xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.-ส.ว. รายได้ท่านไม่พอ (อีกเหรอ!!!.)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทำงานมาได้ปีกว่า ฝานกฎหมายไม่ถึง 10 ฉบับ มีกระทู้ไร้สาระอีกร่วมร้อย สภาฯ ล่ม 3-4 ครั้ง โดดประชุมกันนับไม่ถ้วน แถมยังมีการพูดคำหยาบ เตะต่อย ทำร้ายร่างกายกันอีกเพียบ”

นี่คือผลงานสุดแสนประทับใจของเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชุดที่ 23 และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดที่ 10 ที่เพิ่งมีข่าวว่ากำลังจะขอขึ้นเงินเดือนเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ยังดีที่คณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติและตีตกไป โดยอ้างว่าขณะเศรษฐกิจของประเทศกำลังมีปัญหา เกรงว่าหากขึ้นเงินเดือนขณะนี้ จะกลายเป็นปัญหาได้

สำหรับเงินที่บรรดาผู้ทรงเกียรติจะขอปรับขึ้นนั้น สูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จากเดิม 104,330 บาท ขึ้นเป็น 110,120 บาท แบ่งเป็นเงินประจำตำแหน่ง 67,790 บาท และเงินเพิ่ม 42,330 บาท ตกปีหนึ่งก็เพิ่มขึ้นมาราว 44,119,800 บาท

นี่ยังไม่รวมกับสวัสดิการอื่นๆ อีกมากมายที่มีมาตั้งแต่เดิม ทั้งเบี้ยประชุมกรรมาธิการที่เหล่าบรรดาผู้ทรงเกียรติจะได้คนละ 1,500 บาทต่อครั้ง แถมยังสามารถเบิกเงินค่าเดินทาง ทั้งรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน รถประจำทางได้ฟรี มีสวัสดิการรักษาพยาบาลเพื่อเป็นการประกันสุขภาพในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง สามารถเดินทางไปดูงานต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีการแจกโน้ตบุ๊กประจำตัว ฯลฯ

เห็นรายได้และสวัสดิการเยอะซะขนาดนี้ เชื่อว่าหลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า อย่างนี้จะขึ้นเงินเดือนกันไปทำไมหนอ เพราะที่ผ่านมาปีๆ หนึ่ง เราต้องเสียเงินให้แก่ผู้ทรงเกียรติถึงปีละ 795,207,000 บาท ขณะที่บรรดาผู้ทรงเกียรติประชุมสภาฯ กันอาทิตย์ละ 2 วันเท่านั้น แถมยังมีช่วงปิดสมัยประชุมอีกด้วย ไม่แค่นั้นเวลาประชุมสภาครั้งหนึ่งสมาชิกก็โดดประชุมกันเป็นว่าเล่น ราวกับเป็นเด็กมัธยมฯ ที่นิสัยเสีย ชอบหนีโรงเรียนไปเที่ยวยังไงยังงั้นเลย

ด้วยเหตุนี้เอง ในฐานะของหมาเฝ้าบ้านที่ดี จึงยอมไม่ได้ที่ปล่อยให้เรื่องนี้หายไปกระแสลมทางเมืองไปเฉยๆ เพราะถึงยังไง เงินที่เสียไปก็เป็นเงินของพี่น้องใช่ไหมเอ่ย!!

ผู้ทรงเกียรติ ผู้ยากจน?

หากจะว่าไปแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บรรดาผู้ทรงเกียรติรวมหัวกันขอขึ้นเงินเดือน
ย้อนกลับไป เมื่อเดือนธันวาคม 2545 สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยมีการขอปรับเช่นกัน ทั้งๆ ที่เคยปรับขึ้นไปแค่ 2 ปีเท่านั้น โดยผู้นำทีมตอนนั้นก็คือ ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ประธานกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขอปรับเงินเดือนจาก 77,000 บาท เป็น 104,500 บาท

ขณะที่ ความพยายามล่าสุดที่จะขอขึ้นเดือน ก็เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 กลางห้องประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.มหาสารคามหลายสมัย เป็นผู้เสนอ

แถมยังได้ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีทรัพย์สินอยู่ประมาณ 36 ล้านบาท กล่าวสนับสนุนในทำนองว่าสมควรแล้ว เพราะที่ผ่านมามีการขึ้นเงินข้าราชการหลายครั้ง ขณะที่นักการเมืองไม่เคยปรับขึ้น และที่สำคัญทุกวันนี้นักการเมือง มีเงินใช้ไม่พอ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายทางสังคมเยอะ

จากการขอปรับเงินเดือนขึ้นบ่อยๆ นี่เอง จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า บรรดานักการเมืองเหล่านี้มีปัญหาเรื่องเงินกันมากขึ้นหรืออย่างไร

