xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ ‘ดอกส้มสีทอง’ ระอุ ร้อน-ร้าย-แรง ถึงมาตรฐานจัดเรต-เซ็นเซอร์แบบไทยๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


...ถ้าฟ้าเสียตัว ฟ้าต้องได้เป็นแอร์
...ที่แท้แกก็หาทางมีเมียน้อยอย่างชอบธรรม
...ถ้าพ่อเพิ่มให้ฟ้าเดือนละหมื่นแล้วรักฟ้าน้อยลง ฟ้าไม่เอา!!
...ชั้นให้บริการเฉพาะผู้โดยสารชั้นหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นชั้นแต่งตัวยังไงชั้นก็สวยย่ะ...
...ลูกสาวคุณสวยนะคะ ระวังอย่าให้ไปเป็นเมียน้อยใคร เดี๋ยวจะโดนต่อราคาเหมือนที่พ่อเค้าต่อราคาชั้นอยู่
...แต่งตัวก็ครึ่ง ๆ กลาง ๆ บางอย่างก็แบรนด์ บางอย่างก็แพลตตินั่ม

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประโยคน้ำจิ้มเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏอยู่ในละครเรื่องอื้อฉาวแห่งปี อย่าง ‘ดอกส้มสีทอง’ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 3 ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนักว่าจะกลายเป็น ‘ดอกพิษ’ ซะมากกว่า เอาง่ายๆ ดูแค่ข้อความข้างบนอย่างเดียว ถึงไม่ได้ดูละครก็คงคิดเองได้ว่า ฉบับเต็มนั้นคงซาบซ่าแสบทรวงขนาดไหน

แต่เรื่องทั้งหมดคงจะไม่เกิดปัญหาขึ้นมา หากไม่มีพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มาจากละครเรื่องนี้ดันมาฉายหลังข่าว หรือตั้งแต่เวลา 2 ทุ่มครึ่งซึ่งเป็นเวลาที่เด็กๆ จำนวนมากยังตาค้างอยู่หน้าจอทีวี เพราะไม่ต้องรีบเข้านอนเนื่องจากยังปิดเทอมอยู่ แถมละครยังได้รับการจัดระดับ น.13+ หรือเรียกว่าเหมาะสมตั้งแต่เด็กอายุ 13 ปีไปขึ้นอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่เนื้อในนั้นปรากฏทั้งฉากแย่งผัวแย่งเมีย มีเพศสัมพันธ์กันแบบจะๆ (แม้ไม่ได้ทำจริงก็ตาม) ด่าแม่ด่าพ่อ แถมท้ายด้วยประโยคกัดแบบเจ็บๆ ชนิดไม่รู้ว่าหาข้อมูลมาจากไหน

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามถึงคุณภาพของละครไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะยังเป็นสิ่งที่ปลอดภัยต่อคุณภาพชีวิตอีกหรือไม่ และที่สำคัญมาตรฐานของระดับจัดเรตที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมยกย่องว่าดีนักดีหนานั้น สุดท้ายก็ไร้ประโยชน์หรือไม่

[1]

เอาเป็นว่า ก่อนที่จะเข้าเรื่องหนักๆ สิ่งแรกที่ควรจะต้องรู้ก่อน ก็คือ กระบวนการควบคุมมาตรฐานการออกอากาศในประเทศไทยนั่นเป็นอย่างใด ซึ่งในเรื่องนี้ก็ว่า หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) กันมาแล้วบ้าง เพราะหน่วยงานนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2518 และมีหน้าที่สำคัญในการเป็นมือตัดทั้งภาพ ทั้งคำ หรือทั้งรายการที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมต่อคนไทย

แต่ด้วยการทำงานที่หลายคนบอกว่าไม่เข้าใจสื่อ เพราะเป็นข้าราชการจนเกินไป แถมบางครั้งก็ยังกลายเป็นช่องทางของผู้มีอำนาจในรัฐบาลยื่นมือไปแทรกแซงการทำงาน หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ที่สื่อโทรทัศน์อยู่ในช่วงวิกฤตสุดๆ รัฐบาลในสมัยนั้นจึงตัดสินใจยกเลิก และยกหน้าที่นี้ให้สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ไปพิจารณากันเองว่า จะตัดภาพตรงโน้นหรือจะดูดเสียงตรงนั้นก็ตามใจ

