xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ผ่านวาระแรก ร่างพรบ.กู้4แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - หลังอภิปรายนาน 11 ชม. ส.ว.ผ่านวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน ด้วยคะแนน 110 ต่อ 21 เสียง ตั้งกรรมาธิการฯ แปรญัตติใน 7 วัน "อภิสิทธิ์-กรณ์" ให้มั่นใจรัฐบาลจะใช้เงินอย่างโปร่งใส "เรืองไกร" ลั่นยื่นศาล รธน.ตีความ "คำนูณ" ยันไม่รับร่างฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า วานนี้ (10 ส.ค.) มีการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจ พ.ศ.. (พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบแล้ว

ก่อนการประชุม นายนิคม ไชยรัชภานิช รองประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า มี ส.ว.แสดงความจำนงจะอภิปรายร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท 61 คน ซึ่งจะให้เวลาคนละ 10 นาที่ รัฐบาลต้องขอซักถาม 2 ชั่วโมง ดังนั้นคงจะเสร็จสิ้นประมาณ 24.00 น. ส่วนความคิดเห็นต่างๆ ก็เป็นสิทธิของ ส.ว.แต่ละคน ขึ้นอยู่กับการชี้แจงของรัฐบาลว่าจะทำให้สมาชิกคลายข้อสงสัยและถูกใจหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เสียงยังก้ำกึ่งว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน

อย่างไรก็ตาม วิปวุฒิได้เตรียมรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไว้แล้ว หากที่ประชุมรับหลักการในวาระหนึ่ง ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 25 ส.ค. หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการก็จะได้มีการซักถามข้อสงสัย แผนงานในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีที่ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งยังมีการติดใจเรื่องการใช้จ่ายและยังไม่มีการดำเนินการ ดังนั้นจึงมีข้อสงสัยในเรื่องรายละเอียด และเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น

***เรืองไกรขู่ยื่นศาล รธน.ตีความ
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า หากตนไม่สามารถโน้มใจ ส.ว. ให้โหวตคว่ำร่างดังกล่าวได้ ภายหลังร่างดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระบาทสมเด็ขพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ตนจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ม.154 โดยใช้เสียงจากส.ส.และส.ว.ทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1ใน10 เสนอต่อประธานวุฒิสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างดังกล่าว เพราะเห็นว่าร่างดังกล่าวไม่ถูกต้องตามบทบัญยัติรัฐธรรมนูญ

ผมเห็นว่าร่างดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.167 เพราะแผนงานของ โครงการในแต่ละรายการของการใช้งบประมาณ ใช้จ่ายงบประมาณไม่ชัดเจน เป็นการทำงบประมาณไม่มีที่มาที่ไปของการใช้งบ เปรียบเหมือนการตีเช็คเปล่า เป็นการทำงบประมาณ ชุ่ยและมั่ว และไม่ผ่ายการ ตรวจสอบในวิธีการทางงบประมาณ ตนจึงเห็นว่าไม่น่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

***ส.ว.เรียงหน้าถล่มเงินกู้ 4 แสนล้าน
จากนั้นเวลา 10.00 น. ที่ประชุมวุฒิสภา ได้เริ่มประชุมโดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว นายกรณ์ ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลในการประชุมครั้งที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้นวันนี้ จึงเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายโดยนายประสพสุขได้แจ้งว่า ส.ว.จะมีเวลาอภิปรายคนละ 10 นาที และจะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นระยะด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปรายของ ส.ว.ส่วนใหญ่จะท้วงติงการออก ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทไม่เหมาะสม ขาดรายละเอียดที่จำเป็นในการตรวจสอบ เพื่อป้องกันการทุจริต ควรจะเสนอเป็นร่างพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมากกว่า และ ถ้ากู้มาก ดอกเบี้ยก็จะมากตาม ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อถือของประเทศไทยในระยะยาว ที่สำคัญยังมีการทุจริตในการใช้งบประมาณในหลายโครงการ

นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่รัฐบาลกลับทำงานคล้ายๆ กับประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ แล้วยังมาเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน อีก ทั้งๆ ที่การใช้เงินตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะใช้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งตนเห็นว่า รัฐบาลควรที่จะเสนอไปตามร่าง.พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมากกว่า

***แฉรีด 20% กรมฯปกครองท้องถิ่น
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายปีพ.ศ. 2552 กำลังมีการปิดงบประมาณแล้วปรากฎว่ายังไม่มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเท่าไหร ทั้งนี้การกระจายงบประมาณที่ผ่านมามีการเรียกเร่ขายกันมากโดยมีการเรียกรับผลประโยชน์ 10-20 % โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีการเฉลี่ย งบประมาณให้ส.ส.400 คน ได้คนละ 25 ล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1.2หมื่นล้านบาท โดยเอาไปฝากไว้ที่กรมส่งเสริมฯ และให้หน่วยงานทำเรื่องเบิกจ่าย ตามสายงานให้กับ ส.ส. ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่รู้ไม่น่าจะเป็นไปได้ จึงเรียกร้อง ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ให้เข้ามาตรวจสอบด้วย ดังนั้น ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะมีการกู้เงินเพิ่มเติม

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เรื่องกู้เงินตาม พ.ร.บ.ยังมีเวลา ไม่เหมือนกับ พ.ร.ก.กู้เงินทีผ่านไปก่อนหน้านี้ ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ขาดรายละเอียด ที่จำเป็นในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะ มาตรา 3 เป็นการจำกัดหน้าที่รัฐสภาเพียงแค่ให้รับทราบเท่านั้น ถ้าทำแบบนี้จะเป็นประเพณีที่ไม่ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายในช่วงบ่ายเป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่อภิปรายท้วงติงว่า ยังไม่เห็นประโยชน์ของการนำเงิน 4 แสนล้านบาท ไปใช้จ่ายและไม่ใช่เร่งด่วนอะไรที่จะต้องกู้เงิน อาทิ นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กล่าว่า ตนขอให้รัฐบาลโชคดีผ่านกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ ซึ่งตนให้กำลังใจนายอภิสิทธิ์ เพราะยุคนี้คงหาคนดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจง ความจำเป็นการต้องออก พ.ร.บ.กู้เงินครั้งนี้ เพราะแม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้นจริง แต่เป็นการดีขึ้นจากสิ่งที่เลวในอดีต ทำให้จากเศรษฐกิจไม่ดีเป็นไม่ดีน้อยลง การขยายตัวทางเศรษฐกิจในเดือน ต.ค.-ธ.ค. ที่จะเป็นบวก แต่ไม่ได้ทำให้ทั้งปีเป็นบวก ดังนั้น แม้จะใช้เงิน 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ และอีก 4 แสนล้านบาทจากร่าง พ.ร.บ.นี้ รวมแล้ว 6 แสนล้านบาท แต่ไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนของรัฐบาลนี้เป็นเพียงแค่หัวเชื้อเพื่อให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นและกล้าที่จะต่อยอด

ขอยืนยันในเรื่องความโปร่งใส เพราะถึงจะเป็นเรื่องการจ่ายเงินนอกงบประมาณ แต่การออกเป็น พ.ร.บ. ครั้งนี้ก็เพื่อให้มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบ สำเหรับเงิน 4 แสนล้านบาทในการลงทุนระยะกลางและระยาว อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีรายละเอียดน้อยขณะนี้ แต่เมื่อสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ก็จะได้เข้าไปช่วยกันคิดทำให้เกิดความโปร่งใส อีกทั้งการแก้ไขรายละเอียดของงบประมาณตรงนี้ได้ ก็ต่อเมื่อทำเป็นมติครม. ซึ่งประชาชนจะได้รับทราบถึงสาเหตุ หากต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

