“ธีระ” ครวญประเพณีชักพระ-การละเล่นสะบ้า หายจากสังคมไทย วธ.หวั่นความหลากหลายชาติพันธุ์ชนเผ่าเลือนหาย เหตุถูกแบ่งแยก ทุนนิยม กลืนกิน เร่งให้ความรู้ ช่วยกันอนุรักษ์ไว้
เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “หลากหลายชาติพันธุ์รวมใจไทยเป็น ๑” ว่า วธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันศึกษาและรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย อาทิ ซาไก มลายู ชอง มอญ ไท พม่า เป็นต้น เพื่อให้สังคมได้มีความรู้ความเข้าใจวิถีชีวิตของแต่ละชาติพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาจจะถูกแบ่งแยก ข่มเหง รังแก อีกทั้งยังไม่มีสัญชาติ ขาดที่ดินทำกิน ดังนั้น จะต้องมีการปกป้องวิถีชีวิต และเอกลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละชาติพันธุ์ไว้เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สันติสุขที่ยั่งยืน
นายธีระ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาความหลากหลายทางชาติพันธุ์ คือ ทุนนิยมที่มีบทบาทมากขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ส่งผลให้สถาบันครอบครัว การศึกษา และศาสนาในแต่ละท้องถิ่นอ่อนแอ ที่สำคัญ ทุนนิยมทำให้คนในชุมชนขาดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ ประเพณี และวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งหากปล่อยไว้วัฒนธรรมดั้งเดิมจะล่มสลายโดยมีความเจริญด้านวัตถุเข้ามาแทนที่
“ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ การละเล่นในเทศกาลจะมีการเล่นสะบ้าด้วย แต่ปัจจุบันการละเล่นแบบนี้หายไปหมดแล้วนี่เฉพาะในเกาะช้างที่ผมอยู่ แถมค่านิยมจากเป็นเจ้าของที่ดินมาเทขายที่ดินแล้วมาสมัครเป็นลูกจ้างแทน ยังไม่รวมท้องถิ่นอื่นอีกมากในเมืองไทย นอกจากนี้ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังทำให้วัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างหายไปด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ ผมยังได้รับรายงานว่าประเพณีชักพระของชาวใต้กำลังเลือนหายไปด้วย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันรักษาก่อนเลือนหายไป รวมไปถึงความไม่เป็นธรรมที่ขาดหายไปด้วยจึงเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในพื้นที่ตลอดมา” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
นางสาวิตรี สุวรรณสถิต ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สำหรับเรื่องของภาษาของชนกลุ่มต่างๆ ยูเนสโกได้อ้างข้อมูลนักวิชาการของมหาวิทยาลัยบางแห่งทั่วโลก ระบุ ในโลกนี้มีภาษาทั้งหมดกว่า 6,000 ภาษา แต่ภาษาเพียง 4% เท่านั้นที่มีคน 96% ของประชากรทั้งโลกใช้พูดและสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็แสดงว่าภาษาอีกกว่า 90% ในโลกนี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก และยังไม่เคยนำมาใช้สื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ชี้ให้เห็นว่า ยังมีช่องว่างหรือมีความแบ่งแยกทางวัฒนธรรมและภาษาผ่านการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างชัดเจน