ซึ่งที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่าแต่ละสถานีจะมีกระบวนการดูแลไม่เหมือนกัน อย่างคำอธิบายของ นิพนธ์ ผิวเณร ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัทเอ็กแซ็กท์ จำกัด ซึ่งมีเวลาละครอยู่หลายช่อง ได้ยกตัวอย่างวิธีการควบคุมของแต่ละช่องให้ฟังว่า อย่างละครหลังข่าวของช่อง 5 ซึ่งแอ็กแซ็กท์ถือเป็นผู้ผลิตเจ้าเดียวนั้น ทางบริษัทจะเป็นผู้ดูแลทั้งเรื่องรูปแบบรายการ การหาโฆษณา เพราะบริษัทเป็นผู้เช่าช่วงเวลาในการออกอากาศ ดังนั้นหากเกิดความผิดพลาดอย่างไร บริษัทก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง

ขณะที่ช่อง 3 และช่อง 7 นั้นถือว่าแตกต่างออกไป เพราะทางสถานีไม่ได้ให้บริษัทต่างๆ เข้าไปเช่าเวลา แต่มีลักษณะการทำงานแบบผู้จัด พูดง่ายๆ คือสถานีให้เงินผู้จัดไปผลิตรายการมานำเสนอ โดยทางช่องจะเป็นผู้ควบคุมการผลิต ทั้งเนื้อหา รวมไปถึงการพิจารณาของเรตด้วยว่าควรจะจัดอยูในระดับใด

“สำหรับช่อง 5 เราเป็นเจ้าของเวลาเอง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเสนอช่องว่าผ่านไหม โดยหลักๆ เขาก็จะดูผลประกอบการและตัวรายการว่าดีไหม ถ้าไม่ดีเขาก็ไม่เอา ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องรักษามาตรฐานของเรา และหากลุ่มคนดูที่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นรับจ้างผลิตอย่างช่อง 3 ช่อง 7 ก็ต้องนำเสนอเขาก่อน เพราะเขาเป็นคนให้เงิน เป็นคนหาโฆษณาให้ ซึ่งเขาจะต้องดูว่าเรื่องไหนมันเหมาะกับตลาด ขายได้ไหม หน้าหนังที่จะขายคืออะไร มันต้องชัดเจนแต่แรกก่อน เขาถึงจะให้ทำ ส่วนเรื่องเรตเขาก็จะให้คนทำนำเสนอมาก่อน โดยเขาก็จะมีเซ็นเซอร์ของช่องเป็นคนนั่งดู และเป็นคนกำหนดอีกที”

[2]

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วอย่างนี้มาตรฐานของการที่รายการหนึ่งจะออกสู่หน้าจอนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้ และแม้ภายหลังจะมีการกำหนดตัวช่วยเพิ่มเติมอย่างเรต หรือระดับความเหมาะสมของผู้ชมเพิ่มเติม ก็ยังไม่มีความชัดเจนอยู่ดี

ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า นี่คือช่องสุญญากาศ เพราะปัจจุบันนี้ไม่มีคนเข้ามาทำหน้าที่วางกฎระเบียบให้ชัดเจนว่าอะไรควรเป็นอะไร โดยเฉพาะเรื่องเรตติ้ง ซึ่งนับว่ามีปัญหาสูงมาก เพราะแม้จะเกิดมาจากเจตนารมณ์ที่ดี แต่ก็ไม่ได้วางแผนในเรื่องแนวทางปฏิบัติชัดเจนมากนักว่า ฉากแบบนี้ถือว่าเป็นความรุนแรงและเหมาะที่เยาวชนควรจะรับชมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นกันมากมาย ไม่เฉพาะแต่ละครเรื่อง ‘ดอกส้มสีทอง’ เท่านั้น เพราะบางเรื่องก็มีฆ่ากันตาย ฉากที่มีการยิงกันทั้งเรื่อง ข่มขืน พ่อแม่ทำร้ายลูก พูดจาหยาบคาย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างก็ถือเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน แต่ในขณะเดียวกันละครเหล่านี้ ก็ถูกจัดอยู่ในเรต น.13+ หรือละครหลังข่าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ก็มีโอกาสรับชมกันทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้หนึ่งที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ก็คือบุคคลที่ทำหน้าที่ให้เรตนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเข้าทำนองอยากจะทำอะไรก็ทำไม่ได้มีตัวชี้วัด หรือตัวเปรียบเทียบ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างช่องชัดเจน โดยตัวอย่างที่ถือว่าเห็นชัดมากๆ ก็คือ ฉากที่มีเหล้าและบาร์ ซึ่งนิพนธ์บอกว่า แต่ละช่องนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“บางช่องกินเหล้าได้ บางช่องเห็นไม่ได้เลย บางช่องเห็นแก้วได้ บางช่องถือได้ บางช่องเห็นกินเลยได้ ซึ่งตรงนี้ว่ามันขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของบุคคลจริงๆ ซึ่งผมว่าก็มองว่ามันทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน อย่างทำไมบางช่องเซ็นเซอร์ทุกอย่างอะไรที่เป็นปืนเป็นเหล้า แต่อีกช่องเซ็นเซอร์น้อย หรือไม่มีเลย ซึ่งมันก็ส่งต่อมายังมาตรฐานการทำเรตติ้ง”