สำหรับโครงการชุมชนพอเพียงนั้น นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพรรค อยู่ในความรับผิดชอบของตนคล้ายกับโครงการเอสเอ็มแอล แต่เป็น เอสเอ็มแอล ภาค 2 ซึ่งเอสเอ็มแอลแรกเป็นการส่งเงินไปให้ชาวบ้านแล้วจะทำอะไรก็ได้ บางแห่ง 50 หลังคาเรือนก็เอาเงินไปหารแบ่งกันเลย สำหรับโครงการชุมชนพอเพียง ที่ประชาชนที่เสนอไปอาจเกิดความหงุดหงิด เพราะเสนอไม่เป็นไปตามกรอบ จึงทำให้ พ่อค้าหัวใส เข้าไปยุ่งเกี่ยวจึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ตนกำลังตรวจสอบอยู่และยังไม่ได้อนุมัติโครงการไป ถือเป็นการความบกพร่องของตนที่ไม่สามารถชวยประชาชนทั้ง 8 หมื่นแห่งได้

ขณะนี้มีการนำเสนอโครงการนี้ จำนวน 50 ล้านบาท จาก 5,300 ล้านบาท แต่มีปัญหาในเรื่องของคู่แข่งในการขายมีน้อย ทั้งนี้ตนยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ได้โกง โดยในสัปดาห์นี้จะให้ตำรวจกองปราบเข้าไปตรวจสอบ จากนั้นเราจะเข้าไปดูว่าเราจะเข้าไปเยียวยาได้อย่างไร หากอันไหนไม่ดีก็ต้องยกเลิก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในกลุ่ม 40 ส.ว. ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว และไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการ ยากต่อการติดตามตรวจสอบ และอาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ เหมือนกรณีโครงการชุมชนพอเพียง นอกจากนี้เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเริ่มมีการส่งสัญญาณที่จะฟื้นตัว จึงไม่สอดคล้องที่จะออกเหตุผลออกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งการผ่านพ.ร.ก.กู้เงินที่ผ่านมาก็ยังไม่มีสามารถนำออกมาใช้ได้ อีกทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญก็จะผ่านสภาในเร็วๆ นี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะขอกู้เงินอีก 4 แสนล้านบาท

***"คำนูณ" ยันไม่รับร่างกฎหมาย
นาย คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายเป็นคนสุดท้ายว่า ตนไม่อาจรับร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 4 แสนล้านบาทให้กระทรวงคลังได้ เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีสาระสำคัญให้สภาตรวจสอบได้ วงเงินที่กระทรวงการคลังกู้ไม่แน่ใจว่าความเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่ และไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเมื่อกู้ได้ผ่านแล้วจะชดใช้เงินอย่างไร จะเห็นว่าร่าง พร.บ.ดังกล่าวให้แสดงให้เห็นถึงความฉุกละหุกและความไม่รอบครอบ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีหลายประเด็นที่จะหมิ่นเหม่ว่าจะขัดต่อหลายมาตราในหมวด 8 ซึ่งเป็นการบัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ

นายคำนูณกล่าวว่าตนไม่อาจอนุมัติร่างได้ เพราะจะกลายเป็นตัวย่างที่เลวแก่รัฐบาลต่อไป ซึ่งไม่มั่นใจว่านายกฯคนต่อไปจะเป็นใครเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว เพราะเกรงว่าถ้านายกฯคนต่อไปมาบริหารประเทศ จะมาอ้างว่าเงินไม่พอ แล้วใช้เงินแบบ อีลุ่ยฉุยแฉก ซึ่งมีคนบอกว่าให้รับร่างนี้ไปก่อนแล้วค่อยมาแปรญัตติที่หลัง เห็นว่าหากลงมติให้ผ่านแล้วเกรงว่าจะตอบคำถามตัวเองไม่ได้ว่าจะทำงานในฐานะนิติบัญญัติได้หรือไม่ อยากให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายที่ดีกว่านี้เข้ามาพิจารณา เมื่อถึงขั้นนั้นรัฐบาลจึงจะได้คำตอบ เชื่อว่าจะเป็นการส่งสัญญาณให้สะเทือนไปถึงรัฐบาลในการตัดสินใจในการใช้วิธีการทางรัฐสภาต่อไป

