xs
xsm
sm
md
lg

มท.สั่งผู้ว่าฯ ตั้งโต๊ะถอนฎีกา สลด “ป๊อก” ไม่ป้องสถาบันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลเพิ่งตื่น เตรียมชี้แจงทางช่อง11 ทีวีรัฐ วิทยุ ทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับประชาชน เรื่องล่าชื่อถวายฎีกา "มาร์ค"มั่นใจขบวนการโค่นล้มสถาบันฯ ทำไม่สำเร็จ สั่งหน่วยราชการ แจง ย้ำขออภัยโทษทำไม่ได้ ชี้"เสื้อแดง"เคลื่อนไหว 31 ก.ค. มีแผนหลายชั้น แนวร่วมหลายทาง ระวังตกเป็นเหยื่อ ด้าน มท.1 สั่งผู้ว่าฯ นายอำเภอ ตั้งโต๊ะถอนชื่อฎีกา "คำนูณ" จวกประชาธิปัตย์ ลืมอุดมการณ์ปกป้องสถาบันฯ สลดใจ"บิ๊กป๊อก" อดีตทหารเสือราชินี ใจเสาะไม่กล้าต้านถวายฎีกา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการล่ารายชื่อถวายฎีกาให้กับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ของกลุ่มเสื้อแดง ที่รัฐบาลถูกมองว่าไม่จริงใจต่อการชี้แจงประชาชนว่า ในการประชุมระดับหัวหน้าปลัดกระทรวงได้บอกว่า หน่วยราชการที่มีเครือข่ายต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน สิ่งที่มีการเคลื่อนไหวกันอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่การขอพระราชทานอภัยโทษเลย และไม่ควรไปสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเช่นนั้น เพราะการขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นเจ้าตัว หรือคนในครอบครัว ซึ่งกำลังรับโทษ หรือเดือดร้อนอยู่ และจะขอให้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานอภัยโทษให้ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เพราะเจ้าตัวยังไม่กลับมารับโทษ แต่ถ้าเป็นการฎีกาอื่นๆเช่น เป็นเรื่องการเมือง ก็ต้องคิดให้ดีว่าจะเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ในการที่จะไปดำเนินการวิธีนี้ ฉะนั้นขอให้ทุกส่วนราชการให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องกับประชาชน ผ่านเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งสื่อของภาคราชการด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การดำเนินการของรัฐบาลช้าไปหรือไม่ เพราะตอนนี้มีการเคลื่อนไหวไปเกือบจบแล้ว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็มีการพยายามทำความเข้าใจ ทางกระทรวงยุติธรรมก็ออกมาชี้แจงระดับหนึ่ง แต่ต้องมีความชัดเจนในข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงที่เขาดำเนินการด้วย
เมื่อถามว่า รัฐบาลสามารถทำได้เพียงแค่การชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจเท่านั้นใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็มีการดูอยู่ว่า มีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ แต่บังเอิญการกระทำเท่าที่ให้ฝ่ายกฎหมายดู มันไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ อธิบายให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่เท่านั้นเอง และอยากจะบอกว่า ข้อความ และสิ่งที่สื่อสารไปยังประชาชนที่มาลงชื่อขณะนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ มันไม่ใช่เรื่องจริง ไม่อยากให้ประชาชนไปหลงเชื่อ
" ต้องทำความเข้าใจ และพยายามทำความเข้าใจมาโดยตลอดว่า เวลาที่มีความเดือดร้อน ร้องทุกข์ เจ้าตัวหรือครอบครัวต้องทำ แต่อย่างนี้เห็นชัดเจนว่า เจ้าตัว และครอบครัวไม่ยอมทำ ฉะนั้นประชาชนต้องคิดได้ มันมีอะไร หรือใครพยายามจะใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือหรือเปล่า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**ไม่เชื่อเสื้อแดงล้มสถาบันฯได้
