หากไม่มีเหตุคลาดเคลื่อน วันที่ 8 ตุลาคม 2552 นี้ ในพื้นที่ที่ ‘คนข้างนอก’ มองว่า คือดินแดนที่คล้ายจะไกลแสนไกลจากคำว่า ‘ความสงบ’ จักบังเกิดช่องว่างเล็กๆ ของการตีความทางกฎหมาย ในกระบวนการยุติธรรมที่มักถูกมองจากชาวบ้านว่ายากจะเข้าถึง
ช่องว่างที่ว่านั้น กำเนิดขึ้น เพื่อรอวันถ่างกว้าง สำหรับรองรับการเรียกร้องความเป็นธรรมของชนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ให้เข้าถึง ‘สิทธิ’ ของความเป็นมนุษย์อย่างทัดเทียม
แม้คนผู้นั้น คือ ภารโรงชาวมุสลิมของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ที่ ‘ครอบครัว’ ของเขา เฝ้ารอคอยความยุติธรรมมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
................
การหายไปของสามี
“ตอนบังยังอยู่ บังเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว บังรักลูกและรักก๊ะห์มาก ทุกๆ วันหยุด บังจะพาก๊ะห์กับลูกไปเที่ยว ลูกอยากได้อะไร อยากกินอะไร ก๊ะห์อยากได้อะไรเขาก็ซื้อให้ แล้วเขาก็จะสอนลูกเสมอ ว่าให้ลูกเป็นเด็กดี อย่าไปติดยา อย่าเที่ยวเกเร ให้ตั้งใจเรียนหนังสือ พอบังไม่อยู่แล้วก๊ะห์ก็ลำบาก กรีดยางได้เงินวันละ 50 บาท ไม่รู้จะมีเงินส่งลูกเรียนอย่างที่บังเขาหวังไว้ไหม”
ซูมาอีเด๊าะ มะรานอ ภรรยาของ มะยาเต็ง มะรานอ เล่าเรื่องราวชีวิตของเธอให้เราฟัง ขณะนั่งรอศาลขึ้นเบิกความบนบัลลังก์ เพื่อฟังคำร้องที่เธอขอให้สามี เป็นบุคคลสาบสูญ เพื่อรับการเงินเยียวยาจากรัฐ ซึ่งหากไม่มีเหตุผิดพลาดคลาดเคลื่อน การสูญหายของ ‘มะยาเต็ง มะรานอ’ ภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จะได้รับการไต่สวนจากศาลจังหวัดยะลา ในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ว่า
นับแต่คืนวันที่ 24 มิถุนายน 2550 ที่มะยาเต็งถูกกองกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐประมาณ 50 นาย ปิดล้อมบ้าน ภายใต้แผนพิชิตบันนังสตา ก่อนถูก ‘เชิญตัว’ไป และไม่ได้กลับมาอีกเลยนั้น ศาลจะมีคำสั่งให้เขาเป็นบุคคลสาบสูญหรือไม่
จริงอยู่ การหายไปอย่างไร้ร่องรอยของมะยาเต็ง ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมานั้น แม้ยากจะทำใจ แต่คนในครอบครัวก็เชื่อว่า มะยาเต็ง คงไม่มีชีวิตอยู่เพื่อกลับมาพบหน้ากันได้อีกแล้ว แต่จะเรียกร้องเอาผิดกับใคร หรือต่อสู้เพื่อนำตัวคนที่จับมะยาเต็งไป มาลงโทษทางกระบวนการตามกฎหมายนั้น ก๊ะห์บอกกับเราว่าเธอไม่มีเรี่ยวแรง เธอเป็นเพียงแค่คนตัวเล็กๆ เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง
“ก๊ะห์ขอแค่มีเงินส่งลูกเรียน มีเงินพอใช้ เพราะทุกวันนี้ลำบากมาก ก๊ะห์คนเดียว ต้องกรีดยางหาเงินเลี้ยงลูก หนี้สินก็เยอะ”
แน่นอนว่าความรัก ความอาวรณ์ที่เธอมีต่อสามีนั้นเกินบรรยาย แต่ทุกวันนี้ เธอมีหน้าที่เพียงใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไป ซึ่งการจะใช้ชีวิตต่อไปได้ ก็จำเป็นต้องมีเงินเลี้ยงชีพ และที่สำคัญ เพื่อให้รุสลัน ลูกชายคนโตวัย 14 ปี ได้เรียนสูงๆ อย่างที่พ่อบังเกิดเกล้าหวังไว้ ก๊ะห์ จึงไม่หยุดเรียกร้อง เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘สิทธิ’ ที่เธอพึงได้รับจากรัฐ