***"กรณ์" อ้อน ส.ว.ให้ผ่านร่าง กม.
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า อิทธิพลของส.ว.มีมากต่อการ ทำงานของรัฐบาล ก่อนหน้านี้ที่ส.ว.ติงเรื่องเงินกู้ รัฐบาลก็ไปทำรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้นแล้ว 2 รอบ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ เร่งการกลั่นกรองโครงการ เร่งออกระเบียบการใช้เงิน โดยจะเอาไปใช้ในโครงการอื่นๆ หรือโยกงบข้ามกระทรวง ข้ามหน่วยงานไม่ได้ และการประเมินโครงการว่า มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาคและช่วยเหลือประชาชนได้จริงหรือไม่ ตนไปประมาณ 10 จังหวัดในช่วงที่ผ่านมา พบความหลากหลายในความต้องการใช้งบประมาณ เช่น เรื่องการขยายโรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานี การบูรณะสถานที่ท่องเที่ยวที่สุโขทัย การสร้างเขื่อนกันน้ำท่วมที่เชียงใหม่ เป็นต้น ยังไม่นับถึงระบบชลประทานที่เกษตรกรต้องการ

นายกรณ์ กล่าวว่า สัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มที่จะดีขึ้น เป็นเพียงสัญญาณ โดยสัญญาณนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอกชนเริ่มมั่นใจบทบาทรัฐบาลที่จะทำในครึ่งปีหลังซึ่งก็มาจากแผนไทยเข้มแข็งนั่นเอง มีนักวิชาการหลายคนมองเป็นบวก อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม เห็นว่า ครึ่งปีหลังแผนไทยเข้มแข็งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนต่อไปของแผนไทยเข้มแข็ง ภายในอาทิตย์หน้า สำนักงบประมาณจะเสนอแผนต่อครม. จากนั้นจะมาพิจารณารายละเอียดโครงการอีกครั้ง แล้วจึงจะเสนออนุมัติงบเพื่อดำเนินการใช้เงินทำโครงการได้ ส่วนเรื่องการตรวจสอบโครงการ ตั้งแต่ขั้นประมูล ราคากลางที่จะใช้ในการประมูลนั้น สำนักงบฯเป็นผู้คำนวณ ฉะนั้นไม่แตกต่างจากระบบปกติ จึงสบายใจได้ แม้ส.ว.บางคนจะมองว่า เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว จะทำอย่างไร แต่เรื่องนี้ไม่มีปัญหาเพราะโครงการที่อนุมัติไปแล้วไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงได้อีก และไม่ต้องกังวลเรื่องล็อคสเปค ส่วนถ้าเงินเหลือก็ต้องคืนคลัง ฉะนั้นขอให้มั่นใจในเจตนาของรัฐบาล และพิจารณาให้ผ่านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

***โหวตผ่านฉลุย 110 ต่อ 21 เสียง
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้วิธีนี้ เพราะบ้านเมืองกำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ จึงจำเป้นต้องใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูย และกำหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายวิธีพิจารณางบประมาณ และ กฎหมายหนี้สาธารณะ และยืนยันว่ารัฐบาลยินดีรับความเห้นของส.ว.ไปปรับปรุง และพร้อมให้ร่วมตรวจสอบ และแก้ไจต่างๆได้ในขั้นตอนของการแปรญัตติจากคระกรรมาธิการวิสามัญ

ขอให้สบายใจได้ว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณเหล่านี้อย่างโปร่งใส อำนาจที่ได้ไปไม่ได้หมายความว่าจะใช้เงินทั้งหมด รัฐบาลไม่มีเจตนาจะเลี่ยงรัฐธรรมนูญ หรือกำหมายอื่น เพียงแต่เราออกมาในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการให้อำนาจกับสภา เราก็คงจะออกเป็นพระราชกำหนดไปแล้ว และหากอยู่สภาวะที่บ้านเมืองปกติ รัฐบาลไม่คิดจะทำแน่นอน”

อย่างไรก็ตามหลังจากสมาชิกได้ใช้เวลาพิจารณา11 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวาระ1 ด้วยคะแนนเสียง 110 ต่อ 21 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 27 คน โดยมีการแปรญัตติภายใน 7 วัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น