xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายครอบครัวเข้าขอบคุณ “นิพิฏฐ์” หลังดันมาตรการจัดเรตละครใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อยื่นหนังสือขอบคุณแก่รมว.วธ.
เครือข่ายครอบครัวยื่นหนังสือขอบคุณ “นิพิฏฐ์” หลังผลักดันนโยบายจัดระบบความเหมาะสม “ละครดอกส้มสีทอง” พร้อมเสนอ 3 เรื่องเพิ่มเติม เพื่อเร่งจัดเรตให้ตรงกับเนื้อหาละคร-ช่วงเวลา พร้อมตั้งกองทุนสนับสนุนสื่อสร้างสรรค์  ด้าน “นิพิฏฐ์” ยันไม่มีใบสั่งทางการเมือง ชี้เป็นการเปลี่ยนแปลงและสร้างตัวอย่างที่ดี

 
วันนี้ (9 พ.ค.) ที่ กระทรวงวัฒนธรรม เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เข้ายื่นหนังสือขอขอบคุณ และสนับสนุนแนวทางการดำเนินนโยบายจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ แก่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ที่สืบเนื่องจากกรณีการออกอากาศ ละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง ซึ่งมีการนำเสนอเนื้อหาความรุนแรงทางเพศ ภาษา และพฤติกรรม ของตัวละคร  โดยใช้สัญลักษณ์เรตติ้ง ละคร เป็นเรต น 13+ ซึ่งจากความไม่เหมาะสมของการนำเสนอละครดังกล่าว เป็นเหตุให้มีพ่อแม่ผู้ปกครอง เกิดความกังวล และเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่ชมละครเรื่องดังกล่าว เกรงว่าจะเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมในวงกว้าง 
 

นางอัญญาอร  พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า  จากการที่นายนิพิฏฐ์ ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบด้านลบของสื่อโทรทัศน์ ที่มีต่อเด็กและเยาวชน โดยได้มีแนวทางให้ละครโทรทัศน์ซึ่งปรากฏสัญลักษณ์ ระดับ น 18+ ควรออกอากาศตั้งแต่ เวลา 22.30 น.เป็นต้นไป  และ ฉ 20 ออกอากาศ หลัง 00.00 น.ทางเครือข่ายครอบครัว ขอชื่นชม ที่ รมว.วธ.ยอมเปลืองตัวลงมาเล่นเรื่องนี้เอง เพื่อเห็นประโยชน์แก่เด็กและเยาวชน ภายใต้เงื่อนไขของผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยทางเครือข่ายฯ ขอสนับสนุนแนวทางดังกล่าว
 

นางอัญญาอร กล่าวต่ออีกว่า ทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอเพื่อร่วมขับเคลื่อนแนวทางสร้างสรรค์สื่อที่ดี ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลดำเนินการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ในด้านการจัดสรรช่วงเวลาให้เหมาะสมกับสัญลักษณ์การจัดระดับที่ถูกต้องอย่างเร่งด่วน 2.ขอให้รัฐบาลจัดทำแผนและดำเนินการให้ความรู้เรื่องการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ พร้อมแนวทางในการแนะนำประกอบการรับรู้สื่อตามสัญลักษณ์แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และ  3.ขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายในการจัดหากองทุนและบริหารกองทุนในการผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ออกสู่สังคม  นอกจากนี้ทางเครือข่ายยังมอบคู่มือเกี่ยวกับการให้ความรู้แก่ครอบครัวเรื่องเรตติ้งแก่วธ.เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่แก่ประชาชนต่อไปพร้อมกันนี้ ทางเครือข่ายได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ให้แก่ นางองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสื่อ และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) และ รักษาการ กสทช. ด้วย เพื่อขอให้สนับสนุนแนวทางดังกล่าวด้วย
 

ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าข้อเสนอของทางเครือข่ายครอบครัวเป็นข้อเสนอที่ตรงกับนโยบาย วธ.และเชื่อว่า ตรงกับความรู้สึกของคนทั้งประเทศด้วย เพียงแต่ว่าการจัดการกับข้อเสนอนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมา มีคำถามว่าการลงมาเล่นประเด็นทางสังคมของ วธ.  ทั้งเรื่อง การปราบปรามคลิปสาวโชว์หน้าอกในเทศกาลสงกรานต์ แม่ชีทศพร รวมถึงเรื่องดอกส้มสีทอง เป็นการหาเสียงให้กับการเมือง หรือเป็นการกลบกระแสทางการเมืองหรือไม่ และยังมีกระแสว่า มีใบสั่งให้ยุติการเคลื่อนไหว  ตนยืนยันว่าไม่ได้มีใบสั่งแต่อย่างใด  และคิดว่า ถ้าสิ่งที่เราทำไป เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราอาจจะเสียคะแนนหลายหมื่นคะแนนก็ได้   แต่ที่ทำไปก็เพื่อปกป้องเด็กและสาธารณะ หากพรรคการเมืองกลัวคะแนนหายไปจากการกระทำสิ่งที่ควรกระทำ ก็ไม่ควรเป็นพรรคการเมือง เพราะสิ่งนี้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม  เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำต่อไปให้เข้มข้น การกระทำที่ผ่านมาตนไม่ได้คิดถึงคะแนนเสียง เพราะถ้าคิดถึงแต่คะแนนเสียงแล้วไม่ออกมาทำในสิ่งที่ถูกที่ควร ประเทศนี้ก็โง่ไปตลอด คนก็จะโง่ไปตลอด 
 

