xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายและท่าทีของพม่าต่อปัญหาชาวโรฮิงญา:เรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: สุรพงษ์ ชัยนาม

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศไทยกับรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ในประเด็นเรื่องของปัญหาชาวโรฮิงญา โดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ฝ่ายพม่าไม่ถือว่าชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งของพม่า และไม่ถือว่าชาวโรฮิงญาเป็นบุคคลที่มีสัญชาติพม่า (พูดง่ายๆ คือชาวโรฮิงญาเป็นบุคคลไร้สัญชาติ) ดังนั้นรัฐบาลพม่าจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อชาวโรฮิงญา

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศพม่าได้แจ้งกับรัฐมนตรีต่างประเทศไทยว่า ฝ่ายพม่าพร้อมที่จะรับชาว”เบงกาลี” กลับไปยังพม่า หากสามารถพิสูจน์ทราบได้แน่ชัดว่า มีชาว “เบงกาลี” ปะปนอยู่ในกลุ่มชาวโรฮิงญาที่หนีออกมาจากพม่าทางเรือและมาขึ้นบกบนฝั่งไทย หรือแปลไทยให้เป็นไทยอีกครั้ง ความหมายของคำพูดที่เป็นรหัสของรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ก็คือ จำเป็นต้องมีการทำการพิสูจน์สองชั้น กล่าวคือ ชั้นแรก พิสูจน์ว่าเป็นชาว “เบงกาลี” หรือเปล่า ชั้นที่สอง ต้องพิสูจน์ทราบด้วยว่า นอกจากเป็นชาว “เบงกาลี” แล้ว ยังมีสัญชาติพม่าด้วยหรือไม่ อีกต่างหาก จึงจะเข้าข่ายการรับไว้พิจารณาจากฝ่ายรัฐบาลพม่า

1.เหตุผลที่พม่ามีปฏิกิริยาที่ดูยืดหยุ่น

ปฏิกิริยาและท่าทีของฝ่ายพม่าดังกล่าวข้างต้น อาจมีผลทำให้บุคคลทั่วไปที่ไม่เคยสนใจหรือศึกษาติดตามเรื่องของนโยบาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และพฤติกรรมของระบอบเผด็จการทหารพม่าตลอด 46 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีต่อประเทศไทย และต่อปัญหาชนกลุ่มน้อยภายในพม่าเอง มองว่าเป็นนโยบายและท่าทีใหม่ ที่มีลักษณะยืดหยุ่น พร้อมที่จะประนีประนอม ให้ความร่วมมือเพื่อการแก้ปัญหาในครั้งนี้

แต่สำหรับรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของไทย จะมองผิวเผินเช่นนี้ไม่ได้ แต่จำเป็นต้องพิจารณา ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินท่าทีของฝ่ายพม่าอย่างรอบคอบ รอบด้าน และอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง และข้อเท็จจริงภายใต้บริบทเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศที่ปรากฏในปัจจุบัน ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก (ไม่ใช่นั่งเทียน สมมติเหตุการณ์เอาเอง และมีทัศนะแบบสุกเอาเผากิน เช่นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา) ทั้งนี้ ทุกเหตุการณ์ ย่อมมีเหตุและผลของมัน

การที่รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ไม่ได้ปฏิเสธการขอความร่วมมือของฝ่ายไทย แต่กลับแสดงท่าที พร้อมให้ความร่วมมือกับไทยในเรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็นท่าทีของฝ่ายพม่าที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการนั่งเทียนของรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าหรือเป็นท่าทีของฝ่ายพม่าที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ปราศจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบมาก่อน หากแต่เป็นนโยบายและท่าทีของฝ่ายพม่า ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ตระหนักดีว่า ประชาคมระหว่างประเทศ ยังคงไม่ไว้วางใจ และประณามการกระทำอันโหดเหี้ยมของระบอบเผด็จการทหารพม่า ต่อประชาชนพม่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

