xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ยิ่งอยู่ ยิ่งแพง สุดระทม ผัก-ไข่ไก่-เนื้อสัตว์ ราคาพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ของแพงคิดไปเอง” วลีนี้คิดว่าหลายคนอาจจะคุ้นหู วลีอมตะจากปากนายกฯ ปู เมื่อปี 2555 จากนั้นเวลาล่วงเลยมาเกือบ 1 ปี ปัญหาปากท้องประชาชนก็ยังโดนเมินไม่ได้รับการแก้ไขเช่นเดิม หนำซ้ำปลัดกระทรวงพาณิชย์ วัชรี วิมุกตายน ที่อาจมีนายกฯ ปูเป็นต้นแบบ ยังซัดหมัดเด็ดให้ประชาชนคนไทยทราบโดยทั่วกันในปี 2556 นี้ว่า “ของแพงเพราะความรู้สึก ประชาชนรู้สึกไปเอง” เอาล่ะสิ ทั้งคิดไปเอง ทั้งรู้สึกไปเอง ทีมงานผู้จัดการ ASTV ผู้จัดการ Live เลยต้องลงสำรวจว่าคำกล่าวขาน “รัฐบาลปูแดง แพงทั้งแผ่นดิน” จะเป็นแค่ความรู้สึกนึกคิดไปเองของประชาชนหรือเปล่า ?!

แม่ค้าอ่วม ราคาผักผันผวน

ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเราขึ้นชื่อด้านเกษตรกรรม แต่ไม่น่าเชื่อว่าสินค้าเกษตรอย่างผัก-ผลไม้ จะเป็นสินค้าที่เหล่าบรรดาแม่ค้าโอดครวญว่าร้าวรานใจเป็นที่สุด อย่างแผงขายผักบริเวณตลาดสดนนทบุรีได้เปรยให้ทีมงานฟังว่า ตอนนี้เศรษฐกิจแย่มาก อยากจะเลิกขายให้รู้แล้วรู้รอด เพราะลูกค้าซื้อน้อย กำไรก็แทบไม่ได้เห็น ถึงมีก็แค่พออยู่ได้ เนื่องจากราคาผักในตลาดทุกวันนี้มีความผันผวนค่อนข้างสูง ขึ้นคราวหนึ่งสิบบาท ไปจนถึงหนึ่งร้อยบาทก็เคยมีมาแล้ว โดยเฉพาะในหน้าเทศกาลที่ราคาผักปรับขึ้นสูงจนทุนหายกำไรหด แต่อย่างน้อยร้านค้าขายผักเหล่านี้ยังโชคดีตรงที่สินค้ามีความหลากหลาย มีผักหลายชนิดให้ลูกค้าเลือกซื้อ ดังนั้นกำไร-ขาดทุนก็จะคละๆ กันไปนั่นเอง

ยกตัวอย่างการสอบถามราคาจากย่านนี้พบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 กันยายน 2556) ผักคะน้าปรับขึ้น 5 บาท เป็น 20 บาทต่อกิโลฯ, ผักชีปรับขึ้น 40 บาท เป็น 60 บาทต่อกิโลฯ, แตงกวาปรับขึ้น 6 บาท เป็น 12 บาทต่อกิโลฯ, ต้นหอมปรับขึ้น 10 บาท เป็น 30 บาทต่อกิโลฯ

ทั้งนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาผักในช่วงนี้ผันผวนก็เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ดังที่ จารุวรรณ แสงฟ้า แม่ค้าขายผักในตลาดบางกะปิเผยถึงราคาผักในช่วงนี้ที่เป็นช่วงหน้าฝนว่ามีการขึ้นลงผันผวนเป็นเรื่องปกติซึ่งเกิดจากความเสียหายของผลผลิตในช่วงวันที่ฝนตก แต่สิ่งที่ต่างจากปีก่อนๆ คือพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนที่จับจ่ายใช้สอยกันน้อยลงส่งผลให้กำไรในการขายทั้งหมดน้อยลงตามไปด้วย

