มากกว่า 14 ล้านคน...คือจำนวนผู้ลี้ภัยที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ในจำนวนนี้ มีชาวอิรักที่หนีภัยสงครามอยู่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน มิพักต้องเอ่ยถึงชาวทิเบต ชาวอัฟกานิสถาน ซูดาน คองโก รวันด้า ปาเลสไตน์ และพลเมืองพลัดถิ่นในอีกหลายประเทศที่สงครามไม่เคยยุติ
ส่วนในไทย มีผู้ลี้ภัยมากกว่า 3 แสนคน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าที่หนีจากการเข่นฆ่า กดขี่ ขูดรีดของรัฐบาลเผด็จการทหาร
เนื่องในวาระ ‘วันผู้ลี้ภัยโลก’ ( World Refugee Day) ที่จะเวียนมาถึงอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายนตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ ‘ปริทรรศน์’ ขอร่วมถ่ายทอดบางแง่มุมอันเกี่ยวโยงถึงผู้ลี้ภัยในรั้วรอบขอบบ้านเรา
ข้ามฝั่ง
“ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา สถานการณ์ชายแดนช่วงนี้ยังมีการสู้รบค่อนข้างหนัก ทหารพม่า และDKBA (กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ ) ยังไม่หยุดโจมตี KNU (กองกำลังกลุ่มสหภาพแห่งชาติพันธุ์กะเหรี่ยง) ล่าสุด ทหารพม่าใช้ปืนยิงวิถีโค้งขนาดใหญ่ยิงเข้ามาในพื้นที่ และจะเพิ่มกำลังโจมตีขึ้นอีก ทำให้คนในหมู่บ้านหนีเข้ามาฝั่งไทยกันต่อเนื่อง”
เป็นคำบอกเล่าจาก SAW เจ้าหน้าที่อาสาสมัครขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่ง
ไม่ใช่เพียงแค่เหตุการณ์นี้ ที่ผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ข้ามฝั่งหนีตายมายังรอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ทั้งอีกไม่น้อยเข้ามาอาศัยในค่ายพักพิงสำหรับผู้ลี้ภัย เพราะนอกจากถูกไล่ยิงจากรัฐบาลทหารแล้ว ชีวิตของประชาชนพม่าก็ยังต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายในรูปแบบอื่นๆ อยู่ทุกเมือเชื่อวัน
ดังข้อมูลจาก Burma Issues ที่เผยว่า ทุกวันนี้ ทหารพม่ายังคงใช้นโยบายสั่งอพยพ ให้ประชาชนโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่แร้นแค้น เมื่อรัฐต้องการทรัพยากรในหมู่บ้านนั้นๆ ประชาชนยังถูกทหารพม่าบังคับใช้แรงงานให้กองทัพ อาทิ ทำถนน สร้างค่ายทหาร หาบเสบียง ขนอาวุธ ยังไม่นับการกระทำไร้มนุษยธรรมอื่นๆ อาทิ ทหารข่มขืนผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ ถือว่าไม่มีความผิด มิพักต้องเอ่ยถึงความแร้นแค้นเกินทน เมื่อถูกสั่งย้ายฉับพลันให้ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีพื้นที่หรือทรัพยากรให้ทำมาหาเลี้ยงชีพ
แต่ไม่ว่าอย่างไร ภัยจากการสู้รบ คือ ปัจจัยแรกสุด ที่ทำให้ทุกวันนี้ ผู้คนไม่น้อยจากพม่า ยังคงข้ามฝั่งมาตายดาบหน้าที่เมืองไทย
เพียงค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ อ.ท่าสองยาง จังหวัดตาก แห่งเดียว มี ผู้ลี้ภัยอยู่มากนับ 40,000 คน
“สภาพความเป็นอยู่ล่าสุด สิ่งที่ผู้ลี้ภัยในแคมป์แม่หละ ต้องการมากที่สุดก็คืออาหาร ใน 4 ปีที่ผมได้เห็นมา ความเป็นอยู่ของผู้คนในนั้นก็ไม่เปลี่ยนแปลง”
