xs
xsm
sm
md
lg

มอง อาเซียน แบบ 360° กับ ‘สุรพงษ์ ชัยนาม’ ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ อดีตเอกอัครราชทูตประจำ 5 ประเทศ
ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของ “ชาวโรฮิงยา” กลายเป็นประเด็นร้อนแรงและเป็นปัญหาทางการเมืองระดับโลก ที่เข้ามาท้าทายรัฐบาลใหม่ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อย่างรวดเร็ว ชนิดที่ไม่เคยมีใครคาดการณ์มาก่อน อีกทั้งคนไทยส่วนใหญ่ยังได้ยินชื่อ “โรฮิงยา” เป็นครั้งแรกก็ใน พ.ศ.นี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวเอง อย่างไรก็ตามเมื่อโรฮิงยากลายเป็นคำถามทางด้าน “สิทธิมนุษยชน” และ “การเมือง” ในระดับโลก ปัญหานี้ประเทศและรัฐบาลไทยจึงมิอาจมองข้าม หรือ แก้ปัญหา “โรฮิงยา” ไปอย่างลวกๆ

ทัศนะจากประสบการณ์ของ 'สุรพงษ์ ชัยนาม' อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำ 5 ประเทศ (ประจำเวียดนาม โปรตุเกส กรีซ เยอรมนี แอฟริกาใต้) และอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ASTV ผู้จัดการ เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่บอกเล่ารากเหง้าของปัญหาเรื้อรังของ “โรฮิงยา” ที่มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับ “ปัญหาทางการเมืองภายในพม่า” ชนิดตัดไม่ตายขายไม่ขาด

นอกจากนี้ อดีตเอกอัครราชทูตผู้กล้าหาญและมากด้วยประสบกาณณ์ผู้นี้ ยังวิเคราะห์ต่อเนื่องไปถึง การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 14 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. ที่จะถึงนี้ด้วยว่า มีความสำคัญอย่างไรต่อประเทศและประชาชนชาวไทย เราจะได้และจะเสียอะไรบ้าง รวมไปถึงวิเคราะห์ล่วงหน้าถึง อนาคตของเหล่าประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 570 ล้านคน ด้วยว่าจะก้าวเดินไปในทิศทางใด

อดีตนักการทูตมืออาชีพอย่าง สุรพงษ์ ชัยนาม คิดและมอง สัมพันธ์ไทย-พม่า และ อาเซียน อย่างไรเชิญติดตามอ่าน ...
ชาวโรฮิงยา
ปัญหาโรฮิงยาที่เกี่ยวพันกับประเทศไทยมีความเป็นมาอย่างไร?

จริงๆ เรื่องชาวโรฮิงยา หลบนี้เข้ามาในเมืองไทยไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เพราะมีมาหลายปีแล้ว จำได้ว่าในสมัยพรรคพลังธรรม ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อยู่ในรัฐบาลชวน 1 (รัฐบาลนายชวน หลีกภัย พ.ศ.2535-2538) และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เข้าใจว่าประมาณ พ.ศ.2538 (อาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 5) ซึ่งในตอนนั้นไทยเป็นประธานการประชุมอาเซียนที่กรุงเทพและไทยคิดไว้ว่าตอนนั้นว่า เพื่อเป็นการเตรียมการและเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะให้พม่าเข้ามาเป็นประเทศสมาชิก ก็คิดว่าจะเชิญให้พม่ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ แต่ปรากฏว่าในปีนั้นรัฐบาลพม่าได้ทำการปราบปรามชาวโรฮิงยา รุนแรงกว่าทุกครั้ง ทำให้ชาวโรฮิงยาถึง 250,000 คน และต้องหนีไปอยู่ที่บังกลาเทศ

ซึ่งก็ปรากฏว่า 2 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่นับถือศาสนาอิสลามเหมือนชาวโรฮิงยา ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีปฏิกิริยารุนแรงออกมาทันทีและได้แจ้งทางรัฐบาลไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพในขณะนั้นเลยว่า ถ้าไทยจะเชิญพม่ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ประชุมอาเซียนในปีนั้น ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียจะบอยคอตไม่เข้าร่วมการประชุมอาเซียน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศที่เป็นสมาชิกมีท่าทีเช่นนี้ คือไม่สนใจว่าไทยในฐานะเจ้าภาพจะเสียหน้าหรือไม่เสียหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 ประเทศต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับพี่น้องที่เป็นมุสลิมด้วยกันและในที่สุดไทยเองก็ไม่เชิญพม่ามาร่วมประชุม เพราะเห็นแก่มิตรอาเซียน
ชาวโรฮิงยาอยู่ที่ฐานทัพเรือในซาบาง จังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย
ทำไม ‘โรฮิงยา’ ไม่ไปมาเลเซีย-อินโดนีเซีย?

