xs
xsm
sm
md
lg

NPL หรรษาเฮฮารับเปิดเทอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การมีหนี้บางคนถือว่ามีเครดิต แต่คนมีเครดิตบางคนกลับไม่ยอมใช้หนี้ ยิ่งเป็นหนี้ที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าหนี้กลับยิ่งรู้สึกเมินเฉย ดูอย่างหนี้ กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั่นไง นักศึกษาไทยไม่น้อยก็ช่างมีจิตสำนึก ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย อย่าว่านักศึกษาโนเนมเลย ดาราบางคนทั้งที่เรียนจบแล้ว แถมมีเงินมีทอง ก็ยังทำเฉย ยังไม่ไปติดต่อจ่ายหนี้ใดๆ จนคอลัมน์กอสซิปบันเทิงต่างๆ ต้องเอามาประจานให้รู้กันทั่วเมือง

ทาง กยศ. ก็ช่างเฉยเฉื่อย กว่าจะขยับตัวทวงหนี้ทวงสินได้ก็ชักช้า ต้องมาออกแคมเปญแจกโน้ตบุ๊ก กล้องดิจิตอล ไอพอดกันจ้าละหวั่น ถึงมีนักศึกษายอมเอาหนี้มาคืน บ้าง เห็นแบบนี้แล้วก็น่าสะท้อนใจ ไม่รู้ว่านักศึกษาเมืองไทย เฉพาะคนที่คิดจะเบี้ยว จบออกมาได้ยังไง ไม่ได้คิดถึงหัวอกน้องๆ รุ่นต่อไป ส่วนคนที่ตั้งใจจะใช้หนี้ก็ขออนุโมทนาด้วย

“รู้สึกตัวว่าเป็นหนี้อีกทีก็ตอนเขาส่งจดหมายให้ไปจ่ายหนี้มาที่บ้านแหละค่ะ” เสียงอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งบอกเล่าเกี่ยวกับการเป็นหนี้ เพราะการเรียนของเธอจากการกู้ยืมเงิน กยศ.

เจ้าหนี้ที่เคาะประตูทวงถามนั่นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นตัวแทนจากรัฐบาลนั่นเอง ซึ่งหลังจากที่เรียนจบแล้วครบ 2 ปี ผู้ที่เคยกู้ยืมเงินจาก กยศ. จะได้รับจดหมาย ‘ทวงหนี้’ จากธนาคารกรุงไทย ผู้รับผิดชอบในเรื่องของการเงินให้กับ กยศ. โดยข้อความระบุว่า

‘ตามที่ท่านได้ทำสัญญากู้ยืมกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนเงิน......บาทนั้น เพียงวันที่ 24 มีนาคม 2551 ท่านมียอดหนี้คงเหลือ......บาท ซึ่งท่านสามารถผ่อนชำระเป็นรายปี โดยเริ่มชำระหนี้งวดแรกได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2551...

‘ซึ่งถ้าหากไม่ชำระงวดแรกหรือหนี้ที่ต้องชำระในงวดต่อๆ ไป ในแต่ละงวดภายในวันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปีแล้ว ท่านจะต้องเสียดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 12 หรือร้อยละ 18 ต่อปี ตามจำนวนเงินงวดที่ค้างชำระในแต่ละงวด รวมทั้งอาจถูกบอกเลิกสัญญากู้ยืมฯ และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเรียกหนี้ทั้งหมดคืนด้วย’

ปกติผู้ที่ชำระหนี้ตามกำหนดจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และผ่อนชำระได้นานถึง 15 ปี

เหตุผลหลักๆ ของผู้ที่เป็นหนี้ กยศ. ก็คล้ายคลึงกันทั้งสิ้น เนื่องมาจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเล่าเรียน เพราะว่าหลายคนหากไม่มีเงินกองทุนนี้มาช่วยไว้ ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนในระดับสูงๆ ก็เป็นได้

ยังไงก็เถอะ เมื่อเอาเงินเขามาก็ต้องคืนเขาไป เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ

เป็นหนี้ก็ต้องจ่าย

รัดดาวรรณ (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกหนี้ กยศ. เล่าว่า สาเหตุที่ต้องยืมเงิน กยศ. เรียนก็เนื่องมาจากฐานะทางครอบครัวค่อนข้างลำบาก พ่อแม่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ไม่มีแรงเงินในการส่งเสียให้เรียนในระดับสูง จึงตัดสินใจกู้ยืมเงิน ซึ่งเธอเริ่มกู้เงินตั้งเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
 
“หนี้รวมที่เราต้องจ่ายก็ประมาณ 140,000 บาท กู้ตอน ม.6 ได้ปีละ 10,000 บาท พอเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ได้ปีละ 3 หมื่นกว่าบาท เฉลี่ยรายเดือนก็เดือนละ 2,500 บาท ตอนนั้นเรากู้เฉพาะค่าครองชีพรายเดือนนะ เพราะว่าค่าเทอม ค่าหน่วยกิตเราจ่ายเงินเอง”

ตอนนี้ รัดดาวรรณใช้หนี้ กยศ. มาเป็นระยะเวลาร่วม 4 ปีแล้ว ซึ่งเธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาเป็นระยะเวลา 6 ปี และทาง กยศ. จะเริ่มทวงหนี้จากลูกหนี้หลังจากที่ลูกหนี้จบการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งหากใครพอใจและมีกำลังที่จะจ่ายในช่วงเวลา 2 ปีหลังจากจบการศึกษาทาง กยศ. ก็ไม่คิดดอกเบี้ย แต่ถ้าหลังจากนั้นแล้วจะมีการคิดดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีและแบ่งการชำระรายปีออกเป็น 15 ปี

“เราคิดว่ากองทุนนี้เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เรานะ เพราะถ้าไม่มีเงินตรงนี้มาช่วยตอนเรียน เราก็อาจจะไม่มีโอกาสเรียนจบปริญญาตรีได้ และพอเราเรียนจบมีงานทำเป็นหลักแหล่ง พอมีรายได้บ้างเราก็ต้องจ่ายหนี้เขาไป เพราะคิดว่าเงินที่เรายืมมาเป็นเงินของประเทศชาติ ถ้าเราไม่คืนรุ่นน้องที่มายืมต่อไปจะเอาที่ไหนล่ะ มันเป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นด้วย” รัดดาวรรณให้เหตุผล

อีกหนึ่งคน นุช พนักงานอิสระบริษัทแห่งหนึ่ง เล่าถึงการกู้ยืมเงินของ กยศ. ของเธอว่า ตอนนี้เธอเรียนจบมาแล้วร่วม 3 ปี ซึ่งครบกำหนดต้องจ่ายหนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ไปติดต่อใดๆ กับทางธนาคารกรุงไทย ซึ่งเธอบอกว่าอย่างไรก็ดี ในปีนี้เตรียมตัวทยอยจ่ายหนี้ก้อนโตนี้แน่นอน

“ตอนนี้เป็นหนี้อยู่ 230,000 บาท เรายืมเรียนมาตั้งแต่ตอน ม.4 ซึ่งตอนนั้นได้เทอมละ 5 พันบาท กู้มาเรื่อยๆ จนถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย สาเหตุที่กู้เพราะอยากแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในการส่งให้เราเรียน ซึ่งเงินกู้ตรงนี้ก็ช่วยเราในส่วนของค่าเทอมประมาณเทอมละ 5 พันกว่าบาท และยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนตกเดือนละ 3,500 บาท ซึ่งมันก็พอดีกับค่าใช้จ่ายเรานะ ไม่ต้องขอเงินจากทางบ้านด้วย เราก็คิดนะว่าถ้าไม่มีเงินตรงนี้มาช่วย เราก็คงลำบากเหมือนกัน เตรียมว่าจะจ่ายหนี้ก็ปีนี้แหละ ปีที่แล้วเบี้ยวเขามา ยอดที่ต้องจ่ายงวดนี้ก็หมื่นกว่าบาท”

ไม่ต่างจากคนอื่นที่มีความคิดว่า หากเลือกได้ก็ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ นุชก็เช่นกัน
“ในเมื่อยืมของเขามาก็ต้องจ่ายคืนเขาไป และถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีเงินเยอะพอสมควรเราก็จะรีบจ่ายๆ ไป ให้หมดหนี้เร็วๆ”

