xs
xsm
sm
md
lg

"hate speech" อาวุธแห่งปมขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งกว่ากระสุนปืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางกระแสก่นด่า “ฉันฝั่งนี้ เธอสีโน้น อ่าวไอ้นี่อีกพวก” ของคนไทยด้วยกันที่กำลังเกิดขึ้นในยุคสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติขณะนี้ จะเห็นได้ว่ากระแสมากมายทั้งดีร้ายอุบัติขึ้นไม่เว้นวัน ทั้งเรื่องที่น่าเอาเยี่ยงอย่างและควรหลีกเลี่ยงกันอย่างยิ่ง กำลังถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้คนฟังคล้อยตามอุดมการณ์ของผู้ออกความเห็น

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ ว่านักการเมืองหรือบรรดาแกนนำจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะคำพูดแต่ละคำที่ดังขึ้นในจอทีวี และเวทีปราศัยของทั้งสองฟาก หากสังเกตุให้ดี บางทีก็มีอารมณ์ดุเดือดผนวกร่วมด้วย

และคุณทราบหรือไม่ ว่าคำพูดเหล่านั้นกำลังกลายเป็นตัวจุดไฟให้การต่อสู้อันร้อนแรงที่เคยมีแต่ในสภา ลามไหลไปเป็นการปะทะกันบนท้องถนน ซ้ำยังหนีไม่พ้นมาซัดกันต่อในโลกโซเชียลฯ ทำให้ทุกฝ่ายต่างเจ็บเนื้อปวดตัวไม่แพ้กัน

เมื่อเป็นกันถึงขั้นนี้ เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะหาทางหนีที่เลี่ยง ให้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของไอคำนิยามสั้นๆที่ว่า “Hate speech” หรือ “คำพูดที่ก่อให้เกิดความรุนแรง” อย่างมีสติ
 
hate speech ฝังรากในสังคมไทย

ถ้าจะอธิบายกันให้ชัดๆ ถึงความหมายของ "hate speech" แน่นอนว่าเคยมีนักวิชาการฝั่งยุโรปให้คำนิยามไว้แล้วว่า
 
 
"เป็นการใช้คำพูดหรือการแสดงออกทางความหมายใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคล หรือมุ่งไปที่ฐานอัตลักษณ์ซึ่งอาจจะติดตัวคนๆนั้นมาตั้งแต่เดิม หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สถานที่เกิด สีผิว ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอย่างอื่นที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกได้ ซึ่งการแสดงความเกลียงชังที่ปรากฏ อาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ รวมถึงการยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียงชัง ตลอดจนอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรง"

หากพิจารณาจากคำนิยามข้างต้น เชื่อว่าหลายคนคงมั่นใจว่า hate speech ที่กำลังเป็นปรากฏการณ์พูดถึงในบ้านเรา เพิ่งจะเริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ทางการเมืองเวลานี้แน่ๆ แต่ในหลักความเป็นจริงกลับไม่ใช่เลย กรณีนี้ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) ได้ร่วมแสดงความเห็นในงาน ภาพยนตร์เสวนา hate speech ในสื่อบันเทิงไทยไว้ว่า
 

"จริงๆแล้ว hate speech ไม่ได้เพิ่งเกิดขั้นตอนนี้ มันเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้วในสังคมไทย และเกิดขึ้นเกือบทุกภาคส่วน ตั้งแต่ในละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน หรือแม้แต่ในข่าว ซึ่งที่เราน่าจะคุ้นกันเลยก็คือ มุขตลกล้อเลียนปมด้อยของตัวละคร อาจจะเป็นการล้อรูปร่าง ล้อเชื้อชาติ สีผิว ฐานะ หรือความพิการ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะไปพูดกับคนๆ หนึ่งว่า เขาพิการทางใจ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง ตรงนี้ก็ถือเป็น Hate Speech"
 
แหล่งเพาะพันธุ์ความเกลียดชังอยู่ใกล้ๆ ในมือเรา

แน่นอนว่าในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ยามเกิดวิกฤติการณ์บ้านเมืองแต่ละที เฟซบุ๊ก ทวิสเตอร์ และอินสตราแกรม ฯลฯ เทคโนโลยีก้าวล้ำของโลกออนไลน์ ย่อมเป็นตัวส่งสารที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่ไม่ว่าใครก็มีอยู่ในมือ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องไปในทางสร้างสรรค์ด้วย ไม่อย่างนั้นจะยิ่งก่อให้เกิดความแตกแยก ยกตัวอย่างเช่นกรณี
 