สอดคล้องกับ สายสุณีย์ พานพ่าย แม่ค้าขายผักสดตลาดเทวราช ที่ระบุว่า ตอนนี้ผักหลายๆ อย่างถูกลง เป็นไปตามธรรมชาติของมันยิ่งหน้าฝนผักจะราคาต่ำลง แต่ถ้าผักอะไรขาดตลาด นั่นแหละถึงเวลาปรับขึ้นราคา “ผักแพงเค้าก็ไม่ซื้อ เพราะว่าไม่จำเป็น เราก็อยากให้รัฐบาลมาช่วยหน่อยก็ดี เศรษฐกิจแย่ ข้าวของมันก็แพงบ้าง ไม่แพงบ้าง ซึ่งพวกผักเนี่ยยังไม่แพงเท่าไหร่ มันจะแพงพวกน้ำมัน อันนี้ก็อยากฝากให้รัฐบาลมาดูด้วย”

ทั้งนี้ แม่ค้าขายผักจากทั้งตลาดสดนนทบุรี, ตลาดบางกะปิ และตลาดเทวราช ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ผักที่ราคาขึ้นสูงมากในขณะนี้คือกระชายซอย จากเดิม 60 บาทมาเป็น 110 บาท และกระชายหัวจากเดิม 40 - 50 บาทเป็น 90 บาท รวมไปถึงพ่อค้าขายขนมจีนน้ำยา บริเวณอนุสาวรีย์ก็เห็นพ้องว่าขณะนี้ต้นทุนอย่างกระชายกำลังปรับสูงขึ้นมากกว่าวัตถุดิบอื่นๆ

1 ปี ไข่ไก่ขึ้น 1 บาท

ด้านไข่ไก่ สินค้าบริโภคหลักๆ ของประเทศ ก็ป่วนปั่นเช่นกัน ค่อยๆ ขยับทีละนิดละหน่อย ล่าสุดเพิ่งปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ทำให้ราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 0 (ใหญ่สุด) ใกล้แตะราคา 5 บาทอีกไม่ช้าไม่นาน

อ้างอิงจากราคาค้าส่งไข่ไก่ ณ ตลาดไท (ตลาดกลางสินค้าเกษตรแห่งประเทศไทย) ย้อนไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว (2555) เทียบกับราคาปัจจุบัน ณ วันที่ 4 กันยายน 2556 พบว่าราคาไข่ไก่ทุกเบอร์ต่างปรับตัวสูงขึ้น 0.9-1 บาท โดยไข่ไก่เบอร์ 0 (ใหญ่สุด) จากเดิม 2.9 บาท ขึ้นเป็น 3.9 บาท, ไข่ไก่เบอร์ 1 จากเดิม 2.7 บาท ขึ้นเป็น 3.6 บาท, ไข่ไก่เบอร์ 2 จากเดิม 2.6 บาท ขึ้นเป็น 3.5 บาท, ไข่ไก่เบอร์ 3 จากเดิม 2.5 บาท ขึ้นเป็น 3.4 บาท, ไข่ไก่เบอร์ 4 จากเดิม 2.3 บาท ขึ้นเป็น 3.2 บาท และไข่ไก่เบอร์ 5 (เล็กสุด) จากเดิม 2.1 บาท ขึ้นเป็น 3.0 บาท

ส่วนราคาขายปลีกไข่ไก่นั้น พ่อค้าไข่ไก่จากตลาดสดนนทบุรี ระบุว่า ตอนนี้ไข่ไก่เพิ่งปรับขึ้นราคาอีก 0.10 สตางค์ โดยราคาปัจจุบันของทางร้านคือไข่ไก่เบอร์ 0 (ใหญ่สุด) ราคาฟองละ 4.4 บาท, ไข่ไก่เบอร์ 1 ราคาฟองละ 4.0 บาท, ไข่ไก่เบอร์ 2 ราคาฟองละ 3.9 บาท, ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาฟองละ 3.8 บาท, ไข่ไก่เบอร์ 4 ราคาฟองละ 3.7 บาท และไข่ไก่และเบอร์ 5 (เล็กสุด) ราคาฟองละ 3.5 บาท

