xs
xsm
sm
md
lg

กู้ 4 แสนล. ส.ว.เสียงแตก “มาร์ค-กรณ์” ลุ้นระทึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ประธานวุฒิสภารับถกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านวันนี้ ส.ว.เสียงแตกเป็น 3 กลุ่ม รอ “มาร์ค-กรณ์” แจงให้เคลียร์ก่อนพิพากษา ด้าน “คำนูณ” ย้ำจุดยืนเดิมค้าน ร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้าน ระบุขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ เลี่ยง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ร.บ.เงินคงคลัง และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ หวังให้ผ่านงบไทยเข้มแข็ง 1.55 ล้านล้านโดยไม่ผ่านการแสดงความคิดเห็น ส่อขัด รธน. แนะควรให้ผ่านวาระ 1 แล้วให้ ส.ว.แปรญัตติ โฆษก ปชป.ปัดล็อบบี้ ส.ว.โหวตหนุน

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การประชุมวันนี้ (10 ส.ค.) จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และน่าจะไม่มีอะไรมากคงจะลงมติร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวประมาณเวลา 23.00 น.และคาดว่าเสียงคงจะก้ำกึ่ง ยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้ให้ผ่านและไม่ให้ผ่าน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแน่นอน ซึ่ง ส.ว. มีความคิดที่แตกต่างกันอยู่แล้ว และเป็นตัวของตัวเองทุกคน ส่วน ร่างพ.ร.บ.นี้จะผ่านหรือไม่ ต้องรอดูว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จะชี้แจงมีเหตุผลมากน้อยเพียงใด แต่ก็เชื่อว่าน่าจะชี้แจงได้ เพราะมีเวลาถึง 2 เดือนในการทำการบ้าน

ส่วนขณะนี้ ส.ว.เสียงแตกเป็น 3 กลุ่ม กลัวหรือไม่ว่าจะคว่ำร่างพ.ร.บ.นี้ นายประสพสุข ยอมรับว่า ส.ว.เสียงแตก เชื่อว่าส่วนใหญ่จะรอการชี้แจงของนายกฯ และรมว.คลังก่อน จะไปคาดการณ์ก่อนไม่ได้

“คำนูณ” ย้ำไม่ทำตามระเบียบงบประมาณ

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีว่า ยังยืนยันเช่นเดิมที่จะคัดค้านร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามในส่วนของ ส.ว. 150 คน ก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน รวมทั้งการคัดค้านไม่รับร่างโดยให้ร่างตกไปเลย ซึ่งตรงนี้สภาผู้แทนฯ สามารถนำกลับมาพิจารณายืนยันร่างเดิมได้ภายใน 15 วัน กฎหมายผ่านออกมาใช้ได้

สำหรับเหตุที่ตนคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าเงินกู้ 4 แสนล้านบาทนี้ ไม่ได้ทำตามระเบียบงบประมาณ โดยไม่ต้องส่งคลัง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ดังนั้นจึงเห็นว่าหากรัฐบาลจะใช้เงินนอกงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง รัฐบาลควรจะเสนอโครงการตาม พ.ร.บ.งบประมาณ หรือเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ไทยเข้มแข็ง เข้ามาเลย หรือเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ จะเหมาะสมกว่า แล้วรณรงค์ภาคประชาสังคมเข้าใจว่าใช้งบประมาณอย่างไร

นายคำนูณกล่าวต่อว่า หากรัฐบาลยืนยันจะใช้เงินนอกบประมาณในโครงการ ไทยเข้มแข็ง ทำไมไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.ไทยเข้มแข็งเข้ามา แต่หากไม่อยากแก้ไข พ.ร.บ.งบประมาณหรือ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ น่าจะมีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะเป็นการใช้ระเบียบราชการบริหารแผ่นดินครอบจักรวาลเกินไปหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ม. 8 กำหนดถึงการใช้งบประมาณว่า ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ แต่ พ.ร.บ.เงินกู้ออกมามีการยกเว้นไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ.งบประมาณ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ กับร่างกฎหมายฉบับนี้ ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ และโครงการไทยเข้มแข้งก็ไม่ได้ระบุในตัว พ.ร.บ. ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นภาพมายา ตนหวังว่าหากร่างไม่ผ่าน ส.ว.รัฐบาล อย่าถือว่าแพ้หรือชนะ และไม่ต้องให้สภาหยิบยกมาขึ้นมาพิจารณา แต่ควรให้ ส.ว.ได้มีการเสนอแปรญัตติแก้ไข

