xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โละ “สอบรับตรง” รื้อระบบคัดเด็กเข้ามหา’ลัย หนทางที่ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ประกาศ “ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน” นับแต่แรกเข้ากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดย “นายจาตุรนต์ ฉายแสง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีเป้าหมายปฏิรูปการเรียนการการสอน การทดสอบและประเมินผลให้สอดคล้อง สัมพันธ์กับกระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตรการเรียนการสอนของผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญยังต้องเชื่อมโยงไปสู่การปรับระบบรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกันด้วย

การปรับระบบรับบุคลเข้าศึกษาต่อในอุดมศึกษา โดยเฉพาะ “ระบบรับตรง” ที่คณะ/มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเองนั้น นายจาตุรนต์ มองว่าเป็นระบบการคัดเลือกที่จำเป็นต้องปรับอย่างเร่งด่วน เพราะได้รับการร้องเรียนเข้ามามากว่ามีการสอบหลายช่วงเวลา ส่งผลให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง

รวมทั้งปัญหาใหญ่ คือ เด็กลดความสนใจในห้องเรียน ตัดสินใจทิ้งห้องเรียน หันไปหาโรงเรียนกวดวิชาเพื่อจะได้ติวเข้มสอบเข้าเรียนในคณะ/มหาวิทยาลัยที่ต้องการได้เพราะมองว่าข้อสอบในการสอบรับตรงของมหาวิทยาลัยนั้นออกนอกเหนือหลักสูตรการเรียนการสอน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาเกิดขึ้น อันเนื่องจากเด็กบางคนมีโอกาสสอบเพียงครั้งเดียวเพราะไม่มีเงิน ในขณะที่เด็กบางคนสามารถสอบได้หลายที่และมีโอกาสสอบทั้งปี ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งก็ได้รับเงินจากการเปิดรับตรงหลายสิบล้านบาท เป็นต้น

เหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยที่ นายจาตุรนต์ มักหยิบยกมาพูดในการมอบนโยบายหรือการปาฐกถาพิเศษ ในเวทีต่าง ๆ ทั้งย้ำเสมอว่า“การปฏิรูปการศึกษาจะไม่มีทางสำเร็จได้ หากไม่สามารถแก้ไขระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ” ขณะที่ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ชุดใหม่ก็มีข้อเสนอในทิศทางเดียวกันว่าควรลดการสอบรับตรงและรับส่วนกลางผ่านการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือ แอดมิชชัน ด้วย จึงนำมาสู่การฝากโจทย์ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สกอ.)เป็นตัวกลางจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ปกครอง นักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) และมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมคิดหาทางแก้ไขปัญหาและปรับปรุงระบบการรับตรง ให้ดียิ่งขึ้นนับแต่ช่วงเดือนกันยายน2556 เป็นต้นมา

ข้อมูลจาก สกอ.ที่สำรวจการรับนิสิตนักศึกษา ระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2557 ที่ไม่ใช่ระบบแอดมิชชัน จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับและสังกัด จำนวน 42 แห่ง จาก 78 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 53.85 พบว่า มหาวิทยาลัยมีระบบการรับนิสิตนักศึกษา ประกอบด้วย 1.ระบบรับตรง ได้แก่ รับตรงทั่วประเทศ รับตรงในพื้นที่/ภูมิภาคและรับตรงร่วมกับกลุ่มสถาบัน ภาคี เครือข่าย 2.ระบบโควตา ได้แก่ โควตาผู้มีความรู้ ความสามารถพิเศษ มีคุณธรรมจริยธรรม โควตาภาค/เขตพื้นที่/โรงเรียน โควตาโครงการความร่วมมือ/ผลิตบุคลากรด้านต่าง เช่น วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และโควตาโครงการทุนต่างๆ