SAW ถ่ายทอดสถานการณ์ในแคมป์ ก่อนเผยรายละเอียด ว่า ทางเดียวที่ผู้ลี้ภัยจะได้รับอาหาร ก็คือเขาต้องรอรับจากองค์กรมนุษยธรรมเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะออกไปไหน ไม่มีสิทธิ์ที่จะเดินทางไปที่อื่นนอกแคมป์ได้ ไม่เช่นนั้นเขาจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม ถูกปรับ ยิ่งกว่านั้นก็คือถูกจับไปแม่สอด เพื่อส่งกลับคืนเมียววดี ในพม่า ซึ่งคนในค่ายผู้ลี้ภัยจะหวาดกลัวมาก ว่าเขาจะถูกส่งกลับ เพราะหากรัฐไทยส่งเขากลับไป รัฐบาลทหารพม่าก็จะมองว่าเขาอันตราย เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง เนื่องจากผู้ลี้ภัยในค่ายส่วนใหญ่ หนีภัยจากการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแม้จะเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงหรือค่ายผู้ลี้ภัยแล้ว ความหวาดกลัวภัย ก็ยังตามหลอกหลอน"
“ปัญหาด้านสภาพจิตใจที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ลี้ภัยคือความหวาดกลัว แม้มาอยู่ในค่ายผู้พักพิงแล้วก็ยังหวาดกลัว เขากลัวสายลับทหารพม่า กลัวครอบครัวถูกจับ ถูกฆ่า มีข่าวลือต่างๆ นาๆ เกิดขึ้นในค่ายเยอะ และผู้ลี้ภัยไม่ได้รับข่าวสารที่แท้จริง เขาจึงเกิดความกลัวไปต่างๆ นาๆ เช่นเคยมีข่าวลือ ว่าจะมีสายลับพม่าเทยาพิษลงในบ่อน้ำ แท็งค์น้ำ เพื่อฆ่าผู้ลี้ภัย เหตุที่กลัวเพราะเล่าต่อๆ กันมาในค่าย ว่าเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ”
SAW คลุกคลีอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมาแล้วนานนับ 4 ปี เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเป็นอาสาสมัครทำประวัติผู้ลี้ภัยให้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR (United Nations High Commissioner for Refugees)
เราจึงขอให้เขาอธิบายถึงการได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ทำให้ทราบว่า กว่าจะได้รับสถานะ บางคนต้องรอนานหลายปี
“บางคนรอนานมาก ราว 3-4 ปี เพราะต้องมีการตรวจสอบโดย ยูเอ็นเอชซีอาร์และกระทรวงมหาดไทยของไทย เมื่อยังไม่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย เขาก็ยังไม่ได้ข้าวสาร ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรมนุษยธรรม เพราะไม่มีชื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยที่ยูเอ็นเอชซีอาร์รับรอง เพราะฉนั้นเมื่อไม่มีชื่อในทะเบียน ก็จะได้รับความช่วยเหลือ”
ต่อเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียน เขาจึงจะได้รับสิทธิ ซึ่งสิทธิที่ว่านั้นก็...มีเพียง 1.มีชื่อในแคมป์ 2.ได้รับข้าวสาร 3. ได้ไม้สำหรับสร้างบ้าน นี่คือสิ่งที่เขาได้รับ แต่ถ้าไม่มีชื่อในทะเบียนเขาก็จะไม่ได้รับอะไรเลย
ปัจจุบัน ในค่ายผู้ลี้ภัยมีคนอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 40,000 คน ในจำนวนนี้ ยังมีราว 10,000 คน ที่ไม่ได้รับสถานะ ยังไม่ได้รับข้าว เขาจึงต้องดิ้นรนหาหนทางด้วยตนเอง มีจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ที่ชักจูง หว่านล้อม ทั้งยังให้สัญญาว่าจะพาไปทำงานหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงตัวเอง
ส่วนการทำประวัติผู้ลี้ภัยนั้น SAW เพิ่มเติมว่า ขั้นตอนแรกจะต้องสัมภาษณ์ว่าเขามีโรคประจำตัวอะไรไหม และเหตุผลที่หนีมาจากพม่าคืออะไร ระบุเพศ อายุ รวมถึงทะเบียนบ้านเดิมของผู้ลี้ภัย ซึ่งหากมีรูปถ่ายก็ต้องนำมายืนยัน
"เกณฑ์ในการชี้ขาดว่าเขาจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ อยู่ที่การสัมภาษณ์ว่าหนีมาจากการสู้รบจริงไหม จากนั้นก็จะมีการตรวจสอบว่าหนีการสู้รบจริงหรือเปล่า ซึ่งการสัมภาษณ์ให้ผ่านเกณฑ์ของยูเอ็นเอชซีอาร์ เป็นเรื่องยากมากนะครับ เพราะกฎเหล็กมีอยู่ว่า ถ้าคุณหนีมาจากการสู้รบ เขาก็จะถามว่า แล้วทำไมคนอื่นๆ ในหมู่บ้านของคุณเขาไม่หนี ทำไมคุณหนีมาตามลำพัง"
...ผู้ลี้ภัยหลายคน อดได้ข้าว อดได้ไม้สร้างบ้านก็ด้วยเหตุนี้
คงเพราะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ อาจไม่เข้าใจว่า บางครั้ง บริบททั้งหมดในชีวิตที่ผ่านมาของคนๆ หนึ่ง ที่ต้องหนีให้รอดจากความตายที่เอื้อมมาหาโดยไม่รู้ว่าตนทำผิดอะไรนั้น อาจไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ด้วยซ้ำ
ตายตาบหน้า
“ตอนที่ชาวโรฮิงญาเข้ามาในน่านน้ำไทยช่วงเดือนมกราคม แล้วรัฐไทยรีบผลักดันออกไป ส่งลงเรือไปโดยไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำที่พอเพียง เพราะฉนั้น เมื่อเขาไปขึ้นฝั่งที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย จึงมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะมีคนตาย เรามีข้อมูลที่ยืนยันได้ เนื่องจากเราส่งเจ้าหน้าที่ไปที่อาเจะห์ เพื่อเยี่ยมชาวโรฮิงญาที่ไปถึง”
เป็นทรรศนะจาก สมศรี หาญอนันทสุข คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ที่สำรวจข้อมูลในเชิงลึกต่อประเด็นที่ชาวโรฮิงญาถูกกระทำทารุณ
นอกจากการสู้รบฝั่งชายแดนไทย-พม่าจากคำบอกเล่าของ SAW แล้ว กรณีชาวโรฮิงญาหนีจากพม่ามาไทย และถูกรัฐไทยพยายามผลักดันให้กลับไป ก็นับเป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับประเด็นผู้ลี้ภัย อย่างไม่อาจมองข้าม ดังที่ สมศรีเอ่ยกับเรา
“บางคนอาจจะมองว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย แต่เรามองว่าใช่ เพราะเรามองไปที่ต้นเหตุของปัญหา ว่า เขามีภัยทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลพม่ามองว่าเขาไม่มีสถานภาพเป็นชนกลุ่มหนึ่งของประเทศ ถูกกดขี่ ได้รับความไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลเพียงเพราะเขาเป็นมุสลิม ทั้งที่เขาก็อยู่ที่พม่ามานาน เพราะฉนั้น เมื่อเขามีหลักแหล่ง ถิ่นฐานชัดเจน การที่เราจะบอกว่าเขาเป็นคนไร้รัฐ ก็คงไม่ใช่ การที่เขาต้องไปเป็นประชากรชั้นสองในประเทศอื่นๆ ก็เพราะประเทศของเขา ไม่ยอมรับเขา
“สำหรับดิฉันหรือใครก็ตามที่ศึกษาเรื่องราวในพม่าอยู่ ต่างยอมรับว่าชาวโรฮิงญาคือผู้ลี้ภัย และอยากให้ทางรัฐบาลไทยเห็นใจเขาบ้างเหมือนกับที่เราเห็นใจคนพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ถูกกระทำ”
