต้องรีบออกไปดูพื้นที่ก่อน เพราะรถติด เดือดร้อนคนอื่น ส่วนคดีฆ่าคนตาย ต้องรีบไปดูที่เกิดเหตุ คดีจี้-ชิง-ปล้น ก็เป็นคดีอุกฉกรรจ์ แต่คดีคนหาย ไม่รู้หายไปไหน ไม่รู้ใครพาไป
และเวลาเด็กหายหรือคนหาย ส่วนใหญ่จะถูกพาออกนอกพื้นที่ตลอด พอออกนอกพื้นที่ปุ๊บ หายจากจุดนี้ก็ไม่ใช่เขตอำนาจของตำรวจท้องที่นั้นแล้ว จะไปตามเรื่องได้หรือเปล่า หรือจะใช้การประสานงานเอา หรือจะมีใครไปสืบนอกพื้นที่มั้ย ผมยกตัวอย่างเด็กหายจากเชียงใหม่ อันนี้ข้อเท็จจริงเลย ไปเจอตัวอีกทีที่เพชรบุรี หรือหายจากอุดรฯ ไปเจอตัวที่ชุมพร อะไรอย่างนี้ เด็กถูกเคลื่อนย้ายตลอด
เพราะฉะนั้น ต้องให้ฝ่ายที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพพอ เราเลยเสนอให้มีหน่วยงานเฉพาะอย่าง “ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์” ขึ้นมา เพื่อทำคดีเรื่องการค้ามนุษย์เพียงอย่างเดียว เป็นส่วนที่โรงพักไม่สามารถทำได้หรือทำแล้วไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เหมือนตำรวจป่าไม้ก็ตามเรื่องป่าไม้อย่างเดียว นี่ก็เหมือนกันครับ ตำรวจที่ตามเรื่องเด็กหาย-คนหาย ก็ควรจะมีหน่วยงานเฉพาะ ซึ่งโมเดลในต่างประเทศก็มี แต่ในบ้านเราตอนนี้ไม่มีเลย”
จากการทำงานตรงนี้มาร่วม 10 ปี บอกได้เลยว่ายังไม่มีหน่วยงานรัฐส่วนไหนมีประสิทธิภาพพอที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้ได้ เพราะศูนย์ประชาบดีที่มีอยู่ก็มีงานล้นมือ รวมปัญหาทุกอย่างไว้ในนั้น ทั้งปัญหาเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ฯลฯ ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็คงไม่ถนัดงานสืบสวน
“อย่างกรณีน้องการ์ตูนจะเห็นได้ชัดว่า การดูแลติดตามมันช้ามาก ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายก็ทำเต็มที่ ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่ลงมาดู เขาบอกเลยว่าไม่เคยทำคดีแบบนี้ก็เลยไม่รู้จะวิเคราะห์ไปยังไงต่อ แต่เคยทำคดีร้านทอง โจรปล้น คนร้ายต้องเอาทองไปขายในตลาดมืด ที่ไหน-ยังไง รู้ว่าจะหาเบาะแสได้ที่ไหน ก็เลยต้องมีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องคนหายโดยเฉพาะครับ เพราะตอนนี้ ประเทศเราก็มี “ศูนย์ติดตามรถหาย” ตำรวจบอกได้นะว่าปีหนึ่งรถหายกี่คัน รถยี่ห้อไหนบ้าง ถูกส่งไปชายแดนด้านไหนบ้าง ไปชำแหละยังไง จอดตรงไหน หายไปไหน ตำรวจบอกได้หมด แต่เด็กหายกี่คน ตำรวจบอกไม่ได้ มันสะท้อนอะไรบางอย่าง
ผมไม่ได้ว่าว่ารถหายไม่สำคัญ เพราะมันคือชีวิตของคนเหมือนกันที่ทุ่มหยาดเหงื่อแรงงานมาทั้งชีวิตเพื่อซื้อรถ แต่ประเด็นก็คือ เรามีตำรวจที่เชี่ยวชาญด้านนี้ มีการถอดองค์ความรู้ออกมาวิเคราะห์ได้ และถ้าเรามีหน่วยงานเฉพาะด้านเด็กหาย-คนหายบ้าง เราก็จะสามารถวิเคราะห์และติดตามสืบค้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกัน”
ถึงเวลาจัดตั้ง “ศูนย์ติดตามคนหายแห่งชาติ”
ตอนนี้ น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่สุดที่จะเรียกร้องให้ภาครัฐจัดตั้ง “ศูนย์ติดตามคนหาย” ของตัวเองขึ้นมาอย่างเป็นทางการเสียที เพราะสังคมกำลังให้ความสนใจในประเด็นนี้ และมีประชาชนจำนวนมหาศาลปวดใจไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ช่วยกันเรียกร้องตอนนี้ คงหาโอกาสได้ยาก “ผมเคยร้องเรียนมาหลายครั้งมากแล้วครับตลอด 3-4 ปี ไปยื่นหนังสือมา 4-5 ครั้งแล้ว ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งหน่วยงาน แต่ก็ไม่เคยมีผลอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดใจเล่าให้ฟังต่อทุกซอกมุม
ยังดีที่ทุกวันนี้มีสายสัมพันธ์จากผู้ใหญ่ในสีกากีที่ให้ความอนุเคราะห์ช่วยประสานงานให้ จึงช่วยให้งานพอจะดำเนินต่อไปได้ “ถ้า case ไหนที่ประสานจากกรุงเทพฯ แล้วไม่ค่อยคืบหน้า เราก็จะลงพื้นที่เอง ก็จะประสานกับนายตำรวจระดับสูง มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ให้ความอนุเคราะห์เราตลอด ให้เบอร์มือถือส่วนตัวมาเลยว่าถ้ามีปัญหาที่ไหนให้โทร.มาบอก อย่าง case ของน้องการ์ตูน, น้องแม็กซ์, น้องหญิง ผมก็บอกท่านตลอด ท่านก็ช่วยประสาน