ส่วนที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะมีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง วันที่ 31 ก.ค.นี้ ถ้าไม่มีอะไรขัดกฎหมาย ก็ทำได้ เมื่อถามอีกว่า ห่วงหรือไม่ ตอนนี้มองกันว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เพื่อโค่นล้มสถาบัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราก็ต้องไม่ให้เกิดอย่างนั้น แต่วิธีการที่จะทำไม่ให้เกิดอย่างนั้น ต้องระมัดระวัง เพราะคนที่เขามีความคิดเช่นนั้น เขาก็มีแผนอยู่หลายชั้น มันไม่ใช่เรื่องที่ไปตกหลุมจากการยั่วยุสิ่งนั้นอย่างเดียว
เมื่อถามว่า ทางการข่าวพบว่ามีความผิดปกติในเรื่องนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการรายงานตลอด ยังไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เมื่อถามว่า ที่บอกว่ามีแผนหลายชั้นเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราเข้าใจว่ามีแนวร่วมที่เขาใช้หลายทาง ฉะนั้นเราต้องบริหารจัดการในเชิงการสื่อสาร และการดำเนินการทางกฎหมายให้เหมาะสม
เมื่อถามว่า คิดว่าบั้นปลายจะนำไปสู่การล้มสถาบันฯ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าเขาจะทำได้ เมื่อถามอีกว่า การที่องคมนตรี ออกมาเปิดเผยว่ามีการฟอกเงิน เพื่อนำมาใช้ในการนี้ รัฐบาลได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องเส้นทางการเงิน ก็ดี เรื่องการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ดี ได้ติดตามอยู่ แต่การจะไปได้หลักฐานชัดๆ มันไม่ง่าย
เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่ถูกวิจารณ์ว่านายกฯ เป็นเด็กไม่เหมาะกับความเป็นผู้นำในการตัดสินใจ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าตนเป็นเด็ก ก็คงมาทะเลาะกับคนพวกนี้

**"เทือก"ย้ำถวายฎีกามิบังควร
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการล่ารายชื่อถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนกังวล
"ผมคิดว่าทุกคนต้องตระหนักว่า อย่าทำอะไรให้กระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท วันนี้ที่ประเทศไทยอยู่มาได้ก็เพราะพระบารมีปกเกล้าฯ ถ้ายังไม่สำนึกกันอีก ยังทำอะไรที่กระทบกระเทือนมันอันตรายมาก"
นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลก็พยายามอธิบายว่า เรื่องนี้ไม่เหมาะ ไม่บังควรอย่างยิ่ง เพราะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนคนไทย ซึ่งรัฐบาลก็ต้องพยายามดูแลในกรอบของกฎหมาย ต้องมีคนทำผิดกฎหมายก่อน เราจึงเข้าไปบังคับใช้กฎหมายได้ ขณะนี้ก็พยายามเตือนกัน ปรามกัน แต่ว่าคนดื้อมากเหลือเกินในแผ่นดินขณะนี้ และเมื่อมีการออกมาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หลายฝ่ายก็ออกมามีปฏิกิริยา
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ยินที่ว่าทางกระทรวงมหาดไทยจะสกัดกั้นไม่ให้มีการถวายฎีกา เพียงแต่เห็นว่า เรื่องการถวายฎีกานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่บังควร และพยายามเรียกร้องคนไทย อย่าไปร่วมมือ และอยากขอร้องว่า อย่าทำอะไรให้เหตุการณ์รุนแรงไปมากกว่านี้ บ้านเมืองเราบอบช้ำมากแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ต้องค่อย ๆแก้กันไป รัฐบาลพยายามยืนอยู่ตรงกลาง ไม่ไปร่วมฝ่ายไหน แต่ก็ถูกเกลียดชังทั้งสองฝ่าย เดี๋ยวนี้ตนถูกทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ซัดทั้งสองข้างจนไม่รู้จะใส่เสื้อสีอะไรแล้ว

**ใช้ช่อง11ทำความเข้าใจประชาชน
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้ (31 ก.ค.) จะมีรายการพิเศษ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้ ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เวลา 21.00 น. และได้ขอความร่วมมือผ่านทางสถานีวิทยุ และสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ในการเผยแพร่ข้อเท็จจริง และให้ความรู้ข้อกฎหมายแก่ประชาชนด้วย เพื่อตัดการเคลื่อนไหวไม่ให้ลุกลามเหมือนเดือนเม.ย.
