xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาไทย ประชานิยมฉบับควายเซ็นเตอร์!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความพยายามในการจะปฏิรูประบบการศึกษาในประเทศไทยนั้นมีมาบ่อยครั้ง นับตั้งแต่ระบบการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของ Child center การยกเลิกไม้เรียว การเปลี่ยนแปลงข้อสอบหรือเกณฑ์การวัดผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย จากระบบเอ็นทรานต์สู่แอดมิชชั่น จนถึงข้อสอบ GAT - PAT

น่าแปลกที่ความพยายามซึ่งดูจะมีเจตนาดีเหล่านี้กลับให้ผลลัพธ์ที่กลับด้าน สะท้อนออกมาจากผลการเรียนโดยภาพรวมที่ตกต่ำลง หรือแม้แต่การจัดอันดับทางการศึกษาที่ประเทศไทยรั้งอยู่ 3 อันดับสุดท้ายจาก 40 ประเทศที่จัดอันดับ

ความพยายามหนล่าสุด เลิกตัดผมเกรียน ลดชั่วโมงเรียน ลดการบ้าน น่าเป็นห่วงว่า จะเกิดอะไรขึ้นจากการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้บ้าง?

มหากาพย์ปฏิรูประบบการศึกษา

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศคือระบบการศึกษา หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามจะปฏิรูประบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยความพยายามครั้งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ระบบการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือ Child center เมื่อราวปี 2542 ทำให้เกิดการเรียนด้วยการให้เด็กทำกิจกรรม รวมกลุ่ม โดยมุ่งเน้นให้เด็ก “คิดเป็น” มากขึ้น

ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปในทางที่แย่ลง ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า มาจากวัฒนธรรมการศึกษาของไทยและครูไทยที่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้ตรงตามหลักการอย่างแท้จริง
การศึกษาไทยมุ่งสู่วิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลการทดสอบการศึกษาระดับประเทศ (NT) ชี้ว่านักเรียนไทยส่วนใหญ่มีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐานในทุกรายวิชา

นอกจากนี้ การศึกษาขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economics C0-0peration and Development, OECD) ที่รู้กันในชื่อของPISA (Programme for International Students Assessment) พบว่านักเรียนไทยที่จัดได้ว่ามีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับสูงมีเพียง 1% เท่านั้น ทั้งยังเผยอีกว่า เด็กไทยร้อยละ 74 อ่านภาษาไทยไม่รู้เรื่อง มีตั้งแต่อ่านไม่ออก ตีความไม่ได้ วิเคราะห์ความหมายไม่ถูก

ปี 2555 โครงการประเมินผลการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับนานาชาติ หรือ พิซ่า (PISA) ของคีนัน องค์กรสาธารณประโยชน์ เผยว่าผลการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยอยู่อันดับที่ 49 จาก 65 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

ล่าสุดกับการจัดอันดับทางการศึกษาของ “เพียร์สัน” บริษัทด้านการศึกษาของสหรัฐ เผยว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 37 จาก 40 ประเทศ โดยอันดับ 1 และ 2 ได้แก่ประเทศฟินแลนด์ และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

อีกประเด็นของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัญหาคือการเปลี่ยนเกณฑ์วัดผล ซึ่งมีการพูดกันมาตลอดว่าเป็นปัญหา แต่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก เมื่อเน้นให้เด็กคิดเป็น จึงมีการออกข้อสอบแนวใช้การคิดกันมากขึ้น แต่การออกข้อสอบ O - net ที่มีโจทย์อย่าง ถ้ามีอารมณ์ทางเพศต้องทำอย่างไร และเฉลยว่า เตะบอล ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในความไม่แน่นอนของชุดความคิดและคำตอบ

ทั้งนี้ ยังไม่รวมการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่มีการออกนอกระบบมากขึ้น เปิดสาขา เปิดคณะ รับนักศึกษาทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ เรียกได้ว่า มุ่งเน้นในเชิงพาณิชย์ โชว์อุปกรณ์การเรียนที่ดูทันสมัย ทว่าปิดบังผลผลิตทางการศึกษา ที่เป็นนักศึกษาซึ่งคุณภาพตกต่ำลงจนกลายเป็นปัญหานักศึกษาว่างงานที่มีอัตราสูงถึง 1 ใน 3 บ่งชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยนั้นไม่ได้พมุ่งหวังที่ผลสำเร็จ หากแต่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

พัฒนาระบบการศึกษาหรือ...ประชนนิยมฉบับนักเรียน !