นายสุรพงษ์ เล่าอีกว่า ชาวโรฮิงยาจะมีฤดูกาลเดินทาง พวกเขาจะหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงไม่ใช่ฤดูกาลที่ลมเป็นใจ เพราะว่าเรือที่ใช้เดินทางไม่สามารถวิ่งบนทางทะเลหลวงได้ ทำให้ต้องเลาะมาตามชายฝั่งมา ซึ่งจะเริ่มจากชายฝั่งบังกลาเทศ ชายฝั่งพม่า เลาะเรียบไปเรื่อย ซึ่งในระหว่างทางชาวโรฮิงยาก็จะโดนรีดไถอย่างต่อเนื่อง และในบางจุดบางแห่งทหารพม่าก็รีดไถเป็นกระบวนการ โดยกระบวนการดังกล่าวไม่ใช่ขบวนการค้ามนุษย์ แต่เป็นลักษณะขบวนการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งเมื่อชาวโรฮิงยาเดินทางมาถึงประเทศไทยเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยเอง อาทิ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เจ้าหน้าที่มหาดไทย ก็ร่วมอยู่ในขบวนการลักลอบเข้าเมืองนี้ด้วย

ทั้งนี้ในอดีตชาวโรฮิงยา จะอพยพออกมาจากค่ายโดยใช้เรือ “โรฮิงยา” ซึ่งในยุคแรกๆ ก็ไปที่ประเทศซาอุดิอาระเบียก่อน ซึ่งในขณะนั้นประเทศซาอุดิอาระเบียก็รับชาวโรฮิงยาให้เข้ามาลี้ภัยในประเทศเป็นจำนวนมาก ทว่า ในตอนหลังซาอุดิอาระเบียตัดสินใจไม่รับชาวโรฮิงยาเข้าอพยพเข้ามาอยู่ประเทศอีก ทำให้ชาวโรฮิงยาจึงต้องอพยพเข้าไปในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียแทน

สำหรับประเทศมาเลเซียเคยรับผู้อพยพชาวโรฮิงยาเข้าประเทศจำนวนหนึ่ง ส่วนการเดินทางไปยังอินโดนีเซียของชาวโรฮิงยาไปน้อยกว่าเนื่องจาก ไกลจากพม่าและอันตรายกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ต่อมารัฐบาลมาเลเซียก็มีการผลักดันชาวโรฮิงยาเช่นกัน เนื่องจากเกรงว่าจะกลายเป็นประเด็นทางสังคมเศรษฐกิจในประเทศ เกี่ยวกับการมาแย่งคนงานคนมาเลเซีย นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลมาเลยเซียไม่ให้ชาวโรฮิงยาเข้าประเทศ

“เท่าที่รู้รัฐบาลมาเลเซียก็รับไปไม่กี่พันคน ประมาณเป็นตัวเลข น่าจะตกอยู่ราวๆ 2-3 พัน และเท่าที่รู้หลังจากนั้นรัฐบาลมาเลเซียก็ไม่รับชาวโรฮิงยาให้เข้ามาในประเทศอีกเลย ส่งผลให้ผู้อพยพจึงเดินทางมายังประเทศไทย

ผมเคยเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ในประเทศมาเลเซียก็มีการเสนอข่าวหลังจากมีปัญหาที่ชาวโรฮิงยาหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยว่า เจ้าหน้าที่มาเลเซียเอง ทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจ ก็หากินกับโรฮิงยา เค้าก็มีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นของเค้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตอนนี้มาเลเซียก็พยายามใช้มาตรการรัดกุมขึ้น แล้วก็ไม่รับและจะหาทางผลักดันออกให้หมด”

อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศเล่าต่อว่า อย่างไรก็ดีเมื่อครั้งที่ตนยังทำหน้าที่เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เคยนำเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็ก เนื่องจาก ไทยเคยประสบกับผู้อพยพ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ไทยใหญ่ มอญ ผิดกฎหมายกว่า 3 ล้านคน ที่อยู่ในประเทศไทยที่เดินทางเข้าประเทศไทยทางบก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ชาวโรฮิงยาก็ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เลย เพียงแต่ชาวโรฮิงยาเดินทางมายังประเทศไทยทางเรือเท่านั้น

