“น้องเก๋” ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล หรือชื่อเดิม คือ จันทร์พิมพ์ กันทะเตียน เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2527 เป็นบุตรสาวคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของ นายจันทร์แก้ว และ นางภาวลี ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งพื้นฐานแล้วครอบครัวมีฐานะยากจน โดย นายจันทร์แก้ว นั้นยึดอาชีพเป็นกรรมกรก่อสร้างมานาน
ทว่า หลังจากที่ เก๋ เมื่อวัย 11 ปี มุ่งหน้าเข้าสู่การฝึกซ้อมกีฬายกน้ำหนักอย่างจริงจัง ทำให้ฐานะครอบครัวแต่เดิมที่เคยลำบากนั้นเริ่มดีขึ้น โดยเด็กสาวรายนี้ถือเป็นกำลังหลักของครอบครัว
ซึ่งจากน้ำพักน้ำแรงของจอมพลังสาววัย 24 ปี รายนี้ ปัจจุบัน คุณพ่อจันทร์แก้ว ไม่จำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพกรรมกรอีกแล้ว โดยหันไปยึดอาชีพขายไอศกรีมทอดแทน
นอกจากนี้ “น้องเก๋” ยังเก็บหอมรอมริบเงินรางวัลจากการแข่งขันเพื่อนำเงินมาปลูกบ้านให้กับพ่อแม่ที่จังหวัดนครสวรรค์ได้อีกด้วย แม้ว่าจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม
ชีวิตคนเราย่อมมีขึ้นลง ซึ่ง “น้องเก๋” เองก็หลีกหนีวัฏจักรนี้ไปไม่พ้น เมื่อในชีวิตนักกีฬาต้องเสียน้ำตาถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งในครั้งนั้นจอมพลังสาวจากเมืองปากน้ำโพ ถือเป็นนักกีฬาดาวรุ่งอยู่ อีกทั้งยังลงแข่งขันในรุ่นเดียวกับ “น้องอรสู้โว้ย” อุดมพร พลศักดิ์ อีก ส่งผลให้สมาคมยกเหล็กตัด ประภาวดี ออกจากทีมชุดลุยโอลิมปิก ส่งผลให้นักยกเหล็กรายนี้เสียศูนย์จนหอบเสื้อผ้าหนีจากค่ายซ้อมไปพักใหญ่ๆ ก่อนที่ “เจ๊บุษ” บุษบา ยอดบางเตย นายกสมาคมยกเหล็กจะตามตัวกลับมา พร้อมปลุกปลอบให้กลับมาร่วมแคมป์ซ้อมทีมชาติไทยอีกครั้ง
หลังจากนั้น ประภาวดี ก็กลับมาเป็นคนเดิม ตั้งใจฝึกซ้อม เพื่อโอกาสในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2008 ทว่าโชคร้ายของจอมพลังรายนี้ยังไม่จบ เมื่อต้องประสบปัญหาอาการบาดเจ็บข้อศอกหลุดระหว่างการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2007 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลให้ “น้องเก๋” ต้องชวดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2007 ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งก่อนหน้านั้น มีความหวั่นเกรงว่าอาการบาดเจ็บขนาดนั้นอาจทำให้จอมพลังรายนี้ต้องจบชีวิตนักกีฬาทีมชาติ
แม้จะไม่ได้เดินทางร่วมทีมไปโคราชเกมส์ ทว่า ระหว่างนั้น “เก๋” ประภาวดี ก็หมั่นฝึกซ้อมและเรียกความฟิตอยู่เสมอ ซึ่งนับเป็นผลดีกับสภาพร่างกาย รวมทั้งความมุ่งมั่นที่มีมาก อีกทั้งสภาพจิตใจที่เยือกเย็นขึ้น ทำให้จอมพลังสาวเมืองปากน้ำโพก้าวมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการคว้าเหรียญทองปักกิ่งเกมส์ พร้อมสร้างสถิติโอลิมปิกในท่าคลีนแอนด์เจิร์กขึ้นมาใหม่ที่ 126 กิโลกรัมอีกด้วย
สำหรับผลงานของ ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล
1 เหรียญทอง ซีเกมส์ 2005 ที่ฟิลิปปินส์
1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน ยกน้ำหนักชิงแชมป์โลกที่กาตาร์
1 เหรียญเงิน เอเชียนเกมส์ ที่กาตาร์
1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน ยกน้ำหนักชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศจีน
1 เหรียญทอง โอลิมปิก 2008 ที่ประเทศจีน