“อันตรายที่สุดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ มาตรา 4 วรรคแรกที่ระบุว่า เงินที่ได้จากการกู้ให้นำไปจ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎ หมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง วรรคสองระบุให้อำนาจกระทรวงการคลังนำไปให้กู้ต่อได้ เท่ากับเป็นการยกเว้นกฎหมายสำคัญไป 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และ พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 และเป็นการการเลี่ยง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ตั้งแต่ขั้นตอนการขอตั้งงบประมาณโดยหน่วยงาน, การพิจารณางบประมาณในรัฐสภา, การจัดทำงบประมาณหลังสภาอนุมัติ, การเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละงวด ที่วิวัฒนาการของกฎหมายไทย กำหนดไว้โดยละเอียด โดยเฉพาะวิวัฒนาการสูงสุดในหมวด 8 (มาตรา 166-170) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเว้นหมด”

นายคำนูณชี้ว่า แม้จะมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหาร โครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ.2552 แต่ก็เป็นเมื่อสังคมมีเสียงคัดค้าน ท้วงติง และระเบียบดังกล่าวที่ตนมีอยู่ในมือเป็นเพียงตัวร่าง ไม่แน่ใจว่าจะตรงกับระเบียบตัวจริงที่น่าจะผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขั้นสุดท้าย เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2552 นี่เองหรือไม่ มิหนำซ้ำยังหมิ่นเหม่เอาการอยู่ว่านายกรัฐมนตรี มีอำนาจจริงหรือไม่ที่จะออกระเบียบไปกำหนดขั้นตอนการใช้เงินที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ

สำหรับประเด็นที่เตรียมไว้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นายคำนูณกล่าวว่า มีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.ระเบียบการใช้เงินเพิ่งออกมาหลัง ครม.อนุมัติแผนไปแล้ว 3 เดือน และหลังสภาอนุมัติ พ.ร.ก.ไปแล้ว 1 เดือนเศษ 2.ในระเบียบฯ นี้ยังจะต้องมีระเบียบย่อยต่อไปอีก โดยสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง 2.ในระเบียบฯ นี้ก็ถือว่ามี 2 ระเบียบ 2 มาตรฐาน คือแยกงบ 5 จังหวัดชายแดนใต้ไว้เป็นการเฉพาะ 3.ไม่มีการตั้งงบประมาณจ่ายหนี้คืนไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งในพระราชกำหนดที่ผ่านไปแล้ว เพิ่งมามีมติคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมรายจ่ายในงบประมาณ และรอแปรญัตติอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

“ต่อไปการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในบ้านเราจะมี 4 ระบบ คือ ระบบงบประมาณตามปกติ, ระบบไทยเข้มแข็ง, ระบบงบประมาณบวกไทยเข้มแข็ง และระบบไทยเข้มแข็งใน 5 จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะ ผมไม่ได้คัดค้านการใช้เงิน แต่คัดค้านวิธีการใช้เงินที่เอาแต่จะให้เร็วจึงเลือกใช้เป็นระบบนอกงบประมาณ”

