xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ย้ำจุดยืนเดิม ค้าน พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้าน-ระบุจงใจเลี่ยง กม.ผ่านงบไทยเข้มแข็ง 1.55 ล้านล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา
ส.ว.สรรหา ยืนยันจุดยืนเดิม ค้าน พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้าน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาพรุ่งนี้ ระบุขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ เลี่ยง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ร.บ.เงินคงคลัง และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ส่อขัด รธน. หวังให้ผ่านงบไทยเข้มแข็ง 1.55 ล้านล้าน โดยไม่ผ่านการแสดงความเห็น

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายคำนูญ สิทธิสมาน กล่าวในรายการ "สภาท่าพระอาทิตย์"

วันนี้ (9 ส.ค.) นายคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีถึง พ.ร.บ.เงินกู้ แสนล้านว่า 4 แสนล้านบาท ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ ว่า ตนยังยืนยันในจุดยืนเดิม คือค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อย่างไรก็ตามการพิจารณาร่างดังกล่าว ส.ว.ทั้ง 150 คน คงมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปคือทั้งคัดค้านไม่รับร่างให้ร่างตกไปเลย ซึ่งตรงนี้สภาผู้แทนฯ สามารถนำกลับมาพิจารณายืนยันร่างเดิมได้ภายใน 15 วัน กฎหมายผ่านออกมาใช้ได้

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า การที่ตนคัดค้านเนื่องจากว่า เงินกู้ 4 แสนล้านนี้ ไม่ทำตามระเบียบงบประมาณไม่ต้องส่งคลัง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ดังนั้น ตนเห็นว่า หากรัฐบาลจะใช้เงินนอกงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง รัฐบาลควรจะเสนอโครงการตาม พ.ร.บ.งบประมาณ หรือเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ไทยเข้มแข็งเข้ามาเลย หรือเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ จะเหมาะสมกว่า แล้วรณรงค์ภาคประชาสังคมเข้าใจใช้งบประมาณอย่างไร หากรัฐบาลยืนยันจะใช้เงินนอกงบประมาณทำไมเข้มไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.ไทยเข้มแข็งเข้ามา แต่หากไม่อยากแก้ไข พ.ร.บ.งบประมาณหรือ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ น่าจะมีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ใช้ระเบียบราชการบริหารแผ่นดินครอบจักรวาลเกินไปหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญหมวด 8 กำหนดถึงการใช้งบประมาณต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ แต่ พ.ร.บ.เงินกู้ออกมามีการยกเว้นไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ.งบประมาณ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ กับร่างกฎหมายฉบับนี้ ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ โครงการไทยเข้มแข้งก็ไม่ได้ระบุในตัว พ.ร.บ.ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นภาพมายา ผมหวังว่าหากร่างไม่ผ่าน ส.ว.รัฐบาล อย่าถือว่าแพ้หรือชนะ และไม่ต้องให้สภาหยิบยกมาขึ้นมาพิจารณา แต่ควรให้ ส.ว.ได้มีการเสนอแปรญัตติแก้ไข

นายคำนูณ ระบุว่า อันตรายที่สุดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ มาตรา 4 วรรคแรกที่ระบุว่า เงินที่ได้จากการกู้ให้นำไปจ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง วรรคสองระบุให้อำนาจกระทรวงการคลังนำไปให้กู้ต่อได้ เท่ากับเป็นการยกเว้นกฎหมายสำคัญไป 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และ พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 และเป็นการการเลี่ยง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ตั้งแต่ขั้นตอนการขอตั้งงบประมาณโดยหน่วยงาน, การพิจารณางบประมาณในรัฐสภา, การจัดทำงบประมาณหลังสภาอนุมัติ, การเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละงวด ที่วิวัฒนาการของกฎหมายไทยกำหนดไว้โดยละเอียด โดยเฉพาะวิวัฒนาการสูงสุดในหมวด 8 (มาตรา 166 – 170) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเว้นหมด

