xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันคดีอาญานักการเมือง จากกล้ายาง ถึงหวย 2 ตัว 3 ตัว

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

หลังคำพิพากษาคดีทุจริตกล้ายาง นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2552 มีเนื้อหาเป็นการโจมตีและทำลายความน่าเชื่อในการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยกล่าวในทำนองว่า คตส.ทำสำนวนไม่รัดกุม ใจร้อน ยื่นฟ้องคดีเอง ไม่ฟังคำท้วงติงของอัยการ ทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องในที่สุด

“คดีนี้อัยการสูงสุดยังไม่ได้มีคำสั่งคดีว่าจะฟ้องหรือไม่ หากมองดูแล้วเสมือนว่า คตส.ไม่ร่วมมือกับอัยการทำงานตามกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน และให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง เมื่อศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐที่จะต้องเสียเงินว่าจ้างทนายความ จำเลยบางคนที่ไม่ควรถูกฟ้องต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติประวัติและเสียเงินจ้างทนาย เรื่องนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตระหนักเป็นพิเศษ ต้องให้ความยุติธรรมแก่คู่ความ และหากจะฟ้องใคร ต้องมีหลักฐานเพียงพอให้ศาลลงโทษได้”

ยิ่งกว่านั้น โฆษกของสำนักงานอัยการสูงสุด ยังพูดก้าวล่วงไปถึงคดีทุจริตหวยบนดินด้วย ทั้งๆ ที่ ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 30 กันยายน 2552 โดยบอกว่า คดีหวยบนดิน อัยการสูงสุดก็ได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ให้ คตส.กลับไปสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็นเช่นเดียวกับคดีทุจริตกล้ายางเช่นกัน แต่ คตส. ก็ไม่ได้สอบสวนเพิ่มเติมและจ้างทนายฟ้องเอง

บทความนี้ ต้องการเปรียบเทียบคดีทั้งสอง ที่ คตส. ได้สอบสวน และเคยปรากฏประเด็นในสื่อมวลชน ว่ามีความต่างและมีความเหมือนอย่างไร

1) ข้อกล่าวหา “ทุจริตโดยนโยบาย”

คดีกล้ายางและคดีหวย เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณเหมือนกัน

กรณีกล้ายาง เป็นการกำหนดนโยบายโดยการปราศรัยหาเสียง และรับปากในต่างจังหวัด แล้วรีบเร่งปฏิบัติ โดยไม่ตั้งงบประมาณแผ่นดินในระบบปกติ ที่ต้องเสนอผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายต่อรัฐสภา แต่ไปนำเงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และมีการเปิดประมูลที่ธุรกิจบางรายได้ประโยชน์เข้าลักษณะฮั๊วกัน หรือรวมหัวกันประกวดราคา

กรณีหวย 2 ตัว 3 ตัว เป็นการสั่งการจากนายกฯ ในสมัยนั้น ให้สำนักงานสลากกินแบ่งไปศึกษา แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็นำเข้า ครม.เอง โดยไม่รอเอกสารประกอบ แล้วค่อยมีการนำเอกสารเข้ามาประกอบในภายหลัง เป็นการออกสลากกินรวบ แต่อ้างว่าเป็นสลากกินแบ่ง โดยไม่แบ่งเงิน 28% ของรายได้เข้าคลังตามกฎหมายกำหนด แต่กลับมีมติ ครม. ให้เอาเงินรายได้จากการขายหวยไปให้กรรมการยุทธศาสตร์ฯ นำเงินไปใช้ในโครงการต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยไม่มีกฎหมายรองรับ

2) ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจำนวนมาก

ทั้งกรณีทุจริตกล้ายางและกรณีทุจริตหวย 2 ตัว 3 ตัว เกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายจำนวนหลายสิบคนเหมือนกัน

กรณีกล้ายาง คตส. พบว่า มีผู้ผู้ร่วมกระทำความผิดถึง 90 คน แต่สั่งฟ้องตามพยานหลักฐานที่มี 44 คน โดยไม่ได้เอาผิด ครม. ทั้งคณะ

กรณีหวย 2 ตัว 3 ตัว คตส. พบในเบื้องต้นว่า มีผู้กระทำความผิด 49 คน แต่สั่งฟ้องตามพยานหลักฐานที่มี 47 คน เป็นการเอาผิด ครม. ทั้งคณะ เพราะเป็นการออกมติ ครม. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ยกเวินรัฐมนตรี 2 คน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการออกมติ ครม.ดังกล่าว)

3) คตส. ฟ้องคดีเอง ในขณะที่อัยการไปเป็นพยานให้จำเลย

สำนักงานอัยการสูงสุด เคยฟ้องคดีให้ คตส. 2 คดีแรก ได้แก่ คดีทุจริตหลีกเลี่ยงภาษี และคดีที่ดินรัชดา

