อดีต คตส. งง! ไม่เคยมีอัยการหน้าไหนที่ฟ้องคดี ไปเป็นพยานให้จำเลย และไม่มีเหตุผลข้อไหนที่อัยการท้วงติง เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง ระบุอย่าเหลิงศาลยกฟ้องคดีกล้ายาง ไม่ได้หมายความว่าจะยกฟ้องคดีหวยบนดินด้วย ขณะที่“ประพันธ์” ซัดโฆษกอัยการ ทำความเสียหายต่อแผ่นดินอย่างร้ายแรง จี้สนง.อัยการตรวจสอบตัวเอง ก่อนกระบวนการยุติธรรมเสื่อม
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนในข่าว”
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 24 กันยายน 2552 โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสัก กอแสงเรือง อดีตโฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. และนายประพันธ์ คูณมี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาร่วมพูดคุยถึงบทเรียนระหว่าง คตส. กับ อัยการ หลังศาลพิพากษายกฟ้องคดีกล้ายาง
นายสัก กล่าวถึงกรณีที่อัยการแผ่นดินไปเป็นพยานให้ฝ่ายจำเลย ผู้ซึ่งถูกกล่าวหา ทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ว่า ปกติคนที่อยู่ในวิชาชีพเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ประการแรกต้องมีจรรยาบันในการรักษาความลับของลูกความ เมื่อร่วงรู้ความรับของลูกความแล้วไปเปิดเผยความลับนั้น จนทำให้เกิดความเสียหาย ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา และโดยสามัญสำนึกอัยการทั่วๆ ไปย่อมทราบได้ว่าสมควรไปหรือไม่ มิหนำซ้ำอัยการยังเคยตรวจสำนวนจนรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว ย่อมทำให้รัฐเสียเปรียบ และในประวัติไม่เคยปรากฏ ว่า อัยการแผนดินไปเป็นพยานให้ฝ่ายจำเลย อีกทั้งมีตำแหน่งเป็นถึงโฆษกอัยการสูงสุด แล้วออกมาทำอย่างนี้ ก็จะเกิดข้อกังหาว่า คดีอื่นจะเอาบรรทัดฐานอย่างนี้ไปใช้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ตามเมื่อ อัยการกับคตส. ตกลงกันไม่ได้ หรืออัยการซึ่งเป็นทนายแผนดินไม่ทำหน้าที่ ในทางกฎหมายให้สิทธิ คตส. ไปขอให้ทนายภาคประชาชนมาช่วยทำคดีได้ และที่ผ่านมา สภาทนายก็เข้ามาช่วยหลายทั้งคดีหวยบนดิน กล้ายาง เอ็กซิม แบงค์ แต่เนื่องจากทุกคนไม่เคยเห็นสำนวนมาก่อน จึงต้องใช้เวลาพอควร ศึกษาค้นคว้าหามรุ่งหามค่ำ ถึงจะร่างฟ้องได้ทันตามเงื่อนเวลาในกฎหมาย ด้วยความเสียสละอย่างนี้ กลับกลายเป็น ว่าถูก ดิสเครดิตจาก โฆษกอัยการสูงสุด อ้างว่า ทนายใจร้อนบ้าง ไม่รวบรวมหลักฐานให้ดีบ้าง ข้อกฎหมายไม่สมบูรณ์บ้าง ล้วนเป็นการใส่ร้ายทั้งสิ้น
ข้ออ้างที่ว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ ทำให้ศาลยกฟ้อง นายสัก กล่าว่าตามหลักกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องระบุรายระเอียดทั้งหมด เพียงแค่แจ้งข้อกล่าวหาที่พอจะทำให้จำเลยเข้าใจรู้ว่าทำผิดอะไรก็พอแล้ว และไม่จำเป็นต้องสอบพยานเพิ่มเติม เพราะศาลฎีกา บอกแล้วว่า สามารถนำพยานในชั้นตรวจสอบมาใช้ในชั้นไต่สวนได้ จึงไม่จำเป็นต้องสอบคำให้การใหม่
ส่วนที่อัยการอ้างว่า ทำให้รัฐเสียหายต้องเสียค่าทนายนั้น ต้องขอย้ำว่าทนายเอกชนที่เข้ามาช่วยคดี ทาง คตส.ไม่เคยเสียค่าทนาย เพราะ เขาสมัครใจเข้ามาช่วย ด้วยความเสียสละ ไม่ได้เรียกร้องค่าจ้าง
นายสัก กล่าวถึงคดีหวยบนดิน ว่า เรากล่าวหา ครม. และกองฉลากทั้งชุด เพราะมติครม. ขัดต่อกฎหมาย 1.ให้ออกหวยบนดินสองตัวสามตัวได้ ซึ่งเป็นการทำเลยหน้าที่ ฝ่าฝืนกฎหมาย ขัดนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ที่ว่าจะไม่ส่งเสริมอบายมุข 2.บอกว่า ไม่ต้องเอาเงินภาษีส่งคลัง เท่ากับเป็นการยกเว้นภาษี ตรงนี้รัฐบาลก็ทำเกิดอำนาจ 3. ให้เอากำไรขายหายไปพัฒนาสังคม ตรงนี้ก็ผิดกฎหมาย