แม้จะมีข้อครหาต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมาย จากที่การปฏิรูปหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยเยียวยาปัญหาในระบบการศึกษาที่เกิดขึ้น ราวกับรากของปัญหาการศึกษาไทยนั้นหยั่งลึกเสียจนไม่มีใครรู้ว่าต้นตอของมันอยู่ที่ไหน

ประไพ อ่อนสลุง ครูวิทยฐานะพิเศษ โรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพป.) ในฐานะที่สอนอยู่ในห้องเรียน เจอกับคาบการเรียนการสอนในปัจจุบัน เผยว่า ชั่วโมงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบัน 7 คาบต่อวันนั้นเยอะเกินไปจริงๆ ทำให้เด็กไม่สามารถรับการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ก็เห็นด้วยนะคะ แต่ชั่วโมงเรียนที่ลดไป มันต้องนำไปใช้ให้ถูกต้องตามบริบทของโรงเรียนด้วย จะให้ทำกิจกรรม”

กับโรงเรียนของเธอนั้นเห็นว่า ชั่วโมงที่ลดลงควรมุ่งเน้นไปที่การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับบริบทการศึกษาในแต่ละพื้นที่ด้วย ในฐานะที่สอนอยู่ในโรงเรียนในต่างจังหวัดที่เด็กส่วนใหญ่จะออกไปประกอบอาชีพทันที จุดประสงค์ของการเรียนจึงมีความแตกต่างจากโรงเรียนที่มุ่งเน้นให้เด็กเรียนต่อให้ระดับมหาวิทยาลัย

“บางโรงเรียนที่เขาเน้นสอบแข่งขัน มันก็ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมว่า ควรให้เรียนครบ 7 คาบ เด็กรับได้ 7 คาบ”

ครูประไพยังเผยด้วยว่า เกณฐ์ในการวัดผลของพื้นที่การศึกษาแต่ละที่ก็แตกต่างกัน

“ในส่วนของการบ้านเนี่ย ในมุมของนักเรียนก็น่าเห็นใจเพราะบางทีการเรียนมีความทับซ้อนกันจริงๆ ในฐานะของครูการให้การบ้านที่บูรณาการการเรียนรู้หลายๆวิชาเข้าไปในการทำงานบ้านครั้งเดียว อย่างการเขียนบทความวิทยาศาสตร์ก็สามารถรวมเอาทั้งภาษาไทย และวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกันในการทำการบ้านครั้งเดียว”

ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญดูจะอยู่ที่การพัฒนาครู การเรียนการสอนที่เป็นไปตามบริบทของโรงเรียนนั้นๆมากขึ้น

ทว่าในมุมมองของผู้ปกครองนั้น คุณนัด (ขอสงวนชื่อ - นามสุล) ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา 2 เผยว่า เห็นด้วยกับการลดการบ้านนักเรียน แต่สาเหตุของปัญหานั้นเกิดจากการจัดเวลาที่นักเรียนไม่สามารถทำการบ้านได้ทัน เนื่องมาจากปัญหาคุณภาพการศึกษาในแต่ละโรงเรียนนั้นมีไม่เท่ากัน ทำให้นักเรียนต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่อาจไกลจากบ้านที่นักเรียนอยู่ เป็นผลให้นักเรียนไม่สามารถจัดสรรเวลาในการทำการบ้านได้อย่างครบถ้วน

“เห็นด้วยกับการลดการบ้านเพราะมันน่าจะทำให้นักเรียนผ่อนคลายลง แต่การแก้ไขปัญหาตรงนี้เหมือนเป็นการแก้ที่ปลายเหตุมากกว่า เพราะต้นเหตุของการทำการบ้านไม่ทัน ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองก็พบว่า นักเรียนเสียเวลากับการเดินทางกลับจากโรงเรียนนานมาก เพราะโรงเรียนอยู่ไกลบ้าน

“เรามองว่า น่าจะแก้ที่ภาพรวมซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้น ควรจัดการโครงสร้างการศึกษา อย่างน้อยให้โรงเรียนรัฐบาลมีมาตรฐานที่เท่ากัน ทำให้ไม่มีโรงเรียนดัง ถ้าทำแบบนั้นได้ เด็กจะเข้าโรงเรียนที่ใกล้บ้านได้ มันก็ไม่มีปัญหาการทำการบ้านไม่ทันเกิดขึ้น”

ในส่วนของชั่วโมงเรียนที่ลดลง สิ่งที่น่ากังวลคือในบริบทของสังคมไทย เธอมองว่า แม้จะเป็นความคิดที่ดูดี แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง

“ความคิดมันดูสวยหรู แต่ถ้าไม่เรียนเด็กจะไปไหน กิจกรรมอะไรที่เขาจะทำ เรากลัวตรงนี้ พอให้ไปทำกิจกรรม มันจะกลายเป็นปล่อยเด็กไปเฉยๆ หรือทัศนศึกษาแล้วไปปล่อยให้ที่ที่ไม่ได้ประโยชน์ เรากลัวว่าในทางปฏิบัติในประเทศไทยมันอาจจะไม่ได้ผล”

