คืนวันที่ 13 กันยายน 2552 ณ ประเทศเวียดนาม…นักตบลูกยางสาวไทย จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการคว้าแชมป์วอลเลย์บอลเอเชียครั้งแรก หลังจากรอคอยมา 30 กว่าปี
หากใครเกิดทันการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 ที่กรุงเทพฯ ในปี 2521 คงยังจดจำได้ว่าเอเชียนเกมส์คราวนั้น ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยเคยแข่งแพ้ญี่ปุ่น 15-0 ทั้ง 3 เซต แต่ 31 ปีผ่านไป ด้วยความตั้งใจของสมาคมวอลเลย์บอลฯ นักกีฬาและผู้เกี่ยวข้อง ทำให้วันนี้ทีมไทยกลับมาชนะได้ทั้งญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นทีมวอลเลย์บอลระดับโลก จากสมาคมที่เกือบถูกไล่ออกจากสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าบำรุง จนกลายมาเป็นสมาคมที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศด้วยการคว้าแชมป์เอเชียในวันนี้
วันที่ความฝันของพวกเขากลายเป็นจริง… แม้กว่าจะได้มาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากมายก็ตาม
ความสำเร็จที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย
“ในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นี้ พวกเราก็พยายามศึกษาคู่ต่อสู้ ฝึกซ้อมกันอย่างหนัก พยายามที่จะเอาชนะให้ได้ทุกทีม ความสำเร็จที่ได้มาทั้งหมด องค์ประกอบทีม ทั้งสมาคมฯ สตาฟโค้ชก็ตั้งอกตั้งใจทำงานอย่างหนัก ตัวนักกีฬาก็ตั้งใจที่จะแข่งขัน อดทนและเสียสละความสุขส่วนตัวที่จะต้องมาฝึกซ้อมกันอย่างหนักกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้”
เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร หรือ ‘โค้ชอ๊อด’ ผู้ฝึกสอนทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยเปิดใจถึงเบื้องหลังการสามารถคว้าแชมป์เอเชียเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ในยุคอดีตนั้น ทีมวอลเลย์บอลหญิงของไทยไม่ได้จัดอยู่ในแนวหน้าของเอเชียอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่เป็นม้านอกสายตา แม้กระทั่งในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันก็ยังด้อยกว่าทีมฟิลิปปินส์ในบางครั้ง จนกระทั่งทางสมาคมวอลเล่ย์บอลฯ ได้ริเริ่มโครงการที่จะพัฒนานักวอลเลย์บอลหญิงไทยขึ้นในปี 2540
เวลานั้นทีมที่อยู่อันดับต้นในเอเชียก็มีจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันเท่านั้นที่นำทีมวอลเลย์บอลไทยอยู่ โดยเฉพาะจีนที่มีส่วนสูงโดดเด่นมาก รองลงมาก็จะเป็นญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้มีส่วนสูงมากกว่านักตบสาวไทยเท่าใดนัก ทำให้ทางสมาคมฯ และผู้ฝึกสอนเริ่มหันมาเห็นความสำคัญในเรื่องของรูปร่างสรีระ โดยคิดว่าถ้าหากมีการเก็บตัวอย่างจริงจัง เฟ้นหาเด็กที่มีรูปร่างดี แล้วมีระยะเวลาในการเก็บตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนานักกีฬา ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยน่าจะก้าวขึ้นมาเป็นทีมตัวเต็งในภูมิภาคเอเชียได้
“เราคิดว่าเราน่าจะก้าวเข้ามาสู่ในระดับต้นของเอเชียได้ เพราะการเข้าไปสู่ระดับต้นของเอเชีย มันหมายถึงการเข้าไปสู่ระดับโลกด้วย เพราะว่าจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นอันดับท็อปเท็นต้นๆ ของโลกในยุคนั้น ถ้าเราสามารถเอาชนะญี่ปุ่น หรือเกาหลี เราก็มีโอกาสเปิดประตูเข้าสู่เวทีของโลกได้”
