xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละปมปัญหา "ผัวฆ่าเมีย เมียฆ่าผัว" เรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ลิ้นกับฟัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพการทุบตี ทำร้าย เลยเถิดไปถึงการฆ่าเพื่อปกป้องตนเองหรือการฆ่าเพื่อต้องการปิดฉากชีวิตที่เกินทนภายใต้ความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาล้วนอยู่ในนิยาม " ความรุนแรงในครอบครัว" ซึ่งไม่ใช่แค่ลิ้นกับฟันกระทบกัน แต่ได้ยกระดับความรุนแรง และความน่าเป็นห่วงในหลายมิติที่สังคมจะเพิกเฉยไม่ได้อีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนกลไกภาครัฐ และกลไกทางสังคมไม่สามารถช่วยคุ้มครอง ป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

ขุดรากเหง้าวงจรความรุนแรง

หญิงไทยยอมรับ ถูกทำร้ายมากเป็นอันดับ 2 ของโลก! เป็นสถิติองค์การสหประชาชาติปี 2555 ที่แสดงให้เห็นการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยความรุนแรงที่ใกล้ตัวที่สุด นั่นคือ ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจาก "สามี" กระทำต่อ "ภรรยา" อีกทั้งผู้ถูกกระทำจำนวนไม่น้อยเมื่อโดนทำร้ายจะไม่กล้าร้องเรียนหรือแจ้งตำรวจเพื่อเอาผิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อความรุนแรง ขณะเดียวกัน มีข้อมูลสถิติความรุนแรงในปี 2555 จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า เกิดกรณีการฆ่ากันตาย 186 เรื่อง ในจำนวนนี้มีทั้งฝ่ายหญิงที่กระทำกับฝ่ายชาย เนื่องจากว่าทนเป็นฝ่ายถูกกระทำไม่ไหวอีกต่อไป

หากวิเคราะห์ลงไปถึงสาเหตุของรากเหง้า และวงจรการเกิดความรุนแรงในครอบครัว นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวไว้ในงานเสวนา "หยุดความรุนแรงในครอบครัว : บทเรียนจากกรณีหมอนิ่ม" เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มาจากโครงสร้างทางสังคม และวัฒนธรรม การเลือกปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียมกันในครอบครัว โดยเฉพาะสามี-ภรรยา ซึ่งฝังรากลึกมานาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดและเลียนแบบจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเริ่มมีการใช้ความรุนแรงแล้วไม่ได้รับการแก้ไขหรือยุติ ก็จะมีแนวโน้มกระทำความรุนแรงซ้ำ ๆ และมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งความรุนแรงอยู่รอบตัวเรา ค่อยๆ สั่งสม โดยไม่สามารถหาทางออก หรือไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร หรือจะแก้ไขได้อย่างไร จนกระทั่ง ความรุนแรงระเบิดออกมา จนนำไปสู่ความสูญเสีย

เช่นเดียวกับ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะที่คลุกคลีและพูดคุยกับเด็กๆ บ้านกาญจนาภิเษก สะท้อนให้เห็นว่า "ความรุนแรง" เป็นวงจรที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งมีที่มาจากอดีตก่อนจะส่งผลถึงปัจจุบัน และอนาคต

"ตอนที่มีโอกาสศึกษาชีวิตของคุณเอ็กซ์ ซึ่งบ้านกาญจนาฯ เราก็ได้ข่าวมาหนึ่งชิ้น วันที่คุณเอ็กซ์ไม่ได้รับการประกันตัวรอบแรก แล้วเขาก็หันไปพูดกับแม่เขาว่า แล้วตอนเป็นเด็ก ใครที่ปล่อยให้ผมถูกทำร้ายโดยไม่เข้ามาช่วยผม เขามีคำพูดแบบนี้อยู่ เด็กๆ บ้านกาญจนาฯ ก็ถอดรหัสออกมาว่า วันคืนที่ผ่านมาของคุณเอ็กซ์ก็คือความรุนแรง นั่นแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงที่อยู่ในผู้ชายคนหนึ่ง ถึงที่สุดมันก็เป็นระเบิดเวลาติดตัวเขา เดินทางต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้มาเจอหมอนิ่ม ซึ่งอาจซ่อนได้ในระดับหนึ่งในช่วงแรก แต่ถึงที่สุดมันก็ซ่อนไม่ได้" ทิชาบอกเล่าก่อนจะขยายความต่อไปว่า