กระแต พนักงานบัญชีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่า เธอเป็นหนี้ กยศ. นี้ตั้งแต่เรียนระดับมัธยมศึกษา ก็ได้เงินไม่มากเท่าไหร่ถ้าเทียบกับสถาบันอื่นตกเดือนละ 800 บาท และได้มาเรียนต่อระดับ ปวส. แห่งหนึ่งได้เงินกู้ปีละ 10,000 บาท หักค่าหน่วยกิจแล้วก็เหลือใช้ประมาณ 2,500 บาทต่อเดือน และเธอย้ายมาเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่งแล้วก็มีการกู้ต่อเนื่องด้วย
จวบจนตอนนี้เธอเรียนจบระดับอุดมศึกษามาร่วม 4 ปีแล้ว และมีการติดต่อขอชำระหนี้มาตั้งแต่ครบกำหนด 2 ปีแรก

“เรากู้จนถึงจบปริญญาตรีเลย สุดท้ายเรามีหนี้ทั้งหมดรวม 140,000 บาท ตอนนี้เราจ่ายหนี้เป็นปีที่สามแล้ว เราจ่ายแบบรายเดือนนะ ทยอยจ่ายแบบมีก็เอาไปจ่ายก่อนเดือนละ 500-1000 บาท ปีหนึ่งก็เกือบหมื่น ถ้าเก็บจ่ายแบบรายปีกลัวใช้เงินหมดก่อน เดี๋ยวไม่มีจ่ายเขาจะลำบาก”

ไม่มี ไม่หนี แต่ยังไม่จ่าย

ในปี 2552 ผู้กู้ยืมครบกำหนดชำระหนี้ประมาณ 2 ล้านราย คิดเป็นเป็นเงินประมาณ 170,000 ล้านบาทคิดเป็นผู้กู้ต้องชำระปีแรกรายใหม่ 300,000 ราย

“ยังไม่ได้ใช้หนี้เลย คิดง่ายๆ นะพวกนักการเมืองบางคนในรัฐบาลโกงกินเงินประเทศไปมากกว่าเงินที่เราเป็นหนี้แค่แสนบาทมันน้อยนิดมาก ก็เลยคิดว่ายังไม่คืนหรอก เราเป็นหนี้แค่ 9 หมื่นบาทเอง ตอนนี้รวมดอกแล้วก็ประมาณแสนหน่อยๆ ตอนแรกที่มีจดหมายทวงหนี้มาที่บ้าน เราก็คิดว่าจะทยอยจ่าย ซึ่งปีแรกเขาให้จ่ายเริ่มต้น 3 พันบาท แล้วค่อยๆ เพิ่มไปตามสเต็ปขั้นบันได แต่พอมาเจอสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ และเงินเดือนเราก็น้อยด้วย จึงคิดว่ายังไม่จ่ายดีกว่า” ออน อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่งซึ่งเป็นลูกหนี้ กยศ. เล่า

ออน ยืมเงิน กยศ. มาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนจบระดับปริญญาตรี ด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ กับผู้กู้รายอื่นที่ว่าฐานะทางบ้านไม่ดี พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนในระดับสูง แต่อย่างไรก็ดี ใช่ว่าออนจะไม่คิดจ่ายหนี้ครั้งนี้ แค่เพียงว่าตอนนี้ยังไม่พร้อมที่จ่ายเท่านั้นเอง

“ไม่ใช่ว่าจะไม่จ่ายเลยนะ แค่รอไปก่อน รอให้มีเงินเยอะๆ ก่อนค่อยจ่ายก็ได้ แต่รัฐบาลก็ไม่เห็นทำไรกับพวกที่ค้างจ่ายนะ พอเราไม่มีการไปติดต่อจ่ายหนี้เลยตามเวลาที่เขากำหนดไว้ ก็จะมีจดหมายท้วงหนี้มาที่บ้านถี่เลย อย่างมีคนที่รู้จัก เขายังไม่จ่ายหนี้มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ทางธนาคารกรุงไทยก็มีการทวงหนี้กับคนค้ำประกันบ้าง ขู่ว่าจะฟ้องบ้าง”