และเมื่อตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของบรรดา ส.ส. และ ส.ว. ก็พบว่าจริงๆ แล้วฐานะของแต่ละคนก็ไม่ธรรมดากันทั้งนั้น อย่างอดีตแกนนำขอขึ้นเงินเดือน อย่างชาญชัย ชัยรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่ทุกวันนี้ได้ดีเป็นถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีทรัพย์สินมากกว่า 26 ล้านบาท ส่วน ส.ส.ที่วันๆ เอาเวลาไปจัดม็อบไปประท้วง อย่างจตุพร พรหมพันธุ์ ก็อู้ฟู้ไม่ใช่น้อย เพราะมีทรัพย์สินมากถึง 6 ล้านบาท ขณะที่ บุคคลที่มีหนี้ท่วมหัว ร่วมร้อยล้าน อย่างศิริโชค โสภา ก็ยังมีเงินสดอยู่ในมือมากถึง 1 ล้านบาท

เสียสละทำงาน แล้วจะมาขอทำไม?

อย่างไรก็ตาม ถึงการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ จะได้รับการสนับสนุนจากบรรดาสมาชิกเป็นจำนวนมาก จนสามารถยัดไส้เข้ามาเป็นวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีได้ แต่ก็มีสมาชิกอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา แสดงทัศนะต่อประเด็นการขอขึ้นเงินเดือนของส.ส.และ ส.ว. ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่เห็นด้วย คือตราบใดที่ ส.ส และ ส.ว. ยังไม่สามารถที่จะปฏิบัติตนเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การเสนอเรื่องอย่างนี้ขึ้นมาก็จะเกิดความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาในระดับหนึ่ง ทั้งๆ ที่หากจะว่าไปแล้วมันก็มีเหตุผลในตัวมันเอง สำหรับนักการเมืองที่ไม่มีผลประโยชน์อย่างอื่น ถ้าโดยภาพรวมก็ต้องยอมรับว่าคงเป็นไปได้ยาก

“มันไม่ใช่ความเดือดร้อนระดับความเป็นความตายหรืออยู่ไม่ได้นะ แล้วผมก็คิดว่าคนที่จะเสนอตัวเข้ามาทำงานรับใช้สังคม โดยส่วนตัวก็ต้องพออยู่พอกินในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ไม่ควรที่จะมาแสวงหารายได้ที่มากเกินไปนัก แม้ว่ามันจะมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า ‘ภาษีสังคม’ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะการเมืองไทยระบบอุปถัมภ์ก็ยังดำเนินอยู่ บางคนไปงานศพ งานแต่ง วันหนึ่งเกือบ 10 งาน ต้องลงพื้นที่ต้องใช้เงิน อันนี้เขาก็อ้างได้ว่าเป็นค่าใช้จ่าย แต่ไม่สามารถอ้างได้ทั้งหมดว่า เพราะในระยะหลังกฎหมาย รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งพยายามที่จะมีกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบริจาคทางการเมืองหรือรับบริจาคทางการเมืองในลักษณะนี้จนเกินไป”

ประเด็นสำคัญในสภาวการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดถึงเรื่องรายได้ของส.ส. และ ส.ว. ควรจะต้องพูดถึงคุณภาพการเป็นองค์รวมของ ส.ส.และ ส.ว. ของความเป็นฝ่ายนิติบัญญัติว่าได้สร้างความน่าเชื่อถือ ศรัทธา หรือแม้กระทั่งความไว้วางใจขึ้นมาในสายตาประชาชนแล้วหรือยัง แล้วหากได้คำตอบว่ายัง ก็ต้องมาวิเคราะห์กันดูว่าเพราะอะไร และ ส.ส.และ ส.ว. ก็ต้องมาปรับปรุงการวางตัวทั้งในส่วนบุคคลและภาพรวมว่าควรทำอย่างไร

“เมื่อประชาชนเกิดความไว้วางใจ เชื่อถือศรัทธาแล้ว เราสามารถเป็นที่พึ่งของเขา ผมเน้นว่าโดยภาพรวมนะ ไม่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เรื่องรายได้ อะไรเหล่านั้นก็จะใช้เหตุใช้ผลพูดกันได้มากกว่า และที่สำคัญต้องอยู่ในภาพการของเศรษฐกิจภายในประเทศดีกว่านี้”

ในส่วนของตัวเงินเดือน เมื่อถูกถามว่าเพียงพอหรือไม่ แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า หากคนเราต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึงคำว่าพอ คือใจของเราเพียงพอแค่ไหน เมื่อเราเป็นส.ส. หรือ ส.ว. แล้วต้องสวมสูท ต้องมีคนเรียกท่าน เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเราตามไปด้วย

“การที่เราเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ ถ้าเราสำนึกตนว่าเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง เพียงแค่มาทำงาน ทำหน้าที่อย่างหนึ่งและได้รับค่าตอบแทน ซึ่งเป็นเงินหลวงท่านให้มา แล้วก็ยังมีเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากรายได้ที่เห็น เช่น การให้มีผู้ปฏิบัติงานประจำตัวถึง 5 คน ค่าใช้จ่ายในการขึ้นเครื่องบินในการไปปฏิบัติงานราชการก็ไม่ต้องจ่ายเงินเอง มันก็อยู่ในวิสัยที่เราสามารถจัดสรรได้อย่างไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว”


ฟังประชาชนบ้างดีหรือเปล่า?

