xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ปูด “เหลิม-ชัยเกษม” ตัวการ ศอ.รส.ขู่องค์กรอิสระ ปลุก ขรก.ค้าน รับเลือกตั้งมียาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“ชวนนท์” แฉ “เฉลิม-ชัยเกษม” ฝืนดันแถลงการณ์ ศอ.รส. ขู่องค์กรอิสระ ปลุกเหล่าทัพ ขรก. ต้าน นิ่งเฉยเท่ากับหนุน ฉะ หน.พท. เป็น หน.เพื่อโจร ปกป้องคนขโมยข้าว ถกเลือกตั้งเล็งคุยปมรัฐไม่เคารพตรวจสอบ ปล่อยสาวกกร่าง “องอาจ” สวน “จาตุรนต์” ศาล รธน. ไม่ได้สับสนหน้าที่ แต่ พท. ดิสเครดิตทำสับสน หวังยื้ออำนาจ ชี้ ศอ.รส. ต่าง กปปส. เพราะเป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ควรป่วนเสียเอง แนะอย่ารีบวางธงเลือกตั้ง ทุกฝ่ายไม่รับเกิดยาก



วันนี้ (20 เม.ย.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าได้รับแจ้งจากข้าราชการที่ร่วมประชุมกับศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ หรือ ศอ.รส. ว่าแถลงการณ์ที่เนื้อหาไม่เหมาะสมไม่ใช่มติของ ศอ.รส. เพราะมีความพยายามทักท้วงจากผู้แทนเหล่าทัพ แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคม ผอ.ศอ.รส. กับ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม พยายามรวบรัดให้เห็นชอบต่อแถลงการณ์ดังกล่าว ดังนั้นผู้นำเหล่าทัพและข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยต้องแสดงจุดยืนอย่าตกเป็นเครื่องมือปกป้องนักการเมืองที่ทำความผิด เพราะหากไม่มีการต่อต้านจะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับคนเสื้อแดงออกมาใช้ความรุนแรง ส่วนข้าราชการที่เข้าไปมีส่วนร่วมเช่นนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ จะต้องรับผิดตามมาตรา 157 เช่นเดียวกับฝ่ายการเมือง รวมถึงความผิดฐานกบฏ ซึ่งคณะกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่

ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความเห็นของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ที่ออกมาสนับสนุนแถลงการณ์ ศอ.รส. และตอบโต้แถลงการณ์ชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญสับสนบทบาทตัวเองว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้สับสนในบทบาทตัวเอง แต่พรรคเพื่อไทยพยายามทำให้สังคมสับสนด้วยการดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ แทนที่จะชี้แจงข้อกล่าวหา อีกทั้งยังไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญด้วยการพยายามซื้อเวลาออกไปให้นานที่สุดเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้

นายองอาจ กล่าวอีกว่า ส่วนที่โจมตีว่าไม่ดำเนินการกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขา กปปส. ที่พูดเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ แต่กลับมีปฏิกิริยากับแถลงการณ์ของ ศอ.รส. ว่า สองกรณีนี้มีความแตกต่างกันไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เพราะ กปปส. เป็นภาคประชาชนที่ต้องรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตัวเอง หากผิดกฎหมายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ ศอ.รส. เป็นหน่วยงานรักษาความสงบที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น จึงไม่สมควรที่จะออกมาสร้างความไม่สงบในบ้านเมือง

ขณะที่ นายชวนนท์ กล่าวถึงพฤติกรรมของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ รมว.มหาดไทย ที่ไม่เคยสนใจชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทุจริตโครงการจำนำข้าว แต่กลับปกป้องคนโกง ข่มขู่ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบนางสาวยิ่งลักษณ์ แสดงให้เห็นว่านายจารุพงศ์ ปฏิเสธกระบวนการประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทย ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่คนไทยจะปฏิเสธอำนาจของรัฐบาลเพื่อไทย อีกทั้งพฤติกรรมที่เหมือนนักเลงข้างถนนของนายจารุพงศ์นั้น ชาวนามีสิทธิเรียกนายจารุพงศ์ว่าเป็น “หัวหน้าพรรคเพื่อโจร” เพราะปกป้องโจรขโมยข้าวที่ทำให้ชาวนาฆ่าตัวตาย

ส่วนการหารือระหว่างพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จัดในวันที่ 22 เม.ย. นั้นประเด็นที่ควรมีการหารือคือ กรณีที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแสดงความไม่เคารพระบบตรวจสอบ ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย และกรณีเหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อแดงไล่ล่าอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และ กกต. บางคน โดยมีการขอดูรายชื่อผู้โดยสารเครื่องบินบางกอกแอร์เวย์สที่สนามบินลำปาง ทั้งที่ไม่มีอำนาจ โดยไม่มีการดำเนินการอะไร ตนเกรงว่าหากมีการเลือกตั้งจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น หากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ก็การเดินหน้าสู่การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นไม่ได้

ทั้งนี้ นายองอาจ กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใหม่ว่า ต้องมีการหาทางออกร่วมกันเพื่อให้การเลือกตั้งบรรลุเป้าหมายไม่เป็นโมฆะ ดังนั้นการหารือในวันที่ 22 เม.ย. นี้ จึงไม่ควรเป็นการหารือว่าจะต้องเลือกตั้งภายในวันที่ 15 มิถุนายน เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งที่ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาย่อมเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่ต้องทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายก่อน หากยังไม่ได้รับการยอมรับไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัครหรือไม่ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเชื่อว่าจะมีคนคัดค้านจนการเลือกตั้งเป็นโมฆะอีกครั้ง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก นำผลการเลือกตั้ง 2 ก.พ. มาเป็นบทเรียน ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเสียสละจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รัฐบาล และ กกต. ต้องให้ความมั่นใจว่าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม ไม่มีความรุนแรง โดยพรรคจะไม่ขัดขวางการเลือกตั้งไม่ว่าจะลงสมัครหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น