ความจริงออนเล่าว่าก็ไม่ได้อยากเป็นหนี้ กยศ. เท่าไหร่ เพราะคิดว่าหากมีเงินพอจ่ายค่าเล่าเรียนเมื่อมีช่องทางให้กู้ยืมก็ต้องทำ เพื่อเอาเงินส่วนนี้มาเป็นค่าหน่วยกิจในการศึกษา

สอดคล้องกับลูกหนี้ กยศ. อีกหนึ่งรายที่คิดว่ายังไม่พร้อมจะจ่ายหนี้ก้อนโตนี้ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมทางด้านการเงิน จึงไม่มีการติดต่อขอชำระหนี้เป็นเวลานานล่วงเลยมาเป็น 10 ปีแล้ว

“ยังไม่เคยติดต่อจ่ายหนี้เลยนะ เรียนจบมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ทางธนาคารเขาก็มีจดหมายส่งมาทวงที่บ้านประจำเลย แต่เราก็ใช่ว่าจะไม่จ่ายนะ ถ้าเรามีเงินพร้อมที่จะจ่ายเราก็จ่าย แต่ตอนนี้ยังไม่มี” อ้อ สาวอาชีพอิสระเล่า

ดา พนักงานสาวบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้เป็นหนี้ กยศ. ราว 180,000 บาท เล่าถึงประสบการณ์การทวงหนี้ของ กยศ. ว่า มีการประกาศออกทางเสียงตามสายที่หมู่บ้านในต่างจังหวัดของเธอ

“ตอนนั้นแม่โทรมาบอกว่าผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายว่า ประกาศให้นาง....แม่ของนางสาว...พร้อมเพื่อนร่วมชะตาเดียวกันกับเธออีก 20 คน ว่าให้มาประชุมด่วน เพื่อตกลงกับธนาคารว่าจะจ่ายหนี้ กยศ. แบบไหน เดี๋ยวถ้าไม่มีการจ่าย อาจจะมีการขึ้นโรงขึ้นศาล มันจะลำบากกว่านี้ เผลอๆ เขาจะเอาตำรวจมาจับนะ (จบประกาศของผู้ใหญ่บ้าน)” ดา เล่า

ดาเล่าอีกว่า เธอไม่ได้ตั้งใจจะหนีหนี้ก้อนโตนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้ไม่มีเงินเท่านั้นเอง เพราะมีรายได้เพียงน้อยนิด บวกกับรายจ่ายประจำวัน จึงทำให้ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายหนี้ก้อนนี้เท่านั้นเอง

วิ พนักงานหนุ่มบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าว่า เขาเป็นหนี้ กยศ. และเรียนจบมาได้หลายปีแล้ว ซึ่งครบกำหนดที่จะต้องจ่ายหนี้แต่ไม่มีการไปติดตามใดๆ ทั้งสิ้น จึงทำให้ทางธนาคารส่งจดหมายมาเรียกไปชำระหนี้เป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี

“ทางธนาคารส่งจดหมายมาทวงหลายครั้งแล้ว ล่าสุดก็มีการเรียกไปขึ้นศาล เราก็ไปขึ้นตามเขา เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้กันต่อไป และในท้ายที่สุดเราก็ต้องจ่ายหนี้เขานั่นแหละ” วิ เล่า

ทวงหนี้ กยศ.

ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวไว้ว่า กยศ. ไม่ได้ต้องการยื่นฟ้องหรือเอาเรื่องเอาความกับนักศึกษา แต่ได้จัดการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุที่ผู้กู้ยืมไม่ส่งชำระเงินกองทุน ซึ่งพบว่ามีสาเหตุหลักคือผู้กู้ยืมยังว่างงาน และอีกสาเหตุเป็นความเข้าใจผิดตั้งแต่เบื้องต้นว่าเป็นเงินที่รัฐให้ฟรี โดยไม่ต้องชำระคืนแต่อย่างใด