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ลงชื่อไปแล้ว ก็สามารถถอนชื่อออกได้ เพราะตามกฎหมายไม่มีเงื่อนไขกำหนดว่า ถ้าลงชื่อแล้วจะถอนชื่อออกไม่ได้ ดังนั้นขึ้นอยู่ที่แต่ละบุคคล
"ถ้าการถวายฎีกาสำเร็จ เชื่อว่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวรวมพลังของคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการถวายฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง" นายสาทิตย์กล่าว และว่าการล่ารายชื่อถวายฎีกานั้น เขามีวัตถุประสงค์แน่นอน และดำเนินการโดยมีเป้าหมายชัดแจ้ง
นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางวอร์รูมของพรรค ได้ประเมินการยื่นล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเข้าข่ายความผิด 3 ข้อ คือ 1. ผิดในเชิงกฎหมาย 2. ผิดทางการเมือง โดยการดึงประชาชนมาต่อรองสถาบันเบื้องสูง และ 3. ผิดตามข้อเท็จจริง เพราะการประกาศว่า จะรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ 3 ล้านรายชื่อ จะต้องอาศัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่หากมี 300 คน จะต้องล่ารายชื่อให้ได้ 1 หมื่นคน ถึงจะได้ 3 ล้านคน โดยจะต้องมีความเคลื่อนไหวที่คึกคัก และมีกระแสข่าวในแต่ละพื้นที่ แต่จากการสอบถาม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ในแต่ละพื้นที่มีแต่ความเงียบ จึงอยากตั้งคำถามว่าเป็นการปั้นแต่งตัวเลข เหมือนกับการรวบรวมรายชื่อสมาชิกพรรคไทยรักไทย ที่ใช้เวลาไม่นาน ก็ได้สมาชิกถึง 10 ล้านชื่อ หรือ

**สั่งผู้ว่าฯ-นอภ.ตั้งโต๊ะถอนชื่อฎีกา
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้สั่ง นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ทั่วประเทศ ตั้งโต๊ะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ที่ต้องการถอดถอนรายชื่อที่ก่อนหน้านี้ได้ลงชื่อถวายฎีกา เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยให้เริ่มตั้งโต๊ะในวันนี้ (31 ก.ค.) ณ บริเวณที่ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอ
"เพื่อป้องกันการสับสน หรือการสวมสิทธิในการถอนชื่อ ต้องให้เจ้าตัวเดินทางมาถอนชื่อด้วยตัวเอง พร้อมถ่ายสำเนาบัตรประชาชนไว้เป็นหลักฐาน เพื่อแจ้งต่อประชาชน ผมได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้ประสานไปยังวิทยุชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์ ขั้นตอนการการดำเนินงาน คงจะเป็นการแจ้งยอดของผู้มาถอนเชื่อ เพื่อนำมาหักล้างกับจำนวนผู้มาลงชื่อถวายฎีกา ซึ่งผมก็คิด ว่าคงจะมาถอนกันไม่มาก แต่ที่ได้จัดให้มีการตั้งโต๊ะถอนชื่อนั้น เนื่องจากผมเห็นว่า มีประชาชนบางคนต้องการที่จะถอนชื่อ เนื่องจากหลงเชื่อคำชักชวนของกลุ่มล่ารายชื่อ อีกทั้งเพื่อเป็นการรักษาสิทธิของประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์" นายชวรัตน์กล่าว

**"ประวิตร"ฮึ่ม!ฎีกาก้าวล่วงสถาบันฯ
เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมสภากลาโหม โดยมี พล.อ. อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ. ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สูงสุด พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.ร.อ. กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. พล.อ.อ. อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. และสมาชิกสภากลาโหม เข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง
หลังการประชุม ทีมงานสำนักงานโฆษกกระทรวงกลาโหม ไม่มีการแถลงข่าวผลการประชุม มีเพียงเอกสารผลการประชุมสภากลาโหม ทั้งนี้ เนื่องจากพล.อ. ประวิตร วงษ์สวุรรณ รมว.กลาโหม ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งโฆษกกระทรวงกลาโหมคนใหม่ โดยให้ พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง อดีตโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นโฆษกกระทรวงกลาโหมแทน พล.ต. จิตตสักก์ เจริญสมบัติ ที่ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายงานด้านยุทธการ ประจำสำนักรมว.กลาโหม ซึ่งมีผลในวันที่ 3 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารผลการประชุมสภากลาโหม ระบุว่า ในการประชุมกลาโหม พล.อ.ประวิตร ได้พูดถึงกรณีที่มีบางกลุ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่ง พล.อ. ประวิตร ระบุในที่ประชุมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ขอให้หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้ประเมินความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ซึ่งกระทรวงกลาโหม เรายึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ดูแลประเทศชาติให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย
แหล่งข่าว กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้กำชับในที่ประชุมสภากลาโหมให้ ผบ.เหล่าทัพ ติดตามดูสถานการณ์ความเคลื่อนไหวการยื่นถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่อาจจะมีผลกระทบต่อสถาบันฯ และกำชับให้กำลังพลดูการเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้การยื่นถวายฎีกามีผลกระทบต่อสถาบันฯ ซึ่งที่ประชุมมีความเป็นห่วงว่า การยื่นถวายฎีกา จะเป็นปัญหาต่อไป และจะเป็นการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความจริงที่ประชุมไม่อยากให้กลุ่มประชาชนรบกวนสถาบันพระมหากษัตริย์

**อัดปชป.ลืมอุดมการณ์ป้องสถาบันฯ
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา กล่าวว่า วันนี้รู้สึกสลดใจ 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องที่เห็นพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่เคลื่อนไหวปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างคึกคักเข้มแข็ง แทนที่จะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ จนทำให้รู้สึกว่า ถ้าตนเองเป็นสมาชิกหรือแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะรู้สึกละอาย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดและคงจะทราบดีว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดกำเนิดมาจากการพิทักษ์ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในการต่อสู้กับคณะราษฎร์มาโดยตลอด เห็นได้จากการวันก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ คือวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งมีความหมายอย่างไรทางพรรคก็จะน่าตระหนักดี
“แต่มาถึงวันนี้ กลับมาให้พรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคเกิดมาเคลื่อนไหว ถ้าผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมคงเอาปี๊บคลุมหัวไปแล้ว แต่ในกรณีนี้กลับกระมิดกระเมี้ยนในการทำงานจนผิดปกติทั้งที่มีสมาชิกพรรคเป็นล้านคน และยังเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลด้วยซ้ำ"

**สลดใจบทบาท"บิ๊กป๊อก"
ส่วนเรื่องที่ 2 คือ กรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีการถวายฎีกาว่า “ในฐานะทหารของชาติและทหารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีความเห็น” ซึ่งตนคิดว่า ผบ.ทบ. อาจจะลืมไปว่า ทหารมีหน้าที่ทั้งตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่จะต้องปกป้องพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และถวายคำสัตย์ปฏิญานต่อหน้าธงชัยเฉลิมพลมาแล้วหลายหน ว่าจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยชีวิต ประกอบกับ ผบ.ทบ.ก็เป็นทหารเสือพระราชินีน่าจะให้ความเห็นในเชิงความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคมได้