“สรุปก็คือ รัฐบาลอาศัยสถานการณ์พิเศษ คือ วิกฤตเศรษฐกิจ และการปิดหีบงบประมาณปี 2552 ไม่ลง เอาแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มาพ่วงไว้ในพระราชกำหนดและ พ.ร.บ.ให้สภาอนุมติกู้เงินอีก 6 แสนล้านสำหรับโครงการต่างๆ ในแผนรวม 1.5 ล้านล้าน แทนที่จะออกพระราชกำหนดกู้เงินแค่ 2 แสนล้านบาทเพื่อปิดหีบงบประมาณปี 2552 ซึ่งก็คือแท็คติคในการให้รัฐสภาอนุมัติแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 หรือนัยหนึ่งอนุมัติแผนกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของระบบทุนนิยมโลก โดยไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นโดยตรง” นายคำนูณกล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ตนเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้าน มาถึงวันนี้ไม่จำเป็นแล้ว เพราะเงินกู้ 4 แสนล้าน นำไปใช้ในงบประมาณปี 53-54 -55 ซึ่งสามารถเข้าสู่การพิจารณางบประมาณได้ ซึ่งรัฐบาลก็บอกเองว่าขณะนี้วิกฤติเศรษฐกิจคลี่คลายแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน ตนเห็นด้วยกับ ส.ว.ควรหยุดยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยการรับร่างไว้ก่อน แล้วมาเสนอแปรญัตติเข้าสู่ระบบงบประมาณตามปกติ ซึ่งสามารถทำได้ เพราะไม่ได้ใช้ทันที ยังมีเวลาเพียงพอ ทำไม่ต้องอย่างทำเร่งด้วย จึงไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะดึงดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะหากดึงดันไปรัฐบาลอาจจะไม่มีความชอบธรรม เป็นการฉวยโอกาส

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทว่า ความเห็นของ ส.ว.แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 เห็นว่า จะคว่ำ ร่างพ.ร.บ.ฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มส.ว.ที่เคยคว่ำร่างพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังกล่าวมาแล้วก่อนที่จะปิดสมัยประชุมครั้งที่แล้ว โดยกลุ่มดังกล่าวเห็นว่า รัฐบาลควรออกเป็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่า พ.ร.บ.หนี้สาธารณะได้กำหนดเพดานเงินกู้ได้ไม่เกิน 20 % แต่ส.ว.เห็นว่า เรื่องนี้รัฐบาลก็เสนอแก้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้

2.กลุ่มที่เห็นด้วย โดยเห็นว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการ กระตุ้นเศรษฐกิจ และวุฒิสภาก็ผ่านร่างพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแล้ว ซึ่งเงินงบประมาณก็รวม 8 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลงบประมาณไปใช้ได้ตามที่ได้วางโครงการไว้ ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มเป็นกลาง ซึ่งกลุ่มนี้จะรอฟังคำชี้แจงจากรัฐบาลก่อนที่จะตัดสินใจโหวต ดังนั้นเสียงในการลงมติขณะนี้ก็ยังกำกึ่งกัน โดยเสียงที่ลงมติที่ผ่านมาก็จะอยู่ราวๆ 120 เสียง จึงอยู่ในลักษณะ 40-40-40

นายสมชายกล่าวว่า ตนเห็นว่า รัฐบาลควรชี้แจงวุฒิสภาถึงการบริหารเงิน ที่สภาได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้ว่า นำไปบริหารอย่างไร สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เงินเก่าที่นำไปใช้ไม่ได้ผลแต่กลับจะมาของบประมาณไปใช้อีก ที่สำคัญมีการป้องกันการทุจริตในการงบประมาณอย่างไร

เด็จพี่หนุน ส.ว.คว่ำ กม.

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  พรรคของเรียกร้องให้ ส.ว. แสดงจุดยืนโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน กรณีที่จะมีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 4 แสนล้านบาท ในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.) เพราะจากการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 4 แสนล้านบาท ไปแล้ว พบว่ามีการทุจริต หลายโครงการ ทั้งโครงการชุมชนพอเพียงและโครงการต้นกล้าอาชีพ ดังนั้น พรรค ขอเรียกร้อง ส.ว.พิจารณาเรื่องนี้ โดยขอให้ทำความดีเหมือนที่ทำตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันมาแล้ว

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทมาก เพราะจำเป็นต้องใช้ในการกระตุ้เศรษฐกิจให้กลับคืนมาเป็นด้านบวกให้ได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะขอเสียงสนับสนุนจากสภาสูง โดยไม่ใช้วิธีการล๊อบบี้แต่อย่างใด แต่จะให้ข้อชี้แจง อย่างเต็มที่ตลอดการพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น