xs
xsm
sm
md
lg

บัวแก้วติง UNHCR เชิญ"โจลี"เยี่ยมค่าย-ให้ข่าวไม่เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อหารือและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงยาหลบหนีเข้าประเทศ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมประชุม ซึ่งใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ว่า มาตรการของไทยที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงยานั้นตั้งอยู่บนดุลยภาพของการรักษาความมั่นคง กฎหมายภายในประเทศ หลักมนุษยธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่ง สมช.จะจัดประชุมกลุ่มทำงานเพื่อร่างมาตรการที่จะใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นมาตรการโปร่งใส และแจ้งให้ประชาคมโลกได้รับทราบ
ทั้งนี้ ไทยจะหยิบยกประเด็นนี้เข้าหารือในที่ประชุมอาเซียนซัมมิท เพราะมีประเทศอาเซียนประมาณ 3-4 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ นอกจากนี้ จะหารือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และองค์กรที่ทำหน้าที่ขนส่งคน หากคนพวกนั้นผ่านกระบวนการของ ตม.ในประเทศไทยแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศที่จะต้องหาทางให้คนเหล่านั้นกลับไปสู่ประเทศที่เดินทางมา
สำหรับมาตรการระยะยาวรัฐบาลต้องเจรจากับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อระดมความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศให้ชาวโรฮิงยาที่อยู่ในประเทศอยู่อย่างมีความสุขดีขึ้น เพื่อไม่ต้องเดินทางในลักษณะที่เป็นอันตราย ส่วนมาตรการระยะสั้น จะมีการประชุมกับประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในเรื่องของข้อมูลการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพราะได้รับข้อมูลจากชาวโรฮิงยาว่า มีกระบวนการช่วยให้เดินทางและรับเข้าทำงาน จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลประเทศที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในเร็วๆ นี้
ส่วนการชี้แจงกับต่างประเทศที่ผ่านมามักไม่เป็นผล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า UNHCR จะต้องดูในรายละเอียดว่า เป็นบุคคลลี้ภัยหรือไม่ ทั้งที่ความจริงแล้วชาวโรฮิงยาหนีเข้ามาเพื่อหางานทำ อย่างไรก็ตาม การที่ UNHCR ไม่เข้าใจถึงปัญหาถึงกับเชิญแองเจลีนา โจลี ในฐานะทูตพิเศษ UNHCR เดินทางเยี่ยมค่ายผู้อพยพในประเทศไทย พร้อมให้ข่าวว่า ไทยควรให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงยานั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเดินทางของแองเจลีนา โจลี ไม่ได้เข้ามาเฉพาะกรณีของชาวโรฮิงยา แต่มาเพื่อขอเข้าไปดูค่ายอพยพจากพม่า ซึ่งเป็นจังหวะที่เรื่องชาวโรฮิงยาเป็นประเด็นพอดี ทั้งนี้ ไทยจึงเตือน UNHCR ต่อไปว่าไม่ควรพูดเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินขณะนี้มีชาวโรฮิงยาประมาณ 20,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งพื้นที่ภาคใต้ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม รวมทั้ง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานนอกกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น