สมศรีเชื่อว่า ณ ตอนนั้น รัฐบาลก็คงไม่ทราบ ว่ามีคนปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาค่อนข้างทารุณ แต่ข้อมูลที่ตรวจสอบจากอาเจะห์ยืนยันว่า รัฐไทยตีเขานิ้วขาดเลยก็มี และอาเจะห์ลงข่าวการกระทำนี้อย่างคึกโครมมาก มีรูปถ่ายสภาพชาวโรฮิงญาที่โซซัดโซเซ นิ้วขาด คนที่ทนไม่ไหว ขาดใจตายก็มี
“เรือลำนั้นเป็นเรือที่มาจากเมืองไทย ใช้เวลา 2 อาทิตย์กว่าจะไปถึง น้ำดื่มไม่พอ อาหารก็ไม่มี เขาต้องตากแดด ตากฝน ต้องดื่มน้ำปัสสาวะตัวเอง เพราะฉะนั้นสภาพแต่ละคนปางตาย แล้วก็มีตาย 2 คน
"เมื่อเรือซึ่งไปถึงอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียให้การดูแลโดยไม่ผลักดันกลับ ทางการมีเต็นท์ให้พัก มีน้ำ มีอาหารให้ชาวโรฮิงญา ส่วนชาวบ้านในอาเจะห์ก็ให้ความช่วยเหลือ พาเขาไปที่บ้าน ให้ที่พัก ให้อาหาร และให้โทรศัพท์กลับไปหาญาติได้ ไม่เหมือนกับสิ่งที่ชาวโรงฮิงญาเจอที่เมืองไทย ซึ่งเราไม่ทราบหรอกว่าใครตี และตีทำไม อาจจะเพื่อข่มขู่อะไรหรือเปล่า
“เพราะฉนั้น ด้วยสภาพที่เขาพบเจอ เราจึงเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่รู้ เพราะถ้ารู้รัฐก็ไม่น่าผลักเขาออกไป ควรให้ความเป็นธรรม ให้การรักษา และหาตัวคนที่ทำร้ายเขา ไม่ว่าใครทำก็สมควรได้รับการลงโทษ ความยุติธรรมต้องให้กับคนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม และหากทำเช่นนั้น รัฐบาลของเราก็จะดูดี การหมกเม็ด ปิดๆ บังๆ หรือพูดบ้าง นิดๆ หน่อยๆ ในเวทีอาเซียน เพื่อให้เห็นว่าเราติดตามแต่ไม่ได้ทำอะไรจริงจังนัก ก็ไม่ได้ช่วยอะไร และทำให้เราผิดหวังกับรัฐบาลชุดนี้”
อย่างไรก็ดี แม้ผิดหวังเรื่องการให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา แต่ในอีกมุมหนึ่ง สมศรีบอกว่า
“แต่อย่างน้อยๆ ก็ดีใจที่รัฐบาลหยิบยกประเด็นกรณีชาวโรฮิงญาเข้าสู่การประชุมอาเซียน แต่หลังจากนั้นแล้วมีการทำอะไรต่อหรือไม่ ต่อเมื่อคิดจะส่งเจ้าหน้าที่จากไทยไปให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่อาเจะห์ก็สายไปแล้ว เขาไม่อยากเจอคนไทยแล้ว ทางเทศมนตรีที่นั่นเขาบอกว่า แค่รู้ว่าคนไทยจะมาพบ ชาวโรฮิงญาเขาก็สติแตกเลย เราจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนอินเดียเข้าไป เขาไม่อยากเจอคนไทยเลย
“เมื่อครั้งยื่นหนังสือต่อคุณกษิต ภิรมย์ เราขอว่าอย่าเพิ่งผลักดันชาวโรฮิงญากลับประเทศ เพราะชาวโรฮิงญาเองเขาก็ยืนยันว่าถ้าส่งเขากลับไป เขายอมตายดีกว่า แม้รัฐบาลพม่าจะบอกว่ายินดีรับกลับ แต่ใครจะการันตีว่าเมื่อกลับไปแล้วเขาจะมีชีวิตรอด”
ในเมื่อรัฐบาลทหารพม่าเห็นว่า ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่ารังเกียจ สถานะต่ำต้อยกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ ทั้งหมดในพม่าที่ปรกติก็ได้รับความไม่เป็นธรรมเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว
รอบรั้ว