“สำหรับผู้กู้ที่ถึงกำหนดชำระหนี้แต่ไม่มาติดต่อชำระหนี้นั้น เบื้องต้นที่ผ่านมา เราได้นัดผู้กู้จำนวนหนึ่งมาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินที่ศาลอาญา ซึ่งจริงๆ แล้วทาง กยศ. ไม่ต้องการฟ้องร้องให้เป็นคดี เพราะต้องใช้เงินกว่า 400 ล้านบาท แต่ก็จำเป็นต้องทำตามขั้นตอน ไม่เช่นนั้นจะหมดอายุความ จึงอยากเตือนให้นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบแล้ว ได้ตระหนักว่าเงินที่ใช้เรียนเป็นเงินภาษีของประชาชน ไม่ใช่ให้ฟรี และถ้าหากมาชำระหนี้คืน ทาง กยศ. ก็จะมีเงินหมุนเวียนให้รุ่นน้องได้มากู้ยืมเรียนต่อไป” ธาดากล่าว

นอกจากนี้ ทาง กยศ. ยังได้จัดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดี ประจำ ปีงบประมาณ 2552 โดยร่วมกับสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลแขวง และศาลจังหวัด 27 แห่ง ระหว่างเดือนตุลาคม 2551-เมษายน 2552 เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กู้ยืมที่ไม่ได้มาชำระหนี้ กยศ. ติดต่อกัน 5 ปี ซึ่งต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

ผลปรากฏว่ามีผู้กู้ยืมที่ค้างชำระเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 39,170 ราย โดยสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จจำนวน 29,361 ราย แบ่งเป็นผู้ที่ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความ 21,473 ราย ผู้ที่ทำคำรับรองชำระหนี้ค้างชำระ 7,782 ราย และผู้ที่ทำคำรับรองชำระหนี้เสร็จสิ้น 106 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ที่จะได้รับกลับคืน กยศ. กว่า 3,011 ล้านบาท ซึ่งทำให้กองทุนได้เงินกลับมาหมุนเวียนให้นักเรียนนักศึกษารุ่นน้องได้กู้ยืมเรียนต่อไป

สาเหตุที่ทาง กยศ. ต้องทวงหนี้กับผู้กู้ที่เรียนจบการศึกษาไปแล้วนั้น เนื่องมาจาก ทุกปีมีจำนวนผู้กู้รายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าแต่ละปีจะมีงบประมาณไว้จำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ กยศ. ก็ต้องอาศัยเงินที่จะได้รับจากการใช้คืนจากผู้กู้ที่จบการศึกษาแล้วมาหมุนเวียนให้กู้ต่อไป ซึ่งหากในแต่ละปี กยศ. ไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น หรือจำนวนผู้ชำระหนี้ลดน้อยลงก็จะเป็นปัญหาทางการเงินของ กยศ. ได้ในอนาคต เพราะแนวโน้มรัฐบาลยังต้องจัดงบประมาณในลักษณะขาดดุลต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามสภาพคล่องของประเทศ หากประเทศไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน ก็จะกระทบต่อสภาพคล่องของกยศ.ด้วย

จากสถิติที่มีผู้ค้างชำระหนี้จำนวนหลายราย ทำให้ทาง กยศ. สร้างปรากฏการณ์การกระตุ้นให้ลูกหนี้มาชำระหนี้ นั่นก็คือการร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จัดกิจกรรมมอบโชคสำหรับผู้ที่มาติดต่อชำระหนี้ระหว่างที่ 25 พฤษภาคม- 25 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งใครที่มาจ่ายหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว จะมีส่วนร่วมลุ้นรางวัลโน้ตบุ๊ค กล้องถ่ายรูปดิจิตอล ไอพอดนาโน เครื่องเล่นเพลง MP3 รวมมูลค่ากว่า 120,000 บาท

ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งหวังเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระหนี้ของผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้ ตั้งแต่ปี 2542-2552 จากเดิมที่จะรอชำระหนี้ช่วงใกล้วันสุดท้าย คือวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความแออัด ผู้กู้และลูกค้าทั่วไปไม่ได้รับความสะดวก และเป็นปัญหาต่อระบบบริหารจัดการของธนาคาร ทาง กยศ. จึงจัดโครงการนี้ขึ้น

