xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์สัญญะ ‘ส.ส.เพื่อไทยพบฮุนเซน’ นัยยะแฝงของสัมมาคารวะอันขลาดเขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัมมาคาราวะนั้นถือเป็นสิ่งที่ชาวไทยยึดมั่นปฏิบัติกันมาหลายยุคหลายสมัย สัญญะของการทำความเคารพที่ถูกที่ควรก็ล้วนมีแนวทางชัดเจนอยู่แล้ว ยิ่งเป็นการเข้าพบผู้นำระดับประเทศ หรืประมุขของประเทศ ก็ได้มีการบัญญัติหลักมารยาทสากลที่เป็นมาตรฐานในการวางตัวอยู่แล้ว

แต่ปลายสัปดาห์ก็มีเสียงวิจารณ์กันอย่างหนาหูผ่านโลกออนไลน์ กรณีคลิปวิดีโอฉาวจากสถานีโทรทัศน์แห่งชาติกัมพูชา(ทีวีกอ) ของ 'ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง' ในคณะส.ส.พรรคเพื่อไทย โผถลาตัวลงกับพื้นราวกิริยาก้มกราบ 'สมเด็จ ฮุน เซน' นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนตอนไปแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับรัฐบาลกัมพูชา ณ ตึกวิมานสันติภาพ สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ก็ดูท่าว่าคงจะเป็นการแสดงความเคารพที่แสดงออกถึงความนอบน้อมมากเกินไปเสียหน่อย และน่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยที่คนระดับผู้แทนราษฎรชาวไทยจะทำแสดงสัมมาคาราวะอย่างขลาดเขลาออกมา

นัยยะของการทำความเคารพ
แล้วพฤติกรรมแบบไหน จึงถือว่าแสดงออกถึงการวางตัวในการเข้าพบผู้นำประเทศอย่างเหมาะสม อย่างแรกเลยก็คงต้องคำนึงถึงหลักสากล เพราะพฤติกรรมการแสดงความเคารพของแต่ละประเทศก็ดูจะต่างกันไป การเข้าพบผู้นำระดับประเทศหรือประมุขของประเทศตามหลักสากล นั้น มีแบบแผนที่ยอมรับถือปฏิบัติกันเป็นองค์รวมอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงถึงมารยาท แสดงอัธยาศัยไมตรี รวมถึงสะท้อนภาพลักษณ์อันดีงามของประเทศ และว่ากันว่าเป็นการแสดงออกถึงไมตรีระหว่างประเทศผู้เจริญแล้ว

รศ.ดร.ไพฑูรย์ ดัสเซ่ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพิธีการทูต อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงรูปแบบการทำความเคารพผู้นำประเทศในแบบสากล

“ปกติการเข้าพบผู้นำก็ต้องมีพิธีการ ก็คือโค้งคำนับ ถ้าเกิดผู้นำในประเทศนั้นๆ รู้จัก หรือให้ความสนใจบุคคลที่เข้าพบ เขาก็จะยื่นมือมาให้เชกแฮนด์เอง ส่วนการไหว้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนตะวันออกอยู่แล้ว อย่างเขมร ลาว ไทย เราก็ใช้การคำนับ-การไหว้อยู่แล้ว”

อนึ่ง พฤติกรรมการแสดงความเคารพโดยการคุกเข่าพนมมือกราบของ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนนั้น รศ.ดร.ไพฑูรย์ ก็ถือว่าเกินหลักมารยาทโดยสากลและไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

ผิดประเพณี โบราณต้องตัดคอ!
หากย้อนกลับไปในสมัยก่อนพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้จะได้รับการลงโทษอย่างอุกฉกรรจ์เลยทีเดียว ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ทางการทูตของยุคโบราณนั้น พิธีการต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดมิได้ เพราะถ้าผิดประเพณีเมื่อไหร่หมายถึงชีวิต

“ในสมัยอยุธยา แม้เขมรจะมีฐานะเป็นประเทศราชของเรา แต่กระนั้นการที่ใครจะไปเขมร ก็จะต้องไปในนามพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น มีกฎมณเฑียรบาลบอกไว้ชัดเลยว่า ถ้าขุนนางไปกระทำการกับเจ้าเมืองฝ่ายอื่นจนทำให้เสื่อมเสียไปถึงพระเกียรติยศ ถ้ากลับมาก็จะต้องโดน ‘ฟันคอริบเรือน’ คือเขาไม่ใช่เจ้านายเรา เขาไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินของเรา แต่เรากลับไปทำการนอบน้อมเกินกว่าเหตุ และถ้าจะดูตามประเพณีโบราณมันก็ผิดอยู่แล้ว มันส่อให้เห็นว่าเป็นการไปคุยกันในเรื่องลับ ซึ่งจะก่อความเสียหายกับประเทศชาติหรือไม่เราก็ไม่ทราบและมันจะส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อรัฐบาล”

เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงกรณี ส.ส.ไทยบางกลุ่มเดินทางไปพบกับผู้นำเขมรแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งตามครรลองแล้วตัวแทนของประเทศใดประเทศหนึ่งจะเข้าพบผู้นำของอีกประเทศ จะต้องเป็นไปด้วยวัตถุประสงค์ทางการทูตและต้องมีการแจ้งวาระในการพูดคุยกันล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ของประเทศเอง

ในประเด็นนี้ ถ้าหากเปรียบเทียบกับในสมัยโบราณ ก็คล้ายกับการที่เมืองใดเมืองหนึ่งที่อ่อนแอกว่าและตกเป็นเมืองขึ้นของอีกเมือง ได้ทำการเดินทางไป ‘รายงานตัว’ กับประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่าเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้น แต่ในยุคปัจจุบันเขมรก็ไม่ได้มีฐานะเหนือกว่าประเทศไทยแต่อย่างใด จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดนักการเมืองไทยกลุ่มหนึ่งจึงทำตัวเสมือนหนึ่งว่าเขมรนั้นมีอำนาจเหนือกว่า ซึ่ง เทพมนตรี ให้ความเห็นเอาไว้ว่า

“คือมันมีอำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือคนพวกนี้ไง มันเป็นอำนาจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งพวกนี้เห็นว่ามันสำคัญกว่าอำนาจในหน้าที่ คือเขาหวังประโยชน์จากฮุนเซนและหวังประโยชน์จากคนที่คบกับฮุนเซนซึ่งเป็นนายของตน

“เห็นได้ชัดว่า พฤติการณ์ในการทำความเคารพ หรือการเดินทางไปพบนี่มันบอกอยู่แล้วว่ามันไม่สมกับศักดิ์ศรีของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อ้างว่ามาจากประชาชน สส.พวกนี้ทำตัวเป็นข้าสองนาย เหมือนกับว่าเขารับใช้ฮุนเซนไปด้วยๆ ทั้งๆ ที่ยังอยู่ใต้ปรมาภิไธยของในหลวง”

ปะทุกระแสวิพากษ์อันเชี่ยวกราก
แน่นอนว่า พฤติกรรมการน้อมคาราวะที่เกินความเหมาะสมของหนึ่งในสมาชิก ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เดินทางไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับผู้นำเขมร ก็ได้ถูกตีความไปต่างๆ นานา อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.กฤษณา ไวสำรวจ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แสดงทัศนะโดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย-กัมพูชานั้น สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพฤติกรรมของบุคคลเพียงคนเดียวก็ไม่ควรนำมาผูกให้เป็นประเด็นระหว่างประเทศให้เกิดความวุ่นวาย

“ในเรื่องของตีความ จะตีความให้เข้าข้างฝั่งไหนก็ได้ทั้งนั้น เหตุการณ์นี้รวมๆ แล้วถึงจะมีการแสดงความสยบยอมอยู่ แต่ก็เป็นเพียงภาพเล็กเท่านั้น จึงคิดว่าไม่ส่งผลต่อภาพกว้างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใดๆ”

อย่างกรณีพิพาทที่ยังเป็นปัญหาระหว่างสองประเทศ ก็เชื่อว่าประชาคมโลกก็ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกัน และควรเจรจาหาทางออกที่เหมาะสม รศ.ดร.กฤษณา กล่าวทิ้งท้ายว่าในมุมของรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศนั้นมุ่งเน้นให้ทุกประเทศอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูล

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของของภาคประชาชนอย่าง เยาวดี สายพันธ์ ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ย่านอำเภอเมืองอุบลราชธานี ก็ได้แสดงความรู้สึกไม่พอใจ เธอเปิดเผยว่ารู้สึกระคายใจสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า เหตุใดผู้แทนไทยจึงต้องทำความเคารพผู้นำประเทศกัมพูชาในลักษณะนั้น

“ยอมรับว่าวัฒนธรรมบ้านเราการกราบไหว้เป็นสิ่งที่ดีงาม แต่หากเป็นเราจะก้มกราบไหว้ใครสักคนหนึ่งในลักษณะที่นอบน้อมอย่างนี้ ต้องเป็นคนที่เราเคารพรักมากๆ แต่นี่ฮุนเซนเป็นเพียงผู้นำประเทศ และเป็นประเทศที่มีข้อพิพาทกับเราเรื่องเขตแดนอยู่ด้วย ถ้าผู้แทนประเทศพินอบพิเทาเขาขนาดนี้ ก็เป็นสิ่งที่แสดงออกอยู่แล้วว่า ไม่ใช่ว่าทิศทางของการเจรจาจะดีขึ้น แต่เป็นเพราะทั้งผู้นำประเทศเขมรและผู้แทนไทยมีผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เป็นการกระทำอย่างนั้นมันเหมือนไม่รักประเทศตัวเองเลย เห็นแล้วก็น่าใจหาย ทำไมผู้แทนไทยทำตัวแบบนี้”

เช่นเดียวกัน วิไลวรรณ บุญขจร ก็เป็นชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่ไม่สามารถรับพฤติกรรมดังกล่าวได้ พร้อมเปิดใจว่าการกระทำของบุคคลนั้นเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ

“รับไม่ได้จริงๆ ฮุนเซนไม่ใช่หรือที่เป็นคนสั่งให้มารบกับเรา ไปเจริญสัมพันธ์ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่มันชื่นมื่นกันเหลือเกิน แตะบอลแตะอะไรกัน บ้านเราปัญหายังแยะเยอะ น้ำท่วมไปทั่วประเทศแต่ผู้แทนไปทำอะไรกันอยู่ บ้านเราสิ่งเคารพบูชากราบดีๆ มากมายแต่คนกลุ่มนี้ไม่สนใจ การทำแบบนี้ใครๆ ก็รู้ว่าต้องมีผลประโยชน์ด้วยกันหลายอยู่แล้ว”
..........

อย่างไรก็ดี การแสดงออกซึ่งความเคารพในสถานการณ์ต่างๆ ก็คงต้องวางตัวให้เหมาะให้ควรให้สมศักดิ์ศรีที่เกิดเป็นมนุษย์ และคงต้องพึ่งระลึกถึงกาลเทศะเป็นสำคัญ การแสดงออกถึงสัมมาคาราวะนั้นไม่เพียงจะสะท้อนความมีมารยาท แต่ยังสะท้อนสติปัญญาของผู้ปฏิบัติด้วย
>>>>>>>>>>

………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น