นั่นหมายความว่า ทีมไทยก็ต้องพัฒนาเทคนิคและยุทธวิธีเพื่อชนะให้ได้ แต่ก็ต้องมีระยะเวลาในการเตรียมทีมอย่างต่อเนื่องซึ่งต้องใช้งบประมาณมาก เริ่มต้นเก็บตัวเป็นระยะเวลา 4 ปีต่อเทอม (2540-2544) ต้องใช้งบประมาณเยอะพอสมควร นอกจากจะต้องดูแลเรื่องอาหาร ที่พักให้นักกีฬาแล้ว ต้องพานักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ ซึ่งโค้ชอ๊อดบอกว่าต้องใช้เงินเยอะมาก
“เราต้องฝ่าฟันความยากลำบากตรงนี้ด้วยตัวของเราเอง ด้วยสปอนเซอร์มีงบประมาณให้เราจำกัด”
12 ปีจากตอนเริ่มต้นโครงการฯ ถึงวันนี้สมาคมฯ ได้สร้างนักกีฬาประดับวงการวอลเลย์บอลหญิงมาหลายรุ่น มีเด็กใหม่หมุนเวียนเข้ามาแทนนักตบลูกยางหญิงรุ่นเก่าที่รีไทร์ไปจนกระทั่งปัจจุบัน จากความทุ่มเทของทั้งตัวนักกีฬาและผู้ฝึกสอน ที่ต้องซ้อมอย่างหนักให้ได้ใกล้เคียงกับมาตรฐานของทีมวอลเลย์บอลระดับเวิลด์คลาสที่สุด คือเป้าหมายสำคัญที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้
“ในโปรแกรมฝึกซ้อมของผม ถ้าจะซ้อมให้มันถึงระดับโลกต้องฝึกซ้อมอย่างน้อย 25-30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โปรแกรมการฝึกจะต้องฝึกอย่างน้อยวันละสองครั้ง เช้าเย็น เช้าต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า มาฝึกซ้อมสามชั่วโมงจนถึงเก้าโมงเช้า เล่นเวตเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและสร้างทักษะ ตอนเย็นก็ฝึกซ้อมอีกสามชั่วโมงเพื่อพัฒนาเทคนิคและยุทธวิธี ก็ทำแบบนี้อยู่ทั้งหมดหกวัน จันทร์ถึงเสาร์ เวลาส่วนตัวก็จะไม่มี เวลากลางวันถ้าใครมีเรียนหนังสือก็ไป ใครไม่เรียนหนังสือก็ต้องไปทำกายภาพเพื่อเตรียมร่างกาย”
โค้ชอ๊อดเล่าถึงการทำงานฝึกซ้อมว่า พวกเขาต้องทำงานภายใต้ขีดจำกัด เพราะโค้ชทุกคนทำงานประจำหมด แม้จำเป็นต้องมีบุคลากรด้านนี้จริงๆ แต่ทางสมาคมฯ ก็ไม่สามารถที่จะจ้างโค้ชที่มาฝีกสอนได้ในเงินเดือนที่เท่ารัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน จึงต้องใช้วิธีขอยืมตัวแทน
แม้ปัจจุบันนี้ประเทศไทยจะมีลีกวอลเลย์บอลเป็นของตัวเองมา 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักและเป็นเพียงสโมสรระดับต่างจังหวัด มีสปอนเซอร์สนับสนุนน้อย ทำให้นักตบลูกยางระดับทีมชาติไทยส่วนใหญ่มักจะไปเซ็นสัญญาค้าแขนกับสโมสรต่างประเทศมากกว่า
“ในต่างประเทศเขามีการบริหารจัดการในเชิงอาชีพอย่างแท้จริง ส่วนในเมืองไทยเรายังทำแบบกึ่งอาชีพ เป็น semi-pro เพราะว่าตอนนี้พื้นฐานบุคลากรผู้ที่เกี่ยวข้องในวอลเลย์บอลลีกของเราอย่างสตาฟโค้ชยังไม่ใช่มืออาชีพ เพราะยังมีงานประจำที่ต้องทำอยู่ อย่างเช่นเป็นครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแล้วก็มาทำทีมกีฬากัน ทำสโมสรให้จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ส่วนเรื่องเงินเดือนก็ยังไม่มีการจ่ายให้นักกีฬาชัดเจน มันก็เลยมีความแตกต่างตรงนี้
“อีกทั้งเรื่องการบริหารจัดการทางการตลาดเราก็ยังมีไม่มากพอเหมือนกับทางยุโรปเขา อันนี้คือข้อแตกต่าง แล้วก็ระยะเวลาในการเตรียมตัว สิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ มันไม่เหมือนสโมสรยุโรปที่เขาจะมีแฟนคลับ จะมีทีวีของเขาเองเลย มีการสนับสนุนมาก มีการขายชุด มีการขายบัตร แล้วสปอนเซอร์ของมีเยอะมาก การวางโครงสร้างของลีกต้องมาอันดับแรก สิ่งที่ควบคู่กันไปคือการพัฒนาบุคลากรทางกีฬา ตัวสต๊าฟผู้ฝึกสอนเองก็ควรมีการฝึกซ้อมในเชิงอาชีพยิ่งขึ้น เกณฑ์มาตรฐานมันควรจะมีเกณฑ์ชี้วัดในการแข่งขัน ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือในหลายๆ ฝ่าย” โค้ชอ๊อดกล่าว