“ผมเห็นว่าควรประชุมร่วมกันเลย แล้วก็เชิญจีน ลาว เกาหลีเหนือ พม่ามาด้วย มาพิจารณากัน และตอนนั้นเราก็ไม่ได้เอา UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations High Commissioner for Refugees) เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมบอกว่าประเทศที่เกี่ยวข้องพวกนี้ต้นทางปลายทางต้องคุยกันร่วมเราก็เสนอไปว่าต้องรีบให้มีการประชุมส่วนภูมิภาค ประเทศต้นทาง บังกลาเทศ พม่า เราเป็นทางผ่าน ปลายทางมาเลเซีย อินโดนีเซีย แล้วผมก็บอกว่าไหนๆ ก็จะประชุมแล้วให้ผนวกเรื่องเกาหลีเหนือเข้าไปด้วย เพราะเกาหลีเหนือนี้ก็ผ่านมาทางจีน มันจะเดินมาได้ยังไงเป็นพันๆ กิโลเมตร มาแบบฉลุยเลย มันก็ต้องเบี้ยบ้ายรายทางกันมาเรื่อย จากจีนก็เข้าลาว ไม่เข้าลาวก็เข้าพม่าแล้วเสร็จแล้วก็มาไทย

ผมบอกว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้นะประเทศไทยจะกลายเป็นกองขยะใหญ่สำหรับผู้อพยพ เพราะฉะนั้นมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีความรู้สึกต่อคนที่เป็นที่นับถือศาสนาเดียวกัน รู้สึกว่าเป็นพี่น้องกันมันก็เบาบางลงแล้ว ตอนหลังพอเริ่มมามากๆ เค้าก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เหมือนกับว่าคนโรฮิงยา ต้องมั่นใจว่าต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ใน 2 ประเทศ นี้ได้แน่นอน เค้าก็คิดว่าถ้าให้การปฏิบัติอย่างดีก็เหมือนกับว่า เป็นการเชื้อเชิญให้มามากขึ้น ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ได้ทำหนังสือให้มีการจัดการในเรื่องนี้ เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 แต่กระทรวงต่างประเทศและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต่างปล่อยปละละเลยในเเรื่องนี้ พอเรื่องนี้แดงขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โต เอาจริงก็เหมือนกับ ‘วัวหายล้อมคอก’

เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ในรัฐบาลสุรยุทธ์ ได้มีการสั่งการไปแล้ว แต่หน่วยงานไม่ได้ทำ และไทยก็ได้มีการบอกไปแล้วว่า สิทธิในการผลักดันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของทุกประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ก็ผลักดันพวกเม็กซิกัน เมื่อผลักไม่สำเร็จ ก็จัดการนำลวดหนามมากั้นหมดเลย ส่วนออสเตรเลียก็เอาผู้อพยพไปไว้บนเกาะและไม่ให้เข้าในประเทศ ก่อนที่จะส่งตัวกลับทั้งหมด

ดังนั้นการส่งกลับ เนรเทศ ผลักดันผู้อพยพ ความหมายมันเหมือนกันหมด แต่ประเด็นไม่ใช่เรื่องส่งกลับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทุกประเทศมีสิทธิ รวมทั้งไทยด้วย เป็นอำนาจอันชอบธรรม แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าวิธีการคุณทำถูกต้องรึเปล่า ถูกต้องตามหลักการพื้นฐานที่ว่าด้วยหลักการมนุษยธรรมหรือไม่ เช่น ถ้าคุณส่งเค้ากลับ แล้วก่อนคุณกลับคุณเอาเค้ามาสืบสวนสอบสวนทุบตีเค้า ทรมานเค้า หรือคุณส่งกลับโดยไม่ให้น้ำ ไม่ให้อาหารเค้าเพียงพอ อันนี้ก็ไม่ถูกต้องแน่นอน”
ภาพเรือที่ซีเอ็นเอ็นอ้างว่าเรือของทหารไทยลากจูงเรือชาวโรฮิงยาลงทะเล
อัด บีบีซี-ซีเอ็นเอ็นมั่วนิ่ม

อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ยืนยันว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่อง “ครอบจักรวาล” ดังเช่นที่หลายคนเข้าใจและสื่อต่างชาติบางสำนักพยายามจะเผยแพร่ข่าวและอ้างเรื่องนี้โดยตลอด

