xs
xsm
sm
md
lg

“ครู” ฝากปรับหลักสูตรใหม่ “ศึกษา” ต้องไม่ลืม หนุนคุณธรรมจริยธรรม-เสริมหลักสูตรสากลรับอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในยุค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นั่งกุมบังเหียน ณ เวลานี้ กำลังเดินบนเส้นทางของการแก้ไขจุดอ่อนในปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อพบว่าผลจากการประเมินระดับนานาชาติในด้านการศึกษา ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ปรากฏว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับรั้งท้ายในหลายประเทศที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในอันดับต้นๆ ของโลกที่ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ นายพงศ์เทพ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อชำแหละหลักสูตรการศึกษาที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทั้งระบบ เพื่อให้มีความทันสมัย ขณะเดียวกัน ก็จะดูถึงการปรับวิธีการสอน โครงสร้างเวลาการเรียนที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียน และรวมถึงการส่งเสริมเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และประชาธิปไตย ขณะเดียวกันการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นจะเชื่อมโยงไปสู่การปฏิรูปครูด้วย

ในโอกาสนี้จึงได้สอบถามความเห็นจากผู้บริหารสถานศึกษาและครู ในฐานะผู้ปฏิบัติตามนโยบายว่าคิดเห็น และมีข้อเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาอย่างไรบ้าง?
นายบุญตา สัตย์ซื่อ
โดย นายบุญตา สัตย์ซื่อ ผู้อำนวยโรงเรียนโคกน้ำเกลี้ยงวิทยาคม จังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุว่า ต้องยอมรับว่า หลักสูตรการเรียนการสอนที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ ยังไม่เหมาะสม และสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน หรือความเป็นจริงในชีวิตของเด็กเท่าใดนัก การเรียนการสอนส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องวิชาการมากจนกลายเป็นการยัดเยียดให้เด็กเกินไป ส่งผลให้เด็กต้องเรียนหนักขึ้น แต่ขณะที่สมองคนเรานั้นมีขีดจำกัดในการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น หากจะมีการพิจารณาถึงการปรับช่วงเวลาเรียนของเด็กให้พอเหมาะในแต่ละวัน หรือต่อสัปดาห์นั้นตนในฐานะที่คลุกคลีกับเด็กมาตลอดก็เห็นด้วย เพียงแต่ว่าอยากให้ ศธ.เปิดโอกาสให้ผู้บริหารและครูได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น และได้ร่วมตัดสินใจด้วยว่าสิ่งที่จะปรับเปลี่ยนในอนาคตนั้นเหมาะสมแล้วกับเด็กหรือไม่

“อย่างการปรับเรื่องเวลาเรียนนั้นผมก็เห็นด้วยแต่ต้องขอดูด้วยว่าจะปรับไปแค่ไหน ส่วนตัวเห็นว่าการปรับเปลี่ยนที่จะทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดวิชาการมากเกินไปคือ มีช่วงเวลาที่เด็กได้พักสมองเพื่อปรับสภาพตัวก่อนจะเข้าสู่การเรียนวิชาต่างๆ ในชั่วโมงถัดไป ซึ่งถ้าเรามีเวลาให้เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ในการปรับตัวและเตรียมตัวพร้อมต่อการเรียนได้ดียิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ นายบุญตา เสนอด้วยว่า การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในครั้งนี้ อยากให้กระทรวงคำนึงถึงเรื่องการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้มากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญแรกๆ ที่ต้องทำ เพราะในปัจจุบันนี้สิ่งเหล่านี้ขาดหายไปมากเพราะเรามุ่งแต่วิชาการจนหลงลืมว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าว รวมถึงการสร้างจิตสำนึก ปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้และตระหนักในการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เพราะฉะนั้นขอให้มีการทำแผนเพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้เห็นเด่นชัดอย่าตัดออกไปเพราะเมื่อใดที่เยาวชนและคนในสังคมขาดเรื่องเหล่านี้ สังคมไทยจะน่าสงสารมาก
นางวันเพ็ญ สังข์สุวรรณ
ขณะที่ นางวันเพ็ญ สังข์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่า จริงอยู่ว่าในเวลานี้โรงเรียนส่วนใหญ่จัดการเรียนการสอน โดยมีหลักสูตรการศึกษาเป็นมาตรฐานในการกำหนดแนวทางให้ที่โรงเรียนต้องนำไปปฏิบัติให้เหมือนกัน แต่ส่วนตัวมองว่าขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่ปี ประเทศไทยก็จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น หาก ศธ.จะปรับปรุงหรือแก้ไขหลักสูตรการเรียนการสอน ก็อยากให้เสริมหลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนให้มากขึ้น โดยพัฒนาให้หลักสูตรการศึกษานั้นมีมาตรฐานและเป็นสากล ซึ่งหากทำสำเร็จก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาที่กว้างขึ้นทั้งต่อตัวนักเรียนของไทยที่จะนำความรู้ไปศึกษาต่อในประเทศสมาชิก หรือแม้แต่นักเรียนจากประเทศอื่นๆ ที่เคลื่อนย้ายมาเรียนในไทยก็จะได้รับประโยชน์ด้วย

“ที่ผ่านมานั้น การเรียนการสอนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ของเด็กไทยนั้น จะถูกกำกับด้วยมาตรฐานการเรียนรู้ เช่น วิชาภาษาไทย ระดับประถมก็จะมีมาตรฐานกำกับว่าเมื่ออยู่ประถมระดับใดต้องมีความรู้ในเรื่องใดบ้าง ซึ่งเหล่านี้ทำให้ครูผู้สอนต้องคอยกังวล และพะวงที่จะต้องพยายามสอนให้ได้ครบตามมาตรฐานกำหนด และนั่นก็ส่งผลกระทบไปสู่การจัดตารางการเรียนการสอนที่แน่นขึ้นและเร่งรัดการสอน ซึ่งอยากขอให้พิจารณาเรื่องการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละวิชาให้เหมาะสมด้วย”

ส่วนปัญหาเรื่องการคิดวิเคราะห์ที่มองว่าครูผู้สอนยังส่งเสริมน้อยในชั้นเรียนนั้น นางวันเพ็ญ ระบุว่า ในเรื่องนี้โรงเรียนและครูพยายามส่งเสริมอย่างมาก แต่ต้องคำนึงถึงช่วงวัยและระดับการศึกษาของเด็กด้วย เพราะบางครั้งเด็กในวัยที่เล็กเกินไปการที่เราพยายามวางเป้าให้เด็กต้องหัดคิดวิเคราะห์ได้ก็คงทำได้ยาก

ท้ายสุดเพียงหวังว่าเสียงสะท้อนทั้งปัญหา ความคิดเห็น รวมถึงจากพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ของชาติที่มีคุณค่าในคราวนี้จะดังไปถึงหูหรือผ่านผู้เป็นใหญ่ในระดับการบริหาร และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายคงไม่อาจละเลยที่จะเหลียวดูและหยิบไปติดมือไปเป็นข้อมูลเดินหน้าปฏิรูปหลักสูตรเพื่อวางระบบการศึกษาไทยยุคใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น