“การไปตีกรอบเขาให้อยู่แต่ในรั้วลวดหนาม มันเป็นไปไม่ได้ ปัญหาในแคมป์ผู้ลี้ภัยที่ตึงเครียดมากๆ คือ ไม่ให้เขาทำอะไร ห้ามไม่ให้เขาทำงาน เมื่อไหร่รัฐไทยจึงจะมองความจริงสักที แล้วเลิกมองว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเพ้อฝัน ใช้ให้มันถูกต้องแล้วคุณจะเข้าใจว่ามันเป็นความจริง
“สิทธิขั้นพื้นฐานของคนคือต้องเคลื่อนไหว เคลื่อนย้ายได้ เดินทางได้ แล้วคุณเอาเขามากักเก็บไว้อย่างนี้ได้อย่างไร เขาอยู่ไม่ได้หรอก เขาก็ต้องยอมออกมาอย่างผิดกฎหมาย นี่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า 'สิทธิมนุษยชน' มันคือเรื่องจริง”
เป็นถ้อยคำจาก พรสุข เกิดสว่าง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ที่เคยเอ่ยกับเราอย่างหนักแน่น
ก่อนสะท้อนมุมมองต่อเนื่องไปถึงบทบาทของ UNHCR ที่ในบางครั้ง...ดูอ่อนด้อยต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย
“ผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศจะต้องถูกคุ้มครองจากความคุ้มครองโดยส่วนกลางของโลก ผ่านประเทศที่รับ เพราะฉนั้น เมื่อผู้ลี้ภัยจากพม่าลี้ภัยเข้ามาในไทย รัฐไทยในฐานะประเทศหนึ่งของสหประชาชาติก็ต้องมีหน้าที่ของตัวเอง ขณะเดียวกันนานาชาติก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองผู้ลี้ภัยเหล่านี้ผ่านสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ เรื่องความคุ้มครองก็มีตั้งแต่ให้ความช่วยเหลือในปัจจัยพื้นฐาน คือให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ มีข้าวกิน มีที่นอน มียารักษาโรค รวมไปจนถึงความคุ้มครอง เมื่อเขาถูกละเมิด”
ถ้าถามว่า UNHCR ทำหน้าที่นี้ได้ดีแค่ไหน พรสุขมองว่ามีจุดอ่อนไม่ต่างจากระบบของรัฐ หรือระบบต่างๆ ของสหประชาชาติหรือยูเอ็น เพราะ
“ยูเอ็นเองก็เหมือนรัฐ อำนาจขึ้นอยู่กับคนตำแหน่งสูงๆ ได้คนดีก็ดี ได้คนเฉื่อยก็ไม่มีอะไรคืบหน้า
สำหรับหน้าที่ของยูเอ็นในเมืองไทย เขาไม่ได้มีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย หรือยารักษาโรค หน้าที่ของยูเอ็นมีอยู่เพียงอย่างเดียวคือ ให้ความคุ้มครองยามเมื่อเขาถูกละเมิด ซึ่งจะมีสำนักงานอยู่ตามชายแดน แต่เขาควรจะมีบทบาทสำคัญอีกอย่างคือ ดูแลไม่ให้ไทยบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย หรือเมื่อมีคนเข้ามา ต้องการความช่วยเหลือ แต่เรากลับปฏิเสธ และผลักดันออกไป ในกรณีนี้ หลายครั้งดิฉันก็วิพากษ์วิจารณ์ กับคำอ้างของยูเอ็นที่ว่า ‘ยูเอ็นจะทำงานก็ต่อเมื่อประเทศไทยอนุญาติ และเพราะทำอะไรไม่ได้ ก็เลยทำอะไรไม่ได้’
“ดิฉันจึงมักจะตั้งคำถามกลับไปว่า ก็ถ้าคุณทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่ต้องอยู่ที่นี่สิ เพราะการที่คุณเข้ามานั่นหมายความว่าคุณย่อมต้องทำอะไรได้บางอย่าง เช่นการเจรจาต่อรอง ไม่ใช่ทุกครั้งก็บอกว่า ‘ทำอะไรไม่ได้’ ในบางครั้งเราจึงเกิดความรู้สึกโต้แย้งกับยูเอ็น และมองว่าบางกรณี การเจรจาไกล่เกลี่ยก็อาจไม่ช่วยอะไร แล้วคนไทยก็จะไม่ได้รับรู้เลยว่า จริงๆ แล้ว มันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีกเยอะ”
.........
