ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ สำหรับคำตัดสินของคณะลูกขุน นครลอสแอลเจลิส ที่ตัดสินว่า นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริ เซีย กรีนส์ สองสามีภรรยา เจ้าของบริษัทผลิตภาพยนตร์ในฮอลลี่วู้ด ของสหรัฐ ฯ มีความผิดข้อหาติดสินบน นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีต ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. โดยจ่ายเงินให้นางจุฑามาศไปทั้งหมด 1.8 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อให้ ททท. คัดเลือกเป็นผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ หรือ Bangkok International Film Festival ( BIBF ) ปี 2546 – 2550
เพราะมันคือ ใบเสร็จ ที่ยืนยันว่า อดีตผู้ว่า ท.ท.ท.รับเงินใต้โต๊ะ แล้วถูกฝรั่งจับได้คาหนังคาเขา
อัยการสหรัฐฯ ระบุว่า สินบนบางส่วน จ่ายเป็นเงินสด ประมาณ 10-20 % ที่เหลือโอนเข้าบัญชีลูกสาวและเพื่อนของนางจุฑามาศ แล้วชดเชย ด้วยการโก่งราคาค่าจัดงาน
เงิน 60 ล้านบาท ที่นางจุฑามาศ โกงไป จึงเป็นเงินหลวง เป็นภาษีของประชาชน ที่ถูกนางจุฑามาศยักยอกไป
เมื่อเรื่องนี้เป็นข่าวขึ้นมา ตอนปลายเดือนธันวาคม 2550 ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ใครต่อใครที่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้นว่า นายสุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว และนางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการ ททท. ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะตั้งกรรมการสอบสวนนางจุฑามาศ โดยใช้เวลา 1 เดือน
เวลาผ่านไปเกือบจะ 2 ปีแล้ว ไม่ทราบว่า ผลการสอบสวนเป็นอย่างไร
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะต้องเรียกตัวนางจุฑามาศ ซึ่งคงจะหายตัวไปนานแล้ว มาไต่สวนเอาผิดให้ได้
ที่ไม่เรียกร้องกับนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการ ททท. และนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา ก็เพราะเห็นว่า เสียเวลาเปล่าๆ สองคนนี้ทำเป็นแต่ ขอเจียดงบประมาณ จากพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ขนาดโครงการอีลิทการ์ด ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเองแท้ๆ ยังไม่ยอมตัดสินใจ โยนลูกไปให้ ครม.แทน
สองสามีภรรยาคู่นี้ นอกจากจะได้เป็นผู้จัดงาน BIBF โดยตั้งบริษัท Film Festival Management หรือ FFM ขึ้นมาเป็นคู่สัญญากับ ททท. แล้ว ยังได้งานเปิดตัวและประชาสัมพันธ์โครงการอีลิทฺ การ์ด ในสหรัฐฯ มูลค่า 110 ล้านบาท จากนางจุพามาศ ซึ่งเป็นประธานบริษัทไทย พรีวิเลจการ์ด หรือ ทีพีซี ซึ่งนางจุฑามาศ เป็นประธานกรรมการด้วย โดยใช้ชื่อ บริษัท SASO มารับงาน
นอกจาก FFM และ SASO ยังมีบริษัทในเครือข่ายอีกมากเช่น Festival for Festival หรือ FOF , Creative Ignition , Artist Design, Flying Pen,Viridian และ IFL เป็นต้น
