xs
xsm
sm
md
lg

“พงศ์เทพ” ชี้สั่งลดการบ้าน นร.ต้องดูช่วงชั้น ประถมไม่ต้องมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พงศ์เทพ” ระบุ สั่งลดการบ้านเด็กต้องดูความเหมาะสมแต่ละช่วงชั้น ชี้ ประถมอาจจะไม่จำเป็นต้องมี หรือมีน้อย ขณะที่ ม.ปลาย จำเป็นต้องมีมาก เพื่อช่วยพัฒนาเด็ก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ชี้แจงถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วางแนวทางในการปฏิรูปหลักสูตรที่ระยะเร่งด่วน กำหนดให้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จะต้องมีการบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอน และครูในแต่ละกลุ่มสาระวิชาต้องร่วมวางแผนการสอน และการให้การบ้านนักเรียนร่วมกัน เพื่อลดการสั่งการบ้านเด็กลง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เด็กเครียด และเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสค้นคว้าหาความรู้ และเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ว่า สืบเนื่องจาก นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ปรารภแต่วันแรกที่รับตำแหน่งว่าปัจจุบันเด็กไทยเรียนมาก แต่รู้น้อย และมีนโยบายที่จะปฏิรูปการเรียนการสอนทั้งระบบ ดังนั้น สพฐ.จึงได้นำมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่ชัดเจนว่าสาเหตุดังกล่าวเกิดจากอะไร เช่น เกิดจากเนื้อหาสาระในการเรียนมากเกิน ทำให้เวลาเรียนในชั้นเรียนเด็กต้องคร่ำเคร่งมาก หรือเมื่อเรียนในห้องเรียนแต่ละวิชาครูให้การบ้านมากเกินไป ภาระในการทดสอบวัดความรู้ เป็นต้น

เหล่านี้เป็นสมมติฐานที่ สพฐ.ตั้งขึ้นเพื่อหาคำตอบ และมองว่า ที่ผ่านมา ความหวังดีของผู้ใหญ่แต่อาจจะกลายเป็นภาระของเด็ก จึงมองกลับกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเด็กเรียนมากแต่รู้น้อย โดยได้ศึกษาเทียบเคียงการทดสอบ PISA ที่ประเมินเด็กทั่วโลกอายุ 15 ปีขึ้นใน 3 ด้าน คือ การอ่าน ภาษา และการคิดคำนวณ และวิทยาศาสตร์ เท่านั้น จึงนำมาเป็นหลักคิดและวางแนวทางบูรณาการจัดการเรียนการสอนแต่ละกลุ่มสาระวิชาอย่างเป็นรูปธรรม โดยก่อนเปิดเรียนครูแต่ละกลุ่มสาระวิชาจะต้องหารือและร่วมวางแผนการสอนร่วมกัน รวมถึงบูรณาการการสั่งการบ้าน และให้เวลาเด็กไปทำค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ตรงนี้จะช่วยให้ครูประเมินคุณภาพของเด็กคนนั้นได้ เพราะฉะนั้นจากเดิมเด็กเรียน 8 วิชาแล้วได้การบ้านทุกวิชาจนกลายเป็นว่ามีการบ้านมหาศาล สัดส่วนก็จะลดลงเหลือแค่ 4 ส่วนก็ได้เป็นต้น จึงได้มอบให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ไปจัดทำคู่มือการบูรณาการการเรียนการสอนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้ครู ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น” นายชินภัทร กล่าว

ด้าน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ต้องดูภาพรวมด้วย เนื่องจากเด็กแต่ละวัยมีความต่างกัน เพราะฉะนั้น การลดจำนวนการบ้านจะต้องแยกตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงชั้นด้วย เนื่องจากบางช่วงชั้นอย่างระดับประถมอาจจะไม่จำเป็นต้องมีการบ้าน หรือไม่ควรมีเยอะ ขณะที่บางช่วงชั้นอย่างระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำเป็นต้องมีการบ้านที่จะช่วยพัฒนาเด็กต่อ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันจะมาพูดรวมกันไม่ได้ ที่สำคัญ ต้องดูว่าการบ้านที่พูดถึงนั้น คือ การบ้านประเภทอะไร เช่น ให้เด็กอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 2 เล่ม แบบนี้จะเรียกว่าการบ้านหรือไม่เพราะไม่ได้ให้ทำทุกวันแต่กำหนดช่วงเวลา เป็นต้น

“การบ้านบางอย่างที่จะช่วยส่งเสริม หรือกระตุ้นเด็กไม่ทำให้เด็กเครียดก็เป็นส่วนดี แต่การบ้านบางอย่างที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องให้เด็กมากจนเกิน จึงต้องแยกแยะช่วงชั้นให้ดีเพราะบางช่วงเวลาก็จำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาเด็ก เราก็ต้องทุ่มเทเพื่อการเตรียมตัว อย่างเด็กประถมโดยเฉพาะประถมต้นไม่ควรมีการบ้านเยอะ เด็กมาเรียนต้องสนุก ต้องรู้จักกระตุ้นให้เด็กรักและสนใจการศึกษา หากทำให้เครียดเด็กจะหนีหมด ซึ่ง สพฐ.จะรู้เรื่องนี้ดีว่าควรจะต้องทำอะไร” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น