การปรับราคาขึ้นราว 1 บาทของไข่ไก่ ประชาชนทั่วไปที่ซื้อปลีกอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ได้รับความเดือดร้อนมากนัก แต่อย่างผู้ค้าไข่ไก่กลับมองว่า สถานการณ์การขึ้นราคาไข่ไก่น่าเป็นห่วง เพราะราคาขึ้นแล้วขึ้นเลยไม่น่าจะปรับให้ต่ำลงกว่านี้ โดยเจ้าของแผงไข่เป็ดไข่ไก่ตลาดเทวราช พัชรา ภู่วาว เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาไข่ไก่และไข่เป็ดนั้นปรับตัวสูงขึ้นมาก

ขายอยู่ตรงนี้มาจะ 20 ปี แล้ว ปีนี้ราคาขึ้นเยอะมากเลย ตั้งแต่ขายมาเพิ่งจะเจอปีนี้แพงสุดๆ ขึ้นแล้วเค้าไม่ลง เราขายมาตั้งแต่ราคา 1.50 บาท 2.50 บาท แล้วขึ้นมาเรื่อยๆ เบอร์ใหญ่สุดจะ 5 บาท แล้วเนี่ย เบอร์เล็กก็ 4 บาทกว่า” นอกจากนั้นแม่ค้าคนเดิมยังเปิดใจว่า ในฐานะผู้ค้าส่งได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ซื้อปลีกแน่นอนเพราะเค้าซื้อเอาไปประกอบอาหารแต่ก็ต้องขายอาหารราคาเท่าเดิม แต่แผงเราปรับขึ้นราคาตามราคาตลาด ลูกค้าก็บ่นว่าแพงแต่เค้าก็เข้าใจเพราะราคาไข่มันขึ้นจริงๆ

คำถามที่ว่า ไข่ไก่ราคาดีดตัวสูงขึ้นทุกปีจริงหรือไม่?? ราคาไข่ไก่แพง ประชาชนคิดไปเองหรือไม่?? ถามหาคำตอบกันได้ง่ายๆ เพราะประชาชนคงจะเห็นได้ว่าตามร้านอาหารราดแกงหรือร้านอาหารตามสั่งที่เพิ่มไข่ด้วย ทั้งไข่เจียว, ไข่ดาว หรือไข่ต้ม ก็ต่างค่อยๆ ปรับตัวเช่นกัน จากแต่เดิมเพิ่มไข่ฟองละ 5 บาท ในปัจจุบันก็ปรับราคาเป็น 10 บาท ซึ่งบางร้านปรับราคาไปถึง 15 บาทแล้วก็มี

สุดช้ำ เขียงเนื้อสัตว์ คนซื้อน้อย

หันกลับมามองที่เขียงขายเนื้อสัตว์กันบ้างทั้งเนื้อหมู, เนื้อไก่ และเนื้อวัว ต่างก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับแม่ค้า-พ่อค้าขายผักและไข่ไก่ เมื่อต้องเผชิญกับราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะเนื้อวัวที่ น้ำทิพย์ เงินทองอุดมเพชร แม่ค้าขายเนื้อวัวตลาดบางกะปิ กำลังมีความรู้สึกว่า สภาพราคาเนื้อวัวตอนนี้อยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาพุ่งสูงขึ้นจาก 150 บาท ในปี 2554 มาเป็น 180 บาท ในปี 2555 และ 230 บาท ในปี 2556 โดยราคาที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เธอมองว่าเป็นผลมาจากการส่งออก ทำให้ลูกค้าลดการบริโภคลงอย่างมาก จนต้องสั่งของน้อยลงทุกที ทั้งนี้ราคา 220 บาทในปัจจุบันเพิ่งจะเป็นราคาที่ผู้บริโภคเริ่มรับได้แต่ก็มีแนวโน้มว่า ราคาจะถีบตัวสูงขึ้นไปอีก