นอกจากนี้ อีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ ก็คือ ตัวสถานีโทรทัศน์เอง ที่ดูเหมือนจะมุ่งแข่งขันระหว่างช่องที่ดุเดือดมากเกินไป จนลืมความรับผิดชอบต่อสังคมไป โดยเฉพาะช่อง 3 กับช่อง 7 ซึ่งให้ความสำคัญต่อละครสูงมากทั้งในแง่ผู้ชมและรายได้

เพราะต้องยอมรับกันก่อนว่า การจัดผังละครให้มาอยู่ช่วงหลังข่าวทุกวันนี้ นอกจากจะเป็นความเคยชินแล้ว เม็ดเงินที่ได้จากค่าโฆษณาก็ถือว่าสูงถึงร้อยล้านกว่าบาท ดังนั้นแต่ละช่องจึงต้องงัดกลยุทธ์ทุกอย่างที่มี เพื่อผลิตรายการให้ตรงใจบรรดาผู้ชมมากที่สุด แต่ก็อย่างที่ทราบว่า สาเหตุของการที่คนดูละครมาก หลักๆ ก็เพื่อคลายเครียด เพราะฉะนั้นยิ่งละครเรื่องไหนที่ฉากความรุนแรง ทะเลาะตบตีกันมาก ก็ยิ่งครองใจของผู้คนมาก เพราะเหมือนเป็นที่ระบายอารมณ์ ความเก็บกดที่สั่งสมอยู่ภายในนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมละครสีขาวถึงมีจำกัด หรือมีออกมาก็ไม่วายต้องปนด้วยฉากความรุนแรง เพราะถึงอย่างไรแล้วคำกล่าวที่ว่า ‘ทำละครดีแล้วไม่มีคนดู’ ก็ยังเป็นจริงเสมอ

[3]

เมื่อเหตุผลด้านความนิยมและมาตรฐานที่แตกต่างถูกนำมาอ้างด้วย เรื่องต่อมาที่ต้องขบคิดกันต่อก็เห็นจะไม่พ้น การแก้ปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้ว่าควรจะออกมาอย่างไร

ซึ่งแน่นอนว่า การจะทำให้เด็ดขาดไปเลยนั้น นิพนธ์ก็บอกว่าคงยาก เพราะเรื่องนี้มันสั่งสมมานมนานมากแล้ว แต่สิ่งที่น่าจะทำได้ง่ายและชัดเจนที่สุด ก็คือ การกำหนดมาตรฐานให้มีความชัดเจน ว่าฉากแบบไหนที่มีได้ ซึ่งตรงนี้จะทำเพียงช่องใดช่องหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องทำไปทั้งระบบ โดย ผศ.ดร.พรทิพย์ มองว่างานนี้ คงรอให้คณะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คลอดออกมาให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การกำหนดเรื่องช่วงอายุของผู้ชมก็ถือว่าสำคัญ โดยทั้งคู่เห็นตรงกันว่า จำเป็นจะต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ เช่น ละครหลังข่าว ก็ควรจะอยู่ในระดับที่ไม่เกิน น.13+ ขณะที่ระดับ น.18+ ก็ควรจะถูกผลักไปในช่วงเวลาหลัง 4 ทุ่ม ซึ่งถือเป็นเวลาที่เด็กๆ เข้านอนกันแล้ว