แต่หลังจากเปลี่ยนอัยการสูงสุดคนใหม่ มาเป็นบุคคลที่ถูก คตส.สอบสวนกรณีทุจริตซีทีเอ็กซ์ คตส.และอัยการสูงสุดก็มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องสำนวนต่างๆ ที่ส่งไปหลายสำนวน โดยฝ่ายอัยการสูงสุดแจ้งว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ จนกระทั่ง คตส.ต้องให้ทนายความฟ้องคดีเอง 3 คดีติดต่อกัน คือ คดีคดีทุจริตกล้ายาง คดีหวย 2 ตัว 3 ตัว และคดีทุจริตเงิยกู้เอ็กซิมแบงก์ ที่รัฐบาลทักษิณให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าฯ เอาไปให้พม่ากู้เพื่อประโยชน์ให้ธุรกิจพวกพ้องของตน

และหลังจากนั้น อัยการสูงสุดจึงเป็นผู้ฟ้องคดีแปลงส่วนแบ่งรายได้สัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีร่ำรวยผิดปกติ ยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน 76,000 ล้านบาท

ปรากฏว่า ทั้งคดีทุจริตกล้ายาง และคดีทุจริตหวย 2 ตัว 3 ตัว มีคนของสำนักงานอัยการสูงสุดระดับสูงมาก ไปเป็นพยานให้กับจำเลยที่ถูกฟ้องถึง 4 คน โดยแยกเป็นคดีละ 2 คน

ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และถูกตั้งคำถามถึงมารยาทการทำงานของอัยการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง


4) ประเด็นที่กล่าวหาว่ากระทำผิด

ดังที่ปรากฏในข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนของ คตส. พบว่า

กรณีกล้ายาง เป็นการกำหนดนโยบายที่เร่งด่วน ไม่เตรียมงบประมาณและขออนุมัติจากรัฐสภา แต่ไปใช้เงินกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางที่ผิดวัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกองทุนนี้สร้างขึ้นโดยเงินของคนที่เคยปลูกยางอยู่ก่อนแล้ว และจะใช้เพื่อคนปลูกยางที่ต้องการจะเปลี่ยนพันธุ์ยางใหม่ ไม่ใช่นำไปใช้กับการปลูกยางใหม่กับคนที่ไม่เคยปลูกยางมาก่อน และพื้นที่ปลูกยางใหม่ที่ไม่เคยปลูกยางอยู่เดิม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายฮั๊ว มีการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายที่ไม่เคยขายต้นกล้ายาง มาประมูลขายให้รัฐ

กรณีหวย 2 ตัว 3 ตัว เป็นการมีมติ ครม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้สำนักงานสลากกินแบ่งออกหวย 2 ตัว 3 ตัว ซึ่งเป็นสลากกินรวบ โดยใช้วิธีออกสลากที่อ้างว่าเป็นสลากกินแบ่ง แล้วไม่แบ่งรายได้เข้ารัฐตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงการคลังควรจะต้องได้รับรายได้ 28% ขางรายรับ แต่ก็ไม่ได้รับ แล้วนำเงินรายได้ไปให้กรรมการยุทธศาสตร์ฯ ใช้จ่ายในโครงการที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการ

5) ทั้ง 2 คดี ขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เพราะมีนักการเมืองถูกกล่าวหาร่วมกระทำความผิด ทุจริต จึงต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นระบบที่มีมาตั้งแต่ก่อนยุครัฐบาลทักษิณ โดยการพิจารณาคดีจะมีผู้พิพากษา 9 ท่าน ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ทั้ง 2 คณะที่พิจารณาคดีกล้ายางและคดีหวย 2 ตัว 3 ตัว มีผู้พิพากษาคณะละ 9 คน ไม่ซ้ำกัน โดยทั้ง 2 คณะ ใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหา

ขณะนี้ องค์คณะผู้พิพากษาคดีหวย 2 ตัว 3 ตัว ในจำนวน 9 คนนี้ มีหลายคนจะต้องโยกย้ายไปรับตำแหน่งอื่น เช่น ไปรับตำแหน่งในศาลอุทธรณ์บ้าง ท่านหนึ่งจะไปรับตำแหน่งประธานศาลฎีกา ฯลฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้มีพระบรมราชโองการโปรดกล้าฯ แต่งตั้งตำแหน่งใหม่ คำถามจีงมีอยู่ว่า หากมีพระบรมราชโองการให้รับตำแหน่งใหม่ ขาดจากการเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาแล้ว จะตัดสินคดีนี้ได้หรือไม่?

ดังนี้ ในการพิจารณาตัดสินคดีหวย 2 ตัว 3 ตัว ในวันที่ 30 ก.ย.2552 หากต้องเลื่อนคำพิพากษาออกไป เพราะจำเลยคนหนึ่งคนใดไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาฯ จะลงมติ โดยนำคำพิพากษาส่วนตนมาพิจารณาในวันนั้นหรือไม่? หากเลื่อนไปโดยไม่มีการลงมติ แล้วหากมีพระยรมราชโองการฯ ให้รับตำแหน่งใหม่ ก่อนการลงมติ จะทำให้เกิดปัญหาขององค์ประกอบของมติว่า ผู้พิพากษาท่านที่ถูกโยกย้ายไป จะลงมติได้หรือไม่ อย่างไร?

