xs
xsm
sm
md
lg

“ครูหยุย” เสนอรัฐตั้ง กบว.คุณภาพ หนุนธุรกิจทีวีจัดเรตให้เนื้อหาตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

“ครูหยุย" เสนอรัฐตั้ง กบว.คุณภาพ หนุนธุรกิจทีวีจัดเรตให้เนื้อหาตรงกับช่วงเวลา ด้าน “นักวิชาการมหิดล” แนะ รบ.ส่งเสริมคนไทยเข้าใจระบบ “เรต” พร้อมคุ้มครอง “เด็ก” ขณะที่ “เครือข่ายครอบครัว” เตรียมยื่นหนังสือถึง “นิพิฏฐ์” 9 พ.ค.นี้

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และอดีต ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงภาคประชาสังคม ออกมาขับเคลื่อนทบทวนการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ใหม่ โดยเฉพาะให้ รายการโทรทัศน์ที่จัดอยู่ในเรต น.18+ ออกอากาศหลังเวลา 22.00 น. และ เรต ฉ.20 ออกอากาศหลังเวลาเที่ยงคืน ว่า การกำหนดช่วงเวลาของเรตติ้งเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเพื่อหลีกเลี่ยงการชมรายการที่มีเนื้อหารุนแรง ไม่เหมาะสม รวมถึงรายการที่มีฉากที่เด็กยังไม่ควรรับชม ขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชน กลับได้ประโยชน์ในการชมรายการที่มีเนื้อหาสาระสร้างสรรค์ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อน เวลา 22.00 น.อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเรื่องนี้ ถือว่าภาครัฐต้องเหนื่อยพอสมควร เพราะต้องแข่งขันกับเรื่องธุรกิจ และผลประโยชน์มหาศาล และเป็นเรื่องที่ทางสถานีโทรทัศน์ ไม่ค่อยยินยอม และก็จะทำให้หาข้อสรุปไม่ได้

นายวัลลภ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ระบบการจัดเรตติ้งหยุดนิ่ง ในเรื่องการจำกัดช่วงเวลา จนเกิดรายการโทรทัศน์ที่ไม่สร้างสรรค์มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษที่ตัวภาครัฐ ที่ไม่ดูแลและจัดสรรคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ให้การตรวจสอบรายการโทรทัศน์มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน กบว.ก็มีสลับเปลี่ยนหน้ากันตลอด จึงเป็นเหตุทำให้การตรวจสอบหยุดนิ่ง ขาดการเอาใจใส่ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ส่งผลให้รายการโทรทัศน์บางช่องมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การแก้ไข ภาครัฐจะต้องหาผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถไปทำหน้าที่เป็น กบว.ที่สำคัญ ไม่ควรเปลี่ยนหน้าบ่อย รวมถึงขอเสนอให้จัดตั้งจุดรับเรื่องร้องเรียนการแพร่ภาพออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับเรตติ้งที่กำหนดด้วย ควบคู่ไปกับกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน

“ทั้งนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนเรตติ้งจริง การนำเสนอละครคงไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก และละครยังสามารถฉายต่อไปได้ แต่ขอให้ทุกฝ่ายอยู่ในกฎกติกาที่กำหนด อย่าคิดถึงแต่กำไรเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น ละครที่มีเนื้อหาโชว์เนื้อโชว์หนัง ก็ฉายหลัง 23.00 น.ขึ้นไป ก็ไม่มีใครมาว่าได้ ถ้าคุณอยู่ในกฎกติกา ขณะเดียวกัน ตนคิดว่า ทางสถานีโทรทัศน์เอง ก็น่าจะมีสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว หากมีตรงนี้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ที่จะปรับเปลี่ยนการจัดเรตติ้ง โดยมีเงื่อนไขเวลา และเนื้อหาการนำเสนอ” เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าว

นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ นักวิจัยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ ในปัจจุบันว่า ว่า จากที่ตนทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2550 พบว่า การจัดเรตติ้งของไทยเป็นการสร้างแรงจูงใจส่งเสริมให้มีรายการดีๆ มากขึ้น แต่ยังคงที่ไม่มีการพัฒนา เป็นเพียงการแปะสัญลักษณ์ บางรายการยังจัดเรตติ้งไม่ตรงกับสัญลักษณ์ที่ตั้งไว้ รวมทั้งปัญหาคือการสื่อสารให้คนเข้าใจยังไม่ชัดมาก เป็นเพียงเครื่องมือให้พ่อแม่เลือกรายการให้ลูก แต่ระบบนี้ยังไม่เคยถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งในต่างประเทศ การจัดเรตติ้งกว่าจะคงที่ลงตัว ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี แต่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มเมื่อปี 2550 อย่างไรก็ตาม เรตติ้งควรมาพร้อมกับเวลา และไปพร้อมกันกับการคุ้มครองเด็ก โดยภาครัฐคงไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ห้ามฉาย แต่ต้องส่งเสริมให้มีการจัดกำลังดูแลของเครือข่ายวิชาชีพ ระว่างภาควิชาการ ภาคนโยบายและภาคประชาชนอย่างเข้มข้น และถ้า กสทช.เกิดขึ้นมา ก็จะทำหน้าที่กำหนดช่วงเวลาการออกอากาศได้ แต่ก็ขึ้นอยู่ว่า กสทช.จะเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

“ระบบเรตติ้งต้องอาศัยกลไกลอื่นเข้ามาช่วยมากว่าการใช้สัญญาลักษณ์ เช่น ทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ที่ผ่านมามีน้อยมาก ความถูกต้องจริงใจในการจัดเรตติ้งก็มีน้อย ทั้งนี้ เกณฑ์ระดับความเหมาะสมควรมีเพศ ภาษา ความรุนแรง อย่างละครเรื่องดอกส้มสีทอง ประเด็นหลัก คือ เรื่องเพศ ที่ไม่ได้เป็นไปตามทำนองครองธรรม ถือว่าเป็นระดับกลางไม่ใช่ระดับน้อย เรื่องความรุนแรงคอนข้างเยอะ ดังนั้นการกำหนดเรตกลุ่ม “น.18” ก็จะมีความระวังมากขึ้น”นายอิทธิพล กล่าว

ด้าน นางอัญญาอร พาณิชพึ่งรัช หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) เวลา 11.00 น.ตนพร้อมทั้งเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อจะเดินทางไปกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนแนวทางของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัตริ รมว.วัฒนธรรม ที่จะให้ละครโทรทัศน์ซึ่งปรากฏสัญลักษณ์ระดับ “น.18+” ควรออกอากาศตั้งแต่ 22.30 น.นอกจากนั้น จะทำหนังสือสนับสนุนแนวทางดังกล่าวไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน ในส่วน กทช.นั้น ทางเครือข่ายก็จะทำหนังสือเพื่อขอให้ดำเนินการและตรวจสอบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์อย่างเร่งด่วน ในการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ทั้งในด้านการจัดระดับสัญลักษณ์ที่ถูกต้องตรงตามหลักเกณฑ์และการจัดสรรช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคสื่อในสังคม

กำลังโหลดความคิดเห็น