“แต่สิทธิมนุษยชนมันไม่ใช่สิทธิอะไรที่เป็นข่าว ตามที่ BBC CNN ได้นำเสนอว่า ประเทศไทยละเมิดสิทธิมนุษยชน กองทัพเรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งสื่อต่างชาติต้องบอกมาว่าไทยละเมิดยังไง ไม่ใช่เพราะว่าไทยไม่ให้ชาวโรฮิงยาเข้าประเทศหรือว่าไทยผลักดันแล้วเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เลย ไม่ใช่เลย

การที่ประเทศไทยผลักดันผู้อพยพชาวโรฮิงยาไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะต้องดูตรงที่วิธีการผลักดัน เพราะฉะนั้นพวกนี้จะกลับมา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ต้องดูว่า ตอนนำตัวชาวโรฮิงยาเข้ามาไว้ในประเทศไทย เอาไว้ที่ไหน ดูแลอย่างไร และตอนส่งออก ทำอย่างไร ขั้นตอนตรงนี้มันต้องมีความชัดเจน ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม แต่สิทธิมนุษยชนมันไม่ใช่ เอามาอ้างว่า ผมมีสิทธิมนุษยชนที่จะเดินทางเข้าเมือง ประเทศไหนก็ได้ ถ้าผิดกฎหมายของคุณก็เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน อันนี้เป็นเรื่องไร้สาระ

มันเรื่องของมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน แต่บางคนไปเข้าใจว่าพอเค้าเข้ามาแล้วคุณต้องเลี้ยงดูปูเสื่อนะ ให้การดูแลอย่างดีเลยนะ ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่มันเป็นเรื่องกฎหมายไทย ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมายไทย แต่เราในฐานะที่เค้าเป็น ‘มนุษย์’ ชื่อมันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นความเป็นมนุษย์ของเค้าเราจะต้องเคารพ นั่นคือสิทธิมนุษยชน” อดีตทูตสุรพงษ์กล่าวชี้แจง

แนะคิดให้รอบคอบก่อนตั้งค่ายผู้อพยพ

ต่อกรณีที่มีข่าวว่ามีข้อเสนอว่า ทางไทยอาจยอมรับข้อเสนอให้ UNHCR มาตั้งค่ายผู้อพยพ จนทำให้มีประชาชนชาวไทยใน จ.ระนอง ออกมาประท้วงนั้น นายสุรพงษ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลและชาวไทยต้องคิดให้รอบคอบ โดยเขาเห็นว่าต้องมองประเด็นให้รอบคอบดังต่อไปนี้ คือ

“1.เมื่อยินยอมให้เค้ามาตั้งค่ายแล้วมันต้องมีกฎ กติกา บรรทัดฐาน ที่เป็นสากลของการมีค่ายผู้อพยพ ที่ประเทศเจ้าภาพในกรณีนี้คือประเทศไทย จะต้องเคารพ ถึงแม้ว่าไทยตอนนี้เราจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันตามข้อตกลง ปี ค.ศ.1951 ของเจนีวา ที่ว่าด้วยการดูแลผู้อพยพ (1951 Refugee Convention)

2.ถ้าเรายอมรับให้มีการตั้งค่ายผู้อพยพเราก็ยอมรับสถานะ ชาวโรฮิงยาว่าเป็น ‘ผู้อพยพ’ แต่ความจริง ชาวโรฮิงยา ไม่ใช่ผู้อพยพ แต่คนพวกนี้เป็น ‘พวกเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย’ ซึ่งแตกต่างกัน พอเป็นผู้อพยพแล้วการปฏิบัติ เงื่อนไขต่างๆ มันแตกต่างกันหมดเลย เพราะฉะนั้นอันนี้ต้องคิดให้ดี เพราะฉะนั้นถ้ายอมให้มีการเปิดค่ายผู้อพยพเราก็จะต้องมีการแก้กฎหมาย ต้องมีกฎหมายของเราภายในที่จะรองรับ เพราะว่ามันจะมีกฎกติกาที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องและในที่สุดก็หมายความว่าถ้าเราพร้อมที่จะให้เปิดแล้ว ไทยก็ควรที่จะต้องยอมรับ ต้องควรให้สัตยาบัน ยอมรับอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1951

แต่ขณะนี้เรื่องด่วนที่สุดที่ต้องคิดให้ดีในแง่ว่า ถ้าไทยยอมให้เค้าเปิดค่ายผู้อพยพก็แสดงว่าเรายอมรับว่า ชาวโรฮิงยาเป็นผู้อพยพ อันนี้ประเด็นเทคนิคที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นยังไม่ควรนะ ในความเห็นของผม เพราะไม่อย่างนั้นจะเปลี่ยนสถานะชาวโรฮิงยาทันทีเลย


ลองคิดดูชาวโรฮิงยาที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งไทยมีสิทธิ์ส่งกลับไปได้ แต่ถ้าชาวโรฮิงยาเปลี่ยนสถานะเป็นผู้อพยพ ถึงแม้ไทยยังไม่ได้ให้ สัตยาบันกับอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1951 แต่ในหลักปฏิบัติสากลพอเป็นผู้อพยพ พอรับเข้ามาแล้วถึงไม่มีค่ายอพยพ มันมีหลักการที่เรียกว่า นอนรีฟาวเมนต์ (Non-refoulement) คือหลักการที่ประเทศเจ้าภาพไม่มีสิทธิ์ที่จะผลักดันผู้อพยพ ไม่ใช่ผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยที่เค้าไม่สมัครใจ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็กลายเป็นการครอบประเทศไทยไปอีกทีเลย ถ้าเค้าเป็นผู้อพยพ แต่ถ้าเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ข้อผูกมัดเหล่านี้จะไม่มี

จริงอยู่ เราบอกว่าไทยไม่ได้ให้สัตยาบัน เราก็สามารถที่จะส่งไปกลับไปได้เหมือนกันในฐานะผู้อพยพ แต่มันก็ลำบากนะ เพราะว่ายุคนี้สมัยนี้นะประชาคมโลกเค้าจะไม่ยอมรับถ้าคุณมองว่าตัวคุณเองเป็นอารยประเทศ เป็นประเทศประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยจะอยู่ได้สังคมนั้นต้องมีเสรีภาพ เพราะอันนี้จึงต้องมองในประเด็นนี้

แต่ส่วนที่บอกว่าจะเราไม่อยาก ไม่รับ ไม่ให้ในสัตยาบัน เพราะถ้าให้ก็เท่ากับว่าไทยเชื้อเชิญชาวโรฮิงยาเข้ามา ตนคิดว่า ในยุคนี้ในสมัยนี้ เหตุผลอันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว อันนี้ใช้ได้ใน 30 ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้แล้ว เราต้องดูบทบาทประเทศไทยเราควรยืนยัดอยู่บนเวทีโลกในสถานะอะไร

แต่ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วย ในที่สุดแล้วโลกมันก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ก็จากหลังยุคสงครามเย็น 18 ปีที่ผ่านมาเรื่องของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมภิบาล เรื่องของหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม เรื่องของมนุษยชาติ มันเป็นเรื่องที่ประเทศทั้งหลายในโลกนี้ใฝ่หาและให้การส่งเสริม ดังนั้นในยุคปัจจุบันนี้หลังสงครามเย็นมันไม่มีโลกที่แบ่งโดยลัทธิแล้ว คอมมิวนิสต์ ไม่เจอแล้ว เพราะว่าทุกอย่างในตอนนี้มันเน้นทางด้านนี้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนเราก็ต้องเข้าใจ ถ้าเรามองดูว่าเราเป็นประเทศสังคมเปิด เราเป็นประชาธิปไตย เราเป็นอารยประเทศ มันไม่เสียหาย และรัฐบาลนี้ก็พูดว่านโยบายต่างประเทศต้องมีปัจจัยเรื่องของจริยธรรมประกอบอยู่ในนโยบายต่างประเทศ”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
สิ่งที่ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ควรทำ


สำหรับปัญหาชาวโรฮิงยาที่ขยายวงจนกลายเป็นปัญหาในระดับนานาชาติ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและรัฐบาลไทยนั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องรีบดำเนินการในตอนนี้คือ

1.คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จะต้องมีผลงานออกมาให้เร็วที่สุด โดยการสอบสวนจะต้องตรงไปตรงมา มิใช่เป็นการปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาเอง ซึ่งถ้าหากพบว่าใครทำผิด ก็ต้องลงโทษตามความผิด

2.ต้องจัดให้มีการประชุมประเทศ ระดับภูมิภาคในประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น บังกลาเทศ พม่า ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อหาทางแก้และร่วมมือกัน โดยต้องมุ่งไปที่ต้นตอและรากเหง้าของปัญหา คือ การที่ระบอบการปกครองโดยทหารของพม่าไม่เอื้ออาทรต่อชาวโรฮิงยาจนก่อให้เกิดการละทิ้งแผ่นดิน

“แต่อันนั้นมันจะต้องเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังไม่มีกระบวนการประชาธิปไตย เกิดขึ้นในประเทศพม่า ไม่มีการปรองดองเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนส่วนน้อยที่เค้ามีปัญหาด้วย ตราบนั้นเราจะต้องเจอปัญหานี้ตลอด แต่ถ้าเรามีการประชุมอย่างนี้ด้วยความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง มันจะทำให้ปัญหาเบาบางลง แค่นั้น แต่แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่มีทาง เรื้อรัง เพราะรากเหง้าของปัญหามันอยู่ที่ระบบ แต่เราทำได้แค่ให้ปัญหามันเบาบางลงได้ ตีกรอบให้อยู่ในสภาพที่ควบคุมและให้เบาบางลงได้ เพราะว่าอะไรที่ผมพูดแบบนี้ นอกจากพม่าจะไม่เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็เพราะว่าพม่ายังไม่เคยรับชนกลุ่มน้อยว่าเป็นคนสัญชาติพม่า ไม่ว่าชาติไหน กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ คะฉิ่น มอญ

สมัยกี่ 10 ปีแล้วที่ไทยเจอปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย พอส่งกลับพม่ากลับบอกว่า จะรับคนก็ได้แต่ต้องขอตรวจสัญชาติก่อน แล้วก็ไม่เคยพิสูจน์ให้สักที นั่นเพราะอะไร สิ่งที่เค้ามีท่าทีอย่างนี้มาตลอด เพราะว่ารัฐบาลไทยทุกยุค ทุกสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัฐบาล ชาติชาย บรรหาร (ศิลปอาชา) บิ๊กจิ๋ว (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) ทักษิณ มีผลประโยชน์ และยินดีหลับหูหลับตาแลกกับผลประโยชน์” นายสุรพงษ์กล่าวอย่างตรงไปตรงมา

รบ.ทักษิณ ผู้ทำลายภาพลักษณ์สิทธิมนุษยชนไทย

เมื่อเราถามว่า หากมีการตั้งค่ายผู้อพยพชาวโรฮิงยา เงื่อนไขจะมีความคล้ายคลึงกับการตั้งค่ายผู้อพยพเขมร หรือไม่ นายสุรพงษ์ให้คำตอบว่า

“การตั้งค่ายผู้อพยพกัมพูชาเมื่อก่อนเป็นการตั้งค่ายที่ประเทศไทยยินยอม เพราะเราแบกภาระไม่ไหว เพราะผู้อพยพมีเกือบ 500,000 คน โดยถึงแม้ความช่วยเหลือจะมา แต่มันไม่ไหวเจ้าหน้าที่ของเราไม่เพียงพอ แต่จากประวัติของไทยในด้านการให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในเรื่องการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้อพยพ จากสงครามกัมพูชา และ สงครามเวียดนาม ก็ดี ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับมากในสังคมโลกว่าเป็นประเทศที่มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีการดูแลเผื่อแผ่ ในด้านของมนุษยธรรม มนุษยชาติ

อันนี้มาเสียมาก ตอน ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ภาคใต้ ในเรื่องตากใบ ฆ่าตัดตอน ภาพดีๆ ที่เคยทำไว้ถูกลบไปหมดเลย ชื่อเสียงของประเทศไทยในภาพลักษณ์การดูแลสิทธิมนุษยชน ที่ดูดีสูงสุดเลย อยู่ในช่วงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งท่านเป็นรัฐมนตรีอยู่ 11 ปี และในช่วงนั้นอยู่ในช่วงสงครามในกัมพูชา เรามีค่ายผู้อพยพเขาอีด่าง แถว จ.ปราจีนบุรี และอรัญประเทศ เยอะแยะเลย”

ชี้ต้องจัดการกับสื่อให้เป็น

ต่อประเด็นเรื่อง “การคุกคามจากสื่อ” เมื่อ ASTV ผู้จัดการ ถามว่าในฐานะที่เคยเป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน นายสุรพงษ์รู้สึกหรือไม่ว่า บทบาทของกระทรวงต่างประเทศในการตอบโต้ข่าวจากต่างประเทศดูจะไม่ทันท่วงทีเท่าใดนัก โดยในประเด็นนี้เขาให้ความเห็นว่า ในปัญหาเร่งด่วนอย่างเช่น กรณีโรฮิงยารัฐบาล กระทรวงต่างประเทศและกองทัพจะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิดและให้ข้อมูลตรงกัน

“เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น กรณีโรฮิงยา เหตุการณ์เกิดขึ้นวันนี้ โฆษกรัฐบาล โฆษกกระทรวงต่างประเทศ โฆษกกองทัพ จะต้องพูดในภาษาเดียวกัน จะต้องคุยกันให้ชัดเจน แล้วก็ตอบออกมาเลยว่า เรื่องนี้หนึ่ง โรฮิงยาไม่ใช่ผู้อพยพ เข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย สอง ประเทศไทยมีสิทธิที่จะผลักดันไม่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างนี้ต้องพูดออกมาทันทีได้เลย แต่นี้รอตั้ง 2 วัน กว่าจะออกมาชี้แจง แต่พอโดนตีหนักเข้าเก้าอี้ชักร้อนแล้ว ก็เลยออกพูด แล้วเมื่ออกมาพูด ก็ยังพูดไม่ถูกประเด็น คิดอย่างเดียวคือตอบโต้ในทางลบ มีท่าทีเนกาทีฟมากคือ บอก “ไม่ ไม่” ปฏิเสธอย่างเดียว อย่างนี้ไม่ใช่ท่าทีที่ถูกต้องเพราะยิ่งคุณปฏิเสธ โดยคุณไม่มีข้อเท็จจริงมาหักล้าง แทนที่จะเป็นผลดีกับบ้านเมืองกลับเป็นผลเสียหาย เพราะการปฏิเสธ โดยไม่มีข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ มันไม่เป็นผลดีนะ มันเท่ากับเป็นการตอกย้ำให้ประชาคมโลกเค้าเห็นว่า คุณปฏิเสธแสดงว่ามันจริงแล้ว ใช่ไหม

คุณต้องตอบแบบสุภาพบุรุษซิ บอกว่าไม่เป็นจริงครับ เพราะว่า
1.เรื่องนี้เป็นเรื่องผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
2.สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เป็นเรื่องที่มาอ้าง คุณจะมาละเมิดกฎหมายเข้าน่านน้ำของประเทศอื่นไม่ได้
3.การผลักดันเป็นสิทธิที่ต้องทำของทุกประเทศ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ใครก็ทำทั้งนั้น
4.รากเหง้าปัญหาเหล่านี้อยู่ที่รัฐบาลเผด็จการทหารของพม่า

เมื่อ ASTV ผู้จัดการ ถามต่อว่าแล้ว การที่สื่อต่างประเทศพยายามกล่าวหาว่า สำหรับปัญหาเรื่องชาวโรฮิงยานี้ทหารไทยเป็นผู้ทำผิด และรัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์มีทหารคอยหนุนหลังอยู่ดังนั้นจึงไม่มีทางที่รัฐบาลจะสอบสวนจนหาคนกระทำผิดมาลงโทษ จะแก้ไขอย่างไร นายสุรพงษ์ตอบว่า

“ในบริบทการเมืองอย่างนี้ รัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน เราก็รู้อยู่แล้วว่าภายนอก ใครที่ไม่อยากให้รัฐบาลประชาธิปัตย์อยู่ต่อไป ส่วนภายในก็มีกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลอยู่ ทั้งในสภาและนอกสภาและก็การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลนี้ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศที่เชื่อมโยงกับสื่อต่างชาติ เพราะสื่อต่างชาติก็มองไทยในแง่ลบมาตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ.2549 แล้วคุณดูได้แนวทางการรายงานเค้า ช่วงหลังๆ ก็เริ่มรายงานข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้นแต่ ยังไม่มีการพูดแบบที่ทำให้เครดิตกับรัฐบาลเลย หาทางจับผิดอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นในสภาพการณ์อย่างนี้ พอเกิดเรื่องที่ไม่ดีขึ้น ก็เท่ากับว่าแน่นอนเลย มันขย่มแน่ ทุกคนที่ไม่ชอบรัฐบาลนี้อยู่แล้วนี้นะ ที่เค้าต่อต้าน หาแผลอยู่แล้วก็ละเลงเกลือเข้าไปเลย สื่อต่างชาติที่เค้ามีวาระซ่อนเร้นจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เค้าก็ใส่เต็มที่

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องประหลาดและผมจะไม่พยายามเอา Conspiracy Theory (ทฤษฎีสมคบคิด) มาเชื่อมโยง ซึ่งผมรู้ว่ามันมี แต่อย่าลืมว่าต่างประเทศรู้ว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ผมคิดว่ามันธรรมดา ซึ่งผมไม่เห็นด้วยนะกับที่สื่อต่างประเทศทำ และเราก็รู้ว่าคุณทักษิณเค้าคิดอะไร ยังไง ต่างๆ แต่ผมคิดว่าเมื่อคุณมีแผลให้เค้าเล่น เค้าก็เล่นอ่ะ มันธรรมดา เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกว่า ตอนนี้อยู่ที่รัฐบาลนี้ อย่าไปพูดแก้ตัวอย่างไรในต่างประเทศ ให้ทูตทั้งหลายไปชี้แจง พูดแสนคำล้านคำไม่เท่ากับดำเนินการให้เห็นเลย อย่างคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง สั่งรึยัง มีผลแค่ไหน รายงานออกมา อันนี้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะไม่งั้นมันคลุมเครือใช่ไหม

เรื่อง Conspiracy ผมรู้ว่ามันมี แต่อย่าลืมว่าต่างประเทศรู้ว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ประเทศตะวันตกรู้ โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย มันรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่มันรู้ว่ารัฐบาลนี้อำนาจรัฐยังอยู่ในมือไม่ชัดเจนและตอนนี้ก็อาจจะเริ่มมีคน คิดทฤษฎีแบบนี้

คุณคงจำได้สมัยที่เวียดนามรุกรานสงครามในกัมพูชา เพื่อทำสงครามกับพอลพต 12 ปีของกองกำลังของเวียดนาม เวียดนามจะพูดอยู่อย่างเดียวว่า ตราบใดที่พอลพตฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังอยู่ในกัมพูชา เหตุผลของการมีกองกำลังต่างชาติเวียดนามก็จะอยู่ต่อในกัมพูชา เอาล่ะที่ผมพูดอย่างนี้เพราะอะไร
กลุ่มคนเสื้อแดง นำรูปพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาปลุกใจในการชุมนุม
ขณะนี้คุณดูจากเหตุการณ์ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองปฏิบัติต่อ “เสื้อแดง” ใช่ไหม ผมเลยมองและคิดไปว่า มันเป็นได้มากนะคุณว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลนี้จะอยู่ได้นานหรือไม่นานบางคนบอกว่า ขึ้นอยู่กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทั้งเสื้อแดง และ ส.ส.ในสภาอะไรนี้ หรือคุณเนวิน ชิดชอบ อาจจะหักหลังรัฐบาลอะไรก็แล้วแต่ แต่ผมว่าไม่ใช่หรอก รัฐบาลนี้จะอยู่ได้ต้องเลี้ยงเสื้อแดงไว้ รัฐบาลนี้จะอยู่ได้ต้องมีภัยของทักษิณยังอยู่ เหมือนกับปลุกผีคอมมิวนิสต์ไง

นี้ก็เหมือนกับสหรัฐอเมริกาไง มีหนี้สินเยอะแยะเลย แต่สหรัฐอเมริกาล้มไม่ได้ จีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก็ไม่ให้ล้ม ต้องประคองสหรัฐอเมริกา นี่ก็เหมือนกันมันเป็นไปได้นะคุณ คือหมายความว่าเค้าไม่ส่งเสริมเสื้อแดงและไม่ให้คุณทักษิณกลับมา แต่การที่พูดและย้ำภัยทักษิณ ถ้าคุณไม่สนับสนุนรัฐบาลนี้ ทักษิณ มีโอกาสกลับมานะ ก็ปล่อยให้เสื้อแดงเล่นไป แล้วก็ปรามๆ ก็ยังคงเลี้ยงไว้ เผื่อให้ทักษิณและเสื้อแดงต้องมีอยู่ เพื่อประชาธิปัตย์และพรรคร่วมอยู่ได้ มันเป็นไปได้มาก เหมือนกับเวียดนาม เวียดนามสามารถทำลายเขมรแดงได้ เค้าก็ไม่เอา เพราะว่า การมีเขมรแดงอยู่ในกัมพูชา มันเป็นเหตุผลของการดำรงไว้ซึ่งกองกำลังเวียดนามไว้

ของพันธุ์นี้นะ เราต้องดูพฤติกรรมต่อไปของรัฐบาล ในเรื่องของคดีต่างๆ ทั้งหลาย ในเรื่องของเสื้อแดง เพราะว่าตอนนี้คนมันเบื่อมากใช่ไหม การเมืองคนก็อยากหายใจ และการปลุกว่าทักษิณมีโอกาสกลับมานะ คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้กลับ ก็ต้องอยากให้รัฐบาลอันนี้อยู่ต่อไป …”

-----------

หมายเหตุ : ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษ มอง อาเซียน แบบ 360° กับ ‘สุรพงษ์ ชัยนาม’ ตอนที่ 2 เจาะลึกอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต อาเซียน ทางเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น