ทั้งนี้ คุณนัดเห็นว่า การออกมาพูดเรื่องทรงผมเป็นเรื่องผิวเผินเกินกว่าที่จะมีผลต่อการศึกษาของเด็กได้ สิ่งหนึ่งที่เล็งเห็นเมื่อต้องเผชิญอยู่กับปัญหาการศึกษาในฐานะผู้ปกครอง บอกได้เลยว่า สิ่งที่กัดกินระบบการศึกษาไทยในทางปฏิบัติอย่างรุนแรงคือสถาบันกวดวิชา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือการที่นักเรียนหลายคนไปเรียนกวดวิชาแบบแอดวานซ์ หรือเรียนก่อนที่จะเข้ามาเรียนในห้องเรียน ทำให้ในห้องเรียนเกิดความเลื่อมล้ำทางความรู้สูงขึ้น

“อยู่ม. 3 เรียนพิเศษของม.4 พอในชั่วโมงเรียนปกติ เด็กพวกนี้ก็จะตอบคำถามก่อน มันทำให้เด็กที่ไม่ได้เรียนพิเศษเจอปัญหา ผลคือทำให้เด็กต้องไปเรียนพิเศษตาม”

ขุมทรัพย์สถาบันกวดวิชา

นโยบายนี้ว่าไปแล้วก็เหมือนจะเป็นประชานิยมรุ่นเล็ก ให้แก่นักเรียนได้มีความสุขกันแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะตั้งแต่ยกเลิกระเบียบตัดผมสั้นเกรียนที่ดูเหมือนเรื่องภายนอก มาถึงการลดชั่วโมงเรียน และลดการบ้าน ก็เป็นรูปธรรมของประชานิยมในฉบับนักเรียนที่จับต้องได้มากที่สุด

แม้หนทางต่อไปของระบบการศึกษาจะยังมองไม่เห็นว่า จะพลิกโฉมไปในด้านไหน แต่ข้อบ่งชี้ที่เห็นได้ชัดจากระบบการศึกษาแบบไทยก็คือ สถาบันสอนพิเศษมีแนวโน้นที่จะเป็นผู้ฉกฉวยประโยชน์จากเวลาตรงนี้มากขึ้น

จากชั่วโมงเรียนที่น้อยลง เป็นไปได้สูงที่พ่อแม่นักเรียนไทยจะอัดฉีดการศึกษาเพื่อการแข่งขันของลูกโดยการส่งเข้าสถาบันกวดวิชาในชั่วโมงเรียนที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่จัดชั่วโมงเรียนพิเศษกันแบบทั้งเสาร์ - อาทิตย์ และหลังเลิกเรียน เรียกว่า แทบจะทุกเวลาว่างของเด็กไทยเลยก็ว่าได้

การทำตลาดของสถาบันกวดวิชา พร้อมทั้งระบบการเรียนแบบ on demand ที่ให้เด็กเรียนกับวิดีโอได้ ไม่แปลกหากจะทำให้หลายคนหวั่นใจว่า นโยบายครั้งนี้จะยิ่งส่งเสริมสถาบันกวดวิชาที่กำลังกัดกินการศึกษา และยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ท้ายที่สุดแล้วนโยบายนี้ก็ถือว่ามีประโยชน์ต่อหลายฝ่าย เป็นประชานิยมในแบบครบวงจรที่แจกจ่ายความสุข และผลประโยชน์ให้ทั้งครูผู้สอนที่สอนน้อยลง นักเรียนที่เรียนน้อยลง และสถาบันกวดวิชาที่ได้เงินมากขึ้น ทว่าผลเสียของการปฏิรูปครั้งนี้จะตกอยู่ที่ใคร?

แน่นอนว่า เราไม่มีทางรู้ได้ถึงอนาคตทางการศึกษาที่แปรเปลี่ยนไปอย่างไร? กับบริบทการเรียนรู้ในแบบไทยๆ สิ่งที่ชวนให้แปลกใจกับการพัฒนาระบบการศึกษาคือ ปัญหาที่ได้รับการพูดถึงมาโดยตลอดอย่างการสร้างครูที่ดีมีคุณภาพ พัฒนาอาชีพครูให้มีฐานะทางสังคมมากขึ้น พัฒนาหลักสูตรในแบบบูรณาการที่ต้องอาศัยครูที่มีความเข้าใจ และมีความรู้ในมุมกว้างกลับถูกนำมาพูดถึงเพียงผ่านๆ หรือการศึกษาที่เท่าเทียมกันในแต่ละโรงเรียน

การปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ใช่ของใหม่ หากแต่มีความพยายามมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง มาถึงคราวนี้ก็ได้แต่รอลุ้นกันว่า ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นจะไม่ใช่การพุ่งตรงลงเหวเหมือนอย่างทุกครั้งที่เป็นมา

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



กำลังโหลดความคิดเห็น