กล่าวในภาพรวม ประเทศพม่าประกอบด้วยชาติพันธุ์ 19 กลุ่มหลักโดยชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาถือเป็นกลุ่มย่อยใน 19 กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ในรัฐอาราคาน(Arakan) ด้านทิศตะวันตกของพม่า มีพรมแดนติดต่อกับประเทศบังกลาเทศ ซึ่งในรัฐอาราคานมีชนชาติอาราคานที่นับถือศาสนาพุทธประกอบเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของรัฐอาราคาน
รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าสมัยนายพลเนวินได้ทำการรัฐประหารโค่นรัฐบาลประชาธิปไตยของอูนุเมื่อปี พ.ศ. 2505 และได้สถาปนาระบอบเผด็จการทหารมาตลอด 46 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีทั่วไปว่า นับตั้งแต่ระบอบเผด็จการทหารพม่าขึ้นมามีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเป็นเวลา 46 ปีเต็มจนถึงปัจจุบันระบอบเผด็จการทหารพม่ามีนโยบายเพื่อแบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) ในพม่าอย่างชัดเจนมาตลอด ด้วยการใช้ปัจจัยความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 19 กลุ่มหลักและกลุ่มย่อย เป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครอง สร้างความเกลียดชังความแตกแยกระหว่างคนเชื้อชาติพม่า (ซึ่งมีกว่า 70%) กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน ทั้งนี้ ฝ่ายเผด็จการทหารพม่าจะพยายามทำความเข้าใจและให้การสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธเพื่อดึงมาเป็นแนวร่วม ในการทำสงครามปราบปรามกลุ่มชนส่วนน้อยอื่น ๆ ที่ไม่นับถือศาสนาพุทธ (เช่น ปราบปรามชาวกะเหรี่ยง KNU ที่นับถือศาสนาคริสต์และชาวโรฮิงญาซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้น) พร้อมกับให้ความร่วมมือกับกลุ่มชนส่วนน้อยบางกลุ่มหารายได้และผลประโยชน์มหาศาลจากการผลิตและค้ายาเสพติดทุกประเภท (เช่น ยินยอมหลับหูหลับตาให้กับชนกลุ่มน้อยว้าแดงในรัฐฉานทำการผลิตและค้ายาบ้าเพื่อลักลอบเข้ามาขายในประเทศไทย) ตลอดจนการหารายได้จากการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น การตัดไม้ทำลายป่า)
สำหรับกรณีของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในพม่านั้น รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรงมาโดยตลอด เพื่อบีบให้ชาวโรฮิงญาหนีการปราบปราม ทิ้งที่อยู่อาศัย อันเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวอาราคาน (ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ) เข้ามาครอบครองพื้นที่อาศัยของชาวโรฮิงญา การบีบให้ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาละทิ้งที่อยู่อาศัยเพื่อหนีการปราบปรามโดยฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าถือได้ว่าเป็นนโยบายการบริหารจัดการเพื่อกำจัดชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบ (managed ethnic cleansing) ไม่ต่างจากนโยบายของอดีตประธานาธิบดี Slobodan Milosevic ที่ใช้การปราบปรามชาวบอสเนียอย่างรุนแรงเพื่อบีบให้ออกจากพื้นที่อาศัย เปิดทางให้ชาวเซิร์บเข้ามายึดครองพื้นที่อาศัยของชาวบอสเนียในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย อีกทั้งไม่แตกต่างจากนโยบายและการปฏิบัติการรุนแรงของขบวนการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพื่อหวังสร้างความสะพรึงกลัวให้กับชาวไทยที่ไม่ใช่มุสลิมหนีอพยพออกจากพื้นที่อันตรายของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนำไปสู่สภาพการณ์ของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (internally displaced persons)เพื่อเปิดทางให้กับกลุ่มที่สนับสนุนการก่อการร้ายย้ายเข้ามายึดครองพื้นที่ที่ถูกทอดทิ้ง
รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ทำการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงและอย่างกว้างขวางครั้งใหญ่ 2 ครั้ง (ช่วงปี พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2544) โดยผลของการปราบปรามอย่างรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมทั้งสองครั้งดังกล่าวได้ทำให้ชาวโรฮิงญาหนีภัยไปอาศัยอยู่ในประเทศบังกลาเทศ (ครั้งแรกจำนวน 200,000 คน ครั้งที่สอง 250,000 กว่าคน) และแม้ว่าทางสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (องค์การ UNHCR) จะได้ช่วยให้ชาวโรฮิงญาเดินทางกลับไปยังถิ่นฐานเดิมในพม่าช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2544-2548 แต่เนื่องจากทางรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ปล่อยให้ชาวอาราคานที่นับถือศาสนาพุทธเข้าไปครอบครองพื้นที่อาศัยของชาวโรฮิงญาเกือบหมดแล้ว อีกทั้งไม่เคยให้สัญชาติพม่าแก่ชาวโรฮิงญา (รวมทั้งชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในพม่า) เป็นผลทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติในพม่าและยังต้องประสบกับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายทหารพม่า ทำให้ต้องหนีกลับไปหาที่พักพิงในค่ายผู้อพยพของ UNHCR (กว่า 60,000 คน) และค่ายที่ทางการบังกลาเทศจัดให้ (กว่า 100,000 คน) ภายใต้สภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค
เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั้งในวงการของ NGO ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิมนุษยชนและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวโรฮิงญาหนีภัยไปยังประเทศบังกลาเทศนั้น เป็นเพราะการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ส่วนการหนีออกจากค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศโดยเดินทางมาทางเรือโดยส่วนใหญ่อ้างว่าเพื่อไปยังประเทศมาเลเซีย แต่หลงทางหรือถูกลมพัดมายังฝั่งไทยนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการไม่สามารถทนสภาพเลวร้ายของค่ายผู้อพยพ จึงจำเป็นต้องดิ้นรนหาแหล่งพักพิงใหม่ จึงทำให้เกิดขบวนการค้าและลักลอบมนุษย์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การที่ชาวโรฮิงญาสามารถเดินทางออกมาจากประเทศบังกลาเทศทางเรือโดยเลาะมาตามชายฝั่งของบังกลาเทศพม่า จนถึงไทยได้ย่อมต้องได้รับการรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่ของบังกลาเทศและพม่าจนสามารถมาขึ้นบนฝั่งไทยได้ มีการจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้กับขบวนการลักลอบมนุษย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของบังกลาเทศ พม่า ไทย และมาเลเซียเป็นทอด ๆ ไป (ไม่แตกต่างจากขบวนการลักลอบมนุษย์ทางบกที่นำชาวเกาหลีเหนือหลบหนีออกมาจากเกาหลีเหนือผ่านทางจีนลงมายังพม่าหรือลาว เพื่อเข้ามายังประเทศไทย) ชาวโรฮิงญาเหล่านี้เมื่อมาถึงไทยหรือมาเลเซียแล้วก็จะกระจายไปอยู่ตามโรงงานต่างๆ เป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ไม่ต่างจากแรงงานทาส และเป็นที่ต้องการของบรรดานายทุน เจ้าของโรงงาน เจ้าของไร่ยางพารา เพราะค่าจ้างต่ำมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เป็นผลทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรองรับบุคคลเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหลายสัญชาติหลายเผ่าพันธุ์ที่ขบวนการค้ามนุษย์และการลักลอบมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก นำมาทิ้งไว้ให้ไทยต้องแบกภาระอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยการสมรู้ร่วมคิดของบรรดาเจ้าหน้าที่ไทยที่ทุจริตประพฤติมิชอบ
โดยข้อเท็จจริงแล้ว รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ฝ่ายไทยจำต้องรีบดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายชาวโรฮิงญามาตั้งแต่กรกฎาคม 2550 แล้ว และได้มีบัญชาเป็นทางการมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักร่วมกันพิจารณาดำเนินการหามาตรการแก้ไขเป็นการเร่งด่วนที่สุด พร้อมทั้งได้สั่งการชัดเจนให้กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับประเด็นการลักลอบขนคนเข้าเมือง (Human smuggling) ที่กรุงเทพฯ ในโอกาสแรก ซึ่งรวมทั้งกรณีชาวโรฮิงญา แต่เวลาผ่านไป 1 ปีครึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้ดำเนินการอะไรอย่างจริงจัง กลับปล่อยปละละเลยจนมีเหตุการณ์ร้ายแรงตามที่เป็นข่าวเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางกองทัพเรือได้ปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาอย่างไร้มนุษยธรรม เป็นผลให้ชาวโรฮิงญาเสียชีวิตกลางทะเลจำนวนมาก ส่วนข่าวดังกล่าวจะจริงหรือเท็จยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ แต่ที่แน่นอนคือ ภาพลักษณ์และภาพพจน์ของประเทศไทยได้รับความเสียหายไปแล้วจากการรายงานข่าวของบรรดาสื่อต่างประเทศ เพราะความไม่เอาใจใส่และไม่รับผิดชอบของหน่วยงานของไทย โดยปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่ง