อีกทั้งความแคลงใจที่ประชาคมระหว่างประเทศมีต่อพม่า ยังได้รับการตอกย้ำซ้ำเติมจากเหตุการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2550 ที่ฝ่ายเผด็จการทหารพม่า ได้เข่นฆ่าพระสงฆ์และประชาชน และเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสถล่มพม่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 เป็นผลทำให้มีผู้เสียชีวิต กว่า 120,000 คน และสาบสูญกว่า 50,000 คน เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า จงใจขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากประชาคมระหว่างประเทศไปถึงประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติครั้งนี้อย่างทันท่วงที

นอกจากนั้น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การไร้พัฒนาการทางการเมืองที่จะเปิดโอกาสให้พม่ากลับมามีความเป็นประชาธิปไตยอีกครั้งก็เป็นเหตุผลสำคัญยิ่งอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของพม่า ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารตกต่ำที่สุดในสายตาของประชาคมโลกและถูกสังคมโลกประณามมาตลอด

ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น ประกอบกับการที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้ประกาศอย่างเป็นทางการออกมาแล้วว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศในปี 2553 (การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายเผด็จการทหารพม่าบงการร่างขึ้นเอง ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ปราศจากขั้นตอนและกระบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้น) จึงเป็นการยากที่จะไม่วิเคราะห์ว่า ปฏิกิริยา ท่าที “ใหม่” ของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ต่อคำขอความร่วมมือของฝ่ายไทย จะไม่เกี่ยวพันอะไรกับความพยายามสร้างภาพ ของฝ่ายเผด็จการทหารพม่า เพื่อหวังสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ให้เป็นที่ยอมรับได้ของประชาคมระหว่างประเทศ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2553

ดังนั้น ปฏิกิริยาท่าทีของพม่าต่อไทยในครั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับการศึกษา วิเคราะห์ในกรอบใหญ่ หรือในภาพรวมของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ทั้งในพม่าเอง และในระดับภูมิภาค และระดับโลกเป็นสำคัญ ไม่ใช่ศึกษาวิเคราะห์ เพียงจากกรอบทวิภาคี หรือกรอบความสัมพันธ์สองฝ่าย ไทย-พม่า เท่านั้น และต้องถือว่าปฏิกิริยาท่าทีของพม่าต่อไทยในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ( 27 ก.พ. – 1 มี.ค. 2552) เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้างความชอบธรรม และเรียกร้องการสนับสนุนเห็นใจจากประชาคมโลกก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าปี 2553

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าหิวโหยที่สุด และปรารถนาที่จะได้มากที่สุดคือ ความชอบธรรมก่อนการเลือกตั้งในปี 2553 ฉะนั้น การสร้างภาพด้วยการแสดงตัวว่าพร้อมเป็นประเทศสมาชิกของสังคมอารยประเทศที่มีความรับผิดชอบที่พร้อมให้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ ตลอดจนเคารพกฎกติกาของสังคมโลก จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับพม่า ส่วนจะท่าดีทีเหลวหรือไม่ เวลาในอนาคตอันใกล้จะเป็นเครื่องพิสูจน์

แต่จากบทเรียนที่ไทยและประชาคมโลกได้รับมาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำอย่างชัดแจ้งให้เห็นได้ว่า ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายเผด็จการทหารพม่า ได้แสดงท่าทียืดหยุ่น พร้อมที่จะประนีประนอม พร้อมจะให้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ และพร้อมรักษาคำมั่นสัญญา เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว 40 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายเผด็จการทหารพม่าได้บิดเบือน บิดพลิ้ว คำมั่นสัญญาและดำเนินการสวนทางกับที่พูดไว้ นับครั้งไม่ถ้วน

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า มีปฏิกิริยาท่าทีต่อไทยในครั้งนี้ สืบเนื่องโดยตรงจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกพม่า ดังต่อไปนี้

1.1 การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในพม่าในปี 2553 และความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความชอบธรรม

1.2 ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่พม่ายังต้องการจากประชาคมระหว่างประเทศ

1.3 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ และการกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์

1.4 การที่ไทยเป็นประธานองค์การอาเซียน และจะอยู่ในตำแหน่งนี้หนึ่งปีครึ่ง (จนถึงปลายปี 2552)

1.5 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐฯ โดยพรรคเดโมแครตเข้ามาเป็นรัฐบาล และได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯ ต้องการทบทวนปรับ/เปลี่ยนนโยบายต่อพม่า โดยร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย และการปรองดองแห่งชาติในพม่า

1.6 ประชาคมระหว่างประเทศยังคงประณามรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในเรื่องของการทำลายประชาธิปไตย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

อิทธิพลของบริบทการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งที่ปรากฏในระดับภูมิภาค และในระดับโลก ตลอดจนปัจจัยทั้ง 6 ข้อข้างต้น ล้วนมีอิทธิพลกดดัน บีบให้เผด็จการทหารพม่า จำเป็นต้องพยายามปรับท่าทีเพื่อความอยู่รอดต่อไปของระบอบเผด็จการทหารพม่า (ไม่ใช่ทำเพื่อนำพม่ากลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย หรือเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน) เป็นสำคัญ และหากมีการเปลี่ยนแปลงในพม่า ก็จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบเท่านั้น โดยเนื้อหายังคงเหมือนเดิมทุกประการ

การเลือกตั้งในปี 2553 (ถ้าเกิดขึ้น) ก็จะเป็นเพียงเรื่องของเปลือกเท่านั้น เพราะอำนาจชี้ขาดและผูกขาด ยังคงป็นของเผด็จการทหารพม่า (รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ร่างโดยฝ่ายเผด็จการทหาร ก็ระบุชัดเจนอยู่แล้วในประเด็นนี้) การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในพม่าในปี 2553 ถูกออกแบบมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ฝ่ายทหารพม่าอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างไม่มีกำหนด โดยมีพลเรือนเข้ามาเป็นไม้ประดับเท่านั้น

2.เหตุผลที่ฝ่ายพม่ากล่าวถึงชาว “เบงกาลี” เท่านั้น

หากรัฐบาลไทยไม่ประสงค์ให้พม่าต้มตุ๋นไทยจนเปื่อย ก็เป็นเรื่องจำเป็นมากที่ฝ่ายไทยจำต้องถอดรหัสคำว่า “เบงกาลี” ของรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าที่ได้พูดกับรัฐมนตรีต่างประเทศไทยว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ในเมื่อฝ่ายพม่าไม่ยอมรับว่า ชาวโรฮิงญาเป็นชาติพันธุ์หนึ่งในบรรดาหลายชาติพันธุ์ในพม่า และหากเราถอดรหัสคำว่า “เบงกาลี” ได้ มันก็จะทำให้รัฐบาลและประชาชนชาวไทยได้เห็นถึงความลับลมคมใน และความเจ้าเล่ห์เพทุบายของฝ่ายเผด็จการทหารพม่า ซึ่งไม่ใช่เป็นการยากอะไร หากเราหันไปศึกษาข้อเท็จจริง พื้นฐานทางภูมิศาสตร์ และประวัติชาติพันธุ์ในพม่า

เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าว่า บริเวณชายฝั่งอ่าวเบงกอล (Bay of Bengal) จนลึกไปถึงดินแดนด้านตะวันตกของประเทศพม่าที่ติดกับประเทศบังกลาเทศ (รัฐอาระข่าน ของพม่า) เป็นที่อยู่อาศัยของชาวอาระข่าน หรือชาวราคีน (Arakanese or Rakhines) ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของรัฐอาระข่าน นอกจากนั้น ก็มีชาวโรฮิงญา และชาว “เบงกาลี” ซึ่งมีจำนวนน้อยที่สุด แต่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ รัฐอาระข่าน ปัจจุบัน ก่อนหน้าใครทั้งสิ้น (เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว) และนับถือศาสนาพุทธ เหมือนชาวอาระข่าน (หรือชาวราคีน) ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว มีการผสมกลมกลืนผ่านการสมรสและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตลอดจนได้รับการสนับสนุน คุ้มครองจากรัฐบาลทหารพม่าอย่างดี