ดูเหมือนว่าจะได้ผลด้วยเพราะหลังจากแคมเปญนี้นออกไป ก็มีผู้มาติดต่อชำระคืนหนี้แล้วกว่า 150,000 ราย เป็นเงินกว่า 410,000,000 บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้มาชำระคืนหนี้จำนวน 109,000 ราย จำนวนเงิน 350,000,000 บาท

แบ่งสันปันส่วน

ธาดา กล่าวว่า งบประมาณสำหรับ กยศ. ที่จะให้นักเรียน นักศึกษากู้นั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จะได้รับในแต่ละปี ซึ่งทาง กยศ. จะทำการเฉลี่ยไปให้กับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งตามความเหมาะสม ซึ่งมีกฎเกณฑ์การจัดสรรงบหลายอย่าง อาทิ ตัวเลขสถิติการขอกู้ในแต่ละปี สถิติการชำระเงินคืน กยศ. ซึ่งเมื่อได้งบประมาณไปแล้วนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งว่าจะจัดสรรงบประมาณให้ผู้กู้แต่ละคนอย่างไรบ้าง

จากข้อมูลของ กยศ. ระบุไว้ว่า ตามขอบเขตการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาประจำปี 2552 กำหนดให้การกู้ยืมเป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้ ได้แก่ รวมค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ค่าคอรงชีพ ต่อรายต่อปีผู้กู้แต่ละรายจะได้รับเงิน แบ่งเป็นระดับดังนี้

มัธยมศึกษาตอนปลาย 26,000 บาท, ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 36,000 บาท, พาณิชยกรรมหรือบริหารธุรกิจ ศิลปหัตถกรรมหรือศิลปกรรม เกษตรกรรมหรือเกษตรศาสตร์ คหกรรมหรือคหกรรมศาสตร์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 49,000 บาท, ช่างอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทัศนศาสตร์ 54,000 บาท

อนุปริญญา/ปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ 84,000 บาท, ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ 84,000 บาท, วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 94,000 บาท, เกษตรศาสตร์ 94,000 บาท, สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ 104,000 บาท, แพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ 174,000 บาท (ข้อมูลจากเวบไซต์ กยศ.)

……….

ปัจจุบัน กยศ. ดำเนินงานมาจนถึงปีที่ 14 แล้ว และหลังจากก่อตั้งได้ 8 ปี ก็ได้เริ่มมีกระบวนการทวงถามเงินคืนจากผู้กู้โดยเริ่มมาตั้งแต่ประมาณกลางปี 2549 ซึ่งช่วงนั้นประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังประสบปัญหาถังแตกอยู่พอดี กยศ. ได้มีการมอบหมายให้ทนายฟ้องแพ่งได้ทั่วราชอาณาจักร มีอำนาจในการรับเงินหรือสิ่งอื่นใดจากลูกหนี้แทนสำนักงานกองทุนได้โดยสมบูรณ์ หรือมอบช่วงให้กับบุคคลอื่นในการดำเนินการฟ้องและดำเนินการแทนกองทุนได้ เพื่อที่จะทำทุกวิธีทางในการให้ลูกหนี้มาชำระหนี้โดยพร้อมเพรียงหรือมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงหากยึดหลักความถูกต้อง ‘เป็นหนี้ก็ต้องจ่าย’ อยู่แล้ว

************

กยศ. จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 ในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 โดยได้เริ่มดำเนินการให้กู้ยืมครั้งแรกในปีการศึกษา 2539 ต่อมารัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของ กยศ. เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินของผู้ปกครองและเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติโดยรวม โดยมุ่งหวังว่าผู้กู้ยืมจะสามารถเล่าเรียนได้จนสำเร็จตามหลักสูตร มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมถึงมีจิตสำนึกในการชำระหนี้คืนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับรุ่นน้องต่อไป ตามแนววิสัยทัศน์ที่ว่า ‘เป็นองค์กรการเงินชั้นนำ มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา เพื่อพัฒนาสังคมไทย’


************

เรื่อง-มาลิลี พรภัทรเมธา


กำลังโหลดความคิดเห็น