เป็นการเบี่ยงเข็มทิศ มาเรียกร้องสิทธิ์ทางแพ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เธอพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อตามหาตัวมะยาเต็ง ไม่ว่า เดินทางไปสอบถามที่ค่ายอิงคยุทธ, สอบถามข้อมูลจากค่ายสิรินธร, แจ้งความที่สถานีตำรวจ, ไปตามหาที่หน่วยเฉพาะกิจ ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนบันนังสตา อินทรฉัตร, ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ศอบต. , เข้าพบนายอำเภอ, หรือแม้แต่ร้องเรียน ขอความช่วยเหลือจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา รวมถึงการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวมะยาเต็ง ก่อนจะถูกศาลยกฟ้องเนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่าปล่อยตัวไปแล้ว
เหล่านี้ ก๊ะห์ซูมาอีเด๊าะ ทำมาแล้วทั้งสิ้น
แต่มะยาเต็ง ก็ไม่กลับมาอีกเลย
สั่ง ‘สาบสูญ’ อีกช่องทางเยียวยา
“การยื่นขอให้ศาลไต่สวน ว่ามะยาเต็งเป็นบุคคลสาบสูญ เป็นขั้นตอนหนึ่ง เพื่อทำให้สถานะของ มะยาเต็งชัดเจน ว่าเขายังเป็นบุคคลอยู่ไหม ซึ่งเมื่อสถานะของเขาชัดเจนขึ้น มันก็นำไปสู่สิทธิในการเรียกร้องขอรับเงินค่าเสียหาย จากกรมคุ้มครองสิทธิ์ หรือ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา เพราะเขาเคยตอบมาเมื่อตอนที่ก๊ะห์ไปยื่นขอเงินเยียวยาว่า สถานะไม่ชัดเจน เขาก็ให้ไม่ได้ ทางจังหวัดเอง ก่อนหน้านั้น ก็บอกว่า เมื่อเจ้าหน้าที่คืนตัวไปแล้ว ถูกปล่อยตัวแล้วก็ไม่มีมาตรการเยียวยา แล้วเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนในการนำตัวไป ก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
"เพราะฉะนั้น ถ้าสถานะของมะยาเต็งชัดเจนขึ้น เราก็สามารถนำสิทธิ์ของเขาไปใช้ได้ในการเรียกร้องสิทธิ์อื่นๆ"
ธนู เอกโชติ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน และเป็นทนายความผู้รับผิดชอบคดีมะยาเต็ง อธิบายรายละเอียด ถึงเงื่อนไขการรับเงินเยียวยา หากสถานะของมะยาเต็งชัดเจนขึ้น ก่อนบอกเล่าถึงรูปคดีโดยคร่าว
“กรณีคนหายมีอยู่ 2 แบบ คือ หายปรกติ หมายถึง ออกจากบ้านแล้วก็หายไปเลย กับหายแบบไม่ปรกติ คือ หมายความว่า หายเพราะภัยพิบัติ เช่น อาจจะเกิดฝนตก ฟ้าร้อง พายุพัด แผ่นดินไหว และสงคราม เหล่านี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปรกติ ซึ่งในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่า อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปรกติ
"แล้วตัวมะยาเต็ง เท่าที่มีการไต่สวนข้อเท็จจริงกันในชั้นศาล มีการรับกันทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายปกครอง คือ นายอำเภอ บันนังสตา บอกว่า เกิดจากทหารเอาตัวมะยาเต็งไป ตามการปฏิบัติหน้าที่ของแผนพิชิตบันนังสตา แล้วเขาก็ต้องอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่
"ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น เมื่อเจ้าหน้าที่คาดว่ามะยาเต็งมีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องส่งเขาไปตามกระบวนการ คือส่งเขาไปในค่ายอิงคยุทธ แต่ถ้าไม่ส่งเข้าไปในค่าย ก็ต้องปล่อยตัวไป แต่ในการปล่อยตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติจริงๆ ก็จะต้องมีผู้นำหมู่บ้าน กำนัน หรือผู้นำศาสนามารับตัวมะยาเต็งไป และการรับหรือปล่อยตัว ก็จะต้องปล่อยไปก่อนพระอาทิตย์ตกดิน
"แต่กรณีของมะยาเต็ง ทหารเขาอ้างว่า ผมขอย้ำนะ ว่า ทหารเขา ‘อ้างว่า’ มีการปล่อยตัวมะยาเต็งไปในเวลา 19.00 น. ซึ่งพื้นที่อำเภอบันนังสตา เป็นพื้นที่สีแดง แล้วปล่อยตัวไปในเวลานั้น? ขณะเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่ทหารเองก็อ้างว่ามีหลักฐานการปล่อยตัว แต่ไม่ได้มีการนำหลักฐานนั้นมาแสดงต่อหน้าลูกเมียเขา ไม่ได้มีการนำหลักฐานมาแสดงตอหน้าศาล มีเพียงคำพูดลอยๆ ว่า ‘มี’ แต่ไม่ยอมเอามาแสดง นั่นคือสิ่งที่คาใจสำหรับชาวบ้าน”