ขณะที่ภาพรวมการรับนักศึกษาอยู่ที่ 160,000 คน แต่จำนวนผู้สมัครประมาณ 1.1 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนหนึ่งคนสมัครหลายแห่ง ขณะที่อัตราการแข่งขัน มหาวิทยาลัยรัฐ (เดิม) 1:1 - 1:125 โดยเฉลี่ย 1:10 มหาวิทยาลัยราชภัฏ 1:1 - 1:56 เฉลี่ย1:5 และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อยู่ระหว่าง 1:2- 1:5 เฉลี่ย 1:3 สำหรับช่วงเวลาที่มีการรับสมัครมากที่สุด คือเดือน ก.ย.- ธ.ค.โดยเฉพาะเดือน ต.ค.-พ.ย.และค่าใช้จ่ายในการสมัครและการสอบ อยู่ในช่วงตั้งแต่ 50-2,000 บาท เฉลี่ยส่วนใหญ่ประมาณ 200-500บาท

ผลจากการรวบรวมข้อมูล ปัญหา และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ราว 3 เดือนทั้งหมดได้ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีนายจาตุรนต์ เป็นประธาน นัดแรกเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมาและมีมติให้ สกอ.ขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้ดำเนินการสอบรับตรง ในปีการศึกษา 2557 ให้เลื่อนจัดสอบออกไปหลังจากที่นักเรียนจบการศึกษาแล้ว และในปีการศึกษา 2558 ให้คณะและมหาวิทยาลัยลดการจัดสอบรับตรงเองลง

แต่หากจะจัดสอบก็ขอให้ใช้ข้อสอบกลาง หรือร่วมรับตรงผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์และให้มีการจัดสอบหลังจากเด็กเรียนจบการศึกษาแล้ว โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มี สกอ.ทำหน้าที่ประสานงาน มีหน้าที่พัฒนาข้อสอบกลางให้ได้มาตรฐาน เพื่อมหาวิทยาลัยนำคะแนนไปใช้ในการรับตรงทำให้ได้คนมีคุณภาพเข้าไปเรียน และตั้งใจว่าการทดสอบกลางจะใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบในปีการศึกษา 2559 ด้วย

อย่างไรก็ดี ปัญหาของระบบการรับตรง ที่ นายจาตุรนต์ หยิบยกนั้น มหาวิทยาลัยที่เปิดสอบรับตรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ ทปอ.ต่างก็ทราบปัญหาดีและเห็นด้วยว่าการจัดสอบรับตรงควรดำเนินการหลังนักเรียนจบการศึกษาแล้ว ที่ผ่านมา ทปอ.จึงหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาหารือและมีมติ ว่า การสอบรับตรง ในปีการศึกษา 2557 จะจัดสอบในเดือน ม.ค.2557 ซึ่งมหาวิทยาลัยใดที่ยังไม่ได้กำหนดเวลาสอบก็จะมาจัดสอบในช่วงเวลาเดียวกัน แต่สำหรับมหาวิทยาลัยใดที่กำหนดช่วงเวลาในปีนี้ (2556) คงไม่สามารถทำได้เพราะจะทำให้ระบบต่าง ๆ ที่วางไว้รวนไปทั้งหมด ซึ่ง ทปอ.ก็มีแนวทางจะสรุปปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทั้งหมด เพื่อนำไปปรับใช้ในปีการศึกษา 2558 และอย่างน้อยในปีการศึกษา2558 มหาวิทยาลัยจะร่วมจัดสอบรับตรงในช่วงเดียวกัน คือ เดือน ม.ค. ซึ่งจะสามารถลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ และผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายมากได้ส่วนหนึ่ง

แม้จะเข้าใจปัญหาตรงกัน แต่...ไม่ได้หมายความว่า นายจาตุรนต์ และ มหาวิทยาลัย จะมองเห็นปัญหาและมีวิธีการแก้ปัญหาที่เหมือนกัน จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหา “การรับตรง” ที่ ศธ.ดำเนินการจะเน้นให้เกิดผลในภาพรวมทั้งระบบการศึกษาตามนโยบายปฏิรูปที่ต้องเชื่อมโยงทั้งระดับพื้นฐานและอุดมศึกษา ขณะที่มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์คือ ต้องการผู้เรียนที่ตั้งใจและมีคุณลักษณะตรงตามความต้องการของคณะ/มหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในเวลานี้แม้จะระบบรับตรงผ่านเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ ของทปอ.ที่ให้คณะ/มหาวิทยาลัยที่จะสอบรับตรงเข้าร่วม แต่ในความจริงก็ไม่ใช่ทุกคณะ/มหาวิทยาลัยจะเข้าร่วม

