xs
xsm
sm
md
lg

กู้(อีก) 4 แสนล้าน !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

วันจันทร์นี้ วุฒิสภาจะพิจารณา “ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. ....” หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “พ.ร.บ.กู้ 4 แสนล้าน” ในวาระที่ 1 ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ผ่านในลักษณะ 3 วาระรวดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2552 โดยไม่มีการแก้ไขเพราะพรรคฝ่ายค้านวอล์คเอาท์

จะอภิปรายกันถึงดึกดื่นแน่ เพราะมี ส.ว.แสดงความจำนงจะอภิปรายประมาณ 60 คน

คะแนนเสียงแพ้ชนะกันคงไม่เกิน 10 เสียง

อาจจะหวุดหวิดหวาดเสียวกว่าเมื่อครั้งวุฒิสภามีมติผ่านพระราชกำหนดกู้เงิน 4 แสนล้านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2552 ด้วยซ้ำ

พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน - ที่วุฒิสภาอนุมัติไปแล้วด้วยเสียงเฉียดฉิว..และรัฐยังเหลือเงินสำหรับลงทุนอยู่ 2 – 2.8 แสนล้านบาท - บวกแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งเนื้อแท้ก็คือแผนการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ในรอบ 3 ปี ที่มีลักษณะพิเศษ 2 ประการ

- ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

- ใช้ในลักษณะเป็นเงินนอกงบประมาณ


หรือถ้าพิจารณารวมกับการกู้เงินในงบประมาณ 2553 ที่ขาดดุลอยู่ 3.5 แสนล้าน ก็จะเท่ากับยอดกู้รวมของปีนี้เท่ากับ 1.15 ล้านล้านบาท

ผมจะโหวตไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แน่นอน !

เหตุผลหลักก็อย่างที่ ผมเคยอภิปรายคัดค้านพระราชกำหนดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2552 โดยสรุปก็คือเพราะไม่เห็นด้วยกับหลักการของร่างพ.ร.บ.ที่ไปยกเว้นหรือขัดแย้งกับหลักการสำคัญตามรัฐธรรมนูญถึง 2 หลัก คือ หลักการแบ่งแยกอำนาจในมาตรา 3 และหลักการใช้เงินแผ่นดินในมาตรา 166 – 170

อัปลักษณ์ที่สุดและอันตรายที่สุดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ มาตรา 4 !

มาตรา 4 วรรคแรกระบุว่า เงินที่ได้จากการกู้ให้นำไปจ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎ หมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง วรรคสองระบุให้อำนาจกระทรวงการคลังนำไปให้กู้ต่อได้

มาตรา 4 มาตราเดียวยกเว้นกฎหมายสำคัญไป 2 ฉบับ !

คือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และ พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491

หรือจะพูดว่ายกเว้นกฎหมายหลัก 3 ฉบับก็ไม่ผิด หากพิจารณาว่านี่คือการเลี่ยง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548

ตั้งแต่ขั้นตอนการขอตั้งงบประมาณโดยหน่วยงาน, การพิจารณางบประมาณในรัฐสภา, การจัดทำงบประมาณหลังสภาอนุมัติ, การเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละงวด ที่วิวัฒนาการของกฎหมายไทยกำหนดไว้โดยละเอียด โดยเฉพาะวิวัฒนาการสูงสุดในหมวด 8 (มาตรา 166 – 170) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเว้นหมด

นี่แหละที่ผมเคยกล่าวว่าเป็นการใช้เงินแผ่นดินอย่างอนารยะ !

แม้จะมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 แต่ก็เป็นเมื่อสังคมมีเสียงคัดค้าน ท้วงติง และระเบียบดังกล่าวที่ผมมีอยู่ในมือเป็นเพียงตัวร่าง ไม่แน่ใจว่าจะตรงกับระเบียบตัวจริงที่น่าจะผ่านมติคณะรัฐมนตรีขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 นี่เองหรือไม่

มิหนำซ้ำยังหมิ่นเหม่เอาการอยู่ว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจจริงหรือไม่ที่จะออกระเบียบไปกำหนดขั้นตอนการใช้เงินที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ

แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่ใช้เงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทในรอบ 3 ปีจึงไม่ได้รับการจัดทำงบประมาณโดยสำนักงบประมาณซึ่งมีหน้าที่โดยตรง มีขั้นตอนละเอียดตามกฎหมายและระเบียบ กลายเป็นเรื่องของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ที่ขาดทั้งทักษะ ประสบการณ์ และกำลังคน ทั้งที่หน้าที่โดยตรงคือการหาแหล่งหนี้เท่านั้น