นายคำนูณ ชี้ว่า แม้จะมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ.2552 แต่ก็เป็นเมื่อสังคมมีเสียงคัดค้าน ท้วงติง และระเบียบดังกล่าวที่ตนมีอยู่ในมือเป็นเพียงตัวร่าง ไม่แน่ใจว่าจะตรงกับระเบียบตัวจริงที่น่าจะผ่านมติคณะรัฐมนตรีขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 นี่เองหรือไม่ มิหนำซ้ำยังหมิ่นเหม่เอาการอยู่ว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจจริงหรือไม่ที่จะออกระเบียบไปกำหนดขั้นตอนการใช้เงินที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ

สำหรับประเด็นที่เตรียมไว้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นายคำนูณ กล่าวว่ามีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.ระเบียบการใช้เงินเพิ่งออกมาหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนไปแล้ว 3 เดือน และหลังสภาอนุมัติพระราชกำหนดไปแล้ว 1 เดือนเศษ 2.ในระเบียบนี้ ยังจะต้องมีระเบียบย่อยต่อไปอีก โดยสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง 2.ในระเบียบนี้ ก็ถือว่ามี 2 ระเบียบ 2 มาตรฐาน คือแยกงบ 5 จังหวัดชายแดนใต้ไว้เป็นการเฉพาะ 3.ไม่มีการตั้งงบประมาณจ่ายหนี้คืนไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งในพระราชกำหนดที่ผ่านไปแล้ว เพิ่งมามีมติคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมรายจ่ายในงบประมาณ และรอแปรญัตติอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

“ต่อไปการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในบ้านเราจะมี 4 ระบบ คือ ระบบงบประมาณตามปกติ, ระบบไทยเข้ม แข็ง, ระบบงบประมาณบวกไทยเข้มแข็ง และระบบไทยเข้มแข็งใน 5 จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะ ผมไม่ได้คัดค้านการใช้เงิน แต่คัดค้านวิธีการใช้เงินที่เอาแต่จะให้เร็วจึงเลือกใช้เป็นระบบนอกงบประมาณ” นายคำนูณ ระบุ

สรุปก็คือ รัฐบาลอาศัยสถานการณ์พิเศษ คือ วิกฤตเศรษฐกิจ และการปิดหีบงบประมาณปี 2552 ไม่ลง เอาแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มาพ่วงไว้ในพระราชกำหนดและ พ.ร.บ.ให้สภาอนุมติกู้เงินอีก 6 แสนล้านสำหรับโครงการต่างๆ ในแผนรวม 1.5 ล้านล้าน แทนที่จะออกพระราชกำหนดกู้เงินแค่ 2 แสนล้านบาทเพื่อปิดหีบงบประมาณปี 2552 ซึ่งก็คือ แทกติกในการให้รัฐสภาอนุมัติแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 หรือนัยหนึ่งอนุมัติแผนกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของระบบทุนนิยมโลก โดยไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นโดยตรง นายคำนูณ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ตนเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้าน มาถึงวันนี้ไม่จำเป็นแล้ว เพราะเงินกู้ 4 แสนล้าน นำไปใช้ในงบประมาณปี 53-54 -55 ซึ่งสามารถเข้าสู่การพิจารณางบประมาณได้ ซึ่งรัฐบาลก็บอกเองว่าขณะนี้วิกฤตเศรษฐกิจคลี่คลายแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน ตนเห็นด้วยกับ ส.ว.ควรหยุดยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยการรับร่างไว้ก่อนแล้วมาเสนอแปรญัตติเข้าสู่ระบบงบประมาณตามปกติ ซึ่งสามารถทำได้ เพราะไม่ได้ใช้ทันที ยังมีเวลาเพียงพอ ทำไม่ต้องอย่างทำเร่งด้วย จึงไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะดึงดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะหากดึงดันไปรัฐบาลอาจจะไม่มีความชอบธรรม เป็นการฉวยโอกาส
กำลังโหลดความคิดเห็น