ทั้งนี้ เป็นที่ปรากฏแน่ชัดตลอดมา ว่ารัฐบาลทหารพม่า ใช้ปัจจัยเรื่องของชาติพันธุ์ และปัจจัยทางศาสนา เป็นเครื่องมือทางการเมืองสร้างความแตกแยกระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า (ตามนโยบายแบ่งแยกและปกครอง) โดยจะสนับสนุนปกป้องชาติพันธุ์ต่างๆ ที่นับถือศาสนาพุทธ และมาจากกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับคนเชื้อชาติพม่า (Tibeto-Burmans) เช่น ชนชาติชาวอาระข่าน (หรือชาวราคีน) และชาวเบงกาลีในรัฐ อาระข่าน เป็นต้น

เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวข้างต้น จึงพอสรุปได้ว่า การที่ฝ่ายพม่าแสดงความพร้อมที่จะรับชาว “เบงกาลี” กลับพม่า (หากมีปะปนอยู่ในกลุ่มชาวโรฮิงญา ที่หนีมาขึ้นฝั่งไทย) น่าจะเป็นการบ่งบอกให้เห็นได้ว่า ฝ่ายพม่ารู้อยู่แก่ใจแล้วว่า จะไม่มีชาว “เบงกาลี” หนีมากับชาวโรฮิงญา เพราะไม่กลมเกลียวกันอยู่แล้ว อีกทั้งไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ต้องหนีออกมาในเมื่อได้รับการคุ้มครอง สนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลทหารพม่า เช่นเดียวกับชาวอาระข่าน แต่ที่จำเป็นต้องแสดงท่าทีพร้อมให้ความร่วมมือกับไทย ก็ด้วยเหตุผลทั้งหมดในข้อ 1.1 ถึง 1.6 ข้างต้น ทั้งหมดนี้ เหตุผลก็เพื่อลดกระแสกดดันที่พม่ากำลังเผชิญอยู่จากหลายด้านในปัจจุบัน รวมทั้ง เพื่อเป็นการต่ออายุให้กับการอยู่ในอำนาจของระบอบเผด็จการทหารพม่าอย่างไม่มีกำหนด

นอกจากนั้น การพิจารณารับหรือไม่รับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมายจำนวน 2-3 ล้านคนในปัจจุบัน โดยมีเงื่อนไขต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติก่อนนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นวิธีการปัดความรับผิดชอบผ่านมาตรการเตะถ่วงของฝ่ายพม่า ทั้งนี้ เพราะข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า 40 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ไม่เคยทำการสำรวจประชากรเลยแม้แต่ครั้งเดียว ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงไม่เคยมีบัตรประชาชนเลย และการที่ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายพม่ารับผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายชาวพม่าจำนวน 2-3 ล้านกลับไป และฝ่ายพม่าเคยออกปากรับไว้พิจารณา โดยขอพิสูจน์สัญชาติก่อนนั้น จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายพม่านำมาเป็นข้ออ้าง เพื่อปัดความรับผิดชอบและเป็นวิธีการผลักไสให้ไทยต้องแบกภาระหนักหน่วงเหล่านี้ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นโยบายต่างประเทศของไทยต่อพม่า ยังจะต้องให้จักษุแพทย์วัดสายตาอีกกี่ครั้ง และจำต้องตัดแว่นสายตาอีกกี่อัน จึงจะทำให้ไทยได้รู้แจ้งเห็นจริง? 40 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพออีกหรือกับการศึกษา ทำความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับธาตุแท้ของระบอบเผด็จการทหารพม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น