"จริงๆ เรื่องนี้ ส่วนตัวรู้สึกแย่นะเมื่อคนในสังคมลุกขึ้นมาพูดกันในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องของเงิน การคบชู้ หรือเรื่องอาชญากรรม แต่ไม่มีใครพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมันเป็นจิกซอร์ชิ้นสำคัญที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเรื่องนี้ขึ้น สังคมต้องดึงกลับมาพูด เพราะไม่ใช่มาแก้ที่ตัวกฎหมายแท้ๆ อย่างเดียว หรือถ้าจะแก้ด้วยกฎหมายต้องมีผู้ชำนาญการที่เข้าใจ ไม่ใช่ให้ตำรวจ หรือนางใดก็ได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ ไม่อย่างนั้นสังคมก็ไม่เห็นต้นตอที่แท้จริง เมื่อสังคมไม่เห็น แล้วจะเอาสติปัญญาอะไรไปเยียวยาปัญหาเหล่านี้"

ฉะกลไกรัฐ-สังคมบกพร่องหนัก!

ทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว ยังคงเป็นปรากฏการณ์รายวันที่ผู้หญิงทุกระดับเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษายังต้องเผชิญ ทั้งที่กลายเป็นข่าว และไม่เป็นข่าว ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาและหาทางออกด้วยตัวเอง และมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ถูกกดดันให้ต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง โดยที่กลไกภาครัฐและกลไกทางสังคมไม่สามารถช่วยคุ้มครอง ป้องกัน หรือแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

เรื่องนี้ รศ.ดร.กฤติยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งประเด็นไปที่กฎหมายครอบครัว นั่นก็คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยตัวกฎหมายและผู้ใช้กฎหมายยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง

"บ้านเรามีกฎหมายครอบครัวเป็นกฎหมายคุ้มครอง แต่กฎหมายอยู่บนฐานที่จะทำให้ครอบครัวอบอุ่น โดยเชื่อว่า สามีซ่อมได้ แต่กฎหมายและผู้ใช้กฎหมายยังไม่เข้าใจเลยว่า เมื่อเกิดความรุนแรง จะต้องทำให้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง เอาผู้หญิงเป็นตัวตั้ง และถามว่าเขาพร้อมจะให้สามีซ่อมไหม หรือเขาพร้อมที่จะให้กลับมาคืนดีกันไหม ถ้าคุณเอ็กซ์เอาดอกไม้ไปขอโทษหมอนิ่ม ส่วนตัวอยากถามว่า หมอนิ่มเต็มใจหรือเปล่า มีสักคำไหมที่รัฐมนตรีฯ จะถามหมอนิ่มว่า หมอนิ่มพร้อมไหม หรือหมอนิ่มอยากจะแยก อยากจะหย่าไหม คำถามเหล่านี้คือมันมีความสำคัญในการคุ้มครอง เพราะกฎเกณฑ์ในการคุ้มครองคุณต้องเอาตัวผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง และต้องไม่ไปละเมิดซ้ำซาก

แต่สิ่งที่เกิดในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ชอบทำความดีที่สร้างนรกให้คนอื่น ก็คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำ แม้ว่าเจตนาดี แต่มันสร้างนรกให้คนอื่น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของเราบางคน หรือมูลนิธิฯ บางแห่งชอบเอาเหยื่อมาเปิดเผยรูปร่างหน้าตาออกสื่อ ซึ่งอันที่จริงแล้วผิดกฎหมาย ควรจะตามจับมูลนิธิฯ พวกนี้ให้หมด ซึ่งมูลนิธิฯ ที่ทำงานเพื่อเด็กและสตรีก็ใช่ว่าจะเข้าเด็กและสตรีกันหมด" นักวิชาการท่านนี้ให้ความเห็น

ไม่เพียงแต่เรื่องกฎหมายเท่านั้น กระบวนการยุติธรรมในประเทศ ก็ยังไม่เข้าใจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในระดับที่ดีพอ

"เรามีกระบวนการยุติธรรมอยู่แน่นอน แต่กระบวนการยุติธรรมของบ้านเรา ถามหน่อยว่า เข้าใจปัญหานี้ไหม จริงๆ แล้วมันเหมือนกันทั่วโลก กระบวนยุติธรรมเองในตัวกฎหมาย มันสร้างขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อาจไม่เข้าใจเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่หลังๆ เมื่อมีการศึกษามากขึ้นในสหรัฐฯ หลายๆ รัฐ เวลาพิจารณาเรื่องคดีความรุนแรง กรณีสามีฆ่าภรรยา หรือภรรยาฆ่าสามีก็ตามแต่ เขาก็เอาประวัติศาสตร์ของครอบครัวมารวมด้วย" นักวิชาการคนเดียวกันนี้เผย

ทางด้าน ทิชา เสริมในประเด็นเดียวกันว่า เมื่อกลไกของรัฐที่มีอยู่ และศาลยุติธรรมก็ไม่ให้ความเป็นธรรม ผลักให้ผู้ถูกกระทำต้องจำยอมและต้องอยู่ร่วมกับผู้กระทำอย่างหวาดระแวง หวาดกลัว เกลียดชังและจบลงด้วยการโต้กลับ มันก็เหลือทางเลือกเล็กๆ ไม่กี่ทาง ซึ่งการโต้กลับก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เขาเลือก หรือการใช้ศาลเตี้ยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่พวกเขาเลือก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หนทางเหล่านี้ ไม่ใช่ทางเลือก และไม่ใช่คำตอบ

ความหวังดีที่หยิบยื่นนรกให้ผู้อื่น

ทิชา สะท้อนต่อไปถึงผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคู่สามี-ภรรยาที่มีประวัติทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ ซึ่งแทนที่จะเข้าใจความทุกข์ ความหวาดกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยของผู้ถูกกระทำ แต่กลับมุ่งเน้นที่การรักษาสถาบันครอบครัวในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ทำให้ผู้ไกล่เกลี่ย หรือผู้มีบทบาทดังกล่าว ไม่ต่างจากการหยิบยื่นความตาย หรือนรกให้แก่ผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำ

"กลไกที่มีหน้าที่ และบทบาทไกล่เกลี่ย แต่มาทำหน้าที่ดูแลชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ก็แล้วแต่ มันจะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที เพราะพวกคุณจะเดินเข้าไปหาผู้หญิงกับผู้ชายคู่หนึ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า พวกเขาผ่านความรุนแรงมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง สุดท้ายก็ทำหน้าที่เรียกความเป็นผัวเมียกลับคืนมา ความหวังดีเหล่านี้ มันอาจเป็นการหยิบยื่นความตายให้แก่พวกเขาด้วยซ้ำไป อย่างกรณีคุณหมอผัสพร และคุณหมอวิสุทธิ์ ขออนุญาตที่ต้องพูดถึงนะคะ จริงๆ คู่นี้เขาก็อยู่กันไม่ได้ แต่ศาลเองพยายามรักษาความเป็นผัวเมียให้พวกเขา สุดท้ายก็อยู่ด้วยกันไม่ได้"

เมื่อความรุนแรงในครอบครัวยกระดับไปสู่การจบชีวิตเพื่อปิดฉากชีวิตที่ไม่ลงตัว ความเสียหายนั้นย่อมขยายไปกระทบ กระแทกถึงลูกๆ ในครอบครัวนั้น และเด็กๆ อาจจะจมอยู่กับฉากชีวิตที่ไม่ลงตัวของพ่อแม่ไปอีกนานแสนนาน และหากการเยียวยาที่ไม่ดีพอ บาดแผลในใจนั้นอาจทำร้ายเด็กที่บริสุทธิ์กลุ่มนี้ได้อย่างลึกซึ้ง

"จริงๆ แล้ว เด็กเขาอยากเห็นความเป็นผัวเมียของผู้หญิงผู้ชายคู่นั้น หรือเขาอยากเห็นความเป็นพ่อแม่ของผู้หญิงผู้ชายคู่นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงเด็กเขาแยกออกนะ เขาไม่ได้มานั่งสนใจหรอกว่าแต่ละวันแต่ละค่ำคืน พ่อแม่ของเขาจะมีเซ็กซ์กันหรือเปล่า เด็กเขาไม่ได้แคร์ แต่เขาอยากรู้อย่างเดียวว่า ผู้หญิงผู้ชายคู่นี้ยังจะเป็นพ่อแม่ของเขาอยู่หรือเปล่า ซึ่งถ้าเราสามารถทำหน้าที่พ่อแม่ให้แก่พวกเขาได้โดยที่เราทิ้งร่างความเป็นสามี และภรรยาไป การหย่าร้าง หรือการสิ้นสุดการเป็นผัวเมียมันก็ไม่ได้กระเพื่อมอะไรเด็ก มันไม่ได้ทำให้เด็กตายลง หรือไม่ได้ทำให้เด็กมีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจน"