หนทางสู่อนาคต
หลังจากคว้าแชมป์ในครั้งนี้ ทำให้เกิดกระแสวอลเลย์บอลฟีเวอร์อย่างมาก แต่ก็ไม่แน่นอนว่า กระแสวอลเล่ย์บอลในประเทศไทยจะยาวนานได้สักแค่ไหนกัน เพื่อให้รู้ถึงอนาคตต่อไปของวงการวอลเลย์บอลว่าจะเป็นอย่างไร จึงได้ไปพูดคุยกับสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ในฐานะของผู้รับผิดชอบโดยตรง
พงศ์โพยม วาศภูติ นายกสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า มาจากการทำงานต่อเนื่อง ที่ผ่านมาสมาคมฯ มีการวางแผนมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่โค้ชและผู้ฝึกสอน ตลอดจนผู้ตัดสิน ซึ่งมีการดึงทีมงานจากระดับนานาชาติมาช่วยพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และตัวนักกีฬาที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้เล่นที่เป็นเด็กประถมฯ มัธยมฯ และมหาวิทยาลัย โดยจัดให้มีการแข่งขันเป็นชั้นปี เพื่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในหมู่ผู้เล่น และนำไปสู่การเกิดตัวของผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพพอจะมาอยู่ในทีมชาติต่อไปในอนาคตได้
“ตอนนี้เรากำลังมีแผนจะพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลให้มีลีกอาชีพ ซึ่งเราทำมาได้ 4 ปีแล้ว เพื่อจะได้ทำให้เด็กๆ ของเรามีอาชีพ ไม่ต้องเดินทางไปหากินในต่างประเทศ และมีรายได้พอสมควร เพราะอย่างประเทศเวียดนามเขาก็มีลีกอาชีพแล้ว แต่เราก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ถึงขั้นที่น่าพอใจ หรือเรียกว่าเป็นอาชีพได้ คือเราก็พยายามแต่มันยังไม่เกิด ตอนนี้เราก็เลยพยายามตามรอยของลีกฟุตบอลที่ทำได้ผล”
สำหรับเรื่องการถ่ายทอดสด ซึ่งในช่วงการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์เอเชียไม่มีการถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี นายกสมาคมฯ กล่าวว่า ถึงตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าในขณะนี้กีฬาวอลเลย์บอลอาจจะยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากมายนัก เมื่อเทียบกับกีฬาฟุตบอล แต่ที่ผ่านมาฟรีทีวีก็ยังถ่ายทอดให้บ้าง อย่างการแข่งขันยุวชนชิงแชมป์โลกที่นครราชสีมา
แต่คราวนี้เป็นการแข่งขันภายนอกประเทศ การที่จะมีสปอนเซอร์มาช่วยสนับสนุนก็คงยาก เพราะมันไม่ดัง ไม่เหมือนฟุตบอลโลก แต่ถ้าในการแข่งขันต่อไปสปอนเซอร์สนใจ ก็สามารถทำได้
ส่วนเรื่องการวางแผนในอนาคต ยิ่งในช่วงที่มีกระแสการตื่นตัวมากขึ้นเช่นนี้ พงศ์โพยมเล่าว่า ทางสมาคมฯ ก็ได้วางแผนไว้แล้ว โดยจะพยายามหาตัวนักกีฬาใหม่ๆ มาทดแทนให้มากขึ้น เพราะนักกีฬาที่มีอยู่ก็เริ่มอายุมากขึ้น แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย เพราะนักกีฬาใหม่ประสบการณ์ในระดับนานาชาติยังน้อย ความเก๋าเกมยังไม่มากพอ โดยสมาคมฯ มีแผนการจะผลักดันทีมวอลเลย์บอลหญิงให้เข้าไปสู่โอลิมปิกให้ได้
“เพราะในครั้งที่แล้วเราเกือบจะได้ไปอยู่แล้ว แต่บังเอิญไปพลาดท่าให้ประเทศเปอร์โตริโก ส่วนทีมชาย เรายังเสียเปรียบเรื่องรูปร่างไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้ โดยตั้งใจว่าจะทำให้เป็นที่ 4 ในเอเชียให้ได้ โดยอาจจะรองจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ยังไงต้องเป็นที่ 1 ในอาเซียนให้ได้