บริษัทเหล่านี้ มีชื่อเป็นทั้งผู้รับโอนเงินจาก ท.ท.ท. และเป็นผู้โอนเงินไปเข้าบัญชีลูกสาวและเพื่อนของนางจุฑามาศ โดย มีการโอนเงินจาก ททท.เข้าบัญชีของบริษัท FFM,SASO,IFL,FOF,Artist Design และFlying Pen เป็นเช็คทั้งหมด 71 ใบ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ 17 ครั้ง รวมเป็นเงิน 10,095,178.50 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 460 ล้านบาท
ระหว่างวันที่ 30 พ.ค. 2546 ถึงวันที่ 16 ต.ค.2549 มีการโอนเงินค่าคอมมิชชั่น จาก FFM,SASO,VIRIDIAN ,IFL,FOF, และ Flying Pen เข้าบัญชีของลูกสาวนางจุฑามาศ ในสิงคโปร์ อังกฤษ และหมู่เกาะเจอร์ซี โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ 41 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,384,694.80 เหรียญสหรัฐ และระหว่างวันที่ 12 ธ.ค.2546 และวันที่ 1 เม.ย. 2548 มีการโอนเงินค่าคอมมิชชั่นของ FFM,SASO,FOF ไปที่บัญชีของ K.L. (เพื่อนสนิทของผู้ว่าการ ททท.) โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ 4 ครั้ง แคชเชียร์เช็ค 1 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 319,000 เหรียญสหรัฐ รวมจ่ายค่าคอมมิชชั่น 2 รายการ เป็นเงิน1,703,694.80 เหรียญสหรัฐ
ทั้งหมดนี้ เกิดในช่วงที่ นช. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการผลักดันให้เกิดโครงการอีลิทการ์ด และโครงการภาพยนตร์นานาชาติ
นอกจากกรณีนี้ที่ถูกจับได้ มันน่าสงสัยว่า นางจุฑามาศยังพัวพันกับเงินใต้โต๊ะ ในโครงการอื่นๆอีกหรือไม่ เพราะ ททท.มีการจัดงานอีเวนท์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวบ่อยมาก โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการซอยโครงการออกเป็นงานย่อยๆ เพื่อไม่ให้งบเกินเพดาน ที่ต้องจัดซื้อ จัดจ้างให้ถูกระเบียบ และเพื่อแบ่งสรรงบให้ผู้จัดงานอย่างทั่วถึง
ยิ่งจัดงานมากเท่าไร ก็ยิ่งได้ kickback มากขึ้นเท่านั้น
การจัดอีเวนท์ และประชาสัมพันธ์ เป็นการทำมาหากินที่ง่ายที่สุด เพราะเป็นโครงการระยะสั้นๆ งบไม่สูงมากนัก จึงไม่ค่อยเป็นที่สังเกต มีข้ออ้างจัดได้ตลอด และหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการ นำไปอ้างเป็นผลงานได้
ส่วนผลสำเร็จของงาน จัดแล้วได้อะไร ไม่มีเครื่องชี้วัด มีแต่ตัวเลข ที่บริษัทจัดงานปั้นขึ้นมาว่า มีผู้เข้าชมงานกี่ล้านคน มีเงินสะพัดกี่หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก วิธีง่ายที่สุด ในการสร้างผลงานคือ ซื้อสื่อโฆษณาเยอะๆ ปูพรมให้ทั่ว ถ้าดึงสื่อมาร่วมจัดงานได้ก็ยิ่งดี นอกจากจะได้โหม ประโคมงานกันอย่างใหญ่โต ขนาดเสาหลักของวงการ ลงทุนเล่นตลก แต่งตัวเป็นพ่อครัวหัวป่าก์ ยังเป็นการปิดปากสื่อไม่ให้มาวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อแผ่นดินด้วย