ส่วน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งร่วมผลักดันให้คดีมะยาเต็ง เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แสดงความเห็นว่า
“ถ้ากรณีเป็นข้าราชการเสียชีวิต รัฐก็จะต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งในกรณีมะยาเต็งไม่มีการยืนยันว่าเสียชีวิต แต่คำสั่งของศาลให้เป็นบุคคลสาบสูญจะส่งผลต่อคดีทางแพ่งว่า เขาเสียชีวิตแล้วในทางแพ่ง ซึ่งข้าราชการที่เสียชีวิตในสถานการณ์ความไม่สงบ ก็จะได้รับเงินชดเชย 500,000 บาท นอกจากนั้น มะยาเต็งซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ ก็จะได้รับเงินค่าฌาปนกิจ และมีส่วนในการจัดการหนี้สินให้เป็นธรรมมากขึ้น”
บรรทัดฐานจากคนตัวเล็ก
ก่อนคดีของมะยาเต็ง จะดำเนินมาถึงขั้นยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เป็นบุคคลสาบสูญ เพื่อรับสิทธิ์การเยียวยาจากรัฐ ทีมทนายความผู้รับผิดชอบคดี ได้มีการพยายามตีความทางข้อกฎหมาย เพื่อหวังว่าจะก่อให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ทางกระบวนการยุติธรรม ทั้งเพื่อใช้เปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ ที่บุคคลถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
แม้จะเป็นเรื่องยากยิ่ง และการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ภารโรงผู้นี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็นับว่าเป็นคดีคนหายคดีแรกในสถานการณ์ความไม่สงบของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาไกลถึงขั้นที่ว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ว่า บุคคลที่นำตัวไป มีหลักฐานที่ยืนยันได้หรือไม่ ว่ามีการปล่อยตัวแล้ว
การขับเคลื่อนเรียกร้องด้วยกระบวนการยุติธรรมในคดีมะยาเต็ง ชวนให้นึกถึงการสูญหายของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร และก่อให้เกิดคำถามว่า เหตุใด? คดีของ มะยาเต็ง คนธรรมดาที่ไม่มีต้นทุนทางสังคม จึงมาไกลเหลือเกินในกระบวนการยุติธรรม
แล้วสองคดีอันน่าสนใจนี้ มีข้อแตกต่าง หรือจุดเชื่อมโยงอย่างไรบ้าง ในการเรียกร้องความเป็นธรรม อันเนื่องมาจาก ล้วนเป็น ‘ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย’ เช่นเดียวกัน
เหล่านี้ คือ คำอธิบายจากพรเพ็ง ต่อข้อสงสัยดังกล่าว
“กรณีของทนายสมชาย เป็นคดีที่คนในสังคมให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีบริหารในระดับนโยบาย จึงทำให้ มีแรงเสียดทานมากกว่า บุคคลธรรมดา นั่นอาจจะเป็นประเด็นหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว เราก็ออกแรงเท่าๆ กัน เพียงแต่การทำงานในคดีทนายสมชาย ต้องใช้ศักยภาพเยอะมาก เพราะว่าสิ่งที่เราต่อสู้ด้วย จะเรียกว่า เป็นกระบวนการมืออาชีพก็ว่าได้ เรียกได้ว่าเหนือชั้นกว่านักสิทธิมนุษยชนที่จะก้าวไปถึง เช่น วิธีการเข้าถึงสำนวน หรือรวมถึงวิธีการที่จะทำให้หลักฐานหายไป เหล่านี้มันก็ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน ยุ่งยาก
“ขณะที่คดีมะยาเต็ง พูดกันอย่างตรงไปตรงมา มันก็เข้าใจได้ไม่ยาก คือ เรายืนยันว่ามะยาเต็งเข้าไป เขาก็ยืนยันว่าปล่อยตัวออกมาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราต้องการจะตั้งคำถามว่า กลไกกฎหมายส่วนอื่นๆ จะช่วยนำความจริงมาให้ปรากฏได้ไหม แล้วถ้าความจริงไม่ปรากฏ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาตามกฎหมายหรือเปล่า?”
ส่วน ปรีดา ทองชุมนุม ทนายความและเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่สังเกตุการณ์คดีของคดีทนายสมชาย ทั้งติดตามคดีมะยาเต็งมาโดยตลอด ขยายความเพิ่มเติมว่า
“กรณีคดีทนายสมชายเป็นการตั้งข้อหาดำเนินคดี ในเรื่องที่ว่าด้วย สิทธิ เสรีภาพ การลักทรัพย์ หน่วงเหนี่ยวกักขัง ขณะที่กรณีของมะยาเต็ง เป็นเรื่องของการไต่สวนเพื่อให้นำตัวกลับคืนมา เป็นคดีคนหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คดีแรกในเมืองไทยที่มีการไต่สวนเพื่อขอให้ผู้นำตัวไป นำตัวมะยาเต็งกลับคืนมา”
ปรีดา อธิบายว่า คดีของมะยาเต็ง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ และยากในการตัดสิน เพราะสำหรับคดีคนหายนั้น ศาลเองก็ยังไม่รู้ว่าจะพิจารณาแนวไหน ซึ่งในคดีมะยาเต็ง มีการนำประเด็นแนวคิดใหม่ๆ มาใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครเคยนำไปเริ่มต้นใช้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากและซับซ้อน แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย ซึ่งวิธีหนึ่งที่นำมาใช้คือ การเทียบเคียงกับคดีที่คล้ายคลึงกันในต่างประเทศ ดังที่ปรีดาเล่าว่า
“เราพยายามศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศด้วย ว่ามีความเห็น มีคำตัดสินในคดีคนหายอย่างไร เพื่อที่จะนำแนวทางเหล่านี้ มานำเสนอต่อศาล โดยคดีมะยาเต็ง เรานำคำพิพากษาของศาลอินเดีย มาเสนอต่อศาลด้วย เป็นเหตุการณ์ในอินเดียที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1971 ซึ่งไม่ต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เพราะเป็นปีที่นายกรัฐมานตรีอินเดีย ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉิน มีการใช้กฎอัยการศึกทั้งประเทศ มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแบบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเหตุการณ์ความรุนแรง มีการให้ข่าวว่าคนนั้น คนนี้ไปเกี่ยวข้อง ก็มีการจับตัวไปก่อนโดยใช้กฎอัยการศึก แล้วก็เอาตัวไปควบคุมในสถานที่ที่บอกไม่ได้ว่าเป็นที่ไหน”
แล้วนำมาเชื่อมโยงกับคดีมะยาเต็งอย่างไร? ทนายสาว อธิบายว่า
“เรามองในเรื่องของหลักกฎหมาย โดยกฎหมายที่เขาใช้ บ้านเราก็มี ซึ่งก็คือ มาตรา 90 ในประมวลกฎหมายอาญา ว่า กรณีที่มีการควบคุมตัวโดยมิชอบ ศาลต้องมีคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ว่า พิสูจน์ได้ไหม ว่าคุณเอาตัวเขาไปจริง และถ้าปล่อยตัวแล้ว มีหลักฐานที่ยืนยันได้หรือไม่ ว่ามีการปล่อยตัวแล้ว
“ซึ่งที่ผ่านมาเราก็จะใช้วิธีการทำงานแบบเดียวกับที่มีการทำคดีในอินเดีย คือ จะต้องให้ฝ่ายที่รับผิดชอบในการเอาตัวไป แสดงให้เห็นว่ามีการปล่อยตัวแล้ว ก็ต้องมีหลักฐานการปล่อยตัวมายืนยัน ก็มีการสืบพยานกันในชั้นศาล ซึ่งสุดท้ายแล้ว ศาลก็ถือเอาคำพูดของครูใหญ่โรงเรียนบันนังสตา อินทรฉัตร ที่บอกว่า มีชายมุสลิม เดิน ออกไปแล้ว แล้วศาลก็ตีความเอาเองว่า คนคนนั้นคือมะยาเต็ง นอกจากนั้น หลักฐานการปล่อยตัวมะยาเต็ง ที่นายอำเภอบอกว่ามี และถูกเชิญมายืนยันกับพร้อมเอกสาร ปรากฏว่า เอกสารชิ้นนั้น ก็ไม่เกี่ยวข้องกับบันทึกการปล่อยตัวเลย”
เดินมาไกล เดินต่อไป