“ในหนึ่งอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง กิโลละ 3 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง ตัวละ 200 กิโลฯ ก็ขึ้นเกือบ 1,000 บาท ราคาหน้าร้านขึ้นไม่ทัน เพราะราคาขึ้นแรงมาก คนรากหญ้า กรรมกร แท็กซี่เขาจะสู้ไหวมั้ย 60 บาท ลาบเนื้อจานเดียว ส่งผลต่อประชาชนของคุณนะ ช่วงถี่ๆ ขึ้นรายอาทิตย์ เพิ่งขึ้นมา 3 เดือน มาขึ้นอีก 2 ครั้งติด และยังขึ้นอีก ไม่มีลงเลย มีแต่ทรงได้แค่ 3 เดือนเองในช่วง 2 ปี

หน้าดำกันหมด ไปซื้อเองมั้ย ต้องประหยัดลง ยอมได้กำไรได้น้อยลง ซึ่งไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายเพราะค่าครองชีพมันสูงขึ้น ของมันแพงขึ้น ทุกอย่างเลยราคาขึ้น กระทั่งน้ำตาล กระเทียม ซื้อน้อยลงมาก บางคนอยากจริงๆ นานๆ ถึงจะซื้อที บางคนถามราคาแล้วถอยเลย

เรารู้สึกว่ามันเสี่ยงมาก ถ้าราคายังไต่ขึ้น กำลังซื้อคนมันไม่มี ก็เนี่ยรับไม่ได้แล้ว ขึ้นมาทีก็เครียดกันที แต่ก็ต้องยอมรับสภาพ ต้นทุนขึ้นแล้ว แต่ราคาป้ายยังไม่ได้ปรับขึ้นเลย ราคาส่งก็ไม่ได้ กำไรก็น้อยไปอีก เจ้าส่งก็ขึ้นไม่ได้เพราะซื้อเยอะก็ประคองกันไป ช่วยๆ กันไป”

ปัญหาการปรับขึ้นราคาเนื้อวัวอย่างต่อเนื่อง เป็นปัญหาที่พ่อค้า-แม่ค้า กังวล เพราะโดยปกติราคาเนื้อวัวก็สูงมากอยู่แล้ว หากไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้ผู้คนบริโภคเนื้อวัวน้อยลงและจะกระทบต่อผู้ค้าเนื้อวัวได้ ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้เกิดแค่กับน้ำทิพย์ แม่ค้าเนื้อวัวตลาดบางกะปิเท่านั้น แต่ร้านค้าเนื้อวัวหลายเจ้าในตลาดเทวราชก็มีความรู้สึกไม่ต่างกัน โดยผู้ค้าเนื้อวัวให้ข้อมูลตรงกันว่าเกิดภาวะวิกฤตกับเนื้อวัว เรียกว่าตอนนี้ถึงขั้นขาดตลาด ผลพวงมาจากการส่งออกไปต่างประเทศที่ขาดสมดุลทำให้เนื้อวัวขาดตลาดและมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีบางเจ้าปิดกิจการไปแล้วด้วย

มันส่งนอกกันหมด คนไทยก็ไม่ได้กินแล้ว ส่งเวียดนาม ส่งจีน ขาดตลาดมันแพง ถ้ารัฐบาลไม่ส่งออกนอกหมดนะ เนื้อวัวเหลือกินมีใช้”

เรื่องวัวเรื่องควายบ้านเราอันที่จริงไม่น่าส่งออก มันแพงมากครับ ลูกหลานบ้านเราจะกินยังไง มันก็ได้ประโยชน์เฉพาะคนบางส่วน แต่ว่าคนบริโภคจะตายเอา”

ส่วนราคาเนื้อไก่ ที่ตอนนี้ราคาไก่หนึ่งตัวก็ใกล้จะเกือบหนึ่งร้อยบาทอยู่รอมร่อ โดยราคาไก่ตัวอยู่ที่ 80 บาท, เนื้อไก่ กิโลฯ ละ 90 บาท, น่องไก่กิโลฯ ละ 80 บาท, ขาไก่กิโลฯ ละ 80 บาท ซึ่งขณะที่สัมภาษณ์แม่ค้าไก่สดนั้น เธอก็ได้ระบายความในใจออกมาว่า “แย่มากๆ ค่ะ แพงเกินไป ขายก็ไม่ดี เราเองก็ไม่ได้กำไร เหนื่อยมากๆ รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลแล้วล่ะ” ซึ่งลูกมือในร้านก็ช่วยเสริมถึงความอึดอัดใจว่า “ฝากถึงรัฐบาลหน่อย ถ้ากินกันเสร็จแล้ว ก็ให้ประชาชนกินบ้าง นี่จะตายกันอยู่แล้ว ค่าแรง 300 บาท อยู่ไม่ได้หรอก ถ้าของจะขึ้นราคาขนาดนี้ อะไรๆ ก็ขึ้นไปหมด ถือแบงก์ร้อยซื้อไก่ตัวเดียวนี่หมดแล้ว”