พูดถึงบรรดาผู้ทรงเกียรติกันซะยาว ถึงตอนนี้ เราจะหันไปฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนกันบ้าง เพราะต้องไม่ลืมว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เอาไปเลี้ยงบรรดานักการเมืองเหล่านี้ ก็มีที่มาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้น

เริ่มต้นที่โปรแกรมเมอร์หนุ่ม ผู้เป็นคนการเมืองตัวยง อย่าง เมธี แก้วปัญญา ซึ่งเล่าว่า โดยส่วนตัวนั้นรู้ดีว่าแต่ละเดือนบรรดาผู้ทรงเกียรติได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ส่วนการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอขอขึ้นเงินเดือนมานั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าสามารถทำได้ แต่จะต้องให้เหตุผลและความจำเป็นที่ชัดเจนและสมควรด้วย เนื่องจากเงินที่จะขอปรับขึ้นนั้น เป็นภาษีอากร จากพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ควรจะนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณา ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม

“ส่วนตัวคิดว่าภาวการณ์ที่บ้านเมืองประสบภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้นั้น ยังไม่ควรที่จะเพิ่มเงินเดือน แล้วก็ควรจะมีคณะกรรมการประเมินผลการทำงานให้มีมาตรฐานในการขอขึ้นเงินเดือนเช่นเดียวกับภาคเอกชนครับ”

ขณะที่ วิไลพร กฤตพุทธิกุล ผู้ช่วยทั่วไปของ K.C. Guesthouse กล่าวว่า จำได้รางๆ ว่า ส.ส. และ ส.ว. ได้รับค่าตอบแทนเดือนละประมาณแสนกว่าบาท หนำซ้ำยังมีเงินพิเศษอีกต่างหาก และยิ่งพอรู้ว่ามีการเสนอขึ้นเงินเดือน เธออุทานเสียงหลงว่า “โอ้โห...ไม่เอาเปรียบประชาชนไปหน่อยเหรอคะ!” พร้อมกับกล่าวต่อว่า

“หยุดความคิดนั้นไว้ก่อนดีกว่า เอาเงินที่จะเพิ่มมาช่วยเหลือคนตกงานก่อนจะดีกว่าไหม รอให้สถานการณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ค่อยมาพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่เถอะค่ะ”

ด้านแม่ค้าแผงลอยอย่าง เจนจิรา แดงตรง ซึ่งปลีกตัวจากการเตรียมตั้งแผงมาพูดคุยแสดงความคิดเห็น เธอส่ายหัวบอกไม่เคยรู้เลยว่าคนพวกนั้นได้รับค่าตอบเท่าไหร่ แต่ก็คงสูงมากหากเทียบกับอาชีพส่วนใหญ่ของคนในสังคม

“มีปัญหาหลายอย่างคนทำอาชีพค้าขายประสบอยู่ อย่างตอนฝนตกหนักๆ ท่อระบายน้ำมันตันใช่ไหม น้ำก็จะท่วมทันทีเลย เดือดร้อนกันไปหมด ก็ไม่เห็นพวก ส.ส. ส.ว. จะมาช่วยเลย และยังมีหน้ามาขอขึ้นเงินเดือนอีก ถ้าทำงานบริหารบ้านเมืองอย่างเต็มความสามารถ ช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ แล้วขอขึ้นเงินก็ว่าไปอย่าง”
………

เห็นบรรดา ส.ส. ส.ว. ออกมาเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือนตัวเองอย่างนี้ ก็อดนึกถึงบรรดาผู้ใช้แรงงานกรรมกรที่มักออกมา เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม ทุกวันที่ 1 พฤษภาคมไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้กว่าเงินจะขึ้นได้สักบาท 2 บาทก็แสนลำบากยากเข็ญ ขณะที่บรรดาผู้แทนขึ้นได้ทีละหลายพันหลายหมื่นบาท ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ควรจะเห็นใจหรือสมเพชผู้ทรงเกียรติดีกันแน่

แต่อย่างว่า เวลาพวกเขาจะทำอะไรสักอย่างก็คิดเองเออเองอยู่แล้ว ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาถามคนจ่ายเงินเดือนอย่างเราหรอก

*****************
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK








กำลังโหลดความคิดเห็น