"นี่คือสิ่งที่สังคมต้องแยกภาพให้ออกว่า ความเป็นผัวเมียสิ้นสุดได้ ความเป็นผัวเมียหมดอายุได้ แต่ความเป็นพ่อแม่ต้องเป็นนิรันดร์ ไม่ใช่มานั่งโน้มน้าม จูงใจ เจรจา ไกลเกลี่ยไม่รู้สักกี่รอบ คำถามก็คือ คุณไปอยู่ในห้องนอนกับพวกเขาหรือเปล่า คุณรู้หรือเปล่าว่าเขาถูกเหยียดหยามขนาดไหน ซึ่งคุณก็ไม่เคยรู้ แต่คุณอยากรักษาภาพลักษณ์ รักษาตัวเลขการหย่าร้างในสังคมไทย ถามหน่อย คุณจะรักษาไว้ทำไม ในเมื่อถึงที่สุดมันก็จบลงที่โศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ แต่โศกนาฏกรรมแต่ละชิ้นแต่ละเรื่อง มันไม่ได้จบลงที่ชีวิตของคนคู่นั้นๆ แต่มันไปกระเพื่อมถูกชีวิตอื่นเข้าไปด้วย" ทิชาให้มุมมองก่อนจะถือโอกาสนี้ตั้งคำถามไปถึงการทำหน้าที่ของปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

"อยากตั้งคำถามกลับไปที่ตัวคุณปวีณา ส่วนตัวไม่ได้อยากซ้ำเติม แต่มีความรู้สึกว่า ตอนนี้คุณเลือกที่จะไกล่เกลี่ยคู่คู่หนึ่งที่มีปัญหาให้กลับไปอยู่ด้วยกัน ฐานคิดจริงๆ ของคุณปวีณาคืออะไร ซึ่งคุณปวีณาเป็นคนทำงานด้านความรุนแรงมาตลอด คุณนึกไม่ออกเลยใช่ไหมว่า การที่คนคนหนึ่งสร้างรุนแรงได้มันถูกบ่มมาเป็นเวลาอันยาวนาน มันไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อคืนแล้วเช้านี้ก็เกิดความรุนแรงเลย มันไม่เคยเป็นเช่นนั้น ทางที่ดี เวลาจะเข้าไปไกล่เกลี่ยใครแต่ละคน มันคงต้องเอาข้อมูลมาตั้ง ย้อนกลับไปดูประวัติของแต่ละคนด้วย ตรงนี้จึงไม่แน่ใจว่า คนที่ทำงานคลุกคลีกับปัญหาความรุนแรงมาเยอะมากอย่างคุณปวีณา แต่เวลาต้องปฏิบัติงานจริงๆ กลับเอามายาคติผัวเมียมาง่ายๆ แบบนี้"

ผ่าทางตัน ปลดล็อกความรุนแรง

ปิดท้ายกันที่ทางออกของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นัยนา ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร สรุปว่า ก่อนอื่นต้องปลอดล็อกตัวเองออกจากความเข้าใจผิดของค่านิยมในสังคม ที่มองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ เช่น ยิ่งทะเลาะยิ่งลูกดก เป็นต้น โดยการไม่ยอมจำนน หรืออดทน ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะอายกลัวว่าจะทำให้เสียชื่อเสียง หรือสิ่งที่สังคมตอกย้ำว่า ครอบครัวจะสมบูรณ์ต้องมีพ่อ แม่ ลูก ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง จึงพยายามประคับประคองรักษาสถานภาพของครอบครัว เหล่านี้เป็นเพียงมายาคติเท่านั้น ดังนั้นต้องเชื่อมั่นในตัวเอง ตั้งสติ และรักษาชีวิตให้ปลอดภัยโดยเดินออกมาจากความรุนแรง

อย่างไรก็ดี การพึ่งกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวปี 2550 ก็ยังเป็นอีกกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่กฎหมายและผู้ใช้กฎหมายในทัศนะของนักวิชาการท่านนี้ เห็นตรงกันกับนักวิชาการในเวทีเดียวกันว่า ยังเน้นการไกล่เกลี่ยที่มุ่งรักษาความสัมพันธ์ให้สามี-ภรรยาที่มีการใช้ความรุนแรงต่อกันกลับมาคืนดีกัน โดยไม่มีการสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว และในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบโดยตรง ซึ่งควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้สามารถนำกฎหมายไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้เป็น "วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง" นี่คือการย้ำเตือนให้สังคมไทยได้ตระหนัก และพยายามทำความเข้าใจกับกรณีการทำร้ายถึงแก่ชีวิตในครอบครัว โดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาที่ชี้ชัดในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ตัวสถานการณ์ สาเหตุ แรงจูงใจ การคุ้มครองป้องกัน ตัวกฎหมายที่ดี รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยึดโยงมายาคติเดิมๆ เหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น