ส่วนกรณีที่อัยการ บอกว่า มีข้อไม่สมบูรณ์ ให้ คตส. ไปไต่สวนสอบสวนพยานเพิ่มเติม ตรงนี้คณะ คตส. ได้ชี้แจงยืนยันว่า 1.เป็นสลากกินรวบ เพราะเป็นการพนันมีได้มีเสีย และมีคำวินิจฉัยของกฤษฎีกามาแล้วว่าทำไม่ได้ 2.การซื้อขายหวยสองตัวนี้ หากเป็นชาวบ้านทั่วไปขายเมื่อตำรวจจับได้ ต่างก็แจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นสลากกินรวบ หรือเมื่อคดีเข้าถึงศาล ท่านก็เคยวินิจฉัยเหตุทำนองนี้ ว่า เป็นสลากกินรวบ ดังนั้นเราจึงยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องสอบอะไรเพิ่มเติมอีก เมื่อหาข้อยุติกันไม่ได้ใน 14 วัน กฎหมายได้กำหนดให้ คตส. ต้องฟ้องเอง แล้วอย่างนี่จะบอกว่า คตส. ใจร้อนฟ้องเองได้อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย
กับคำถามที่ว่า ต่อไปจะเป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ นายสัก กล่าวว่า ต้องศึกษาการพัฒนาการของการบังคับใช้กฎหมายของศาล ขณะนี้ตนยังบอกไม่ได้ว่ารูปคดีจะออกมาอย่างไร ทั้งนี้เมื่อศาลวินิจฉัยออกมาแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าทีของ นักวิชาการ ฝายนิติบัญญัติ ออกมาวิเคราะห์ ว่า บังคับใช้กฎหมายของศาลได้ใช้อย่างครบถ้วนหรือไม่ หากเห็นว่ายังมีช่องโหว่ ก็นำไปพัฒนาแก้ไข ให้ครบถ้วน
“ตนในฐานะอดีต คตส. ไม่ได้อยากออกมาแสดงความคิดเห็น และไม่ได้เป็นตัวแทนขององค์กร เพียงแต่เห็นว่าการกระทำของโฆษกอัยการ มันกระทบต่อภาพลักษณ์การทำงานของ คตส. และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ส่วนการออกมาแถลงของโฆษกอัยการ เรายังเชื่อมั่นว่าอัยการส่วนใหญ่ ไม่มีความคิดเห็นในรูปลักษณ์ที่ออกมาเช่นนี้ และคิดว่าเป็นเรื่องบุคคล ไม่เกี่ยวกับองค์กร” นายสัก กล่าว
นายประพันธ์ กล่าวถึงความสมควรหรือไม่ ที่อัยการเป็นพยานให้จำเลย ผู้ถูกกล่าวหาทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เรื่องนี้จะมี พ.ร.บ. อัยการ บังคับอยู่แล้ว อัยการจะไปเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทเอกชน หรือเป็นทนายความแก้ต่างให้จำเลยที่เป็นคู่ความกับรัฐไม่ได้ คดีกล้ายางเป็นคดีที่รัฐเสียหาย กระบวนการนี้ได้มีการตรวจสอบจาก คตส. ซึ่งได้รับการรับรองจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อ คตส. ส่งฟ้องแล้วหากอัยการทำหน้าที่คงไม่มีปัญหา แต่คดีนี้เริ่มมีปัญหาหลัง คตส.ชี้มูลว่า นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสูดท่านหนึ่ง เป็นหนึ่งในผู้กล่าวหาคดี ซีทีเอ็กซ์ ทำให้ช่วงหลังๆ อัยการเริ่มเล่นแง่ ไม่รับสำนวนจาก คตส. อ้างเหตุผลต่างๆนาๆ จนเป็นเหตุให้ตั้งคณะกรรมการร่วมทำหน้าที่พิจารณาคดีกล้ายางร่วมกับ คตส. แสดงว่าสำนวนนี้อัยการได้เข้ามาเกี่ยวข้องในหน้าที่ทนายแผ่นดิน ได้รู้ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีทั้งหมดแล้ว ดังนั้นในข้อที่อัยการ แย้งว่าไม่สมบูรณ์ ซึ่ง คตส. ก็ยืนยันว่าสมบูรณ์แล้ว และเมื่อข้อพิพาทไปถึงศาล ท่านก็บอกว่าสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้การยกฟ้อง จึงไม่ใช่ประเด็นไม่สมบูรณ์