ทั้งนี้ ในประเด็นการถวายฎีกา ทั้งตามกฎหมายและตามนิติราชประเพณี ไม่ควรแยกสถานภาพของ ผบ.ทบ. กับสถานภาพของทหาร และ สถานภาพของประชาชนออกจากกัน ด้วยการกล่าวว่า “ถ้าถามในฐานะของประชาชน ต้องไปถามข้างนอก” เพราะในความเป็นจริง ทั้งประชาชนและทหาร ต่างก็มีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องพิทักษ์ปกป้องคุ้มครองสถาบันฯ แต่ทหารนั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญของอำนาจรัฐ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อยู่ในมือ การที่ ผบ.ทบ. ออกมาพูดแบบนี้ ทำให้รู้สึกสลดใจมาก
"การที่ประเด็นการถวายฎีกามาถึงจุดนี้ ไม่ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะยื่นหรือไม่ยื่นถวายฎีกาจริง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะมีแต่ได้กับได้ เพราะเมื่อถึงเวลา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อาจจะทำทีขอร้องให้ประชาชนหยุดการถวายฎีกาเพื่อความสงบของบ้านเมือง เพราะเขาบอกแล้วว่าการล่ารายชื่อถวายฎีกาครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเขาและครอบครัว แต่เป็นเรื่องของประชาชน สรุปแล้วเขามีแต่ได้กับได้ ผมขอย้ำว่าการล่าชื่อถวายฎีกาครั้งนี้ เป็นการใช้จำนวนประชาชนเข้ามากดดันสถาบันฯ ทั้งๆที่เป็นฎีกาที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำอย่างเด็ดขาด" นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณ กล่าวว่า เวลาที่เหลืออยู่นี้รัฐบาลต้องให้ความจริงกับประชาชน อีกทั้งการที่รัฐบาลต้องเป็นผู้มีหน้าที่กระทำการพิจารณาฎีกาในชั้นต้น เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ดังนั้นหากรัฐบาลเห็นว่า การถวายฎีกาดังกล่าวไม่เข้ากฎเกณฑ์ก็ไม่ควรนำฎีกาดังกล่าวเข้าสารบบ รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญให้มาก

**"ห้อย"จัดฉากเกณฑ์แท็กซี่ค้านฎีกา
เมื่อเวลา 08.30 น. วานนี้ (30 ก.ค.) กลุ่มมีแท็กซี่มิเตอร์ สามล้อเครื่อง และรถสี่ล้อเล็ก กว่า 300 คัน อ้างว่ามาในนามของคณะกรรมการการจัดงานเทิดพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช ได้รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมรถหกล้อติดเครื่องขยายเสียง โดยด้านข้างของรถมีป้ายผ้า 2 ผืน ติดไว้มีใจความว่า “กดดันพ่อ ไม่ควรบังควรยิ่ง” และ “หยุดรบกวนเบื้องยุคลบาท”
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ที่ระบุว่า เป็นโฆษกคณะกรรมการการจัดงานฯ กล่าวว่า เนื่องในวโรกาส 12 สิงหามหาราชินี ทางคณะกรรมการจัดงานเทิดพระเกรียติฯ มีความเห็นร่วมกันว่า ในปีนี้ทางกลุ่มจะมีการจัดงานใหญ่ เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน และสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีฯ จึงขอคัดค้านบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่กำลังล่ารายชื่อเพื่อถวายฏีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เวลาเดียวกัน น.ส.ศุภมาศ อิศรภักดี รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย ได้เดินทางมาพร้อมทีมงานของพรรคภูมิใจไทย นำสติกเกอร์รณรงค์ไม่เห็นด้วยกับการล่ารายชื่อถวายฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ มาแจกให้กับกลุ่มแท็กซี่ สามล้อ และสี่ล้อเล็ก โดยสติ๊กเกอร์ที่นำมาแจกนั้นมี 4 แบบ มีข้อความว่า “กดดันพ่อไม่บังควรยิ่ง” " หยุดรบกวนเบื้องยุคลบาท” “อย่ากดดันพระเจ้าอยู่หัว” และ “อย่าดึงฟ้าต่ำหยุดฎีกา”
นางศุภมาส กล่าวว่า การล่ารายชื่อถวายฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย พรรคภูมิใจไทยจึงต้องออกมาคัดค้าน เพราะเรื่องนี้เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง และวันนี้การกระทำดังกล่าว กำลังเป็นการแบ่งแยกประชาชนออกจากกัน ดังนั้นจะมีการรณรงค์ต่อเนื่อง ทั้งบริเวณสวนจตุจักร หน้าห้างสรรพสินค้า หน้ามหาวิทยาลัยต่างๆ และโรงภาพยนตร์