ประเด็นข่าวเรื่องหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาจนมีผลทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมากนั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่สิทธิในการผลักดันหรือในการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับ ไปยังแหล่งที่เดิม เพราะทุกประเทศมีอำนาจอธิปไตยที่จะไม่ให้มีการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หากแต่ประเด็นอยู่ที่วิธีการดำเนินการและการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาว่าผิดหลักมนุษยธรรมหรือไม่ มีการดำเนินการเกินกว่าเหตุ และขัดต่อหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือไม่ แต่สิทธิมนุษยชนไม่ได้หมายความว่าชาวโรฮิงญามีสิทธิที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของไทยหรือมีสิทธิที่จะอ้างสิทธิมนุษยชนเพื่อละเมิดอธิปไตยในน่านน้ำของไทย ข้อครหาที่มีต่อรัฐบาลไทยจะเบาบางและหมดไปต่อเมื่อคณะกรรมการที่มีหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้สามารถสรุปความจริงออกมาได้อย่างปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ในโอกาสแรก
โดยสรุปปัญหาเรื่องของคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายชาวโรฮิงญาโดยเนื้อหาแล้วไม่ได้แตกต่างจากแรงงานผิดกฎหมายชนกลุ่มน้อยชาวพม่าอีกกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทย รวมทั้งแรงงานผิดกฎหมายชาวเกาหลีเหนือ ชาวลาว และกัมพูชาอีกหลายหมื่นคนที่เข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมาย แต่ในกรณีของชาวพม่า(ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ) ที่หนีมาฝั่งไทยจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเป็นเพราะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากเผด็จการทหารพม่าก็ตาม ล้วนเป็นเหตุการณ์ยืนยันให้เป็นที่ประจักษ์อย่างปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้นว่า รัฐบาลที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุดและอย่างยาวนานที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือภูมิภาคอาเซียนคือรัฐบาลของระบอบเผด็จการทหารพม่าซึ่งอยู่ในอำนาจมากว่า 46 ปีแล้ว ไม่ใช่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันแน่นอน ตรงกันข้ามประเทศไทยกลับต้องมาแบกภาระหนักหน่วงดูแลผู้อพยพผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศพม่ามาเป็นเวลากว่า 46 ปี ทั้งนี้เพราะรากเหง้าของปัญหาชาวโรฮิงญาและปัญหาชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ จากพม่าที่หนีมาพักพิงในประเทศไทย มีสาเหตุโดยตรงมาจากระบอบการเมืองที่เป็นเผด็จการ และไร้มนุษยธรรมที่มีอยู่ในประเทศพม่า นั่นคือ ระบอบเผด็จการทหารพม่าที่ไม่เอื้ออาทรต่อประชาชนพม่าที่มุ่งแต่จะปราบปรามอย่างรุนแรง ที่ไม่เคยคิดแก้ปัญหาขัดแย้งที่มีกับบรรดากลุ่มชนส่วนน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางการเมืองหรือด้วยการเจรจาหาข้อยุติอย่างสันติวิธี แต่กลับมุ่งใช้การแก้ปัญหาขัดแย้งด้วยวิธีการทางการทหารตลอด 46 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ใส่ใจกับผลกระทบร้ายแรงที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย หากแต่จงใจสร้างปัญหาให้กับไทยมาโดยตลอดอย่างไม่มีที่จบสิ้น และในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวมานี้ จึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเพราะเหตุใดความขัดแย้งระหว่างระบอบเผด็จการทหารพม่ากับบรรดากลุ่มชนส่วนน้อยกลุ่มต่าง ๆ ถึงไม่เคยได้ข้อยุติแบบสันติวิธีในรูปแบบของข้อตกลงทางการเมือง (political settlement) จะมีบางครั้งก็แต่เพียงในรูปแบบของข้อตกลงหยุดยิง (ceasefire agreement) อันเป็นเพียงการหย่าศึกชั่วคราวเท่านั้น เพื่อรอวันที่จะกลับมาห้ำหั่นกันอีกในอนาคต รากเหง้าของปัญหาร้ายแรงทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในพม่าและส่งผลกระทบทางลบโดยตรงต่อความมั่นคงทุกด้านของประเทศไทยคือ ระบอบการเมืองที่เป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ในพม่ามากว่า 46 ปีแล้ว ฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีกระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองภายในพม่าเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องและอย่างชอบธรรมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงบริเวณชายแดนด้านทิศตะวันตกของไทยก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้