“หากจะอ้างหมายศาล ว่า จำเป็นต้องไปเบิกความถ้าไม่ทำถือว่าขัดต่อ พ.ร.บ. ตรงนี้คนที่ทำหน้าที่กฎหมายย่อมรู้อยู่แก้ใจว่าคดีนี้เป็นระบบไต่สวน จะไปเบิกความให้ผู้ต้องหาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดินเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง และสามารถที่จะยื่นข้อโต้แย้งไปยังศาลได้ ว่าเป็นการขัดต่อหน้าที่ อาจทำให้มีผลกระทบต่อตำแหน่งได้” นายประพันธ์ กล่าว
นายสัก กล่าวเสริมว่าการที่โฆษกอัยการสูงสุดออกมาแถลงข่าว เป็นเรื่องวิปริต จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อกระบวนการยุติธรรม และตั้งแต่ตั้งกรมอัยการมา สำนักอัยการไม่เคยเอานักการเมืองโกงแผนดิน ติดคุกได้เลยแม้แต่คนเดียว ส่วนทีอ้างว่า คดีนี้ไม่ใช่ข้อกฎหมายมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แสดงว่าเจ้านายของคุณกำลังเป็นจำเลย จึงทำให้คุณออกมาทำลายกระบวนการตรวจสอบของ คตส.ใช่หรือไม่ และที่อ้างว่าหากอัยการฟ้อง จะไม่ทำให้คดีล่ม ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ หลายคดีที่อัยการฟ้องยังแพ้ได้ ดังนั้นสำนักงานอัยการ ต้องตรวจสอบตัวเอง ก่อนที่จะเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด
“อยากให้เรืองนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ขัดต่อ พ.ร.บ.อัยการหรือไม่ ไม่เช่นนั้นใครก็จะเอาทนายแผนดินไปเป็นพยานให้จำเลยที่ปล้นบ้านเมืองได้ แล้วอย่างนี้บ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร” นายสัก กล่าว
นายประพันธ์ กล่าวว่าคนที่ศึกษาและอยู่ในกระบวนการยุติธรรม จะเข้าใจได้ดี ว่า ทุกครั้งที่ศาลพิจารณาตัดสินคดีต่างๆ ย่อมมีเหตุผลอธิบายอยู่ในตัวคำพิพากษานั้น ดังนั้นหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยยกฟ้องคดีที่ คตส.ฟ้องนักการเมืองทุจริตกล้ายาง จึงไม่ได้หมายความว่า คดีอื่นๆที่ คตส. ฟ้องจะถูกยกฟ้องด้วย เพราะรูปคดีมันต่างกันโดยสินเชิง
นายประพันธ์ กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างระบบกล่าวหา กับระบบไต่ส่วน ว่า ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นระบบกล่าวหา เมื่อมีคดี ขั้นแรกตำรวจ จะต้องทำสำนวนแล้วส่งไปให้ อัยการ จากนั้นอัยการ จะเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ หรือจะให้พนักงานสอบส่วนเพิ่มเติมก็ได้ ส่วนเรื่องระบบไต่ส่วน ผู้ต้องหาจะต้องไปให้การ โดยผ่านการวบรวมข้อมูลจาก คตส. ถึง 9 คน เมื่อ คตส.รวบรวมแล้วจึงสั่งฟ้อง หากจำเลยมีข้อโต้แย้งต้องส่งคำถามให้ศาลก่อน แล้วศาลจะกลั่นกรอง ว่า ควรอนุญาตให้คู่ความถามคำถามใดบ้าง และหากประเด็นใดจำเลยไม่ต่อสู้ หรือมีพยานหลักฐานพิสูจน์ว่ามีความผิดชัดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานปากต่อไป
นายสัก กล่าวเสริมว่าระบบไต่สวนคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ให้ถือสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก หากจำเลยมีข้อโต้แย้งจะต้องนำสืบหักล้างสำนวนของ ป.ป.ช. และสำนวนของ ตตส. ก็เช่นเดียวกัน หากจำเลยมีข้อโต้แย้งก็ต้องนำสืบหักล้างข้อเท็จจริงต่อ คตส. จากนั้นจึงเป็นหน้าทีของศาลไต่สวนหาความจริง
“จะเอาบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลมาเป็นข้อสรุปไม่ได้ วันนี้ศาลยกฟ้องคดีทุจริตกล้ายาง ไม่ได้หมายความว่าวันข้างหน้าคดีที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน ศาลจะต้องตัดสินทำนองเดียวกัน เพราะในหลายๆ คดีศาลยังกลับคำวินิจฉัย ดังนั้นคดีหวยบนดิน ศาลอาจตัดสินไม่เหมือนกันกับคดีกล้ายางก็ได้” นายประพันธ์ กล่าว