“ส่วนในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เราก็จะพยายามโฆษณาให้คนไปดูมากขึ้น เพราะตอนนี้เรามีแข่งกันเกือบทุกวัน ทั้งสนามเล็ก สนามใหญ่ แต่คนทั่วไปที่ไม่ใช่แฟนประจำก็อาจจะยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าเราจะสามารถฉวยโอกาสจากตรงนี้ สร้างกระแสให้คนมาดูได้มากขึ้นแน่นอน” นายกสมาคมวอลเลย์บอลฯ ทิ้งท้าย
‘แชมป์เอเชีย’ ถือเป็นกำไรสุดๆ
ปลื้มจิตร์ ถินขาว หนึ่งในทีมนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย เปิดเผยเบื้องหลังแห่งความสำเร็จในครั้งนี้ว่า ก่อนที่จะประสบความสำเร็จได้รางวัลชนะเลิศการแข่งขันวอลเล่ย์บอลชิงแชมป์เอเชียนักกีฬาในทีมได้ผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ซึ่งก่อนหน้านี้นักกีฬาในทีมได้มีการลงแข่งด้วยกันในหลายรายการตั้งแต่ 5-6 ปีที่ผ่านมา ด้วยประสบการณ์ที่เล่นด้วยกันมานานจึงทำให้รู้ใจ เข้าขากันเป็นอย่างดี
“ที่สำเร็จได้ก็เพราะว่าเรามีการเก็บตัวซ้อมกันมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราก็อดทน ซ้อมหนักมาตลอด กว่าจะผ่านตรงนั้นมาได้ก็มีท้อ มีบ่น มีเบื่อ มีหน่ายเป็นธรรมดา แต่พอมาวันนี้เราลืมความทุกข์ตรงนั้นไปหมดเลย”
ก่อนที่จะมีการแข่งขันวอลเล่ย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย10 วัน ทีมนักตบหญิงไทยก็ได้เข้าแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ซึ่งได้อันดับที่ 8 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
“พอแข่งเวิลด์กรังด์ปรีซ์เสร็จแล้ว เราก็มีเวลาอีก 10 วัน เพื่อเตรียมแข่งชิงแชมป์เอเชีย เราก็คิดว่าโค้ชเองก็คงไม่ได้อะไรมาก แค่จัดการให้มีการซ้อมเล่นตามปกติ และมีเทคนิคบ้างเล็กน้อย อาจจะไม่ได้หนักเหมือนแข่งครั้งแรกๆ”
ปลื้มจิตร์บอกอีกว่าในขณะนั้นความคิดของโค้ชคืออยากจะเข้าชิง ซึ่งเขามองว่านักกีฬาสามารถชิงได้ และหากได้เข้ารอบสี่ทีมสุดท้ายแล้ว ก็สามารถมาแข่งเวิลด์กรังด์ปรีซ์ปีหน้าได้อยู่แล้ว นั่นคือความหวังสูงสุดของเราตอนนั้น
แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดหวังก็เกิดขึ้นกับทีมนักตบหญิงไทย ด้วยการผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ คือรอบ 4 ทีมสุดท้าย
“ตอนนั้นเราไม่คิดอะไรแล้ว คิดว่าแมตช์รอบตัดเชือกและรอบชิงก็ถือว่าเป็นกำไร และการเล่นในทุกแมตช์ก็ไม่ได้มีความกดดันเลย ทุกคนแฮปปี้กับผลที่ออกมา ซึ่งพอเราแข่งชนะญี่ปุ่นก็ยิ่งถือเป็นเรื่องเกินคาด และพอได้มาแข่งรอบชิงกับจีนก็ถือเป็นกำไรสูงสุดแล้ว”
เมื่อสุดท้ายผลของการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกับจีน ปรากฏว่าทีมไทยชนะ ผลนั้นก็สร้างประวัติศาสตร์ให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
“ถ้าเราแพ้จีนก็ถือเป็นเรื่องปกติ ในการแข่งขันเราก็เล่นสบายๆ ไม่ได้กดดันอะไรเลย แต่ฝ่ายที่กดดันคือฝ่ายตรงข้าม โค้ชเราก็สอนให้ใช้เทคนิคนิดหน่อย คือ คนจีนเขาจะตัวสูงใช่ไหม เราก็ต้องใช้ยุทธวิธีเล่นแบบเร็วๆ ใช้ความเร็วเข้าช่วยเพื่อที่จะตีให้ผ่านบล็อกไปได้ และวันนั้นเราก็ถือว่าเราเล่นโอเคนะ คะแนนก็สูสี เราทำแต้มได้ บล็อกเขาได้ ก็ถือว่าเป็นเกมที่สนุก”
ปลื้มจิตร์กล่าวทิ้งท้ายว่า พอผลการแข่งขันออกมาแบบนี้แล้วเชื่อว่าผู้ใหญ่หลายๆ ฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องเรื่องกีฬา น่าจะมีการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ควรจะเล็งเห็นความสำคัญและความพร้อมหลายๆอย่าง เช่น การจัดตั้งสโมสร เพื่อที่จะทำให้นักกีฬาและทีมมีความพร้อมมากขึ้น
..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK