xs
xsm
sm
md
lg

ความไม่เท่าเทียมคือตัวขัดขวางการพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: ธาลีฟ ดีน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Inequality seen as bar to development
By Thalif Deen
17/10/2013

ตามข้อมูลสถิติที่ว่าบรรดาอภิอัครมหาเศรษฐีซึ่งเป็นเพียง 1% ของประชากรโลกคือผู้ถือครองทรัพย์สิน 40% ของดาวนพพระเคราะห์ใบนี้ ขณะที่อีก 50% ได้มีส่วนถือครองอยู่แค่ 1% เราย่อมตระหนักได้ว่าความไม่เท่าเทียมคืออุปสรรคขั้นพื้นฐานและเรื้อรัง ที่จัดขวางการพัฒนา

สหประชาชาติ – ด้วยข้อมูลสถิติที่ว่าบรรดาอภิอัครมหาเศรษฐีซึ่งเป็นเพียง 1% ของประชากรโลกคือผู้ถือครองทรัพย์สิน 40% ของดาวนพพระเคราะห์ใบนี้ ขณะที่อีก 50% ณ รากฐานของตาราง ได้มีส่วนถือครองทรัพย์ศฤงคารของโลกเพียงแค่ 1% เราย่อมตระหนักได้ว่าความไม่เท่าเทียมคืออุปสรรคขั้นพื้นฐานและเรื้อรัง ที่ขัดขวางการพัฒนา

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้โลกจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ทว่าความไม่เท่าเทียมกลับทวีตัวขึ้นมากมายภายในประเทศส่วนใหญ่ในเกือบจะทุกภูมิภาคของโลก สภาพการณ์ความไม่เท่าเทียมปรากฏตัวในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ในรูปของช่องว่างรายได้ ไปจนถึงการได้รับสิทธิทางการเมืองอย่างไม่เท่าเทียม นอกจากนั้น ปัญหาความไม่เท่าเทียมยังกำเนิดขึ้นจากปัจจัยอันหลายหลากมากมาย อาทิ ปัจจัยด้านเพศ เชื้อชาติ ความทุพลภาพ สถานภาพทางกฎหมาย ชนชั้นวรรณะ สีผิว ภาษา และสถานภาพทางเศรษฐกิจ

คุณโยค หลิง ฉี แห่งเครือข่ายโลกที่สาม (TWN) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ปีนัง กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (IPS) ว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมได้ทวีความเลวร้ายให้เห็นกันมิใช่แต่ในประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยที่สุด ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกองค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (OECD) หากยังไปลุกลามในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง

การที่ภาครัฐออกนโยบายและกฎระเบียบขึ้นมาอย่างไม่เพียงพอเอาเสียเลยในอันที่จะรับมือกับวิกฤตการเงินรอบหลังๆ นี้ มันสะท้อนว่าความอ่อนแอเชิงระบบยังเรื้อรังอยู่ไม่รู้หาย ซึ่งทำให้ประเทศทั้งหลายมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเจอกับความไร้เสถียรภาพทางการเงินมากยิ่งกว่าที่ผ่านมา คุณฉีกล่าวอย่างนั้น

เธอกล่าวด้วยว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีการปฏิรูปทางการเงิน แต่ยังพึ่งพิงอยู่กับภาคส่งออกเป็นสำคัญ ล้วนแต่พบว่าภายในวิกฤตการเงินปี 2008 ประเทศของตนมีความอ่อนแอย่ำแย่พอๆ กัน ในการนี้ ผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในภาคส่งออกคือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสาหัส

แถลงการณ์ของกลุ่ม 17 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่ออกมาในเดือนพฤษภาคม 2013 ชี้ว่าความไม่เท่าเทียมมักที่จะเป็นตัวจุดชนวนปัญหาทางสังคมเสมอ โดยปัญหาทางสังคมที่ว่านี้ไปกีดกันกลุ่มชนที่ถูกละเลยและทอดทิ้งไว้ในความยากไร้และเสียเปรียบ ให้ต้องยิ่งยากไร้และเสียเปรียบสาหัสหนักข้อมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน โอกาสเข้าถึงความมั่งคั่งของประเทศ เป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม พร้อมกับเอื้อให้ทรัพยากรถูกใช้หมดเปลืองไปโดยกลุ่มอภิอัครมหาเศรษฐีแบบอีลุ่ยฉุยแฉก ส่งผลไปถึงหายนะอื่นอีกมากมาย ทั้งปัญหาความเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาความเปลี่ยนแปลงในสภาพดินฟ้าอากาศ แล้วผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ก็ไปตกหนักอยู่กับกลุ่มชนผู้ยากไร้และเสียเปรียบนั่นเอง

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติกลุ่มนี้ชี้ว่า การพุ่งทะยานของสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมได้บ่อนทำลายความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals หรือ MDGs) อย่างร้ายแรง ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้กำหนด วาระเพื่อการพัฒนาภายหลังปี 2015 ว่าจะขจัดความไม่เท่าเทียมในทุกด้าน

ในการนี้ คณะทำงานของรัฐสมาชิกสหประชาชาติมีกำหนดจะประชุมกันในวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2014 เพื่อหารือถึงเค้าโครงของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนชุดใหม่ (Sustainable Development Goals) ซึ่งจะมาสืบทอดเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษที่จะครบกำหนดในปี 2015

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการกำหนดให้ความเท่าเทียมเป็นภารกิจสำคัญลำดับต้นในทุกเป้าหมาย ย่อมหมายความว่าทุกเป้าหมายใหม่ที่จะกำหนดกันขึ้นนั้น จะต้องไปต่อกรกับความไม่ยุติธรรมอันปรากฏอย่างเป็นระบบอยู่ในโครงสร้างปัจจุบัน โดยความไม่ยุติธรรมเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนความไม่เท่าเทียมในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะในมุมของการกีดกันริดรอนสิทธิของบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งปวง ไปจนถึงการลงทุนในด้านบริการทางสังคมอย่างไม่เสมอภาคในระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของแต่ละประเทศ

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระบุแนวทางแก้ปัญหาไว้ว่า การปกป้องทางสังคมเป็น “ส่วนหนึ่งของเครื่องมือเชิงนโยบายที่ขาดไม่ได้ ในอันที่จะจัดการกับปัญหาความไม่เสมอภาคทั้งปวง เพื่อจะมั่นใจได้ว่าจะไม่มีกลุ่มใด ชุมชนใด หรือภูมิภาคใดถูกทอดทิ้งให้ล้าหลัง”

ปัจจุบันนี้ ครอบครัวต่างๆ ทั่วโลกปริมาณมหาศาลกว่า 80% ยังไม่ได้รับการปกป้องทางสังคม แม้จะมีหลักฐานบ่งชี้อย่างแจ่มแจ้งว่าระบบการปกป้องทางสังคมสามารถช่วยลดความยากจน ช่วยเชื่อมโยงความเป็นหนึ่งเดียวทางสังคม ช่วยสร้างความตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน และช่วยปกป้องผู้คนจากวิกฤตทั้งปวง อาทิ ราคาอาหารพุ่งทะยาน พวกผู้เชี่ยวชาญกล่าวอย่างนั้น

นอกจากนี้ พวกเขายังบอกด้วยว่า ควรมีการเชื่อมโยงวาระเพื่อการพัฒนาภายหลังปี 2015 เข้าด้วยกันกับข้อเสนอแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยฐานความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งจะช่วยสร้างกลไกด้านเงินทุนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลอย่างเช่น เบรีน เชฟเฟิร์ดจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สืบทอดชนเผ่าแอฟริกัน อัลเฟรด เดอ ซายาส ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศด้านความยุติธรรมและการเป็นประชาธิปไตย แมกดาลีนา เซปูลเบดา ผู้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษเสนอรายงานด้านความยากจนรุนแรงและสิทธิมนุษยชน และโอลิวิแอร์ เดอ ชูตแตร์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษเสนอรายงานด้านสิทธิเข้าถึงอาหาร

ด้านโจเซฟ สติกลิตส์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2001 เขียนในคอลัมน์ประจำที่มีอยู่กับนิวยอร์กไทมส์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เป็นที่ทราบกันดีทั่วหน้าแล้วว่าความไม่เท่าเทียมระหว่างรายได้และความมั่งคั่งภายในประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสหรัฐอเมริกา ได้พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และสภาพการณ์ดังกล่าวนับวันแต่จะสาหัสฉกรรจ์ยิ่งๆ ขึ้นไป

เขาถามไว้ว่าแล้วสถานการณ์ของโลกทั้งมวลนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ช่องว่างระหว่างประเทศต่างๆ ได้สอบแคบลงมาหรือไม่ในยามที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหน้าใหม่อย่างจีนและอินเดียได้ยกประชากรนับล้านๆ รายของตนออกมาจากภาวะยากจน แล้วช่องว่างระหว่างประเทศที่มีรายได้ต่ำมากกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางนั้นเล่า ความไม่เท่าเทียมแย่ลงหรือว่ากระเตื้องดีขึ้น

โรแบร์โต บิสซิโอ ผู้อำนวยการองค์การ Social Watch กล่าวกับ IPS ว่าธนาคารโลกเคลมว่าเป้าหมายที่ 1 แห่ง MDGs ว่าด้วยการลดจำนวนผู้ที่อยู่ในความยากจนรุนแรง ลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2015 นั้น ประสบความสำเร็จแล้วเมื่อปี 2010 กระนั้นก็ตาม ข้อสรุปเชิงสถิติที่มองโลกแง่ดีดังกล่าว อันที่จริงแล้วได้ซ่อนความเป็นจริงซึ่งซับซ้อนกว่านั้นมาก

ในระหว่างปี 1990 (ซึ่งเป็นเวลาเริ่มต้นของเป้าหมายที่ 1) ถึงปี 2010 มูลค่าการส่งออกของโลกทวีตัวขึ้นเกือบ 5 เท่า โดยเติบโตจากมูลค่าสุทธิ 781,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1990 ขึ้นเป็น 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2010

ในช่วงเดียวกันนั้น ประชากรโลกโดยเฉลี่ยแต่ละคน มีรายได้พุ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าตัว คือจากอัตราเฉลี่ยที่ 4,080 ดอลลาร์ต่อปีในปี 1990 ทะยานเป็น 9,120 ดอลลาร์ต่อปีในปี 2010 กระนั้นก็ตาม การเติบโตด้านการค้าและความมั่งคั่งก็มิได้สะท้อนพลวัตรแบบเดียวกันนี้ไว้ในตัวชี้วัดการวิวัฒนาการทางสังคม

คุณฉีแห่ง TWN บอกกับ IPS ว่ากำไรจากการลงทุน ตลอดจนมูลค่าเพิ่มที่งอกเงยจากการลงทุนมีแต่จะไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนา ณ ระดับที่ดุเดือด ปัจจุบันนี้ บรรดาประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อาหารต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเก็งกำไรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นตัวการสร้างความผันผวนให้กับอุปสงค์และอุปทานอย่างไม่ใช่ที่เลย

ประเทศต่างๆ ซึ่งต้องพึ่งพิงกับรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลุ่มเหมืองแร่ ซึ่งถูกควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติใหญ่ยักษ์ทั้งปวง กลายเป็นประเทศที่ถูกตราหน้าว่าเป็นตัวการทำลายสภาพแวดล้อมโลก ตัวสร้างปัญหาสังคม และเป็นผู้ที่สร้างภาระภาษีให้ตกอยู่กับคนจนมากกว่าคนรวย

คุณฉีบอกว่าทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือปัจจัยที่โหมกระหน่ำความไม่เท่าเทียม ในเวลาเดียวกัน นโยบายอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปใช้อยู่อันเป็นนโยบายที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและทำให้รายได้ของประชาชนลดน้อยลงนั้น ก็คือการเดินตามรอยความทุกข์ยากที่ประเทศกำลังพัฒนาได้ประสบมาแล้วภายใต้เงื่อนไขที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บังคับให้ใช้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น