xs
xsm
sm
md
lg

พท.อ้าง ศอ.รส.ออกแถลงการณ์ เพื่อรักษาความสงบ ปัดแทรกแซงองค์กรอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ (แฟ้มภาพ)
โฆษก พท. แก้ตัวแทน ศอ.รส. อ้างออกแถลงการณ์เพื่อรักษาความสงบ อ้างได้ข่าวบ้านเมืองจะเกิดวิกฤตถ้าองค์กรอิสระไม่เป็นกลาง ยันไม่ได้แทรกแซง ไม่ผิด ม.113 ระบุประชุมร่วม กกต. เตรียมผลักดันเลือกตั้งภายใน 60 วัน ไล่ ปชป. ยุบพรรคถ้าไม่ลงเลือกตั้ง พร้อมจี้ “สมชัย” ทบทวนบทบาท

วันนี้ (20 เม.ย.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ม.113 กับรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่อยู่ในศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เนื่องจากการออกแถลงการณ์ 7 ข้อเป็นการใช้อำนาจข่มขู่องค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าแถลงการณ์ของ ศอ.รส. ไม่ได้ทำหน้าที่เกินหน่วยงาน เพราะที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย เนื่องจากขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ การที่ ศอ.รส. ออกแถลงการณ์ 7 ข้อก็เป็นความเห็นเกี่ยวกับการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ การทำหน้าที่ของ ศอ.รส. เพื่อรักษาความสงบและคลายความกังวลให้กับประชาชน เนื่องจากมีการพูดถึงองค์กรอิสระว่าไม่มีความเป็นกลางอาจจะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม

นายพร้อมพงษ์ กล่าวว่า การกล่าวหาว่า ศอ.รส. แทรกแซงองค์กรอิสระนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะ ศอ.รส. ไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปกดดัน ข่มขู่ หรือแสดงอำนาจอื่นต่อองค์กรอิสระ

“ผมทราบว่าข้อมูลที่ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้รับนั้นเพราะ ศอ.รส. อาจได้ข้อมูลบางอย่างที่เห็นว่าบ้านเมืองมาถึงจุดวิกฤตมีแนวโน้มว่าจะเกิดการนองเลือด หรือมีความรุนแรง หากไม่มีการออกแถลงการณ์ซึ่งเป็นหน้าที่ ดังนั้นเรื่องนี้ทางฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้ดูแล้วว่าไม่ขัดประมวลกฎหมายอาญา ม.113 ตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา และพรรคประชาธิปัตย์นำมาเป็นเพียงแค่เกมการเมืองในการกล่าวหารัฐบาล รวมถึงกดดันและลดความน่าเชื่อถือในการทำงานของ ศอ.รส. เท่านั้น”

นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชิญพรรคการเมืองหารือเรื่องการเลือกตั้ง ในวันที่ 22 เม.ย. นี้ ว่า พรรคเพื่อไทยได้ทำหนังสือตอบรับส่งให้ กกต. ว่า จะส่งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยไปร่วมประชุมครั้งนี้โดยได้กำหนดข้อเสนอ 5 ข้อ เพื่อให้ กกต. พิจารณาเร่งดำเนินการจัดการเลือกตั้ง และจะนำมติของการประชุมพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 จำนวน 53 พรรคการเมืองที่ได้ประชุมเมื่อ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่มีมติให้ กกต. เร่งจัดการเลือกตั้ง ภายใน 45-60 วัน เนื่องจากก่อนหน้านั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ระบุว่า จะมีการจัดการเลือกตั้งประมาณวันที่ 20-27 ก.ค. และจะได้รัฐบาลชุดใหม่ประมาณวันที่ 1 ต.ค. นั้น ทางเพื่อไทยมองว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน เพราฉะนั้นในวันที่ 22 เม.ย. จะเป็นโอกาสที่ดีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีข้อสรุปเห็นตรงกันว่า จะต้องเร่งดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน และกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งรายละเอียดจะนำไปเสนอในที่ประชุมวันที่ 22 เม.ย.

นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยมองว่า ถ้าวันที่ 22 เม.ย. กกต.ได้หารือกับพรรคการเมืองทั้งหมดและได้ข้อสรุปจนสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพื่อหารือรัฐบาลออก พ.ร.ฎ. เลือกตั้งใหม่ จะเป็นเรื่องที่ดีที่จะหาทางออกในขณะนี้เพื่อแก้วิกฤตทางการเมืองที่ต้องฟังเสียงประชาชนและจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม หาก กกต. กำหนดวันเลือกตั้งได้เร็วก็จะได้รับการชื่นชมจากประชาชนแต่ถ้ายังยื้อเวลาตนเชื่อว่า กกต. อาจจะได้ก้อนอิฐจากประชาชนแทนดอกไม้ทางออกเดียวขณะนี้คือการเลือกตั้ง ดังนั้นวันที่ 22 เม.ย. กกต. ต้องมีความชัดเจน หากยังอ้างเหตุผลอื่นต้องตอบคำถามสังคมได้ให้และ กกต. ต้องรับผิดชอบ นี่เป็นโอกาสที่ กกต. จะได้แสดงบทพระเอก

โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาแสดงการคัดค้าน นายสมชัย ขณะลงพื้นที่ จ.ลำพูนจ.ลำปาง และ จ.เชียงใหม่ ว่า เป็นกระจกเงาสะท้อนในการทำหน้าที่ของนายสมชัย เพราะคนที่เป็นผู้ใหญ่หากทำหน้าที่ขาดสติและเอนเอียงทางการเมืองจะทำให้เกิดปัญหากับองค์กร หากขาดความยอมรับจากประชาชนก็จะนำไปสู่การแสดงความไม่เห็นด้วยและการต่อต้าน

“อยากให้ กกต. ทบทวนบทบาทของตนเองหลังจากปล่อยให้นายสมชัยที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งล้มเหลวขอเรียกร้องให้ กกต. เปลี่ยนหน้าที่ของนายสมชัย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหา และ กกต. คนอื่นจะทำงานลำบาก เพราะคนที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมือง จะเป็นการไปซ้ำเติมความขัดแย้งมากขึ้น ดังนั้นขอให้นายสมชัย ลาออกจากหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้งหรือไม่ก็ไปทำหน้าที่อื่น เพราะนายสมชัยเป็นตัวหลักที่ทำให้ กกต. ทำงานลำบาก ไม่ต้องรอมติ แต่ควรทบทวนบทบาทตนเองไปทำหน้าที่ด้านวิชาการที่ถัดมากกว่าทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์จะส่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค เข้าร่วมการประชุมด้วยนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองใหญ่ และเก่าแก่น่าจะเป็นตัวหลักในการเข้าร่วมประชุม แต่ตนแปลกใจว่าแทนที่จะแสดงความบริสุทธิ์ใจและจุดยืนในการปกป้องระบอบประชาธิปไตย กลับเสนอเงื่อนไข 4 ประการที่หากไม่ได้รับการแก้ไขจะไม่ลงเลือกตั้ง โดยอ้างว่ายังมีการใช้ความรุนแรงนั้นเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ควรสำนึกในหน้าที่ หากครั้งนี้ไม่ลงเลือกตั้งควรถูกร้องให้มีการยุบพรรค เพราะพรรคการเมืองเป็นของประชาชน ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งหลายครั้งแล้ว ตนถามว่าถ้าจะลงสมัครเลือกตั้งต้องไปขอนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ก่อนหรือไม่

“เรื่องปฏิรูปนั้นต้องใช้เวลา การอ้างว่าให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้นความหมายของนายสุเทพคือการปฏิวัติก่อนการเลือกตั้ง เรื่องการปฏิรูปพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลเห็นด้วย แต่จะต้องมีการเลือกตั้ง ดังนั้นใครจะยอมนายสุเทพ”

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ควรมีข้ออ้างในการหารือในวันที่ 22 เม.ย. เพราะเงื่อนไข 4 ประการนั้นเป็นเพียงข้ออ้างที่จะไม่ลงการเลือกตั้ง ประเทศไทยรอพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวไม่ได้ หากไม่ลงเลือกตั้งก็จะได้เห็นธาตุแท้ว่าอ้างแต่ประชาธิปไตย และการปฏิรูปโดยไม่ฟังเสียงประชาชน และกลัวแพ้การเลือกตั้งเป็นฝ่ายค้าน ผมท้านายอภิสิทธิ์ประกาศในวันที่ 22 เม.ย. ว่า พร้อมลงเลือกตั้งและสนับสนุน กกต. จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หากนายอภิสิทธิ์ไม่กล้าประกาศก็สมควรลาออก ทั้งนี้ตนได้ข้อมูลจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ว่าทุกวันนี้ที่ยื้อไม่ลงเลือกตั้งล้มเลือกตั้ง และอ้างเรื่องการปฏิรูป เพราะต้องการล้มคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 53 นั้นจริงหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น