“ชูวิทย์” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญขอคุ้มครองสิทธิประชาชน 20 กว่าล้านเสียงที่ไปลงคะแนน จี้พิจารณาให้ดีถ้าวินิจฉัยให้เลือกตั้งเป็นโมฆะจะสร้างบรรทัดฐานในอนาคตให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ใครอยากล้มเลือกตั้งก็ออกมาชุมนุมขัดขวาง
วันนี้ (5 ก.พ.) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาวินิจฉัยออกคำสั่งคุ้มครองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. 57 ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ปี 50 โดยนายชูวิทย์กล่าวว่า ใช้สิทธิในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้ง และหัวหน้าพรรค ที่เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง อยากขอให้ศาลพิจารณาว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะหรือไม่ อยากให้ศาลไตร่ตรองให้ดี เพื่อเป็นบรรทัดฐานในเรื่องดังกล่าวต่อไป และขอให้ศาลสั่งคุ้มครองตน และประชาชนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ทั้ง 20 กว่าล้านเสียง และคุ้มครองสิทธิผู้สมัครพรรคการเมืองต่างๆที่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย และสั่งให้ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในจังหวัดและเขตที่ยังไม่มีการจัดการเลือกตั้ง ภายใน 180 วัน
“หากศาลจะสั่งให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ ผมไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ แต่ขอให้ศาลคำนึงถึงประชาชนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย เพราะประชาชนเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ถูกละเมิดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งหากว่าศาลสั่งเป็นโมฆะ ก็จะเป็นบรรทัดฐานให้ในอนาคตต่อไปใครอยากให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะก็ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายออกมาชุมนุม ขัดขวาง ก็สามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้” นายชูวิทย์กล่าว
หลังจากนั้น นายชูวิทย์ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “ชูวิทย์ I'm No.5” ถึงกรณียื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ในหัวข้อ “หากเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ” ความว่า
“วันนี้ผมได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่สุดต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
หากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ วิธีนอกกฎหมาย ละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยใช้วิธีการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง และอ้างเอาความชอบธรรมล้มการเลือกตั้งว่าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ จะเป็นบรรทัดฐานให้ปฏิบัติต่อไปในอนาคต
เปรียบเทียบให้เห็นกับการที่ผู้ฟ้องใช้หลักฐานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มาเป็นหลักฐานในการเอาผิด ย่อมทำให้ศาลใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ เพราะกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น
“มวลมหาประชาชน” จำนวนหมื่น แสน หรือล้าน ที่ออกมาเดินตามท้องถนน ย่อมเปรียบเทียบไม่ได้เลยกับจำนวน 20.4 ล้านคนที่มีชื่อชัดเจน เป็นหลักฐานปรากฏที่คูหาเลือกตั้ง ถือเป็นผู้รักษากติกา ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์
ผลการพิจารณานั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้างและบาดลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่ได้โหวตให้ใคร แต่ยังไปรักษากติกาย่อมท้อแท้ และต้องยอมพ่ายแพ้ต่อวิธีการกฎหมู่เหนือกฎหมาย
ผมจึงไปยื่นคำร้องเพื่อพิทักษ์สิทธิของตัวเองและประชาชนผู้มีสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และได้ใช้สิทธินั้นแล้ว การให้เสียงส่วนน้อยใช้วิธีการนอกกฎหมายรุกล้ำละเมิดสิทธิผู้อื่น ทำให้ต้องเสียสิทธิโดยปราศจากความยินยอม ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกๆ สังคมไม่สามารถจะยอมรับได้
ประเทศไทยมีเรื่องแปลกๆ หลายอย่าง แต่ที่แปลกที่สุดคือ ต้องให้ศาลตัดสินว่าผู้ที่ใช้วิธีการตามกฎหมาย กับผู้ที่ใช้วิธีการนอกกฎหมาย ใครเป็นฝ่ายถูก?
ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณา” นายชูวิทย์ระบุ