เหตุบึ้มในพื้นที่การชุมนุมเวทีกปปส. ที่จังหวัดตราด จนมีผู้เสียชีวิต ในคืนวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา” เวลาผ่านไปเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ทั้งรูปภาพ และคำบรรยายสถานการณ์ล้วนขึ้นหราเต็มหน้า new feed. ซึ่งที่น่าประหลาดใจ คือมีประชาชนที่คาดว่าน่าจะมีความคิดเห็นแตกต่างกับกลุ่มผู้เห็นต่างกับผู้ชุมนุม กปปส. มาลงความเห็นไว้ว่า “ก็พวกเดียวกันเองแหละ ที่สร้างสถานการณ์” ซึ่งข้อความนี้ ทำให้ผู้โพตส์ โดนประนามอย่างดุเดือด เช่นเดียวกับกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เคยออกมาชี้แจงในแฟนเพ็จของตัวเองเกี่ยวกับความหมายของ Hate Speech โดยมีการพาดพิงถึงแกนนำกลุ่มของกปปส. ครั้งนั้นทำให้ประชาชนฝั่งผู้ชุมนุมเกิดอารมณ์ ถึงขั้นเข้าไปโพสต์วิจารณ์ นายชูวิทย์ต่างๆ นา

และถ้าหากจะเปรียบเทียบฝ่ายใดผิดหรือถูกในกรณีนี้ ขอนำเอาความเห็นของ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการณ์ด้านสื่อออนไลน์ และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวอิศราเกี่ยวกับความเป็นห่วงเป็นใยต่อการพิมพ์ข้อความบนโซเชียลเน็ตเวิร์กมาให้วิเคราะห์กันว่า
 
“ต้องดูว่าข้อมูลที่พิมพ์ลงไปนั้นมีการตรวจสอบแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องเน้นในเรื่องของการคุมอารมณ์ ควรใช้คำอย่างสุภาพ เพราะบางทีเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเสมอไป หรืออาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราฟังมาจากคนที่เราคิดว่าเชื่อถือได้ เมื่อเราแชร์ไปหรือพิมพ์ไป อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ขณะเดียวกันก็ต้องระวังข้อความที่เป็น ‘Hate Speech’ หรือคำที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ เพราะมันจะยิ่งเพิ่มความจงเกลียดจงชังของแต่ละฝ่ายเข้าไปอีก

ทางหนีทีหลบ ก่อนตกเป็นเหยื่อ

เมื่อทราบกันแล้วว่า Hate Speech คืออะไร และระบาดโดยมากที่ไหน ต่อไปมาฟังทางแก้ไขเมื่อตกเป็นเครื่องมือของคำพูดที่นำไปสู่ความรุนแรงนี้กันบ้าง คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ชี้ทางว่า


“ข้อแรกเริ่มจากหัดมองที่ตัวเองก่อน คือก่อนจะพูดอะไรออกไป ก็ต้องนึกถึงใจเขาใจเรา ต้องคิดว่าสิ่งที่เราพูด เรารู้นั้นจริงแค่ไหน มีหลักฐานที่ถูกต้องมารองรับหรือไม่ ซึ่งถ้าเรากำหนดตรงนี้ได้แล้ว ทีนี้ก็ค่อยเปลี่ยนมาที่การรับฟังบ้าง เราต้องรู้จักฝึกที่จะแยกแยะ และหาข้อมูลก่อนที่จะไปเชื่อประโยคที่ได้ยินมาไม่ว่าจะจากคนที่เรารัก รู้จัก หรือเกลียดชัง ควรลองฟังจากหลายๆ ความเห็นแล้วจึงค่อยมาวิเคราะห์ 
 
แน่นอนว่าทุกคนอยากแสดงความคิดเห็นในเวลาแบบนี้ อยากวิจารณ์เรื่องที่เกิดขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่าเราสามารถเป็นฮีโร่ในวันเดียวได้ แต่เราก็อาจจะกลายเป็นเหยื่อในวันต่อมาได้เช่นกัน ตรงนี้ต้องค่อยๆปรับกันไปค่ะ อาจมันฟังดูยาก แต่เชื่อว่าทุกคนเปลี่ยนกันได้
 

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE

ธิติ ปลีทอง




คุณสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.)
บรรยาการบรรยายภายในงาน Hate Speech ในสื่อบันเทิงไทย
สถานที่จัดงาน Hate speech ในสื่อบันเทิงไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น