และถึงแม้มติของบอร์ดที่ออกมานั้นไม่ได้ประกาศยกเลิกระบบรับตรง แต่ก็ส่งสัญญาณไปยังมหาวิทยาลัยให้ลดการสอบตรงโดยคณะ/มหาวิทยาลัยลงจนนำไปสู่การจัดสอบรับตรงที่เป็น “ศูนย์” ในปีการศึกษา 2558 และจะเริ่มพัฒนาข้อสอบกลางที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับมาใช้ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งการออกข้อสอบกลางก็เพื่อควบคุมการออกข้อสอบให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนที่เด็กเรียนในชั้นมัธยมศึกษา ขจัดปัญหาการออกข้อสอบรับตรงเกินหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และข้อสอบกลางต้องสะท้อนคุณภาพของเด็กในการศึกษาพื้นฐานด้วย ซึ่งข้อเสนอเรื่องการพัฒนาการทดสอบกลางนั้น เสียงส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยไม่ได้รู้สึกขัดแย้ง แต่ก็ไม่ได้โอนอ่อนตามเพราะยังมองว่าการจะใช้ข้อสอบกลางเพื่อให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งคัดเลือกนักเรียนให้เข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการของคณะ/สาขาเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก!!ซึ่งอาจต้องให้มหาวิทยาลัยมาร่วมออกข้อสอบกลางเองเพื่อจะได้รู้ถึงความต้องที่แท้จริง

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยยังคงยืนยันเช่นกันว่าข้อสอบรับตรงไม่เคยออกเกินหลักสูตร แต่มหาวิทยาลัยจะมีข้อสอบส่วนหนึ่งที่วัดปฏิภาณไหวพริบของนักเรียนที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏในหลักสูตรการเรียน อีกทั้งมหาวิทยาลัยไม่ได้มองว่าปัญหาของการรับตรง อยู่ที่การออกข้อสอบเองของมหาวิทยาลัยแต่ปัญหาอยู่ที่การจัดสอบหลายช่วงเวลาซึ่งก็มีหนทางแก้ไขปัญหารองรับแล้ว รวมทั้งพัฒนาระบบแอดมิชชันกลางให้มีคุณภาพรองรับด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ ศธ.รู้และเข้าใจดีถึงความเป็นอิสระตามกฎหมายของมหาวิทยาลัยที่ แม้จะเป็น รมว.ศึกษาธิการ ก็ใช่ว่าจะมีสิทธิ์แทรกแซง ดังนั้นแม้ก่อนหน้าจะเคยมีข้อเสนอให้เสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรื้อระบบการคัดเลือกเข้าอุดมศึกษาแม้จะทำเพื่อบังคับให้มหาวิทยาลัยทำตามย่อมได้ แต่ นายจาตุรนต์ ยอมรับว่าทำไปอาจไม่ได้ผลแต่ต้องทำให้เห็นชัดว่าระบบที่ทำอยู่มีปัญหาต้องแก้ไข และเพราะความเป็นอิสระนี่เองที่ไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่าแนวทางที่ขอให้ลดสอบรับตรงลงไปเรื่อย ๆ จนก้าวสู่การไม่มีจะเป็นไปได้มากเพียงใด เพราะต้องไม่ลืมว่าการสอบรับตรงยังมีความสำคัญในการคัดเลือกผู้เรียนในบางวิชาชีพ โดยเฉพาะ กลุ่มแพทย์สถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ที่มีการจัดสอบรับตรงเฉพาะกลุ่ม อาจจะร่วมหรือไม่ร่วมกับแนวทางที่ ศธ.เสนอก็เป็นได้


เด็กๆ ขณะกำลังสอบผ่านระบบรับตรงเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น