“พาณิชย์” นัดถกผู้ประกอบการไข่ไก่คุมราคาหน้าฟาร์มไม่ให้สูงเกินฟองละ 3.30 บาทหลังราคาขยับขึ้นต่อเนื่องจนผู้บริโภคเดือดร้อน ยันขึ้นก๊าซหุงต้มกระทบต้นทุนอาหารจานด่วนแค่ 2-3 สตางค์จะอ้างขึ้นราคาไม่ได้ แต่ยังจับตาใกล้ชิดเพราะต้นทุนอื่นๆ พุ่ง
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ จะเชิญผู้ประกอบการไข่ไก่มาหารือเพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลไม่ให้ราคาไข่คละหน้าฟาร์มปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าฟองละ 3.30 บาท โดยจะหารือเพื่อจะประเมินสถานการณ์ว่าผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลมีแผนช่วยเหลือไม่ให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร เพื่อให้ผู้ค้าสามารถขายราคาไม่เกินฟองละ 3.30 บาทได้โดยไม่เดือดร้อน เพราะขณะนี้ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2 บาทกว่า และยังเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคไข่ไก่ในราคาที่แพงเกินไป
ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ราคาแพง กรมฯ ได้นำไข่ไก่ธงฟ้ามาจำหน่ายให้แก่ประชาชนในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เริ่มจำหน่ายแล้วตั้งแต่บัดนี้ ณ สำนักงานการค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ โดยราคาต่ำกว่าราคาขายปลีกของตลาดสดในพื้นที่ฟองละ 0.10-0.20 บาท และยังจำหน่ายเนื้อหมูต่ำกว่าราคาขายปลีกของตลาดสดในพื้นที่กิโลกรัม (กก.) ละ 10-20 บาท ซึ่งสามารถดูวันและสถานที่จำหน่ายได้ที่ www.dit.go.th
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน (แอลพีจี) กก.ละ 50 สตางค์ในวันที่ 1 ก.ย.นั้น ภาพรวมจะกระทบต่อราคาอาหารสำเร็จรูปเพียงจานละ 2-3 สตางค์เท่านั้น จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ค้าอาหารปรุงสำเร็จจะนำมาอ้างเพื่อปรับขึ้นราคา และกระทรวงพลังงานยังมีแผนช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อย โดยเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิซื้อก๊าซหุงต้มได้ในราคาเดิมไม่เกินเดือนละ 150 กก. ซึ่งกรมฯ สำนักงานการค้าภายในจังหวัดและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ประสานในการรวบรวมจำนวนผู้ค้ากลุ่มดังกล่าวส่งต่อไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว
สำหรับการผลิตข้าวสารบรรจุถุงออกจำหน่าย จะซื้อข้าวจากรัฐบาล 2 แสนตันเพื่อนำมาทำข้าวสารบรรจุถุงละ 5 กก. จำหน่ายในราคาเฉลี่ยถุงละ 85 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาข้าวถุงถูกใจถุงละ 70 บาทที่ได้ยกเลิกไปแล้วเพราะเป็นการเปิดซื้อข้าวล็อตใหม่จากรัฐบาล และเพื่อเพิ่มส่วนต่างกำไรให้ผู้ขายนำไปขายมากขึ้นเพื่อให้ข้าวสารดังกล่าวกระจายสู่ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ส่วนข้าวล็อตเดิม 2.5 ล้านตันสำหรับทำข้าวถุงถูกใจนั้นได้ใช้ไปแล้ว 1.5 ล้านตัน ที่เหลือส่งคืนคลังเพราะหมดกรอบเวลาที่ขอไว้คือ 6 เดือน แต่ช่องทางจำหน่ายข้าวถุงใหม่นี้ยังคงใช้ช่องทางเดิม คือ ร้านถูกใจ ร้านธงฟ้า และร้านโชว์สวย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์มีความกังวลแนวโน้มราคาอาหารสำเร็จรูปที่อาจปรับเพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าเช่าที่ ค้าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จึงเร่งกำหนดมาตรการดูแลราคาอาหารสำเร็จรูป โดยต้นน้ำ คุมไม่ให้ราคาวัตถุดิบ เช่น ไข่ไก่ เนื้อหมู ปรับสูงขึ้นจนเกินไป และรัฐจะผลิตข้าวถุงราคาถูกขายให้ร้านอาหารธงฟ้าเพื่อลดต้นทุน กลางน้ำ จะลดผลกระทบจากค่าก๊าซหุงต้มและอื่นๆ และปลายน้ำ จะดูแลกำไรผู้ประกอบการไม่ให้สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นจนผู้บริโภคเดือดร้อน เพราะจากการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนอาหารสำเร็จรูป พบว่าราคาจำหน่ายจานละ 30 บาทผู้ค้ายังมีกำไรประมาณ 7-8 บาท