รมว.วธ.กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประเด็น เรื่องเวลาการออกอากาศรายการโทรทัศน์ เรต น 18+ และ ฉ 20   นั้น ตนยังยืนยันที่จะเดินหน้าผลักดันต่อไปให้ถึงที่สุด จนได้รับชัยชนะ  ถึงแม้ว่าจะยุบสภาไปแล้วก็ตาม และคิดว่า จนถึงขณะนี้ทางกบว. ช่องจะต้องมีการควบคุมเนื้อหาละคร และให้เรตติ้ง ให้ตรงกับช่วงเวลาการออกอากาศ โดยยึดจากคู่มือที่ของกรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหลักอย่างเคร่งครัด โดย เรต น 18+ ไม่ให้มีการฉายในช่วงเวลา 20.30 น.แต่จะต้องเปลี่ยนมาฉายในช่วง 22.30 น.ส่วน ฉ 20 น.ก็จะต้องมาฉาย หลัง 00.00 น.ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะสร้างละครก็ต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับเรตติ้งที่ได้รับด้วย และคิดว่า ต่อไป  กบว.แต่ละช่อง ควรจะพิจารณาแนวทาง และข้อเสนอของ วธ.   เพื่อเป็นการจัดระเบียบสังคม

 
นายนิพิฏฐ์ กล่าวด้วยว่า ตนคิดว่า ละคร เรื่องดอกส้มสีทอง ถือเป็นตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะมีการจัดเรตติ้งใหม่  ตัดฉากที่ไม่เหมาะสมออกไป
รวมทั้ง มีการขึ้นข้อความอธิบายในฉากที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการดำเนินการเคลื่อนไหวของ วธ.ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง  แต่ในอนาคต หากมีรายการโทรทัศน์ หรือ ละครลักษณะเช่นนี้ออกมาอีก ก็ต้องพิจารณาบทเรียนจากละคร เรื่องดอกส้มสีทองเป็นตัวอย่าง  เพราะเมื่อมีการผลิตละคร ที่มีความผิดพลาดแบบเรื่องดอกส้มสีทองอีก  วธ.ก็จะต้องออกมาเคลื่อนไหวอีก รวมทั้งจะใช้มาตรการทางสังคม โดยการออกไปกดดันผู้สนับสนุนหลักของละครอีกด้วย เพราะถือว่าคุณให้การสนับสนุนละครที่ไม่เหมาะสมเป็นการทำร้ายสังคม และยังจะกดดันไม่ให้ประชาชนซื้อสินค้าของบริษัทผู้สนับสนุนอีกด้วย
 
 
“ส่วนการที่สถานีโทรทัศน์ช่องที่นำเสนอละคร ดอกส้มสีทอง  ได้มีการสร้างกระแสความดังให้กับละครอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ วธ.ทำว่าไม่ถูกต้องนั้น เรื่องนี้ ผมไม่ใส่ใจ และไม่มีปัญหา เพราะตนหน้าหนาตาช้าง  แต่เราต้องถามว่า เราต้องการสังคมแบบนั้นหรือ ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหน ที่จัดเรตติ้งแล้ว เด็กนั่งดูโทรทัศน์หลังข่าวกับผู้ใหญ่ได้ ยกเว้นประเทศไทย  แต่ถ้าเราต้องการสังคมแบบนี้ ก็ไม่ว่าอะไร เพราะผมเป็นเพียงประชาชน 1 ใน 60 ล้านคนเท่านั้น ถ้าคนไทยอยากได้สังคมที่ดี เราก็ต้องตื่นขึ้นมาช่วยกัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องเรตติ้งไม่มีกฎหมายรองรับ ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หรือ เป็นเจ้าภาพ อย่าง กสทช.ก็ยังไม่เกิด การแก้ปัญหาเท่าที่ทำได้จึงอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนเท่านั้น เพราะการจัดเรตติ้งละคร ไม่มีกฎหมายอาผิด จึงไม่เหมือน ภาพยนตร์ที่มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์รองรับ สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ทันที” รมว.วธ.กล่าว 
กำลังโหลดความคิดเห็น