ถึงที่สุด เราคงไม่อาจฝากความหวังไว้ที่สหประชาชาติหรือใครเพียงคนหนึ่งคนใด ตราบที่ประชาคมโลกไม่ตระหนักร่วมกันอย่างแท้จริง ว่า “สิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี” คือสิ่งจำเป็นเหนือผลประโยชน์ทับซ้อนมูลค่าหลายหมื่นแสนล้าน มากกว่านั้น มันจำเป็นเหนือมายาคติ เหนือการดูแคลนเหยียดหยามชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ อุดมการณ์ที่แตกต่าง
ตราบที่ผู้นำในบางประเทศยังคงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนในชาติตนเอง โดยที่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง สถาบัน องค์กรชั้นนำ หรือแม้แต่ชาติมหาอำนาจของโลก ก็มิอาจหาญกล้าขยับเขยื้อน หรือยื่นมือเข้าแทรกแซง
ราวกับว่า หากมีใครสักคนเอ่ยถาม “สถิติผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาล จะยุติลงเมื่อใด?” ใครคนนั้น คงถูกหัวเราะเยาะจากใครอีกหลายๆ คนที่ต่างก็คล้องแขนกันนั่งบนท่อก๊าซใต้ดิน ที่มอบมูลค่ามหาศาลให้เสียยิ่งกว่าหลายชีวิตที่ต้องหาทางหนีตายไม่เว้นวัน
ตัวเลขผู้ลี้ภัยย่อมไม่มีวันสิ้นสุด ตราบที่ลมหายใจยังไร้ราคาเมื่อเทียบกับน้ำมัน ก๊าซ ทองคำ เขื่อน ขีปนาวุธ และการแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจยิ่งๆ ขึ้นไป
...........
เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ภาพสีประกอบบทความโดย : มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
*******ล้อมกรอบ******
ฟิล์มเปิดใจ สัมผัสใจผู้ลี้ภัย
หากการค้นคว้าหาข้อมูล สถิติ หรือศึกษาถึงรากเหง้าปัญหาในประเด็น ‘ผู้ลี้ภัย’ ยังเป็นเรื่องหนาหนักสำหรับหลายๆ คน ‘มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน’ ฝากบอกกล่าวและเชิญชวนมาร่วมสัมผัสหัวใจ ชีวิต และความคิดของผู้ลี้ภัยทั่วโลก ผ่านเทศกาลภาพยนตร์ ในงานมหกรรม ‘บินข้ามลวดหนาม’ วันที่ 13-20 มิถุนายน 2552 ณ โรงละครหอศิลป์และลานสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จ. เชียงใหม่
หนังสั้นที่นำมาฉายในเทศกาลครั้งนี้มีทั้งหนังไทยและหนังจากนานาชาตินับ 20 เรื่อง อาทิ Paper Dolls (อิสราเอล), Jerusalem (ปาเลสไตน์), Jihad for Love (สหรัฐอเมริกา), Seasons of Fear (พม่า), Which Way Home? (พม่า), Far from Home (พม่า), Flowers of Rwanda (สเปน)
ร่วมด้วย หนังสั้นฝีมือคนไทย อย่าง กระเป๋านักเรียนของหงสา, สีของหัวใจ, สวรรค์คับแคบ, ไตแลง และ บทเพลงของแอ้โด้ฉิ
ภายในงานนอกจากการฉายหนังสั้นทั้งล้อมวงพูดคุยเสวนา ว่าด้วยประเด็นสิทธิของผู้ลี้ภัย คนไร้สัญชาติ และแรงงานอพยพแล้ว ยังมีมหกรรมดนตรี อาหาร นิทรรศการศิลปะ และตลาดนัดไร้พรมแดน เพื่อความเข้าใจในวัฒนธรรมชนเผ่าและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่
WWW.FRIENDS-WITHOUT-BORDERS.ORG
...........