“หลายกรณีเห็นชัดมากว่า เวลามีผล อย่างบางเรื่องก็มีผลร้ายมาก เช่น ‘เป็นต่อ’ ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ชายเพลย์บอย กินเหล้า พฤติกรรมลวนลามผู้หญิง เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ แต่พอไปอยู่ 5 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาของผู้ใหญ่ ปัญหามันจบเลย” ผศ.ดร.พรทิพย์กล่าว

แต่ทั้งหมดนี้คงไม่สำคัญเท่ากับมาตรฐานและคุณภาพของผู้ชมนั้นเป็นเช่นใด เพราะต้องยอมรับว่า ถึงแม้ก่อนเริ่มรายการจะมีคำเตือนว่า เด็กๆ ควรจะอยู่ภายใต้คำแนะนำของผู้ปกครอง แต่เอาจริงแล้วโอกาสที่จะมีผู้ปกครองที่ดูไปแล้วให้คำแนะนำลูกไป ถือว่าน้อยมาก

“กรณีของ ‘ดอกส้มสีทอง’ ต้องยอมรับว่า คนดูระดับ 18 ปีขึ้นไป เขาเข้าใจผิดชอบชั่วดี และเขาก็ยังต้องการดูละครที่คนเล่นดี น่าตื่นเต้น น่าติดตาม แต่ปัญหาคือคนไทยตอนนี้ยืนอยู่คนละจุด เพราะฉะนั้นการที่ผู้ปกครองร้องเรียนมาว่า เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบ ก็ต้องถามต่อไปว่าระบบครอบครัวกำลังอ่อนแอหรือไม่มีวินัยหรือเปล่า จึงโยนความผิดมาที่สื่อ

“โดยส่วนตัวแล้วมองว่าที่ผ่านมา ผู้ปกครองไม่ได้นั่งดูเป็นเพื่อนลูกเพื่อจะแนะนำ ก็ปล่อยให้ลูกดู ทั้งๆ ที่เขาบอกว่า อาจจะมีฉากบางตอนที่เนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งหากคุณนั่งดูไปด้วยก็จะสามารถชี้แนะได้เลยว่า ฉากนี้ไม่ควรเอาอย่าง อบรมได้เลย เพราะต้องยอมรับว่า การที่คุณจะถามเด็กดูละครมันเป็นเรื่องยาก เพราะตอนนี้ละครก็ไปดูย้อนหลังตอนกลางวันทางอินเทอร์เน็ตก็ได้ ดังนั้นครอบครัวจึงสำคัญที่สุด หากครอบครัวแข็งแรง ก็จะไม่เกิดปัญหา” ผศ.ดร.พรทิพย์สรุปปิดท้าย
……….

หากจะว่าไปแล้ว เรื่องการจัดเรตหรือเซ็นเซอร์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ถอดด้าม แต่ปัญหาที่มีการพูดมาตลอดเวลาที่ละครเรื่องใดเรื่องที่มีเนื้อหาล่อแหลมผุดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์เรื่อง ‘สงครามนางฟ้า’ หรือ ‘เมียหลวง’ แต่พอละครจบ ทุกอย่างก็เงียบ ซึ่งแน่นอน ปรากฏการณ์ของเรื่อง ‘ดอกส้มสีทอง’ ที่ถูกโหมกระแสอย่างหนัก ในตอนนี้ ท้ายที่สุดก็คงจะมีจุดจบไม่ต่างจากละครรุ่นพี่เท่าใดนัก

เพราะฉะนั้นเอาเข้าจริง จุดสำคัญของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นความจริงใจของผู้เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการทางฆสังคมว่าจะมีความตั้งใจจริงแค่ไหน หรือจะทำแค่เพียงโผล่หน้าออกมาเฉพาะเวลาเกิดปัญหา แล้วก็ซุ่มเงียบกลับถ้ำเหมือนเดิม เหมือนที่เคยทำมาตลอด
>>>>>>>>>>
………
ภาพ : ทีมข่าว CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น