ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ก่อนอื่นต้องบอกว่า "แผนกระชากค่าครองชีพ" ตั้งแต่รัฐบาล "ปู" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเข้ามาบริหารประเทศพร้อมทั้งประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งจากวันนั้นจนวันนี้ ค่าครองชีพก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น สูงขึ้น ไม่มีวี่แววว่าจะลดลงแต่อย่างใด
ทุกวันนี้ ประชาชนที่เลือกเธอเข้ามาบริหารประเทศ ต้องชอกช้ำระกำใจ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะนับวัน ข้าวของจะยิ่งแพงขึ้น จนเงิน 100 บาท กินข้าวได้แค่มื้อเดียว จะหวัง 2 มื้อ 3 มื้อ ไม่มีทางเป็นไปได้
จากการสำรวจสถานการณ์ภาวะราคาสินค้า ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ อย่าง "ไข่ไก่" ที่ถือเป็นโปรตีนที่ถูกที่สุด และปกติจะใช้วัดขีดความสามารถของรัฐบาล พบว่า สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนส.ค.2556 ราคาไข่ไก่เริ่มขยับขึ้นฟองละ 10-20 สตางค์
โดยไข่ไก่เบอร์ 3 ซึ่งเป็นไข่เบอร์ที่ร้านขายอาหารปรุงสำเร็จนิยมใช้ประกอบอาหารปรับขึ้นจากฟองละ 3.35-3.45 บาท มาอยู่ที่ฟองละ 3.55-3.65 บาท ส่วนไข่ไก่เบอร์อื่น ไข่ไก่เบอร์ 0 จากฟองละ 4.1-4.2 บาท มาอยู่ที่ฟองละ 4.3-4.4 บาท ไข่ไก่เบอร์ 1จากฟองละ 3.8-3.9 บาท มาอยู่ที่ฟองละ 4.1-4.3 ไข่ไก่เบอร์ 2 จากฟองละ 3.5-3.6 บาท มาอยู่ที่ฟองละ 3.7-3.8 บาท
จากนั้น พอเริ่มสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนส.ค.2556 ราคาไข่ไก่ได้ขยับขึ้นอีกฟองละ 5-10 สตางค์ โดยไข่ไก่เบอร์ 0 ปรับเพิ่มจาก 4.3-4.4 บาท/ฟอง เป็น 4.4-4.5 บาท/ฟอง ไข่ไก่เบอร์ 1 จาก 4-4.1 บาท/ฟอง เป็น 4.1-4.2 บาท/ฟอง ไข่ไก่เบอร์ 2 จาก 3.7-3.8 บาท/ฟอง เป็น 3.8-3.9 บาท/ฟอง ไข่ไก่เบอร์ 3 (เบอร์ยอดนิยม) จาก 3.55-3.65 บาท/ฟอง เป็น 3.65-3.75 บาท/ฟอง ไข่ไก่เบอร์ 4 จาก 3.2-3.3 บาท/ฟอง เป็น 3.4-3.5 บาท/ฟอง
ส่วนราคาไข่ไก่ในท้องตลาดทั่วไป ยังพบว่า ไข่ไก่เบอร์ 0 ซึ่งเป็นเบอร์ใหญ่สุด ราคาบางพื้นที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นฟองละ 5 บาทแล้ว จากเดิมฟองละ 4-4.5 บาท
นับเป็นวิกฤต ไข่ "ปู" ที่กลับมากระชากความรู้สึกคนไทยทั้งประเทศอีกครั้ง เพราะราคาไข่แพงที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนต้องมาเข้าคิวเพื่อซื้อไข่ไก่ธงฟ้าราคาถูกที่กระทรวงพาณิชย์นำมาขายในงาน “มหกรรมพาณิชย์ผลิตภัณฑ์เด่นทั่วไทย” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบวันเกิด 93 ปี ระหว่างวันที่ 19-21 ส.ค.2556 ที่ผ่านมา
ไม่เพียงแค่นั้น ราคาเนื้อหมู ซึ่งเป็นโปรตีนที่ประชาชนนิยมบริโภค ราคาก็ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 140-145 บาท สูงเกินกว่าราคาแนะนำที่กรมการค้าภายในกำหนดไม่เกินกก.ละ 140 บาท ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติให้ช่วยตรึงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม เพื่อไม่ให้ราคาหมูหน้าเขียงขยับขึ้นมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผล
ขณะที่ไก่สด ราคาทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่กก.ละ 70-75 บาท สูงขึ้นจากปีก่อนเฉลี่ย 15-20%
นอกจากนี้ ยังพบว่า สินค้ากลุ่มผักสดก็มีการปรับราคาขึ้นผิดปกติ โดยเฉพาะพริกขี้หนูจินดาจากสัปดาห์ก่อนราคา 30-40 บาท/กก. เป็น 90-100 บาท/กก. ผักคะน้า 20-22 บาท/กก. เพิ่มเป็น 28-30 บาท/กก. ผักกาดขาวปลี 25-28 บาท/กก. เป็น 32-35
บาท/กก. เป็นต้น
สำหรับวัตถุดิบในการผลิตอาหารอื่นๆ เช่น ซีอิ้ว มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า และราคาถั่วเหลืองที่สูงขึ้น รวมถึงน้ำตาลทรายบรรจุถุง 1 กิโลกรัม (กก.) ที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น เพราะต้นทุนค่าแรงงาน ค่าภาชนะบรรจุสูงขึ้น แม้ต้นทุนวัตถุดิบเท่าเดิม โดยล่าสุดได้ขอปรับขึ้นราคาแล้ว ส่วนน้ำปลาตราทิพรสได้มีการปรับขึ้นราคาไปแล้วจาก ขวดละ 25 บาทเป็น 27 บาท
อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรก มีสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารปรับราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันพืชปาล์ม จากขวดละ 42 บาท ลดลงเหลือ ขวดละ 38-40 บาท
จากวัตถุดิบในการผลิตอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อาหารสำเร็จรูป มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ระบุว่า มีแผนที่จะร่วมมือกับร้านอาหารในโครงการธงฟ้าลดราคาอาหารให้ต่ำลง หรือมีอาหารราคาถูก เมนูละ 10 บาท เช่น ข้าวไข่เจียว หรือข้าวราดกับข้าว 1 อย่าง เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แลกกับการที่กรมการค้าภายในจะช่วยโปรโมตร้านให้
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ล่าสุดร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 200 รายได้ตอบตกลงแล้ว มีทั้งยอมลดราคาอาหารที่จำหน่ายในร้านและมีเมนูราคาถูก 10 บาท ส่วนในต่างจังหวัดที่มีร้านอาหารธงฟ้าประมาณ 5,000 ร้านค้า กำลังให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจ คาดว่าจะทราบผลในเร็วๆ นี้ว่าจะมีกี่แห่งที่เข้าร่วม
นั่นเป็นมาตรการรับมืออาหารแพง ที่คาดว่าจะออกมาในเร็วๆ นี้ แต่ในทางปฏิบัติจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรือช่วยดึงราคาอาหารปรุงสำเร็จให้ลดลงมาได้จริงหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกัน
ทางด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครขอปรับขึ้นราคา แม้จะอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าไปจนถึงสิ้นปี 2556 ก็ตาม โดยล่าสุดมีนมสดพร้อมดื่ม ได้ยื่นขอปรับราคาเข้ามาแล้ว
หลังจากที่แนวโน้มราคาสินค้าจะขยับสูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหา และใช้สิ่งที่ถนัดมากที่สุด ก็คือ การสั่งตรึงราคา และใช้โครงการธงฟ้าขนสินค้าราคาถูกไปจำหน่าย และทำถึงขั้นข่มขู่ หากผู้ผลิตรายใดฉวยโอกาสขึ้นราคา ก็จะงัดมาตรการกฎหมายนำเข้ามาเป็นสินค้าควบคุม
ส่วนมาตรการดูแลอาหารสำเร็จรูป จะใช้มาตรการ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.กำกับดูแลต้นทุนวัตถุดิบไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นมาก ด้วยการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากผู้ผลิต 2.ขอความร่วมมือร้านอาหารในโมเดิร์นเทรด ศูนย์อาหารราชการ ตลาดสด ให้มีอาหารบางรายการจำหน่ายตามราคาแนะนำ และ 3.จำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงราคาถูกแก่ร้านอาหารธงฟ้า เพื่อสามารถตรึงราคา และลดราคาอาหาร
ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ ไอเดียจากอำมาตย์เต้น "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์" ที่ออกมาขายไอเดียข้าวถุงราคาถูก โดยจะเสนอให้รัฐบาลนำข้าวสารในสต๊อก 2 แสนตัน มาผลิตข้าวถุงราคาประหยัด 5 กก. ขายถุงละ 85-89 บาท เพื่อทดแทนข้าวถุงถูกใจราคา 70-75 บาท ที่ได้ยกเลิกไป โดยให้เหตุผลว่า ราคาข้าวถุงที่แพงขึ้น เพราะรัฐบาลได้ลดการอุดหนุนลง
และต้องการให้สะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริง เพื่อให้เอกชนแข่งขันได้
ทั้งนี้ ยังได้นำไข่ไก่ และเนื้อหมู ราคาถูกออกจำหน่ายตามค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.2556 เพื่อบรรเทาปัญหาราคาเนื้อหมูและไก่ไข่มีราคาแพงในช่วงนี้ รวมทั้งจะร่วมมือกับองค์การสะพานปลา ในการนำอาหารทะเลราคาถูกมาจำหน่ายตามสะพานปลาต่างๆ
เป็นการดิ้นรนเพื่อแก้วิกฤตค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อขนมกินได้เลย งานนี้ไม่หมูอย่างที่คิด!!!