เพียงแต่ในระดับนโยบาย ก็ควรจะมีโครงสร้างหลักๆ ออกมา เพราะถ้าให้ผู้ใหญ่สั่งการช่วยประสานงานให้เราเป็นรายคนแบบนี้ วันนึงถ้าผู้เกี่ยวข้องย้ายไป ผมก็คงต้องไปพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้หลักผู้ใหญ่กันใหม่อีก อันนี้พูดกันตรงๆ
หรือแม้แต่ case น้องการ์ตูน เราตามตั้งแต่ยังไม่มีใครมาช่วยหาเป็นขบวน ตอนแถลงข่าวที่เห็นมีตำรวจเยอะๆ บางนาย ผมดูหน้าแล้วไม่คุ้นเลย คือไม่ได้หมายความว่าเขาทำงานกันไม่ตั้งใจนะครับ เพราะมีคนที่ตั้งใจมากๆ เหมือนกัน ลงมาตามหาน้องการ์ตูนกับเรา แต่กำลังมันน้อยมาก อาจจะเพราะตอนนั้นการเมืองก็ร้อนแรง ตำรวจก็เลยอาจจะแบ่งกำลังไปส่วนหนึ่งไปดูแลความสงบ แต่มันก็สะท้อนใจเรื่องแบบนี้เหมือนกัน
มันเป็นเรื่องธรรมดาครับ เวลาเกิดเหตุเรื่องภัยสังคมแบบนี้ ทุกครั้งคนก็จะสนใจ แต่สักพักพอกระแสตกไป มันก็จะกลับสู่อีหรอบเดิม ช่วงนี้เลยเป็นช่วงที่คนยังสนใจ ถ้าเราต้องการให้ภาครัฐสนใจเรื่องนี้ ต้องให้จัดตั้งให้ได้ “ศูนย์ข้อมูลคนหายของภาครัฐ” ต้องเป็นช่วงนี้แหละครับ ต้องช่วยกันส่งเสียง” และนี่คือข้อเรียกร้องที่ทางมูลนิธิแนะเอาไว้
1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อทำการสืบสวนติดตามหาเด็กหายที่ยังไม่พบตัวและคาดว่าน่าจะถูกลักพาตัวทั้งหมด
2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานต่อการรับแจ้งความคนหาย กรณีคนหายที่เป็นเด็ก หรือผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ตำรวจควรรับแจ้งความทันที โดยไม่ต้องรอให้หายตัวไป ครบ 24 ชม.ก่อน และต้องมีกระบวนการสืบสวนติดตามที่มีประสิทธิภาพในทันที ตลอดจนมีความต่อเนื่องในการติดตามหา
3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรมีการจัดการความรู้เกี่ยวกับคดีลักพาตัวเด็กในประเทศ เพื่อให้เห็นแผนประทุษกรรมและลักษณะของการกระทำความผิด สำหรับเป็นแนวทางในการป้องกันและปราบปรามกรณีลักพาตัวเด็กต่อไปในอนาคต
4.ในระยะสั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจัดตั้งคณะทำงานหรือแผนกติดตามคนหาย ในพื้นที่กองบังคับการภูธรจังหวัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษา และสืบสวนติดตามกรณีคนหาย โดยควรทำงานประสานร่วมกับศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
5.รัฐควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และเปิดพื้นที่ให้มีการเผยแพร่ภาพเด็กหาย ในสื่อที่รัฐกำกับดูแลอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง
6.สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรพิจารณาจัดตั้ง ศูนย์ติดตามคนหาย เพื่อบริหารจัดการปัญหาคนหายในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน
7.รัฐควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะคนหายพลัดหลง และผลักดันให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการติดตามคนหายในประเทศไทย
“แต่ก็ต้องอดทนครับ เพราะนโยบายบางอย่างต้องออกมาจากฝ่ายบริหาร ดังนั้น ก็ได้แต่หวังครับ เพราะไม่อยากให้มีเด็กที่ถูกลักพาตัว-เด็กหาย หรือเด็กที่ถูกฆาตกรรมแบบนี้อีกแล้ว”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพและข้อมูล (คลิก): แฟนเพจ "ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา", www.change.org/findpeople
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
'ฆ่า-ข่มขืน' ทำชั่ว.. ช่างปะไร กระบวนการยุติธรรม ให้โอกาสเสมอ!?
สะเทือนใจ คดีน้องการ์ตูน สังคมวอนทบทวน เพิ่มโทษผู้กระทำผิดในข้อหากระทำชำเรา
[Info] 3 วิธีป้องกันเด็กถูกลักพาตัว
[Info] 10 ข้อควรรู้ ก่อนลูกถูก “ลักพาตัว”
[Info] พกอาวุธป้องกันตัว..อย่างนี้ก็มีด้วย?