สุดท้ายเรื่องของราคาเนื้อหมูที่เจ้าของเขียงหมูทั้งหลายก็ระทมไม่ต่างกัน เมื่อราคาเนื้อหมูก็ปรับตัวทะยานขึ้นในช่วงสองปีหลังที่ผ่านมา (2554-2556) และผู้ค้าก็ยังไม่เห็นทีท่าว่ารัฐบาลจะปรับราคาลงเพื่อช่วยเหลือประชาชนแต่อย่างใด โดยเขียงหมูในตลาดนนทบุรี กล่าวถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันว่า “ถามว่าลูกค้าน้อยลงมั้ย ก็ไม่ ลูกค้าเท่าเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือลูกค้าซื้อน้อยลง จากแต่เดิมซื้อกันเป็นกิโลฯ หนึ่งกิโลสองกิโลว่าไป ตอนนี้ขายเป็นสามสิบบาท สี่สิบบาท เราก็ยอมขายนะ ถึงมันจะน้อย ก็ต้องช่วยๆ ประคองกันไป เพราะลูกค้าเค้าก็ซื้อแค่พอกินของเค้า”

บางแผงถึงกับต้องยอมตรึงราคาเอาไว้ เพื่อดึงลูกค้าในระยะยาว เพราะทุกอย่างต่างเดินขบวนขึ้นราคากันหมด ซึ่งทุกวันนี้เสียงบ่นจากลูกค้าก็ว่าแพงกันทั้งนั้น แม่ค้าบางรายจึงยอมได้กำไรน้อยลงเพื่อรักษายอดขาย “หมูเป็นสินค้าที่ขึ้นแล้วก็ลงได้ ช่วงหมูแพงไม่มีกำไรเลย ขายแล้วไม่ได้ ช่วงนี้ยังเสมอตัวเท่านั้น ต้องขายเพื่อให้อยู่ไปถึงช่วงราคาลงเพื่อให้ได้กำไรขึ้นมาบ้าง” วรานัน ทิพยอนันต์ แม่ค้าขายเนื้อหมูในตลาดบางกะปิกล่าว ทั้งนี้ ราคาล่าสุดของเนื้อหมูก้อน ราคา 135-140 บาท, เนื้อแดง-เนื้อไหล่ 130 บาท, หมูสามชั้น 135 บาท โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการปรับราคาขึ้น-ลง ราว 10-20 บาท

มาจนถึงตอนนี้ หลากหลายเสียงบอกเล่าความจริงจากการลงสำรวจของทีมงาน ASTV ผู้จัดการ Live ที่ได้ทั้งเสียงวิงวอนรัฐบาลให้ช่วยเหลือ เสียงประณามรัฐบาลว่ารังแกประชาชน คงสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าราคาของบริโภคทั้งผักสดและเนื้อหมู ต่างปรับราคาจนพ่อค้า-แม่ค้าและผู้บริโภคต้องกุมขมับ แล้วพวกคุณพูดมาได้อย่างไรแบบหน้าไม่อายว่า “ของแพง คิดไปเอง-ของแพงเพราะประชาชนรู้สึกไปเอง”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live



พ่อค้าผัก ตลาดสดนนทบุรี
ราคาไข่ปัจจุบัน
แม่ค้าเขียงหมู ตลาดบางกะปิ
แม่ค้าเขียงเนื้อวัว ตลาดบางกะปิ
กำลังโหลดความคิดเห็น