**อ้างฎีกาเพราะประชาชนเดือดร้อน
นางกรระวี ตันตระกูล ตัวแทนชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพ พร้อมด้วยชาวบ้านกว่า 20 คน ได้เข้าร้องทุกข์กับส.ส. พรรคเพื่อไทย นำโดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร นายไพจิต ศรีวรขาน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน ได้รับความเดือดร้อน และถูกต่อต้านจากการเข้าชื่อยื่นถวายฏีกา เพื่อขออภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ โดยนางกรระวี กล่าวว่า กลุ่มประชาชนจากหลายๆที่ หลายจังหวัดที่มารวมตัวกันเพราะพวกเราได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหลายๆ ด้านทั้งเรื่องที่ทำกิน การแพร่ระบาดของไข้หวัด ปัญหาเศรษฐกิจ คนตกงาน และยังมีอีกหลายปัญหาเพราะเราขาดผู้นำที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาของประเทศและเห็นว่าในอดีต พ.ต.ท.ทักษิณ เคยบริหารประเทศจนเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้ จึงไม่รู้จะไปไหนเลยมาที่สภา เพื่อขอให้ส.ส.ช่วยนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
ขณะที่นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายทั้งโฆษกกระทรวงมหาดไทย พรรคการเมืองบางพรรค และบางกลุ่มพูดในทำนองว่า การถวายฎีกา เป็นเรื่องไม่บังควร และทำไม่ได้ ทั้งที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ต้องการร้องทุกข์ต่อพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการยื่นถวายฏีกาเพื่อขออภัยโทษ การร้องทุกข์ไม่มีรูปแบบ หรือพิธีใด และไม่มีกฎหมายใดห้าม แต่มีความพยายามทำให้เป็นเรื่องการเมือง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่จะต้องกีดกันไม่ให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์ต่อพระเจ้าอยู่หัวได้ ซึ่งก็เท่ากับลดพระราชอำนาจเช่นเดียวกัน แต่การอภัยโทษไม่ใช่ศาลที่ 4 อย่างที่อีกฝ่ายพยายามออกมาพูด เพราะไม่สามารถลบล้างคำพิพากษาได้ คำพิพากษา ก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อยื่นไปแล้วจะได้ไม่ได้ ก็แล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัย และจะไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่ใช่การกดดันอะไรเลย
นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนที่มาเพราะเชื่อว่าเขาเป็นทุกข์เดือดร้อน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ การร้องทุกข์ไม่มีรูปแบบเป็นคนละส่วนกับการขอภัยโทษ เราต้องยึดหลักกฎหมาย อย่าเอาความชอบหรือไม่ชอบ จะไปห้ามประชาชนร้องทุกข์ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ คิดว่าประชาชนในภาคเหนือมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมากกว่าคนกรุงเทพ เพราะในอดีตพระองค์ท่านเสด็จไปที่ไหนก็มีราษฎรมาฏีการ้องทุกข์เขียนจดหมายร้องทุกข์ด้วยตัวเอง แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็บิดเบือน พูดไม่หมด นำเรื่องสิทธิไปปนกับกระบวนการทางกฎหมาย อย่างกรณีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ระบุว่าชาวบ้านทำผิดกฎหมาย เป็นถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐไปให้ข่าวทำนองว่า ไม่มีพระราชอำนาจ ทั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การพูดเช่นนี้ ถือว่าหมิ่นหรือไม่ และที่บอกว่ามีคนทำผิดกฎหมายแล้วไม่ดำเนินคดีถือว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
ด้านนายชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า การถวายฏีกาเพื่อขออภัยโทษสามารถผ่านได้ 2 ทางคือกระทรวงยุติธรรม และสำนักนายกฯ ซึ่งจะต้องผ่านไปยังสำนักราชเลขาธิการ องคมนตรี และพระเจ้าอยู่หัวฯ ส่วนล่าชื่อถวายฏีกาในครั้งนี้ก็เป็นการร้องทุกข์เพื่อให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฏร แต่มาผนวกกับการขออภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณด้วย

-
กำลังโหลดความคิดเห็น