บริษัทจัดงานอีเวนท์ จะคอยหาข้อมูลว่า กรมไหน กระทรวงใด มีนโยบาย โครงการอะไรบ้าง มีงบเท่าไร ใครมีอำนาจอนุมัติงบ รัฐมนตรีฟังใคร หน้าห้องคนไหนสั่งอธิบดีได้ เพื่อจะได้ส่งคนเข้าไปประกบได้ถูก
หลายๆโครงการ หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเงิน ไม่ต้องทำอะไรเลย บอกมาว่า อยากได้แบบไหน มีงบเท่าไร บริษัทจัดอีเวนท์จะไปคิดมาให้ และเขียนทีโออาร์ มาให้เองอีกด้วย ถ้าต้องมีการประมูลก็จะหา “ บริษัทคู่เทียบ” คือ บริษัทในเครือข่าย ให้มาร่วมประมูล เป็นพิธี
ทันทีที่ได้งาน ก็จะมีการจ่ายสินบน หรือ kickback ไปให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องรอให้มีการเซ็นสัญญา หรือจัดงานให้เสร็จก่อน เพราะมีขั้นตอนการดำเนินการที่กินเวลา อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง คนอนุมัติในวันนี้ อีกหนึ่งเดือนอาจหลุดจากตำแหน่งไปแล้ว เพราะฉะนั้น บริษัทอีเวนท์ ต้องจ่ายไปก่อน โดยที่ไม่มีหลักประกันว่า จะได้เงินค่าจ้างเมื่อไร ได้เท่าไร และได้หรือไม่ ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง แต่ก็ต้องเอา เพราะอยากเป็นบริษัทที่มีบิลลิ่งทะลุพันล้าน
บางบริษัท จัดงานไปแล้วเก็บเงินไม่ได้ เพราะคนสั่งให้จัด กับคนจ่ายเงินเป็นคนละคนกัน รวมๆกันแล้ว มีงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คงค้างในบัญชีสูงถึง 100 กว่าล้านบาท
เงินใต้โต๊ะที่จ่ายให้ ปัจจุบันอยู่ในอัตรา 30% สมมติว่า งบจัดงานๆ หนึ่ง 20 ล้านบาท ต้องกันไว้เป็นค่าเก๋าเจี้ย 6 ล้านบาท ทันที เพื่อจ่ายให้ผู้มีอำนาจ
หลายๆโครงการในรัฐบาลนี้ ต้องถามว่า จัดไปแล้วได้อะไร โดยเฉพาะโครงการรณรงค์ประเภท “เพื่อสร้างจิตสำนึก” “เพื่อส่งเสริม” เพื่อสร้างความตระหนักรู้” ซึ่งวัดผลอะไรไม่ได้ นอกจากนับชิ้นโฆษณา อย่างเช่น โครงการ เรารักประเทศไทย หรือโครงการคิดอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ( โมโซ) ของ กอ.รมน. และโครงการล่าสุด ของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย “ ไทยสามัคคี –ไทยเข้มแข็ง” ที่ฉวยโอกาสใช้สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 19 กันยายน หาเรื่องใช้งบประมาณ
กล้าเปิดเผยไหมละ ว่าใช้งบประมาณเท่าไร บริษัทไหนเป็นผู้จัดงาน คัดเลือกกันอย่างไร
เป็นความซวยของ นางจุฑามาศที่ ไปหากินกับฝรั่ง โดยเฉพาะฝรั่งอเมริกัน ซึ่งมีกฎหมายที่เข้มงวดในการเอาผิด ผู้ที่ทุจริต คอร์รัปชั่น ติดสินบนในต่างแดน เหมือนคดีซีทีเอ็กซ์ เมื่อนายเจอรัลด์ กรีนส์ และนางแพทริเซีย กรีนส์ ถูกเอฟบีไอ. จับได้ ทำให้มีการสาวถึงที่มาที่ไปของเงิน
ถ้าหากินแต่เฉพาะกับคนไทย ป่านนี้ใช้เงินเพลินไปแล้ว เพราะการทุจริต ยักยอกเงินหลวงโดยการรับเงินใต้โต๊ะ หรือ kickback จากผู้ที่ได้งานอีเวนท์ ประชาสัมพันธ์ ของหน่วยงานรัฐ ถือว่า เป็นเรื่องปกติ ที่ใครๆเขาก็ทำกัน โดยไม่มีใครสนใจไปตรวจสอบ เป็นการปล้นเงินหลวงมาแบ่งกันระหว่าง นักการเมือง ข้าราชการและบริษัทผู้จัดงาน