6) ลูกไม้ของจำเลย กับมติพิพากษาของศาล

เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จะต้องอ่านคำพิพากษาต่อหน้าจำเลยทุกคน

กรณีคดีกล้ายาง ศาลฎีกาฯ นัดอ่านคำพิพากษา วันที่ 17 ส.ค. 2552 ปรากฏว่า จำเลย 1 คน คือ นายอดิศัย โพธารามิก อ้างป่วย ไม่มาศาล โดยไม่แจ้งให้ศาลรู้ล่วงหน้าก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษา (ทั้งๆ ที่ข่าวแจ้งว่าไปต่างประเทศตั้งแต่ก่อนหน้านั้น) แต่ให้คนมาแจ้งศาลในวันนัดอ่านคำพิพากษา ทำให้ศาลต้องเตรียมคำพิพากษาให้พร้อมในวันนัดแล้ว (ซึ่งจะต้องรวบรวมคำพิพากษาส่วนตนขององค์คณะทั้งหมด) แต่ในที่สุด ก็เป็นเหตุให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 21 ก.ย. 2552

ระหว่างนั้น มีข่าวเล็ดรอดสู่สาธารณะ ว่ามติให้ยกฟ้อง 8:1

หลังจากนั้น จำเลยอีกคนในคดี คือ นายเนวิน ชิดชอบ ขออนุญาตศาลไปต่างประเทศ ปรากฏว่าศาลอนุญาต ซึ่งโดยทั่วไป หากศาลได้มีมติตัดสินลงโทษจำเลย จำเลยจะได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ ในที่สุด จำเลยก็กลับมาฟังคำพิพากษา ในวันที่ 21 ก.ย. 2552

ปรากฏว่า ในวันนัดอ่านคำพิพากษา 21 ก.ย. 2552 จำเลย 43 คน มาฟังคำพิพากษาครบถ้วน อย่างผิดสังเกตุ (ขาดนายอดิศัยเพียงคนเดียว)

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อสังเกตของคุณพิเชษฐ์ พันธวิชาติกุล สมาชิกสถาผู้แทนราษฎร ที่เขียนบทความในหนังสือพิมพ์แนวหน้า วันเสาร์ที่ 26 ก.ย.2552 เพื่อให้แง่คิดว่า มีข้อมูลใดบ้างที่อาจจะใช้ในการคาดเดาทิศทางของคำพิพากษา

แต่ทั้งหมดนี้ ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า เหตุใด มติขององค์คณะผู้พิพากษาที่ให้ยกฟ้องจำเลยในกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ จึงออก 8:1 ตรงกับข่าวลือก่อนหน้านั้นเป๊ะ!

คดีหวย 2 ตัว 3 ตัว วันนัดฟังคำพิพากษาของศาล 30 ก.ย. 2552 จำเลยทั้ง 47 คน จะมาฟังคำพิพากษาครบถ้วนหรือไม่? พ.ต.อ.สุรสิทธิ์ สังขพงษ์ อดีต ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่ง จำเลยคนสำคัญในคดี ภายหลังจากทักษิณหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ ได้เคยขอย้ายกลับไปเข้ารับราชการตำรวจ บัดนี้ ได้ลาออกจากราชการ และไปประกอบอาชีพต่างประเทศ จะกลับมาฟังคำพิพากษาของศาล ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ หรือไม่?

ศาลจะนำคำพิพากษาของแต่ละท่านมาสรุปเป็นมติหรือไม่ ? ถ้าไม่สรุปมติในวันที่ 30 ก.ย. หากมีพระบรมราชโองการฯ โยกย้ายองค์คณะบางคนไปรับตำแหน่งใหม่ จะทำอย่างไร? หากมีการลงมติในวันที่ 30 ก.ย.จะมีความรั่วไหลของมติหรือไม่?

จะมีจำเลยต้องหลบหนีคดี เหมือนคดีทุจริตยา หรือคดีคลองด่าน หรือแม่แต่คดีที่ดินรัชดาฯ หรือไม่?


หรือจะมีคนหลั่งน้ำตา เหมือนนายเนวิน ด้วยความดีใจ ซึ่งหนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 27 ก.ย. 2552 วิเคราะห์เป็นข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจ ในคำประกาศต่อสื่อมวลชนของผู้นำเงาพรรคภูมิใจไทยผู้นี้ที่ว่า “สำหรับตัวผมเองนับจากวันนี้ไป ก็คงเหลือเรื่องเดียว จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ”

คำประกาศในทันทีหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีความเหมาะสมและถูกกาละเทศะหรือไม่ เพียงใด และที่สำคัญ อาจทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ว่า ผลคำพิพากษาของศาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบัน

จะทำอะไรก็ขอให้คิดถึงประเทศชาติในระยะยาวๆ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น