การเดินทางมาถึงขั้นที่ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้นำตัวมะยาเต็งไป นำตัวมาคืน และถึงแม้จะไม่สามารถนำตัวมาคืนได้ก็ตาม คดีการหายสาบสูญของมะยาเต็ง มะรานอ ภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง ก็ยังนับว่าเป็นคดีของคนตัวเล็กๆ ในสถานการณ์ความไม่สงบ ที่เดินมาไกลกว่าคดีอื่นๆ ในขอบเขตเดียวกัน
หากจะมองหาคุณูปการหนึ่งเดียวที่การหายไปของหัวหน้าครอบครัวหนึ่งทิ้งไว้ให้ ก็คงไม่ผิดหากจะมองว่า การหายไปของมะยาเต็ง สร้างทั้งแสงสว่างและคำถามเล็กๆ ให้เกิดขึ้น ในกระบวนการยุติธรรมของไทย ว่า ยังคงเป็นสถาบันอันสถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม สำหรับประชาชนหรือไม่
ดังทัศนะจากพรเพ็ง ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรม
“เราเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมคือ ‘จุดเชื่อม’ เดียว ระหว่างรัฐกับประชาชน ที่ยังคงมีอยู่อย่างน้อยนิดในสถานการณ์ความขัดแย้ง ถ้าทุกกลไกพยายามที่จะตอบสนองประเด็นเรื่องความยุติธรรมอย่างรวดเร็ว เที่ยงตรง ตั้งแต่ต้น เหตุการณ์คงจะไม่บานปลายมาถึงวันนี้ เพราะเราเชื่อว่า ความไม่เข้มแข็งของกระบวนการยุติธรรมมันมีผลต่อความไม่สงบในพื้นที่ จากทั้งหมดที่เสียชีวิต 3,500 คน มีไม่กี่เคสที่เรื่องไปถึงศาล ทุกอาชีพ ทุกชาติ ทุกศาสนา ควรได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน แต่เราก็เห็นแล้วว่า ไม่ใช่ทุกคดีที่จะสามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ แม้กระทั่งบางเคสที่มีหลักฐานทำนองว่า น่าจะจับได้คาหนังคาเขา
“ส่วนหนึ่งเราก็ยอมรับว่า มันจำเป็นต้องมีการปราบปรามเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่เราก็อยากให้รัฐใช้แนวทางที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่อาจเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้ที่แม้จะเป็นแนวร่วมแต่ก็ไม่ได้ใช้ความรุนแรง เพียงแต่คำว่าแนวร่วมในที่นี้ คือ เขารู้สึกว่าสังคมของเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม อยากให้รัฐกันคนที่มีความรู้สึกนี้ ออกจากกลุ่มคนที่ใช้วิธีการรุนแรง ด้วยวิธีการอะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหา”
ทิ้งท้ายด้วย ความเห็นของธนู อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนและทนายความผู้รับผิดชอบคดีนี้
“ถ้าถามว่าอะไรทำให้คดีมะยาเต็งมาไกล ผมคิดว่าเป็นความกล้าหาญของครอบครัว ในการที่จะเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับมะยาเต็ง เหตุผลนี้แหละครับ ทำให้คดีของมะยาเต็ง เดินมาได้ถึงขั้นนี้ สำคัญยิ่งไปกว่านั้น มันแสดงให้เราเห็นว่า ภรรยาของมะยาเต็งเอง ยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม”
ขณะเดียวกัน ผู้ได้ชื่อว่าธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมสูงสุด ก็ควรมอบความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายที่เลือกเดินสู่กระบวนการนี้ อย่างเสมอภาค
….........
เรื่องและภาพโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
-หมายเหตุ ขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความมุสลิมและเจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมทุกท่าน มา ณ ที่นี้
และขอบคุณเป็นพิเศษ ภาวิณี ชุมศรี ผู้ช่วยทนายความและฝ่ายกฎหมายโครงการเข้าถึงความยุติธรรม