แต่ละขั้นตอนและแต่ละคำชี้แจงในแต่ละช่วงเวลาจึงฉุกละหุก ขาดความรอบคอบ ไม่เป็นมืออาชีพ

เท่าที่ผมโน้ตไว้เตรียมอภิปรายวันนี้มีตัวอย่างอยู่ 3 – 4 ประเด็น

- ระเบียบการใช้เงินเพิ่งออกมาหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนไปแล้ว 3 เดือน และหลังสภาอนุมัติพระราชกำหนดไปแล้ว 1 เดือนเศษ

- ในระเบียบฯ นี้ยังจะต้องมีระเบียบย่อยต่อไปอีก โดยสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง

- ในระเบียบฯ นี้ก็ถือว่ามี 2 ระเบียบ 2 มาตรฐาน คือแยกงบ 5 จังหวัดชายแดนใต้ไว้เป็นการเฉพาะ

- ไม่มีการตั้งงบประมาณจ่ายหนี้คืนไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งในพระราชกำหนดที่ผ่านไปแล้ว เพิ่งมามีมติคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมรายจ่ายในงบประมาณ และรอแปรญัตติอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

ต่อไปการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในบ้านเราจะมี 4 ระบบ คือ ระบบงบประมาณตามปกติ, ระบบไทยเข้ม แข็ง, ระบบงบประมาณบวกไทยเข้มแข็ง และระบบไทยเข้มแข็งใน 5 จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะ

ผมไม่ได้คัดค้านการใช้เงิน

แต่คัดค้านวิธีการใช้เงินที่เอาแต่จะให้เร็วจึงเลือกใช้เป็นระบบนอกงบประมาณ


สรุปก็คือรัฐบาลอาศัยสถานการณ์พิเศษ คือ วิกฤติเศรษฐกิจ และการปิดหีบงบประมาณปี 2552 ไม่ลง เอาแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มาพ่วงไว้ในพระราชกำหนดและ พ.ร.บ.ให้สภาอนุมติกู้เงินอีก 6 แสนล้านสำหรับโครงการต่าง ๆ ในแผนรวม 1.5 ล้านล้าน แทนที่ออกพระราชกำหนดกู้เงินแค่ 2 แสนล้านบาทเพื่อปิดหีบงบประมาณปี 2552 ซึ่งก็คือแท็คติคในการให้รัฐสภาอนุมัติแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 หรือนัยหนึ่งอนุมัติแผนกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของระบบทุนนิยมโลก โดยไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นโดยตรง

ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลมีทางเลือกอื่นอีกอย่างน้อย 2 ทาง ที่ผมจะแจงในที่ประชุมวุฒิสภาวันนี้

ถามว่ามติตอนดึก ๆ จะเป็นอย่างไร

ไม่รู้จริง ๆ เพราะสมาชิกวุฒิสภามีความเห็นแตกต่างกัน การอภิปรายของแต่ละท่านและการตอบคำถามของรัฐบาล จะมีผลต่อการตัดสินใจขั้นสุดท้าย

เฉพาะส่วนที่ไม่เห็นด้วยก็มีความเห็นต่างกันเป็น 2 ทาง ทางหนึ่งจะลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.แน่นอน แต่อีกทางหนึ่งเห็นว่ารับไว้ก่อน แล้วมาแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นการแปรญัตติในวาระที่ 2 ดีกว่า เพราะถ้าไม่รับ รัฐบาลก็จะกลับไปขอมติยืนยันในสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีร่าง พ.ร.บ.นี้ที่เป็นกฎหมายการเงิน เว้นไว้ 15 วันสภาผู้แทนราษฎรก็หยิบยกขึ้นมาขอมติยืนยันได้

ซึ่งรัฐบาลคงไม่ประสงค์เช่นนั้น เพราะแม้พรรคร่วมรัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก แต่พรรคอื่น ๆ จะถือเป็นอำนาจต่อรองกับพรรคประชาธิปัตย์ ต่อรองการนำโครงการเข้าพื้นที่ตนอีกรอบ

นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคงอยู่ด้วยทั้งวันรอชี้แจงตอบคำถาม แต่คงไม่ง่ายนัก

ไม่รู้ว่า “เสน่ห์สาธารณะ” จะมีผลต่อมติแค่ไหน ?

กำลังโหลดความคิดเห็น